เรือกู้ภัยดีแทคและมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดปฏิบัติภารกิจช่วยชีวิตนักท่องเที่ยวและชาวบ้าน

รายงานจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กระบี่ แจ้งว่านับตั้งแต่ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ได้รับมอบเรือกู้ภัยจากดีแทคและมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดสำหรับนำไปใช้เสริมศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจด้านการกู้ภัยช่วยเหลือชาวบ้านและนักท่องเที่ยวในกรณีเกิดอุบัติภัยฉุกเฉินทางทะเล แถบชายฝั่งอันดามันนั้น ปัจจุบัน เรือลำดังกล่าวได้นำไปใช้ในการปฏิบัติภารกิจช่วยชีวิตนักท่องเที่ยวได้แล้วกว่าร้อยชีวิตจากอุบัติภัยทางท้องทะเลหลายกรณี

ดีแทคและสำนึกรักบ้านเกิด ได้ส่งมอบเรือกู้ภัยมูลค่าเกือบ 10 ล้านบาท ซึ่งมาจากการร่วมสมทบทุนกับหน่วยงานต่างๆ จากประเทศนอร์เวย์ และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ดังกล่าวให้ อบจ. กระบี่ ไปเมื่อปลายปี 2550 และเริ่มภารกิจตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา

นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการฝ่ายซีเอสอาร์ดีแทค กล่าวว่า ดีแทครู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่าเรือกู้ภัยที่ดีแทคได้มอบให้ทาง อบจ. กระบี่ได้มีส่วนช่วยเหลือในกรณีอุบัติภัยทางทะเลได้ตามวัตถุประสงค์เป็นอันดี ถือเป็นการป้องกันระวังภัยที่ดียิ่ง ทั้งยังส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีทางการท่องเที่ยว ซึ่งการสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นแนวทางในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในโครงการทำดีทุกวันอีกอย่างหนึ่งของดีแทค นอกจากการสนับสนุนเรือพร้อมอุปกรณ์กู้ภัยแล้ว ดีแทคยังสนับสนุนเสื้อ แจ๊คเก็ต สำหรับทีมเฉพาะกิจที่ปฏิบัติภารกิจในการกู้ภัย ห่วงชูชีพ และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพให้ทีมเจ้าหน้ากู้ภัยเพิ่มเติมด้วย

นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่กล่าวว่า อบจ. กระบี่ได้นำเรือลำดังกล่าวไปใช้ในปฏิบัติการกู้ภัยทางทะเล เสริมประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกระบี่ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการป้องกัน เฝ้าระวังและกู้ภัยในท้องทะเลอันดามันตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด และนับว่าเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในด้านการบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าวได้อย่างครบวงจร

ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้นำเรือดังกล่าวออกไปช่วยเหลือชีวิตนักท่องเที่ยวได้แล้วหลายกรณี เช่น ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจำนวน 40 คนที่ประสบอุบัติเหตุเรือล่มที่บริเวณเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ และช่วยเหลือนักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุที่เกาะลันตา รวมทั้งบริเวณเกาะต่างๆ ในแถบชายฝั่งอันดามัน เนื่องจากเป็นเรือที่สามารถสู้คลื่นลมได้ดีกว่าเรือ speed boat ทั่วไป สามารถแล่นได้เร็ว 35 – 40 น็อต การทรงตัวดีกว่า เหมาะสมสำหรับพื้นที่ สามารถสู้คลื่นลมทะเลได้ไม่น้อยกว่า 4 เมตร ภายในเรือมีอุปกรณ์กู้ภัยครบครัน อาทิเช่นห้องเรดาร์จับสัญญาณใกล้เคียงรอบทิศทางภายในระยะ 30 ไมล์ทะเล โซน่าร์ซึ่งใช้ค้นหาสิ่งแปลกปลอมในท้องทะเล สามารถค้นหาสิ่งแปลกปลอมด้วยรัศมีการค้นหาประมาณ 10 เมตร และสามารถกู้ภัยที่น้ำลึกระดับ 30 เมตร นอกจากนี้ยังอุปกรณ์พยาบาลและอุปกรณ์กู้ภัยระดับมาตรฐานสากลครบครันทำให้มีศักยภาพในการทำงานกู้ภัยนี้ได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ การปฏิบัติงานของศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกระบี่จะประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ได้แก่กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ หน่วยกู้ภัยหนองทะเล หน่วยกู้ภัย 191 มนุษย์กบ ตำรวจน้ำ กลุ่มอาสาสมัคร เครือข่ายโรงพยาบาล บริษัทนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ รวมทั้งเครือข่ายชาวประมงในเขตพื้นที่ในการดำเนินงานป้องกันและเฝ้าระวังภัย ตลอดปี 2550 ที่ผ่านมา ศูนย์ได้ออกไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือนักท่องเที่ยวแล้วทั้งหมดกว่า 600 ครั้งในน่านน้ำทะเลอันดามัน