ตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ : คาดชะลอตัวลง

ปัจจุบันตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยขยายตัวตามการเติบโตของความต้องการใช้งานคอมพิวเตอร์ในด้านต่างๆ สำหรับตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ของไทยอาจถือว่ายังมีมูลค่าไม่สูงมากนัก แต่ก็เริ่มมีขนาดใหญ่มากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้งานซอฟต์แวร์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนมีมากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ต้องเผชิญปัญหาจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลาย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์และแนวโน้มของตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ รวมทั้งโอกาสในการเติบโตของผู้ประกอบการไทย โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ภาพรวมตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ … ซอฟต์แวร์ต่างประเทศยังครองตลาดส่วนใหญ่

การผลิตคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ซอฟต์แวร์ที่ผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Custom-Developed Software) และซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่เป็นสินค้าทั่วไป (Package/Generic Software) สำหรับตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ของไทย จากการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ปี 2550 พบว่า มีมูลค่าประมาณ 57,178 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 14.2 โดยภาคธุรกิจเอกชนมีมูลค่าการใช้งานสูงที่สุดประมาณ 38,338 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 67.1 ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น ระบบจัดการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management: CRM) ระบบวางแผนการใช้ทรัพยากรในองค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP) เป็นต้น สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความต้องการซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงก็มักจะซื้อซอฟต์แวร์ประเภทที่ผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า เนื่องจากสามารถตอบสนองการดำเนินงานของธุรกิจได้อย่างเหมาะสมกว่า โดยผู้ที่ผลิตซอฟต์แวร์ประเภทนี้จะต้องมีความเชี่ยวชาญและเข้าใจในระบบการทำงานของธุรกิจนั้นๆ เป็นอย่างดี จึงจะสามารถผลิตซอฟต์แวร์ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด ส่วนธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่จะมีความต้องการซอฟต์แวร์พื้นฐานด้านธุรกิจและต้องใช้งานง่าย เช่น ซอฟต์แวร์ระบบสำนักงาน ซอฟต์แวร์ระบบบัญชี ซอฟต์แวร์จัดซื้อสินค้า ซอฟต์แวร์บริหารคลังสินค้า เป็นต้น จึงมักซื้อซอฟต์แวร์สำเร็จรูปมาใช้งาน เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเงินลงทุนและลักษณะการใช้งาน ส่วนภาครัฐมีมูลค่าการใช้งานประมาณ 13,894 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 24.3 โดยมักจะใช้งานซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการและงานด้านบริการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐ เช่น ระบบการจัดเก็บภาษี ระบบจัดการฐานข้อมูล เป็นต้น ส่วนภาคครัวเรือนมีมูลค่าการใช้งานประมาณ 4,946 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 8.7 โดยส่วนใหญ่จะใช้งานซอฟต์แวร์ในลักษณะที่ติดตั้งมาพร้อมกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสื่อสาร เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone PDA เป็นต้น นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนยังอาจมีการซื้อซอฟต์แวร์เพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อซอฟต์แวร์สำเร็จรูป เช่น ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ระบบสำนักงาน ซอฟต์แวร์เกมส์ เป็นต้น

ในส่วนของตลาดต่างประเทศ ปี 2550 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 4,200 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 45 และคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 7.3 ของตลาดซอฟต์แวร์ทั้งหมด โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และสิงคโปร์

สำหรับผู้ประกอบการในตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์มีอยู่ประมาณ 1,300 ราย ส่วนใหญ่เป็นบริษัทของคนไทย โดยประมาณร้อยละ 91 มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยทั้งหมด และอีกประมาณร้อยละ 9 มีชาวต่างชาติร่วมถือหุ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งในมูลค่าตลาดกว่า 50,000-60,000 ล้านบาทต่อปี เป็นของซอฟต์แวร์จากต่างประเทศไม่ต่ำกว่าประมาณร้อยละ 70 เนื่องจากตลาดภายในประเทศมีความเชื่อมั่นและยอมรับในคุณภาพของซอฟต์แวร์จากต่างประเทศมากกว่าซอฟต์แวร์ไทย ประกอบกับซอฟต์แวร์ของไทยยังขาดการรับรองมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ อีกทั้งผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก จึงมีงบด้านการลงทุนพัฒนาและด้านการตลาดไม่มากนักเมื่อเทียบกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ตลอดจนข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่

แนวโน้มตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ ปี 2551 … ชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับแนวโน้มตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ ปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะชะลอตัวลง โดยจะมีมูลค่าประมาณ 63,000-64,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 10-12 ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 14.2 ในปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหลายประการ ซึ่งสามารถแบ่งตามประเภทผู้ใช้งานได้ดังนี้

1) ภาคธุรกิจเอกชน คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอการลงทุนในซอฟต์แวร์ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อในครึ่งปีแรกที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี แม้ในครึ่งปีหลังอาจปรับตัวลดลง แต่ก็คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งทำให้ภาคเอกชนอาจต้องชะลอการลงทุนด้านซอฟต์แวร์เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทั้งในด้านต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งปัญหายอดขายชะลอตัวลงจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่คาดว่าจะประสบปัญหาอย่างหนัก ทั้งนี้ สะท้อนได้จากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับลดลงมาในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 โดยขยายตัวประมาณร้อยละ 4.2 ลดลงจากไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 7.2 รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า เดือนมิถุนายน 2551 อยู่ที่ระดับ 44.2 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและมุมมองในอนาคตของภาคเอกชนที่มีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีแนวโน้มไม่ค่อยสดใสก็ยิ่งเพิ่มความกังวลแก่ภาคเอกชนมากขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนด้านซอฟต์แวร์ของธุรกิจโทรคมนาคมก็อาจไม่เพิ่มขึ้นมากนัก หลังจากความล่าช้าของการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ซึ่งมีผลต่อการลงทุนซอฟต์แวร์ด้านการสื่อสารของผู้ให้บริการเครือข่ายที่ต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับใบอนุญาตและกฎระเบียบการให้บริการระบบ 3G จากภาครัฐ รวมทั้งมีผลต่อธุรกิจที่ให้บริการ Content ต่างๆ บนโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารพกพา เนื่องจากความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่เพิ่มขึ้นของระบบ 3G จะช่วยสนับสนุนการเปิดให้บริการ Content ต่างๆ ได้หลากหลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านซอฟต์แวร์ของธุรกิจขนาดใหญ่คาดว่าจะยังคงมีอยู่ เนื่องจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการลดต้นทุนด้านการขนส่งในภาวะที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง เช่น ซอฟต์แวร์ด้านโลจิสติกส์ที่จะช่วยบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่ง ซอฟต์แวร์สนับสนุนเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) ที่สามารถประยุกต์ใช้ในธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจรักษาความปลอดภัยในอาคาร ธุรกิจบริการชำระเงิน และอื่นๆ เป็นต้น ตลอดจนเพื่อรองรับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาด เช่น การลงทุนของสถาบันการเงินและบริษัทหลักทรัพย์ในซอฟต์แวร์ทางด้านการบัญชีและการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินต้องมีการปรับปรุงระบบบัญชีตามมาตรฐาน IAS39 (International Accounting Standard 39) และการบริหารความเสี่ยงตามกฎ Basel II รวมทั้งแนวโน้มที่สภาวิชาชีพบัญชีจะกำหนดมาตรฐานทางการบัญชีใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน IAS39 ก็อาจทำให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องมีการปรับระบบบัญชีใหม่ ตลอดจนภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นของธุรกิจการเงินส่วนบุคคล (Private Banking) ที่จะทำให้สถาบันการเงินต้องเร่งลงทุนซอฟต์แวร์การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ เพื่อรักษาฐานลูกค้าในตลาดไว้ รวมทั้งการเปิดเสรีของธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะทำให้การซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องมีการลงทุนซอฟต์แวร์เพื่อพัฒนาระบบไอทีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการเข้ามาของบริษัทต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้คาดว่ามูลค่าการลงทุนด้านซอฟต์แวร์ทางการเงินในปีนี้จะมีไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นต้น รวมทั้งมาตรการทางภาษีในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่กำหนดให้ภาคเอกชนสามารถหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้เร็วขึ้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายซอฟต์แวร์ในภาคธุรกิจเอกชนได้

2) ภาครัฐ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) และโครงการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ของภาครัฐยังไม่คืบหน้ามากนัก โดยโครงการรถไฟฟ้ายังอยู่ในขั้นตอนการจัดหาแหล่งเงินทุนและการจัดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งคาดว่ากว่าจะเริ่มก่อสร้างได้น่าจะเป็นในช่วงปี 2552-2553 ส่งผลต่อตลาดซอฟต์แวร์ออกแบบการก่อสร้างและซอฟต์แวร์ควบคุมงบประมาณการก่อสร้าง ส่วนโครงการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ของภาครัฐอาจต้องชะลอการดำเนินการหรือปรับลดขนาดของโครงการลง เช่น โครงการโน้ตบุ๊ค 1 ล้านเครื่อง โครงการคอมพิวเตอร์ราคาประหยัด เป็นต้น เนื่องจากภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทั้งราคาน้ำมันและการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าการใช้จ่ายซอฟต์แวร์ของภาครัฐที่อาจไม่เพิ่มขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับปีก่อน

3) ภาคครัวเรือน มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามการชะลอการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เนื่องจากภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าไอทีมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยในครึ่งแรกของปีนี้ ยอดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่หดตัวจากปีก่อนประมาณร้อยละ 20 ส่วนยอดขายเครื่องคอมพิวเตอร์แม้จะเติบโตในอัตราที่ใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากยังได้แรงสนับสนุนจากราคาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่ถูกลง แต่ก็คาดว่าโดยภาพรวมแล้วการใช้จ่ายซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งมาพร้อมกับสินค้าไอทีน่าจะชะลอตัวลง รวมทั้งการซื้อซอฟต์แวร์เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ติดมากับอุปกรณ์ก็คาดว่าจะไม่เพิ่มสูงมากนักจากข้อจำกัดของค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อที่มากขึ้น อีกทั้งการเปิดตัวของซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ (Operating System: OS) และซอฟต์แวร์ระบบสำนักงานรุ่นใหม่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เนื่องจากซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ดังกล่าวต้องใช้งานร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งยังคงมีปัญหาด้านความปลอดภัยของระบบอยู่ ขณะเดียวกันตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ยังคงเผชิญปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็ก จากการสำรวจของ BSA (Business Software Alliance) ในปี 2550 ไทยมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ที่ประมาณร้อยละ 78 ลดลงเล็กน้อยจากปี 2549 ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 โดยประเมินเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึงประมาณ 468 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โอกาสของผู้ประกอบการไทย … ตลาดส่งออกในประเทศเพื่อนบ้านเป็นโอกาสสำคัญ

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในตลาดภายในประเทศไม่มากนัก เนื่องจากส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่เป็นของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ได้เปรียบในด้านเงินทุนและเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งภาคเศรษฐกิจและการเงินกำลังขยายตัว ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามที่ตลาดหลักทรัพย์มีการพัฒนามากขึ้นและตลาดซื้อขายทองคำกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนเป็นอย่างมาก แม้เศรษฐกิจเวียดนามกำลังเผชิญกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อและดุลการค้าอยู่ก็ตาม แต่โดยโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังมีความต้องการซอฟต์แวร์เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจยังมีอยู่อีกมาก โดยปัจจุบันบริษัทซอฟต์แวร์ของไทยมีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดในตลาดซอฟต์แวร์ด้านการเงินการลงทุนของเวียดนาม รวมทั้งลาวที่กำลังจะจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในปี 2552 ทำให้มีการลงทุนพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นอย่างมาก โดยมีการนำระบบไอทีมาใช้ในการดำเนินงานทั้งในภาครัฐและเอกชนมากขึ้น อีกทั้งจะมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ในปี 2553 ซึ่งจะเกิดความต้องการใช้ซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการด้านการเงินและการลงทุน ตลอดจนแผนการลงทุนพัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ที่มีมูลค่ากว่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยผู้ประกอบการไทยอาจอาศัยโอกาสในการเจาะตลาดจากความได้เปรียบในด้านราคาที่ไม่สูงนัก รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระหว่างรัฐบาลไทยกับลาวที่มีมาโดยตลอด ขณะที่ตลาดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางก็เป็นที่น่าสนใจ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ เป็นต้น ซึ่งกำลังมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความต้องการใช้ซอฟต์แวร์สำหรับควบคุมระบบบัญชีและงบประมาณในการก่อสร้างมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจอาศัยโอกาสในการเจาะตลาดจากการที่บริษัทก่อสร้างของไทยหลายรายได้งานก่อสร้างในกลุ่มประเทศดังกล่าว