บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ 51 : พลิกวิกฤตเป็นโอกาส กระตุ้นยอดขายรับบอลยูโร

การขยับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของบรรดาผู้ผลิตในประเทศเมื่อต้นปี ได้ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศช่วงครึ่งปีแรก 2551 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก ผู้ผลิตจึงต่างพยายามงัดกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย ด้วยการจัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายต่างๆ ทั้งการส่งซองเปล่าลุ้นทองคำ การสะสมซองเปล่าแลกผลิตภัณฑ์ซองใหม่ การโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์โดยใช้พรีเซ็นเตอร์ที่ได้รับความนิยม ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ประสบกับภาวะวิกฤตทางด้านค่าครองชีพของประชาชนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งราคาน้ำมัน ราคาข้าว รวมถึงสินค้าอุปโภคและบริโภคอื่นๆ ที่ต่างทยอยปรับขึ้นราคากันอย่างต่อเนื่อง ด้วยภาวะวิกฤตค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นมาก ประชาชนจึงต้องประหยัดในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของบรรดาผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากประชาชนจะให้ความสนใจบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีราคาต่อหน่วยที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารประเภทอื่นมากขึ้น

สี่เดือนแรก’ 51 ยอดจำหน่ายในประเทศตก จากการปรับขึ้นราคา
ในช่วงต้นปี 2551 บรรดาผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่างขยับขึ้นราคาขายปลีก โดยเฉพาะบะหมี่เส้นเหลืองชนิดซองละ 5 บาท ซึ่งมียอดการจำหน่ายสูง เพิ่มเป็นซองละ 6 บาท การขยับขึ้นราคาในครั้งนี้ได้ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายภายในประเทศลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากผู้บริโภคส่วนหนึ่งได้ซื้อกักตุนไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วก่อนที่ราคาจะขยับสูงขึ้น อีกทั้งราคาอาหารประเภทอื่นก็ยังไม่ได้มีการขยับขึ้นในช่วงดังกล่าวมากนัก (โดยส่วนใหญ่ปรับขึ้นมาเด่นชัดในช่วงปลายเดือนเมษายน) ส่งผลให้ยอดการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศช่วงเดือนมกราคม–เมษายน 2551 ลดลงถึง 13.01% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2550 แต่หากพิจารณาในแง่ของมูลค่าการจำหน่าย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะยังคงสามารถขยายตัวได้ประมาณ 7-10% จากผลของราคาที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มขยายตัวที่ดี

ครึ่งปีหลัง’ 51 หลากหลายวิกฤต โอกาสทองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ด้วยยอดการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมาของปี 2551 ที่ลดลงมากจึงทำให้บรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างเร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านช่องทางต่างๆ มากขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดจำหน่ายในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ อาทิเช่น การส่งซองเปล่าลุ้นทองคำ การสะสมซองเปล่าแลกผลิตภัณฑ์ซองใหม่ การโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นมาได้เกิดสถานการณ์ความตึงเครียดหลากหลายด้าน ซึ่งแม้จะเป็นปัจจัยที่อาจจะส่งผลให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ แต่อาจเป็นโอกาสที่ดีของบรรดาผู้ผลิตในอุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในการเพิ่มยอดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งสถานการณ์ที่สำคัญเหล่านั้นได้แก่

 ค่าครองชีพประชาชนพุ่งสูง นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ราคาน้ำมัน และราคาพืชอาหารโดยเฉพาะข้าวได้ปรับตัวสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งการบริโภคและอุปโภคเพิ่มมากขึ้น พิจารณาได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่อยู่ในระดับที่สูงมาก จนมาถึงในเดือนพฤษภาคมที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศพุ่งสูงขึ้นในรอบสิบปี ประชาชนจึงพยายามแสวงหาทางเลือกในการบริโภคที่มีราคาถูกเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในด้านต่างๆ ให้ได้มากที่สุด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นอาหารกลุ่มแรกๆ ที่ผู้บริโภคที่ต้องการประหยัดจะตัดสินใจเลือกซื้อ แม้ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะปรับขึ้นราคาไปแล้วในช่วงต้นปี แต่ก็ยังคงมีราคาต่ำกว่าอาหารประเภทอื่นซึ่งมีราคาพุ่งสูงขึ้นมากในช่วงเวลาปัจจุบัน อีกทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีรสชาติที่หลากหลายให้ผู้บริโภคได้เลือกรับประทาน ให้ความอิ่มท้องในราคาต่ำ จึงน่าจะทำให้ยอดการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นได้

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านรัฐบาล และฝ่ายรัฐบาล ซึ่งยังคงมีทีท่าว่าการชุมนุมอาจยืดเยื้อออกไปอีก จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้บริโภคจะชะลอการตัดสินใจเลือกซื้อสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตลง โดยจะเลือกซื้อเพียงผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการบริโภคที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่สะดวกในการพกพา เก็บกักตุนไว้บริโภคในยามฉุกเฉินได้ง่าย ราคาต่อหน่วยที่ต่ำ สามารถปรุงรับประทานได้ง่าย และอิ่มท้อง

ภัยธรรมชาติมีมากขึ้น ในปัจจุบันแต่ละประเทศต่างประสบภัยธรรมชาติมากขึ้นทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วม ด้วยคุณลักษณะเด่นของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่สามารถรับประทานได้สะดวก รวดเร็ว มีวิธีการปรุงที่ง่าย เก็บได้นาน จึงคาดว่าจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่แต่ละประเทศประสบกับภัยธรรมชาติซึ่งคาดว่าการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้อีก สำหรับในประเทศไทยจากการที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ออกมาเตือนว่าประเทศไทยมีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากภัยทางด้านพายุและแผ่นดินไหวในช่วงเดือนกันยายน–พฤศจิกายนนี้ ก็อาจจะส่งผลเชิงจิตวิทยาให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการซื้อและกักตุนอาหารแห้งไว้รับประทานยามฉุกเฉิน ทำให้ความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งถือเป็นอาหารแห้งที่ได้รับความนิยมน่าจะมีมากขึ้น

เทศกาลฟุตบอลยูโร โอกาสงามเพิ่มยอดขาย

การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2008 ตลอดช่วงเดือนมิถุนายนนี้ เป็นที่สนใจของประชาชนชาวไทยจำนวนมาก โดยจากผลการสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเพื่อศึกษาพฤติกรรมและความสนใจของคนไทยในเกมการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2008 ครั้งที่ 13 ที่มีสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรียเป็นเจ้าภาพร่วม ด้วยจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 2,598 คนทั่วประเทศในช่วงอายุ 15-50 ปี ในระหว่างวันที่ 1-15 พฤษภาคม 2551 พบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากให้ความสนใจรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 81.3 แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาการถ่ายทอดสดที่ดึกก็ตาม ซึ่งคาดว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมรับประทานระหว่างรับชมการถ่ายทอดสด โดยเฉพาะการแข่งขันในรอบลึกๆ ซึ่งมีเวลาถ่ายทอดสดที่ดึก(เวลาประมาณ 01.45 น.) เนื่องจากราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ต่ำกว่าอาหารประเภทอื่น รวมถึงความสะดวก รวดเร็วในการปรุงและรับประทาน ในภาวะที่ประชาชนต้องรัดเข็มขัดเช่นปัจจุบันนี้ ซึ่งผู้ประกอบการควรจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายควบคู่ทั้งการประชาสัมพันธ์ และจัดจำหน่ายสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคตามชุมชนต่างๆ มากขึ้น

จะเห็นได้ว่ากำลังซื้อของประชาชนที่ซบเซาในภาวะเศรษฐกิจและการเมืองปัจจุบัน รวมถึงภัยธรรมชาติที่จะเกิดมากขึ้น จะมีผลต่อปริมาณความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้เพิ่มขึ้น แต่ทว่าการพึ่งพิงเพียงปัจจัยภายนอกที่สนับสนุนเพียงฝ่ายเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นยอดขายโดยรวมทั้งปีให้กลับมาขยายตัวเฉกเช่นในปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการควรเร่งจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายให้มากขึ้นเพื่อกู้คืนยอดการจำหน่ายที่ลดต่ำลงในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการควรเร่งปรับปรุง ประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้

ปรับปรุงรสชาติเก่า และเพิ่มรสชาติใหม่ รสชาติถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อและบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป การปรับปรุงรสชาติเก่าหรือการออกรสชาติใหม่ให้ถูกปากผู้บริโภคในแต่ละช่วงเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตไม่ควรมองข้าม เนื่องจากผู้บริโภคมักเกิดความรู้สึกเบื่อรสชาติเดิมๆ และต้องการทดลองรสชาติใหม่ แม้จะเป็นเพียงรสชาติเดิมที่มีการปรับปรุงใหม่ก็ตาม

ปรับเปลี่ยนช่องทางการจัดจำหน่าย จากเดิมที่ผู้ผลิตมักให้ความสำคัญกับช่องทางการจัดจำหน่ายตาม โมเดิร์นเทรดต่างๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า Discount store ซึ่งจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินที่สูงทั้งค่าใช้จ่ายแรกเข้า และค่าใช้จ่ายชั้นวางสินค้า ทำให้กำไรที่ผู้ผลิตได้รับอาจต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น ผู้ผลิตจึงควรให้ความสำคัญกับช่องทางการจัดจำหน่ายอื่นให้มากขึ้น เช่น การกระจายสินค้าไปยังร้านค้าโชว์ห่วยที่กระจายตัวอยู่ตามชุมชนต่างๆทั่วประเทศ อันเป็นการขยายการเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น รวมถึงการติดตั้งตู้จำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตามอาคารสำนักงานต่างๆ เป็นต้น

จัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาด เป็นกลยุทธ์กระตุ้นการบริโภคที่ผู้ผลิตดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการตอบรับที่ดี และควรให้ความสำคัญมากขึ้นในสองรูปแบบทั้งกิจกรรมที่ผู้บริโภคได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน เช่น การแลกหรือแจกผลิตภัณฑ์พิเศษเมื่อซื้อสินค้าครบตามจำนวนที่กำหนด การสะสมบรรจุภัณฑ์แลกของรางวัล เป็นต้น กิจกรรมส่งเสริมการตลาดอีกรูปแบบหนึ่งคือการร่วมสนุกชิงรางวัล ซึ่งทั้งสองกิจกรรมสามารถดำเนินการได้ในสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ฟุตบอลยูโร หรือโอลิมปิก อันเป็นการส่งเสริมการขายโดยอิงกับความเคลื่อนไหวที่สำคัญในแต่ละช่วงเวลา

เพิ่มการส่งออกในตลาดต่างประเทศ ด้วยปัจจุบันการแข่งขันภายในประเทศมีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับตลาดภายในประเทศค่อนข้างอิ่มตัว ด้วยอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ยประมาณ 35 ซองต่อคนต่อปี ตลาดต่างประเทศจึงมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่าการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี แต่ยังคงมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายรวม ซึ่งการเพิ่มปริมาณการส่งออกถือเป็นช่องทางที่สามารถเติบโตได้อีกมากในอนาคต ทั้งนี้ ผู้ผลิตจำเป็นที่จะต้องพัฒนากลยุทธ์เพื่อเตรียมพร้อมในการส่งออกให้มากขึ้น สิ่งสำคัญคือการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ ด้วยการสร้างความแตกต่างในตัวผลิตภัณฑ์จากคู่แข่งขันรายอื่น โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ถูกใจผู้บริโภคในแต่ละประเทศทั้งลักษณะเส้น ความเหนียวนุ่ม รสชาติ และแพ็กเกจจิ้ง รวมถึงการสำรวจภาวะการแข่งขันในตลาดเพื่อหาช่องว่างการตลาด และกำหนดจุดยืนสินค้าให้ชัดเจน

บทสรุป
แม้ว่าในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2551 ยอดการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายในประเทศจะลดต่ำลงมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ายอดการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปน่าที่จะกระเตื้องขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดของบรรดาผู้ผลิต รวมถึงปัญหาค่าครองชีพของประชาชนที่พุ่งสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะจากสินค้าในหมวดอาหารที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้รับอานิสงส์จากการแข่งขันฟุตบอลยูโรตลอดเดือนมิถุนายน ที่เข้ามากระตุ้นยอดขายได้อีกแรงหนึ่ง ทั้งนี้จากข้อได้เปรียบของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีราคาต่อหน่วยที่ต่ำ สามารถปรุงรับประทานได้ง่าย รับประทานแล้วอิ่มท้อง และสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน จึงเป็นสินค้ากลุ่มแรกๆ ที่ประชาชนยังมีความต้องการบริโภคในระดับสูง โดยคาดว่ายอดการจำหน่ายในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 จะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรวมตลอดทั้งปี 2551 กลับมาขยายตัวจากปีที่ผ่านมาประมาณ 3 – 5 % โดยมียอดจำหน่ายรวมประมาณ 153,000 – 156,000 ตัน จากปีที่ผ่านมาที่มียอดจำหน่ายรวมที่ 149,053 ตัน