ดีแทค และธกส. จัดโครงการอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่เศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน

สำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย, โครงการทำดีทุกวันจากดีแทคและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส) ร่วมใจสานพลังทำโครงการ “อาสาพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่เศรษฐกิจพอเพียง” ฝึกอบรมวิชาชีพด้านการเกษตรและผลิตของใช้ในครัวเรือนเพื่อลดรายจ่ายและเป็นช่องทางรายได้ให้แก่ครูและเด็กหญิงกำพร้าที่บิดามารดาเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ซึ่งเป็นนักเรียนจากโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา จังหวัดลำพูน ให้สามารถพึ่งพาตนเอง ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 367 คน ได้มีโอกาสขยายความรู้เพื่อการพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว สำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทยจึงได้ร่วมกันกับดีแทคและธกส. จัดโครงการฝึกอบรมวิชาชีพด้านการเกษตร โดยครอบคลุมถึงกลุ่มอาชีพด้านงานประมง เช่นการเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ, งานปศุสัตว์ เช่นการเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่, งานเกษตร ได้แก่งานปลูกข้าว ดำนา ปลูกผัก, งานสิ่งแวดล้อม ได้แก่การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และงานผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในครัวเรือน อาทิเช่นการทำน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ทั้งนี้มีการประเมินผลโครงการเพื่อติดตามความก้าวหน้าทุกๆ เดือน

นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนึกรักบ้านเกิด จากดีแทค กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของดีแทคได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางของการดำเนินงานมาโดยตลอด โครงการนี้จะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ดีแทคสนับสนุนให้ครูและนักเรียนโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษาได้รับแนวทางด้านวิชาการและแนวปฏิบัติในการใช้ชีวิตจากองค์กรที่มีประสบการณ์ เพื่อให้สามารถนำแนวทางต่างๆที่ได้จากการเรียนรู้ไปประยุกต์ เพื่อการพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวพร้อมการพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคต ซึ่งนอกจากการร่วมส่งเจ้าหน้าที่ดีแทคเข้าเป็นวิทยากรช่วยฝึกอบรมแล้ว ดีแทคยังจะร่วมกับสำนักงานอาสากาชาดในการดำเนินการจัดทำแปลงสาธิตเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตร บ่อเลี้ยงปลา รวมทั้งจัดสร้างยุ้งเก็บข้าว สนับสนุนเครื่องสีข้าวและอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ เพื่อสีข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จากแปลงนาในโรงเรียน แล้วนำไปรับประทาน เป็นการลดค่าใช้จ่าย นอกจากนั้น ถ้าสีข้าวภายในโรงเรียนเรียบร้อย ชุมชนรอบๆซึ่งไม่มีที่สีข้าวก็สามารถพึ่งพาร่วมกันด้วยการเข้ามาสีที่โรงเรียน และค่าสีข้าวอาจเป็นการมอบข้าวที่สีส่วนหนึ่งเพื่อให้เด็กนักเรียนมีข้าวรับประทานอย่างครบถ้วน หรือ มอบเมล็ดพันธุ์ผัก สำหรับไว้ปลูกสวนครัว เป็นการขยายขอบข่ายของการพึ่งพาตนเองและชุมชนเพิ่มเติมอีกด้วย”

ทั้งนี้โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา เริ่มก่อตั้งด้วยความปรารถนาดีของกลุ่มอาสากาชาด ที่ปฏิบัติภารกิจด้านผู้ติดเชื้อ HIV ได้เล็งเห็นว่าเด็กหญิงกำพร้าที่ บิดา-มารดา ตายด้วยโรดเอดส์ อาจจะมีปัญหาตามมาทั้งในตัวเด็กเอง ภาคสังคม และเสี่ยงต่อการถูกล่อลวง จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนดังกล่าวเพื่อให้เด็กหญิงกำพร้าได้มีความรู้ มีอาชีพ และสามารถเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งได้ในอนาคต ที่ผ่านมาโรงเรียนได้รับทุนด้านการบริหารโรงเรียนมาจากการบริจาคของสำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทยและครูและนักเรียนก็ได้ร่วมหารายได้ในโรงเรียนเองโดยการทำหัตถกรรมงานฝีมือของนักเรียนเพิ่มเติม โครงการอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่เศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน จะเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย เพิ่มพูนรายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความสุขที่ยั่งยืนต่อไป