วิกฤตเศรษฐกิจภูมิภาครอบนี้…ไทยอาจถูกกระทบไม่มากนัก เนื่องจากทุนสำรองที่แข็งแกร่ง

การปรับตัวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เป็นไปอย่างผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมไปถึงเงินบาท ที่กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้อ่อนค่าลงท่ามกลางการทะยานขึ้นของราคาพลังงาน (โดยเฉพาะน้ำมัน) ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปบั่นทอนฐานะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด พร้อมๆ ไปกับสร้างแรงกดดันในช่วงขาขึ้นของระดับราคาสินค้าในประเทศ ทั้งนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลง ทำให้ระบบเศรษฐกิจในเอเชีย และประเทศในเกือบทุกภูมิภาคของโลกกำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความคล้ายคลึงกันกับภาวะ Stagflation แต่ระดับความรุนแรงอาจมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศว่าจะมีความแข็งแกร่งเพียงใด อย่างไรก็ตาม สภาวะที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงในช่วงขาลง ขณะที่เงินเฟ้อกลับมีความเสี่ยงในช่วงขาขึ้นนั้น ได้ส่งผลต่อเนื่องไปสร้างความซับซ้อนให้กับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกแล้วในขณะนี้ และจากประสบการณ์ในอดีตสะท้อนให้เห็นว่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเกินการควบคุมของผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจนั้น อาจสร้างความเสี่ยงให้กับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น อาจต้องใช้ระยะเวลาในการเยียวยาแก้ไข

การพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อสร้างแรงกดดันต่อเสถียรภาพในประเทศ
สถานการณ์ล่าสุดของแรงกดดันเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียนั้น เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในหลายๆ ประเทศ โดยอัตราเงินเฟ้อของเกือบทุกประเทศได้ทะยานขึ้นเหนือความคาดหมาย และทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา อาทิ อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามในเดือนพฤษภาคมซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 25.2 (นับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2535) อัตราเงินเฟ้อของอินเดียซึ่งล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 8.4 (เป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี และยังคงมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อไปและอาจมีระดับเป็นตัวเลข 2 หลัก) อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 4.9 (สูงสุดในรอบ 7 ปี) อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 10.38 (สูงสุดในรอบ 20 เดือน) อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 9.6 (สูงสุดในรอบ 9 ปี) ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อของปากีสถาน (สูงสุดในรอบอย่างน้อย 25 ปี) มาเลเซีย (สูงสุดในรอบ 14 เดือน) และสิงคโปร์ (สูงสุดในรอบ 26 ปี) ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อของจีนเริ่มขยับลงมาบ้างแล้วสู่ร้อยละ 7.7 ในเดือนพฤษภาคมจากระดับสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปีที่ร้อยละ 8.5 ในเดือนเมษายน

ดุลการค้าที่ถดถอยลงสร้างความอ่อนแอให้กับภาคต่างประเทศ
สำหรับภาคต่างประเทศ เมื่อพิจารณาถึงฐานะดุลการค้าของหลายๆ ประเทศเอเชีย จะพบว่า ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียล้วนมีฐานะดุลการค้าที่อ่อนแอลงอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาของปี 2551 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งแนวโน้มดุลการค้าที่ถดถอยลงดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจาก แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก และการทะยานขึ้นทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของราคาน้ำมัน ตลอดจนการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดโลก และฐานะดุลการค้าที่มีแนวโน้มถดถอยลงดังกล่าวนั้น ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่กดดันสกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาค (โดยเฉพาะเงินวอนเกาหลีใต้ เงินรูปีอินเดีย และเงินเปโซฟิลิปปินส์) รวมทั้งเงินบาทให้อ่อนค่าลงในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เงินดองของเวียดนาม ก็เป็นอีกตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงนี้ว่า ความอ่อนแอของฐานะดุลการค้านั้น กำลังส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังสกุลเงินในประเทศอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยในวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา ธนาคารกลางเวียดนามได้ดำเนินขั้นตอนพิเศษในการกำหนดอัตรากลางของค่าเงินดอง ด้วยการประกาศอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงของทางการล่วงหน้า 1 วัน และในการประกาศอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวนั้น ธนาคารกลางเวียดนามได้กำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนทางการของเงินดองสำหรับวันที่ 11 มิถุนายน อยู่ที่ระดับ 16,461 ดองต่อดอลลาร์ฯ จาก 16,139 ดองต่อดอลลาร์ฯ ในวันที่ 10 มิถุนายน ซึ่งถือเสมือนว่า เป็นการปรับลดค่าเงินดองร้อยละ 1.96

ความอ่อนแอลงอย่างชัดเจนของดุลการค้า ท่ามกลางเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศที่ถูกสั่นคลอนโดยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปีในหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะเวียดนาม ได้กลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญที่ก่อให้เกิดกระแสความกังวลระลอกใหม่เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อภูมิภาคเอเชียหากปัญหาทางเศรษฐกิจของเวียดนามเรื้อรังและมีความรุนแรงกว่าที่คาดจนกลายเป็นวิกฤต และหากปัญหาเศรษฐกิจของเวียดนามลุกลามออกไปจนยากที่จะควบคุมจริง กระแสเงินทุนที่เคยไหลเข้าเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็อาจทยอยไหลออก และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียซึ่งรวมถึงประเทศไทยคงยากที่จะหลีกเลี่ยง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในเบื้องต้นตลาดการเงินของประเทศในแถบเอเชียอาจได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นที่ลดน้อยลงของนักลงทุนที่มีต่อภูมิภาคเอเชียโดยรวม แต่อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของผลกระทบที่แต่ละประเทศจะได้รับนั้น จะขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศว่าจะมีความแข็งแกร่งเพียงใด

ประเทศไทย…สถานการณ์ล่าสุด
สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทยนั้น กำลังเผชิญกับโจทย์ที่มีความคล้ายคลึงกันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งก็คือ แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยกำลังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2551 ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อในแต่ละเดือนที่รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์นั้น ล้วนออกมาในระดับที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมได้ทะยานขึ้นมากกว่าที่คาดอีกครั้ง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคมพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ที่ร้อยละ 7.6 จากร้อยละ 6.2 ในเดือนเมษายน ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่กำจัดอิทธิพลของราคาสินค้าในหมวดพลังงานและอาหารสดในเดือนพฤษภาคม ก็ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 ที่ร้อยละ 2.8 จากร้อยละ 2.1 ในเดือนเมษายน และล่าสุดเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมากล่าวว่า มีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อของไทยในระยะถัดไปจะขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลักเนื่องจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ แม้ว่าธปท. จะยังไม่ได้ทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังเช่นธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่ธปท.ก็ได้ออกมาส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551

สำหรับในส่วนของภาคต่างประเทศ จากตัวเลขของธปท. สะท้อนว่า อัตราการขยายตัวของนำเข้าได้เร่งขึ้นอย่างมาก (ในเกือบทุกหมวด) และสูงกว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกนับตั้งแต่ต้นปี 2551 ที่ผ่านมา และล่าสุดการนำเข้าที่ขยายตัวถึงร้อยละ 41.5 ในเดือนเมษายน ขณะที่ การส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 27.7 ได้ส่งผลให้ดุลการค้าบันทึกยอดขาดดุลที่ระดับ 1.77 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ซึ่งนับเป็นยอดขาดดุลการค้ารายเดือนที่สูงสุดในรอบ 12 ปี และหากพิจารณาภาพรวมของฐานะดุลการค้าไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 จะพบว่า ดุลการค้าของไทยพลิกกลับมาบันทึกยอดขาดดุลประมาณ 1.88 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถดถอยลงจากที่เคยบันทึกยอดเกินดุล 3.11 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2550 ความกังวลต่อความอ่อนแอของดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้เงินบาทเริ่มปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลงนับตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม (และยิ่งทวีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา) ร่วมกับแรงเทขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง และแนวโน้มความอ่อนแอของค่าเงินในภูมิภาค

ดัชนีชี้วัดเสถียรภาพต่างประเทศของหลายๆ ประเทศในเอเชีย…อ่อนแอลง
ความอ่อนแอลงอย่างชัดเจนของภาคต่างประเทศอันเนื่องมาจากดุลการค้าที่ถดถอยลงจากผลกระทบของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่ทะยานขึ้นอย่างมากในปีนี้ ท่ามกลางเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศที่ถูกสั่นคลอนโดยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปีในหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะเวียดนามที่ถูก Fitch Ratings ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ “BB-minus” ลงสู่ “มีแนวโน้มเชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” เนื่องจากไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเวียดนาม โดย Fitch ระบุว่า เวียดนามดำเนินนโยบายตอบรับอย่างเชื่องช้าและน้อยเกินไปจนไม่สามารถรับมือกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ

สภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงของเวียดนามเป็นประเด็นสำคัญที่จุดกระแสความกังวลระลอกใหม่เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อภูมิภาคเอเชียหากปัญหาทางเศรษฐกิจของเวียดนามเรื้อรังและมีความรุนแรงกว่าที่คาด ทั้งนี้ ความไม่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของเวียดนามได้สะท้อนให้เห็นบ้างแล้วผ่านการเทขายในตลาดหุ้นเวียดนาม โดยตลาดหุ้นเวียดนามร่วงลงมาแล้วประมาณร้อยละ 60 จากระดับสิ้นปี 2550 และนับเป็นตลาดหุ้นที่เผชิญแรงเทขายที่รุนแรงที่สุดตลาดหนึ่งในโลกในปีนี้ ซึ่งหากปัญหาเศรษฐกิจของเวียดนามลุกลามออกไปจนยากที่จะควบคุมจริง กระแสเงินทุนที่เคยไหลเข้าเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็อาจทยอยไหลออก และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียซึ่งรวมถึงประเทศไทยคงยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยในเบื้องต้นตลาดการเงินของประเทศในแถบเอเชียอาจได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นที่ลดน้อยลงของนักลงทุนที่มีต่อภูมิภาคเอเชียโดยรวม แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงดัชนีที่สะท้อนเสถียรภาพต่างประเทศ อาทิ สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อทุนสำรองระหว่างประเทศ สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ GDP และสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อภาคส่งออก จะพบว่า ประเทศปากีสถาน ศรีลังกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งมีดัชนีชี้วัดเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่อ่อนแอนั้น อาจเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่ หลายๆ ประเทศในเอเชีย อาทิ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีดัชนีชี้วัดเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีอาจได้รับผลกระทบในวงที่จำกัดเท่านั้น

ผลกระทบต่อไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า
ปัญหาเศรษฐกิจภูมิภาคในรอบนี้มีสาเหตุมาจากการที่อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศทะยานขึ้นจากราคาน้ำมันและราคาอาหาร ขณะที่ฐานะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดถดถอยลง ซึ่งเมื่อประกอบกับการที่หลายประเทศในภูมิภาคมีฐานะหนี้ต่างประเทศเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ (โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม) ก็ทำให้สกุลเงินของประเทศดังกล่าว ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้อ่อนค่าลงท่ามกลางการไหลออกของเงินทุน

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ว่าสัดส่วนหนี้ต่างประเทศเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศจะอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งทำให้ไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากการไหลออกของเงินทุนน้อยกว่าหลายประเทศ แต่กลไกการเชื่อมโยงทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังคงถูกกระทบจากแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจภูมิภาคในรอบนี้ ทั้งนี้เนื่องจากการส่งออกของไทยไปยังอาเซียน 9 ประเทศ มีสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 22 ของการส่งออกรวมของไทย โดยในภูมิภาคนี้ เวียดนามเป็นตลาดส่งออกของไทยที่ใหญ่รองจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งของไทย ซึ่ง ณ ปัจจุบันสูงกว่า 1.08 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ น่าที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าวได้ระดับหนึ่ง ในขณะที่ ธปท.คงจะต้องระมัดระวังประเด็นในด้านเสถียรภาพ ทั้งด้านเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้

บทสรุป
การทะยานขึ้นของราคาพลังงาน (โดยเฉพาะน้ำมัน) ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดโลก กำลังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสร้างแรงกดดันในช่วงขาขึ้นต่ออัตราเงินเฟ้อ พร้อมๆ ไปกับบั่นทอนฐานะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ของหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทย ที่ล้วนแต่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจในประเทศ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความคล้ายคลึงกันกับภาวะ Stagflation ดังกล่าว ได้ส่งผลทำให้การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากธนาคารกลางของทุกประเทศในเอเชีย รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังเผชิญโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของเสถียรภาพราคา ซึ่งทำให้ธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบคุมเข้มมากขึ้น

สถานการณ์ล่าสุดของแรงกดดันเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียนั้น เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในหลายๆ ประเทศ โดยอัตราเงินเฟ้อของเกือบทุกประเทศได้ทะยานทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา สำหรับภาคต่างประเทศ เมื่อพิจารณาถึงฐานะดุลการค้าของหลายๆ ประเทศเอเชีย จะพบว่า ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียล้วนมีฐานะดุลการค้าที่อ่อนแอลงอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาของปี 2551 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และฐานะดุลการค้าที่มีแนวโน้มถดถอยลงดังกล่าวนั้น ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่กดดันสกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะเงินวอนเกาหลีใต้ เงินรูปีอินเดีย และเงินเปโซฟิลิปปินส์ รวมทั้งเงินบาท ให้อ่อนค่าลงในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา

ความอ่อนแอลงอย่างชัดเจนของดุลการค้าท่ามกลางเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศที่ถูกสั่นคลอนโดยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปีในหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะเวียดนาม ได้กลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญที่ก่อให้เกิดกระแสความกังวลระลอกใหม่เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อภูมิภาคเอเชียหากปัญหาทางเศรษฐกิจของเวียดนามเรื้อรังและมีความรุนแรงกว่าที่คาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นนี้ว่า หากปัญหาเศรษฐกิจของเวียดนามลุกลามออกไปจนยากที่จะควบคุมจริง กระแสเงินทุนที่เคยไหลเข้าเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็อาจทยอยไหลออก และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียซึ่งรวมถึงประเทศไทยคงยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยในเบื้องต้นตลาดการเงินของประเทศในแถบเอเชียอาจได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นที่ลดน้อยลงของนักลงทุนที่มีต่อภูมิภาคเอเชียโดยรวม แต่อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของผลกระทบที่แต่ละประเทศจะได้รับนั้น จะขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศว่าจะมีความแข็งแกร่งเพียงใด โดยหากพิจารณาถึงเครื่องชี้ที่สะท้อนเสถียรภาพต่างประเทศ จะพบว่า ประเทศปากีสถาน ศรีลังกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ อินเดีย ซึ่งมีดัชนีชี้วัดเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่อ่อนแอนั้น อาจเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่ หลายๆ ประเทศในเอเชีย อาทิ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีดัชนีชี้วัดเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี อาจได้รับผลกระทบในวงที่จำกัดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะถัดไปหากเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยในเอเชียชะลอตัวลง พร้อมๆ กับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว จะพบว่า ไทยอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงของการชะลอตัวลงของภาคการค้าต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากไม่เร่งขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่อื่นๆ เนื่องจาก 20 อันดับแรกของตลาดส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีถึง 12 ประเทศอยู่ในภูมิภาคเอเชีย และหากพิจารณาการส่งออกของไทยไปยังอาเซียน 9 ประเทศ พบว่า มีสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 22 ของการส่งออกรวมของประเทศ ในขณะที่ ในภูมิภาคนี้เวียดนามนับได้ว่าเป็นตลาดส่งออกของไทยที่มีความสำคัญไม่น้อย โดยเป็นรองเพียงอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ตามลำดับ ทั้งนี้ ธปท.คงจะต้องระมัดระวังประเด็นในด้านเสถียรภาพทั้งด้านเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้