ภาวะที่ท้าทายของยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วงครึ่งหลังปี 2551

จากยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานที่ต่ำของปี2550 ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2550 มีอัตราการขยายตัวที่ลดลงร้อยละ 15.9 นอกจากนี้การเข้าตลาดของรถยนต์นั่งที่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 ตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์นั่งขยายตัวสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 32.4 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการใช้นโยบายของรัฐในการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ประเภทดังกล่าว ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามทิศทางของยอดขายรถยนต์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีโอกาสที่จะชะลอลงกว่าช่วงก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยลบที่เพิ่มขึ้น จึงนับว่าช่วงดังกล่าวเป็นภาวะที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการรถยนต์ค่ายต่างๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยเสี่ยงต่อยอดขายรถยนต์ รวมถึงแนวโน้มของยอดขายรถยนต์ในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย…ปัจจัยลบต่อแนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศ

ราคาน้ำมันอาจจะยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 โดยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดล่วงหน้าไนเม็กซ์ส่งมอบเดือนกรกฎาคมขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเหนือ 139 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลในการซื้อขายระหว่างวัน และมีการวิเคราะห์กันว่าจะขึ้นไปถึงระดับ 150 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้นมาที่ 39.74 บาทต่อลิตร และมีแนวโน้มว่าจะปรับสูงขึ้นไปได้อีก ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ อาจส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อรถยนต์มากขึ้น รวมถึงชนิดของรถยนต์ที่จะเลือกซื้ออาจเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวที่สูงขึ้นก็อาจจะมีผลทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการซื้อรถยนต์ใหม่ออกไปก่อน

อัตราเงินเฟ้อที่มีทิศทางสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาด ซึ่งค่าใช้จ่ายอื่นๆที่นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์เองก็เพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายสำหรับการบริโภคในชีวิตประจำวัน โดยจะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศในเดือนพฤษภาคม 2551 สูงขึ้นถึงร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี และแรงกดดันเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นได้อีกในไตรมาสที่ 3 ซึ่งผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อดังกล่าวจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงและอาจกระทบต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ได้

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ทยอยประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทขึ้นอยู่ระหว่างร้อยละ 0.375 ถึง 0.4 ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่มีการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายช่วงครึ่งหลังปี 2549 ผลดังกล่าวน่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ขยับสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อรถใหม่ลดลง

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลบวกต่อตลาดรถยนต์อาจมาจากมาตรการสนับสนุนพลังงานทางเลือกของภาครัฐ แนวทางในการเร่งขยายสถานีบริการพลังงานทางเลือกต่างๆ แผนงานส่งเสริมการตลาดของค่ายรถยนต์ต่างๆในการกระตุ้นยอดขาย รวมไปถึงงานมหกรรมยานยนต์ในช่วงปลายปีและการเข้ามาเปิดตัวของค่ายรถยนต์รายใหม่ 3 รายในงานดังกล่าว เป็นต้น ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะสามารถช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ได้มากน้อยเพียงใด

แนวโน้มตลาดยานยนต์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551

จากที่ตัวเลขยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกของปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากยอดขายรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 ทว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เนื่องจากผู้บริโภคที่ต้องการซื้อรถรุ่นดังกล่าวน่าจะโหมซื้อไปแล้วในช่วงต้นปี ประกอบกับสถานบริการน้ำมันสำหรับแก๊สโซฮอล์ อี20 นั้นยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย ซึ่งไม่สะดวกกับผู้ใช้รถยนต์รุ่นดังกล่าวในการใช้เชื้อเพลิงราคาประหยัด นอกจากนี้ในส่วนพลังงานทดแทนแก๊สโซฮอล์ อี85 ที่รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะให้เริ่มใช้ได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยการนำเข้ารถยนต์มาจากต่างประเทศและออกมาตรการกระตุ้นต่างๆไม่ว่าจะเป็น การลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถรุ่นนี้ให้เหลือร้อยละ 25 ถึง 35 ตามขนาดเครื่องยนต์ซึ่งเป็นอัตราภาษีเท่ากับรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 ในปัจจุบัน การลดภาษีสรรพสามิตการจัดเก็บน้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 จากเดิม 3.6850 บาทต่อลิตร ให้เหลือ 2.5795 บาทต่อลิตร และการยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ อี 85 ที่มีลักษณะเป็นอุปกรณ์หลักเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมันอี 85 และไม่มีผลิตในประเทศเป็นการชั่วคราว 3 ปี ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลได้มีนโยบายเร่งให้มีการใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 ได้จริงภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่เนื่องจากประชาชนจำนวนมากอาจจะยังไม่เข้าใจและไม่มั่นใจในการใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 โดยเฉพาะปัญหาเรื่องจำนวนสถานีบริการน้ำมันที่จะรองรับ รวมถึงราคารถที่นำเข้ามีแนวโน้มที่จะมีราคาสูงเนื่องจากมาตรการดังกล่าวไม่ได้ลดภาษีนำเข้ารถยนต์ลงแม้จะลดภาษีสรรพสามิตลงร้อยละ 5 ก็ตาม ยกเว้นแต่กรณีที่นำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะถูกเก็บภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ซึ่งอัตราจัดเก็บภาษีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ดังนั้นโดยสรุปนโยบายดังกล่าวอาจจะยังไม่เริ่มส่งผลกระตุ้นยอดขายรถยนต์ได้ชัดเจนมากนักในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาที่มาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลเริ่มบังคับใช้ รวมทั้งยังคงต้องติดตามว่าราคาแก๊สโซฮอล์ อี85 ที่จะออกมานั้นจะสามารถจูงใจผู้บริโภคได้มากเพียงใด แต่ภายใน 2 ปีนี้ เมื่อค่ายรถต่างๆสามารถพัฒนาสายการผลิตในประเทศออกมาได้ ยอดขายรถยนต์ที่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 และยอดขายรถอีโคคาร์ซึ่งคาดว่าจะออกมาในช่วงเดียวกันนี้น่าจะกระตุ้นให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศเติบโตได้อีกมาก

ในส่วนการพยายามกระตุ้นยอดขายรถยนต์ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ และบริษัทให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นต้น โดยการหันไปทำตลาดในต่างจังหวัดที่ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นผลผลิตการเกษตรซึ่งในระยะนี้จากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น โดยข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิตหมวดผลผลิตเกษตรกรรมโดยเฉลี่ยในช่วง 4 เดือนแรกของปี พบว่าสูงขึ้นร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ราคาผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าวเปลือก และยางพารา ที่สูงขึ้นมากมีผลทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์ในต่างจังหวัดโดยเฉพาะรถกระบะขนาด 1 ตัน ทว่าราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นมาก ก็อาจส่งผลลบต่อการตัดสินใจซื้อรถของภาคเกษตรกร ทั้งนี้ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้นมากจนเข้าใกล้ราคาน้ำมันเบนซิน 95 และมีโอกาสที่จะขึ้นไปสูงกว่าได้ในอนาคต ทำให้ต้นทุนสำหรับผู้บริโภคในการใช้รถยนต์ประเภทดังกล่าวสูงขึ้นมาก อีกทั้งทางเลือกพลังงานทดแทนที่มีราคาประหยัดสำหรับรถกระบะยังมีไม่มากนัก โดยรถกระบะที่ติดเครื่องยนต์เบนซินซึ่งสามารถนำไปติดตั้งระบบเอ็นจีวีเพิ่มได้นั้นก็มีการผลิตออกมาในจำนวนน้อย และสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีก็ยังมีจำนวนน้อยอีก บริษัทผู้ผลิตบางรายได้ระบุว่าจะยังไม่ผลิตรถกระบะเครื่องยนต์ระบบ 2 เชื้อเพลิง คือเชื้อเพลิงผสมระหว่างดีเซลและก๊าซธรรมชาติเหลวอัดซีเอ็นจี หรือเอ็นจีวี เนื่องจากปัญหาทางด้านเทคนิคของเครื่องยนต์ จึงคาดว่าแนวโน้มการเลือกซื้อรถกระบะของประชาชนในต่างจังหวัดอาจขยายตัวได้ไม่สูงนัก ทว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาน้ำมันดีเซลด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดใหม่ “BHD” หรือ Bio-Hydrogenated Diesel ซึ่งมีคุณสมบัติเทียบเท่าน้ำมันดีเซลทุกประการ แต่ประหยัดกว่าและช่วยลดมลพิษด้วย ซึ่งคาดว่าเมื่อมีการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์จะทำให้ยอดขายรถกระบะในอนาคตอาจกลับฟื้นขึ้นมาได้

โดยสรุปแล้วจากปัจจัยต่างๆในข้างต้นซึ่งอาจส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มหดตัวลงนั้น ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ยอดขายรถยนต์น่าจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับตัวเลขในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศตลอดปี 2551 คงจะมีจำนวนประมาณ 680,000 คัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 8 โดยประมาณ เทียบกับที่ได้หดตัวลงร้อยละ 7.4 ในปี 2550 ซึ่งการขยายตัวในปี 2551 ดังกล่าวนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้าและเป็นผลจากมาตรการสนับสนุนพลังงานทางเลือกของรัฐ ที่ทำให้รถยนต์รุ่นที่ใช้พลังงานทางเลือกมีราคาต่ำลง

ทั้งนี้ทั้งนั้นในระยะยาว จากแนวนโยบายต่างๆของภาครัฐที่มุ่งสนับสนุนยานยนต์ที่มีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงาน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประกอบกับภาวะราคาน้ำมันที่ยังคงสูงขึ้น ทำให้เชื่อว่าแนวโน้มการผลิตและตลาดรถยนต์ในประเทศไทยในอนาคต จะมุ่งไปที่รถยนต์นั่งขนาดเล็กและขนาดกลางที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิง และสามารถใช้พลังงานทดแทนได้ ทำให้ในระยะยาวอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งมีแนวทางการปรับตัว โดยพัฒนารถยนต์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวก็ยังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกมากในอนาคต