ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ปรับบริการและข้อกำหนดให้สอดรับ พ.ร.บ. ตลาดทุนฉบับใหม่

บ. ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ จัดประชุมชี้แจงสมาชิกศูนย์รับฝากหลักทรัพย์และสำนักหักบัญชี ซึ่งได้แก่บริษัทหลักทรัพย์ คัสโตเดียนและธนาคารพาณิชย์กว่า 100 แห่ง ถึงผลกระทบของ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ที่มีต่อการดำเนินงานของ บ. ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ในด้านงานรับฝาก งานชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในการปรับบริการและกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ตลาดทุนฉบับใหม่

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ได้มีการแก้ไขปรับปรุงและมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมานั้น นอกจากมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างการกำกับดูแลตลาดทุนให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนเป็นผู้ทำหน้าที่แล้ว ยังส่งผลต่อการดำเนินงานของ บ. ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ในด้านต่างๆ กล่าวคือ

– การออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบกิจการเป็นสำนักหักบัญชี ศูนย์รับฝาก และนายทะเบียนหลักทรัพย์ จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น จากเดิมเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ตลท. โดยความเห็นชอบของสำนักงาน ก.ล.ต.

– การกำหนดให้สำนักหักบัญชีเข้าผูกพันหรือแทนที่เป็นคู่สัญญาซื้อขายหลักทรัพย์กับสมาชิก (Central Counter Party: CCP) เพื่อความมั่นคงของระบบซื้อขายและการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์

– การกำหนดให้สำนักหักบัญชีแยกทรัพย์สินที่ได้รับมาจากสมาชิกและลูกค้าเพื่อเป็นหลักประกันในการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ออกจากทรัพย์สินของสำนักหักบัญชี เพื่อไม่ให้กระทบทรัพย์สินของแต่ละฝ่ายในกรณีที่สมาชิกหรือสำนักหักบัญชีล้มละลาย

– การเพิ่มวิธีการและผลการใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกัน โดยกำหนดให้รองรับการจำนำหลักทรัพย์ซึ่งฝากอยู่ในระบบอิเล็คทรอนิกส์ (Scripless) ของ TSD ได้และมีผลผูกพันตามกฎหมาย

– การกำหนดให้ผู้ให้กู้ สามารถบังคับขายหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ยึดถือไว้เป็นประกัน ในตลาดหลักทรัพย์ หรือขายทอดตลาดได้

“บ. ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ จึงต้องดำเนินการปรับปรุงข้อกำหนดให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนจะกำหนด พร้อมทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติงานตลอดจนจัดเตรียมระบบงานให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยให้ความมั่นใจแก่สมาชิกว่าการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของสมาชิกมากนัก เนื่องจากการเข้าเป็นคู่สัญญานั้น บ. ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว ส่วนการแยกทรัพย์สินได้ปรับปรุงระบบให้รองรับการจัดเก็บข้อมูลและเริ่มใช้ไปเมื่อ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา และจะรณรงค์ให้ผู้ถือหุ้นนำหุ้นเข้าฝากในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Scripless) ต่อไป ส่วนหลักเกณฑ์อื่นก็ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมจากข้อกำหนดเดิมให้มีความชัดเจนและรัดกุมมากยิ่งขึ้น” นางสาวโสภาวดีกล่าว