ปรับราคาผลิตภัณฑ์นม : ผลกระทบจากการปรับราคาน้ำนมดิบ

ในวันที่ 7 สิงหาคม 2551 คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาผลิตภัณฑ์นมเห็นชอบให้มีการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมตั้งแต่ร้อยละ 1.14-23.10 จากที่ผู้ผลิตเสนอขอปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 13.64-55.22 ให้กับผู้ผลิต 5 ราย จำนวน 4 ยี่ห้อ ได้แก่ โฟรโมสต์ หนองโพ เมจิ และดูเม็กซ์ เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้นหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบจากกิโลกรัมละ 14.50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 18.00 บาท แต่การปรับเพิ่มราคานั้นต้องรอการเสนอให้พิจารณารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณาอนุมัติก่อนแจ้งให้ผู้ประกอบการปรับราคาต่อไป ซึ่งถ้าได้รับการอนุมัติตามข้อเสนอ ทำให้นมกล่องพาสเจอร์ไรซ์ขนาดบรรจุ 200 ซีซี ปรับเพิ่มอีก 1 บาท จากราคา 10.75 บาท เป็น 11.75 บาท นมกล่องยูเอชทีขนาด 250 ซีซี เพิ่มขึ้น 1 บาท จาก 9.50 บาท เป็น 10.50 บาท ขนาด 830 ซีซี เพิ่มขึ้น 3.75 บาท จาก 38.25 บาท เป็น 42 บาท

การปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบนั้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์นม แต่เนื่องจากตลาดผลิตภัณฑ์นมมีการแข่งขันรุนแรง และการปรับราคานั้นส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ดังนั้น จึงคาดว่าผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมจะปรับขึ้นราคาไม่มากนัก โดยจะใช้การปรับเพิ่มผลิตภัณฑ์ และกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และการปรับการบริหารจัดการด้านต้นทุน ประเด็นที่น่าสนใจคือ ถ้าผู้ประกอบการผลิตนมพร้อมดื่มหันไปใช้ผลิตภัณฑ์นมนำเข้า ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า แม้ว่าราคาผลิตภัณฑ์นมในต่างประเทศจะอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ก็ได้รับอานิสงส์การลดภาษีนำเข้าจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี โดยคาดว่าอาจจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาน้ำนมดิบในประเทศล้นตลาดได้ในอนาคต เมื่อถึงจุดที่ต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบที่ใช้ผลิตภัณฑ์นมนำเข้าถูกกว่าราคาน้ำนมดิบในประเทศ

ปรับราคาผลิตภัณฑ์นม…ตามการปรับราคาน้ำนมดิบ
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมได้พิจารณาปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบตามที่ทางกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศเรียกร้องให้มีการปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นจากราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 14.50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 18.00 บาท เนื่องจากต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบที่เพิ่มสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 13.00 บาทเป็นกิโลกรัมละ 14.46 บาท เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การพิจารณาปรับราคาในครั้งนี้ เป็นการปรับจากการพิจารณาข้อมูลต้นทุนจาก 3 ส่วนคือ ต้นทุนราคาอาหารสัตว์ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนที่สองคือ ค่าใช้จ่ายในการปรับคุณภาพน้ำนมดิบก่อนเตรียมส่งโรงงาน โดยมีต้นทุนที่กิโลกรัมละ 1.20 บาท ส่วนที่สามคือ ส่วนที่เกษตรกรขอกำไรจากการดำเนินการในการผลิตร้อยละ 15.0 ของต้นทุนรวมจึงมีการพิจารณารับซื้อที่กิโลกรัมละ 18.00 บาท หลังจากนั้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการปรับราคาน้ำนมดิบตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯโดยมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2551

จากการปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบในครั้งนี้ส่งผลให้ราคานมโรงเรียนมีการปรับราคาสูงขึ้น โดยนมยูเอชทีขนาด 200 ซีซี เดิมกล่องละ 6.52 บาท ปรับเพิ่มเป็น 7.80 บาท และนมพาสเจอร์ไรส์จากกล่องละ 5.84 บาท เป็นกล่องละ 6.57 บาท ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯจะเสนอต่อครม.เพื่อของบประมาณสนับสนุนโครงการนมโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีก 1,357 ล้านบาท จากเดิม 6,520 ล้านบาท เพื่อให้อบต.เข้าไปจัดการรับซื้อนมโรงเรียนให้กับเด็กนักเรียนต่อไป ส่วนนมพาณิชย์ที่มีการจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไปที่ประชุมได้สั่งการให้ตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ที่เข้าร่วมประชุมด้วยเสนอข้อมูลเพื่อพิจารณาปรับราคาเพิ่มขึ้นตามต้นทุน เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์มีคณะกรรมการพิจารณาปรับราคาสินค้า โดยนำเสนอต่อครม.เพื่อขอความเห็นชอบเช่นเดียวกันก่อนที่จะมีการปรับราคา

ดังนั้นกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลในส่วนของตลาดนมพาณิชย์จึงจะเรียกประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาราคานมและผลิตภัณฑ์ในวันที่ 7 สิงหาคม 2551 เพื่อสรุปการปรับขึ้นราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์นมให้สอดคล้องกับต้นทุนน้ำนมดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเหลื่อมล้ำในเรื่องราคาต้นทุนและราคาขายปลีกปลายทาง รวมถึงไม่ให้ผู้ประกอบการใช้เป็นข้ออ้างกดราคาซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร โดยใช้เหตุผลว่ายังไม่ได้รับการปรับราคาสินค้า ทั้งนี้แนวทางพิจารณาปรับราคานมและผลิตภัณฑ์จะเน้นเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำนมดิบในประเทศเป็นวัตถุดิบ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่นำเข้านมผงเป็นวัตถุดิบไม่ได้อยู่ในข่ายการพิจารณา ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างสินค้าสองชนิดนี้ เพราะปัจจุบันราคาผลิตภัณฑ์นมที่ได้จากนมผงนำเข้าจะมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำนมดิบในประเทศเป็นวัตถุดิบอยู่แล้ว ตามขั้นตอนนี้หลังจากที่อนุกรรมการพิจารณาราคานมและผลิตภัณฑ์ ได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อพิจารณาให้ได้รับความเห็นชอบต่อไป

คาดการณ์ว่ากรมการค้าภายในเตรียมอนุมัติให้สินค้านมพาสเจอไรซ์ทุกขนาดปรับขึ้นราคาไม่เกิน 1 บาท ตามต้นทุนน้ำนมดิบที่ปรับขึ้นมา 3.50 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ควรมีการพิจารณาด้วยคือ ปัจจุบันราคาผลิตภัณฑ์นมในต่างประเทศชะลออัตราการเพิ่มขึ้น และการที่ไทยมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ดังนั้น คาดการณ์ได้ว่าราคาผลิตภัณฑ์นมนำเข้าน่าจะมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่าผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมในประเทศบางรายอาจจะหันไปใช้ผลิตภัณฑ์นมนำเข้าทดแทนการรับซื้อน้ำนมดิบในประเทศ และอาจจะนำไปสู่ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดในอนาคต หากราคาผลิตภัณฑ์นมนำเข้าเพื่อนำมาผลิตนมพร้อมดื่มยังถูกกว่าราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดผลิตภัณฑ์นม…แข่งขันสูง ต้นทุนพุ่ง
ปริมาณการผลิตน้ำนมดิบปี 2551 รวมทั้งประเทศคาดว่าจะมีทั้งสิ้นประมาณ 827,252 ตัน(คำนวณจากจำนวนโคนม 496,395 ตัว ) เมื่อเทียบกับปี 2550 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ผลผลิตน้ำนมดิบในประเทศส่วนใหญ่จะถูกนำไปแปรรูปเป็นนมพร้อมดื่มเกือบประมาณร้อยละ 97 (ในจำนวนนี้จะนำไปแปรรูปเป็นนมพาณิชย์ร้อยละ 42 รองลงมาคือ นมโรงเรียนร้อยละ 30 และนมเปรี้ยวร้อยละ 27) ที่เหลือจะใช้ผลิตเป็นเนยแข็งร้อยละ 2.8 และอื่นๆร้อยละ 0.2 ในระยะที่ผ่านมาความต้องการน้ำนมดิบในประเทศมีทิศทางเติบโตตามอุตสาหกรรมนมพร้อมดื่มที่ขยายตัวต่อเนื่อง แต่ด้วยราคาน้ำนมดิบในประเทศที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ประกอบกับความต้องการน้ำนมดิบในประเทศที่มีสูงกว่าผลผลิต ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปนมของไทยซึ่งปัจจุบันมีกว่า 100 ราย (ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 70.0 จะเป็นการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์) ต่างพยายามจะพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าในรูปของนมผงขาดมันเนยจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าทดแทนมากขึ้น คาดว่าในปี 2551 การนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจะมีมูลค่าประมาณ 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 20.0 เมื่อเทียบกับปี 2550 แหล่งนำเข้าสำคัญคือ นิวซีแลนด์และสหรัฐฯ เนื่องจากออสเตรเลียประสบปัญหาความแห้งแล้งทำให้ผลผลิตผลิตภัณฑ์นมลดลง ส่วนแหล่งนำเข้าใหม่ของไทยคือ เยอรมนี จีน และมาเลเซีย โดยปัจจุบันแม้ว่ามูลค่าการนำเข้ายังไม่สูงมากนัก แต่มีอัตราการขยายตัวที่น่าสนใจ ที่ผ่านมาภายใต้ข้อตกลงองค์การการค้าโลก และข้อตกลงเขตเสรีทางการค้า ภาครัฐได้กำหนดโควตานำเข้ารวมไว้ประมาณ 50,000 ตัน/ปี อัตราภาษีร้อยละ 5 และมีการประกาศจัดสรรโควตานำเข้าปีละ 2 ครั้ง โดยอาจมีการปรับเพิ่มโควตานำเข้าในกรณีที่น้ำนมดิบในประเทศขาดแคลน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2551ตลาดผลิตภัณฑ์นมโดยรวมจะมีมูลค่าประมาณ 37,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2550 มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 5.7 อาจกล่าวได้ว่าตลาดผลิตภัณฑ์นมในปี 2551 แม้จะเติบโตได้ แต่ยังมีอัตราขยายตัวค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อื่นๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาสัดส่วนตลาดของเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศพบว่านม ยูเอชทีมีสัดส่วนตลาดสูงสุดประมาณร้อยละ 18.0 ใกล้เคียงกับนมถั่วเหลือง รองลงมาคือ นมเปรี้ยวและน้ำผลไม้ ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 16.0 ที่เหลือได้แก่ นมพาสเจอร์ไรส์และชา กาแฟ ไมโล โอวัลติน พร้อมดื่ม เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของตลาดนมพร้อมดื่มในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8-10 ต่อปี เทียบกับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ประเภทอื่นที่มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 15-25 ต่อปี

การปรับตัวของผู้ประกอบการ…ขยายฐานลูกค้า รับต้นทุนเพิ่ม
ในปี 2551 โรงงานผลิตภัณฑ์นมมีการเตรียมแผนรองรับ ต้นทุนน้ำนมดิบที่มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะมีการปรับราคาขึ้น โดยในปี 2550 ผู้ประกอบการผลิตนมพร้อมดื่มได้รับการอนุมัติจากกรมการค้าภายในให้ขึ้นราคาไปแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดปรับราคาเมื่อเดือนกันยายน 2550 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 ผู้ประกอบการผลิตนมพร้อมดื่มยังมีการยื่นขอปรับราคาจำหน่ายนมพร้อมดื่ม จากปัญหาปริมาณน้ำนมดิบในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ และราคาผลิตภัณฑ์นมในตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูงส่งผลให้ต้นทุนนำเข้าผลิตภัณฑ์นมยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น การอนุมัติปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบในครั้งนี้ยิ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นม

ปัจจุบันการแข่งขันในประเทศมีความรุนแรงขึ้นจากจำนวนผู้ประกอบการที่มีมากราย อย่างไรก็ตาม การปรับราคายังทำได้ลำบาก เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม และยังเป็นสินค้าที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อราคา การปรับเพิ่มราคาจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคพอสมควร ประกอบกับสินค้าทดแทนในตลาดมีค่อนข้างมาก การกระตุ้นตลาดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่การแข่งขันจากต่างประเทศนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นจากมาตรการการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย และไทยกับนิวซีแลนด์ ทำให้ไทยต้องทยอยลดภาษีนำเข้านมผงพร่องมันเนยลงตั้งแต่ปี 2547 และเหลือร้อยละ 0 ในปี 2568 ซึ่งประเทศทั้งสองมีความได้เปรียบไทยทั้งในด้านคุณภาพนมที่ดีกว่า และต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ซึ่งผู้ประกอบการที่พึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลักจะค่อนข้างเสียเปรียบ เนื่องจากราคาน้ำนมดิบในประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าราคาผลิตภัณฑ์นมนำเข้า

กลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์นม มีดังนี้
ออกผลิตภัณฑ์ใหม่…ขยายฐานผู้บริโภคและกระตุ้นการซื้อ ผู้ประกอบการในตลาดผลิตภัณฑ์นมเร่งรุกขยายตลาด โดยอาศัยการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อขยายฐานการผลิตผลิตภัณฑ์นมให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น ตลาดนมเปรี้ยวพร้อมดื่มและคัพโยเกิร์ตมีการเปิดตัวสินค้านมเปรี้ยวพร้อมดื่มไม่มีไขมันและคัพโยเกิร์ต รสน้ำผึ้ง ทั้งนี้เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงระดับบีบวกที่ห่วงใยสุขภาพและความงามเป็นหลัก เนื่องจากการศึกษาพบว่านอกจากผู้หญิงที่ต้องการดื่มนมเปรี้ยวและคัพโยเกิร์ตเพื่อช่วยในการขับถ่ายแล้ว ยังต้องการด้านความสวยและความงามด้วย นมถั่วเหลืองผสมงาดำหรือผสมธัญพืชหลากหลายชนิด ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค

เร่งส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าที่มียอดขายดี แม้ว่าตลาดผลิตภัณฑ์นมโดยรวมนั้นจะมีอัตราการขยายตัวที่ไม่สูงมากนัก แต่ผลิตภัณฑ์นมในบางประเภทโดยเฉพาะนมเปรี้ยว นมยูเอชที นมพาสเจอร์ไรซ์ และนมแคลเซี่ยมสูงที่ยังคงมีอัตราการเติบโตอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับว่าเป็นผลิตภัณฑ์นมที่น่าจับตามอง เนื่องจากคาดหมายว่าการแข่งขันในผลิตภัณฑ์นมเหล่านี้จะมีสีสันและมีความรุนแรงมากขึ้น คาดว่าปี 2551 ภาพรวมของตลาดนมพร้อมดื่มจะยังอยู่ในภาวะซบเซา และคาดว่าจะเป็นปีแห่งความยากลำบาก สำหรับโรงผลิตภัณฑ์นมและผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพอสมควร เนื่องจากราคาสินค้าเกือบทุกตัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และคาดว่าผู้ประกอบการคงไม่สามารถที่จะตรึงราคาได้นานนัก หากต้นทุนการผลิตยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการพยายามตัดงบค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพยายามจะไม่ให้กระเทือนไปถึงราคาจำหน่ายในตลาด ซึ่งการปรับขึ้นราคาสินค้าจะทำเท่าที่จำเป็น และสะท้อนถึงต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของราคาวัตถุดิบ เพราะกำลังซื้อผู้บริโภคไม่ได้เพิ่มขึ้น ยิ่งขึ้นราคาสินค้ามากเท่าไรก็ยิ่งกระทบยอดขายมากเท่านั้น นอกจากนี้ยังต้องรอการอนุมัติให้ปรับราคาจากกรมการค้าภายในด้วย เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุมราคา

ชะลอการผลิต สมาคมอุตสาหกรรมนมไทยยื่นหนังสือต่อกรมการค้าภายในเพื่อขอปรับราคานมพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรซ์ขึ้นร้อยละ 10-15 เนื่องจากน้ำนมดิบปรับราคาเพิ่มขึ้นจาก 14.50 บาท เป็น 18.00 บาทต่อกิโลกรัม ในวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา หรือปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20.0 แต่หลังจากยื่นไปขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ผู้ประกอบการบางรายเริ่มชะลอการผลิตนมป้อนสู่ตลาดบ้างแล้ว

ขยายตลาดส่งออก ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมบางรายหันไปขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะผู้ผลิตนมและครีมที่ทำให้เข้มข้นหรือเติมน้ำตาลหรือสารให้ความหวานอื่นๆ นมและครีมที่ไม่ทำให้เข้มข้น แต่ไม่เติมน้ำตาล หรือสารที่ทำให้หวานอื่นๆ โยเกิร์ตและนมเปรี้ยว มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์นมของไทยคาดว่าในปี 2551 จะมีประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับปี 2550 ตลาดส่งออกหลักของไทยยังเป็นประเทศเพื่อนบ้าน คือ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา มาเลเซีย ลาว พม่า และอินโดนีเซีย ซึ่งในอนาคตคู่แข่งที่น่าจับตามองคือ เวียดนาม แม้ในปัจจุบันศักยภาพการผลิตยังสู้ไทยไม่ได้ แต่มีการพัฒนาที่เร็วมาก นอกจากนี้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้หันไปลงทุนในแถบอเมริกาใต้เพิ่มมากขึ้น เช่น อาร์เจนติน่า บราซิล อุรุกวัย เป็นต้น ซึ่งจะทำให้แนวโน้มตลาดนมโลกมีการแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้น

บทสรุป
หลังจากที่รัฐบาลอนุมัติให้มีการปรับราคาน้ำนมดิบตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551 ทำให้ต้นทุนของการผลิตผลิตภัณฑ์นมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์นมจึงยื่นขอปรับราคานมพร้อมดื่ม โดยคาดว่าจะอนุมัติให้ปรับราคาเฉพาะนมพร้อมดื่มที่ใช้น้ำนมดิบเป็นวัตถุดิบเท่านั้น แต่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะให้ปรับราคาขึ้นเท่าใด อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ควรจะพิจารณาด้วยคือ ถ้ายังยืดระยะเวลาในการอนุมัติปรับราคานมพร้อมดื่มออกไปอีกก็มีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการจะหันไปใช้ผลิตภัณฑ์นมนำเข้าเป็นวัตถุดิบในการผลิตมากขึ้น ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้เกิดภาวะน้ำนมดิบล้นตลาดได้ในอนาคตหากต้นทุนลิตภัณฑ์นมนำเข้าเพื่อนำมาผลิตนมพร้อมดื่มถูกกว่าในประเทศอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามกับในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ราคาผลิตภัณฑ์นมในต่างประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมหันมาใช้น้ำนมดิบในประเทศ จนกระทั่งปริมาณน้ำนมดิบในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ

สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจนมพร้อมดื่มนั้นต่างก็เร่งปรับตัวโดยการขยายฐานการตลาด และเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แม้ว่าธุรกิจนมพร้อมดื่มจะขยายตัวไม่มากนัก แต่ก็มีผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มบางประเภทที่มีการขยายตัวอย่างโดดเด่นคือ นมเปรี้ยว นมแคลเซี่ยมสูง และนมยูเอชที นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายเริ่มชะลอการผลิต เนื่องจากต้องประสบกับภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่การแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์นมค่อนข้างรุนแรง ทำให้การปรับราคาเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก รวมทั้งผู้ผลิตบางรายเริ่มหันไปขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันท่วงที หากเกิดปัญหาด้านตลาดในประเทศ