ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย … บ่งชี้ว่าดุลการค้าปี 2551 อาจบันทึกยอดขาดดุล

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนเมษายน 2551 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีประเด็นสำคัญดังสรุปได้ดังต่อไปนี้

การบริโภคภาคเอกชนในเดือนเม.ย. 51 ขยายตัวร้อยละ 7.8 (YoY) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.8 ในเดือนมี.ค. โดยเป็นผลจากการขยายตัวในรายการหลัก ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จาก 10.2) การนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค (เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 จาก 27.2) และปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 จาก 17.8) ในขณะที่ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์หดตัวในอัตราที่ชะลอลง รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 25.8 (YoY) ในเดือนเม.ย. โดยดัชนีราคาพืชผลขยายตัวร้อยละ 19.8 ในขณะที่ปริมาณการผลิตขยายตัวร้อยละ 5.0 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดที่ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีตามอุปสงค์เพื่อการบริโภคและผลิตพลังงานทดแทน

การลงทุนภาคเอกชนในเดือนเม.ย. ขยายตัวร้อยละ 5.6 (YoY) ลดลงจากร้อยละ 7.4 ในเดือนมี.ค. โดยเป็นผลจากการชะลอลงของยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (เพิ่มร้อยละ 8.2 จาก 10.1) ในขณะที่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซิเมนต์ยังคงหดตัวลงเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าทุนและมูลค่าโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นในเดือนเม.ย. (เพิ่มร้อยละ 17.6 และร้อยละ 51.4 ตามลำดับ) การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 10.1 ในเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.3 ในเดือนมี.ค. โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดส่งออกเป็นหลัก ในขณะที่ อัตราการใช้กำลังการผลิตขยับลงสู่ร้อยละ 69.1 ในเดือนเม.ย. ตามปัจจัยด้านฤดูกาล จากร้อยละ 79.1 ในเดือนก่อนหน้า

ภาคต่างประเทศ การส่งออกขยายตัวร้อยละ 27.7 (YoY) ในเดือนเม.ย. เร่งขึ้นจากร้อยละ 15.1 ในเดือนมี.ค. โดยเป็นผลจากการขยายตัวทั้งด้านราคาและปริมาณ นำโดยหมวดเกษตรและอุตสาหกรรม (ขยายตัวร้อยละ 58.8 และ 25.9 ตามลำดับ) ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 41.5 ในเดือนเม.ย. เร่งขึ้นชัดเจนจากร้อยละ 31.2 ในเดือนมี.ค.นำโดยน้ำมันและวัตถุดิบ (ร้อยละ 88.9 และ 34.5 ตามลำดับ) ดุลการค้าบันทึกยอดขาดดุลรายเดือนสูงสุดในรอบ 12 ปีที่ระดับ 1.77 พันล้านดอลลาร์ฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกการขาดดุลสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2548 ที่ระดับ 1.66 พันล้านดอลลาร์ฯ

จากตัวเลขต่าง ๆ ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามช่วงถัดๆ ไป คือ แรงกดดันจากเงินเฟ้อ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลกดดันต่อเนื่องไปยังการใช้จ่ายภาคเอกชนในระยะถัดไป นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามยังรวมไปถึงการปรับตัวของราคาน้ำมันซึ่งอาจสร้างความซับซ้อนต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. เนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวในระดับสูงนอกจากจะสร้างแรงกดดันในช่วงขาขึ้นต่อภาวะเงินเฟ้อแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อฐานะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2551 อีกด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2551 การส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 17 การนำเข้าจะขยายตัวในกรอบร้อยละ 28-30 ซึ่งจะส่งผลให้ดุลการค้าพลิกกลับมาขาดดุลประมาณ 1.3-4.1 พันล้านดอลลาร์ฯ (จากที่เกินดุล 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯในปี 2550) ขณะที่ ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจเกินดุลลดลงมาอยู่ในกรอบประมาณ 0.7-3.5 พันล้านดอลลาร์ฯ