ท่องเที่ยวครึ่งหลังปี’51 : ผลกระทบจากความรุนแรงของเหตุการณ์ชุมนุม

การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือน ส่อเค้าทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับในช่วงปลายเดือนสิงหาคมต่อเนื่องมาในเดือนกันยายน โดยมีการปิดสนามบินภูเก็ต กระบี่ และหาดใหญ่ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และจากเหตุการณ์ความรุนแรงส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่การชุมนุมของพันธมิตรฯก็มีแนวโน้มขยายวงกว้างและรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศได้ประกาศเตือนประชาชนของตนเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปี 2551 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวของตลาดท่องเที่ยวระยะไกลในยุโรปที่นิยมเดินทางหลบอากาศที่หนาวเย็นมาพำนักตามแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในภูมิภาคเอเชีย โดยมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในปลายทางท่องเที่ยวสำคัญ ทำให้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกๆปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยสูงกว่าทุกไตรมาส

ท่องเที่ยวครึ่งแรกปี 51 : ต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10
แม้ว่าการท่องเที่ยวไทยจะต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญหลายประการที่ล้วนบั่นทอนการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ท่ามกลางภาวะการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากบรรดาคู่แข่งรายสำคัญในภูมิภาคเอเชีย อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ มาเก๊า และฮ่องกง ที่ต่างมีโครงการลงทุนด้านการท่องเที่ยวขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการมาหลายปีแล้ว รวมทั้งเวียดนามและประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนที่เพิ่งเปิดประเทศมาได้ไม่นาน จึงมีความใหม่ของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ เป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ยังมีปัญหาภายในประเทศที่กระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวไทย ได้แก่ เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวไทยมีปัจจัยสำคัญหลายประการที่ช่วยเกื้อหนุน โดยเฉพาะความได้เปรียบด้านทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย และความพร้อมในบริการรองรับนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ประกอบกับการขยายเส้นทางบินของสายการบินต่างๆ ทั้งเที่ยวบินประจำและเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากตลาดท่องเที่ยวสำคัญของไทยในภูมิภาคต่างๆ เข้ามายังเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยมากขึ้น หลังจากที่ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยกลับคืนมาในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์ระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯช่วงส่งท้ายปีเก่า 2549 มาได้กว่า 1 ปี รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกลในภูมิภาคยุโรป ที่หวนกลับมาเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งอันดามันกันอย่างคึกคัก และเชนบริหารโรงแรมชั้นนำระดับโลกจากต่างประเทศต่างขยายเครือข่ายเข้ามาในประเทศไทย ทั้งในรูปของการรับจ้างบริหารและการลงทุนเอง ซึ่งส่งผลดีต่อการขยายตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ปัจจัยดังกล่าวผนวกเข้ากับการที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศในช่วงต้นปี ส่งผลให้การสนับสนุนการท่องเที่ยวในด้านงบประมาณจากภาครัฐมีความคล่องตัวมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญดังกล่าวส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยขยายตัวในอัตราสูงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 ต่อเนื่องมาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551

เมื่อพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย ผ่านท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ที่มีสัดส่วนประมาณกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย พบว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิรวมทั้งสิ้น 3.1 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 จากปี 2550 ช่วงเดียวกัน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 2.5 ล้านคน ส่งผลให้โดยรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยโดยผ่านท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิรวมทั้งสิ้น 5.6 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 จากปี 2550 ช่วงเดียวกัน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 4.25 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปี 2550 ช่วงเดียวกัน ขณะที่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มชะลอการขยายตัวลงเล็กน้อย โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยประมาณ 3.4 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปี 2550 ช่วงเดียวกัน เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนและมีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆทั้งในกรุงเทพฯและหลายพื้นที่ในต่างจังหวัดช่วงปลายไตรมาส

จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้คาดว่า โดยรวมแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 7.65 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เทียบกับปี 2550 ช่วงเดียวกันที่มีจำนวน 6.95 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3

เหตุการณ์รุนแรงจากการชุมนุม….กระทบท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง
จากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯที่ยืดเยื้อมาหลายเดือนเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม 2551 และขยายวงกว้างไปในกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ จนถึงขั้นการหยุดเดินรถไฟในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ นอกจากนี้ ยังมีการบุกปิดท่าอากาศยานภูเก็ต กระบี่ และหาดใหญ่ ในช่วงระหว่างวันที่ 29-31 สิงหาคม 2551 ซึ่งแม้จะเพียงในช่วงไม่กี่วันก็ตาม แต่ก็กระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่การชุมนุมของพันธมิตรตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศและในกรุงเทพฯยังคงดำเนินต่อไป โดยมีการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านกลุ่มพันธมิตรฯกระจายไปในพื้นที่ต่างๆที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และได้เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมทั้ง 2 กลุ่ม ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รัฐบาลจึงได้ประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯในวันที่ 2 กันยายน 2551 แต่กลุ่มพันธมิตรฯก็ยังยืนหยัดชุมนุมต่อไปและมีแนวโน้มขยายวงกว้างขวางกระจายไปในพื้นที่ตามต่างจังหวัด รวมทั้งภูเก็ต กระบี่ และหาดใหญ่ ซึ่งเป็นมืองท่องเที่ยวสำคัญในภาคใต้
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลของหลายประเทศได้ออกประกาศเตือนประชาชนของตนที่พำนักอยู่ในประเทศไทย และที่จะเดินทางมายังประเทศไทยให้ระมัดระวังด้านความปลอดภัย โดยหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการชุมนุมของทั้ง 2 กลุ่ม จึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนไม่น้อยเลื่อนการเดินทางมายังประเทศไทยในช่วงนี้ออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความมั่นใจด้านความปลอดภัย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางมาเที่ยวกันเอง และมีนักท่องเที่ยวบางส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่ยังไม่เคยเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย และนิยมซื้อรายการนำเที่ยวเดินทางมากับบริษัทนำเที่ยวในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ รวมทั้งการประชุมนานาชาติที่เข้ามาจัดในประเทศไทย ต่างยกเลิกการเดินทางหรือเปลี่ยนแผนการเดินทางไปยังประเทศอื่นแทน

ผลกระทบในช่วงไตรมาสที่ 3 : คาดสูญเสียรายได้ท่องเที่ยว 15,000 ล้านบาท
จากเหตุการณ์ความรุนแรงของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯและกลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาลดลงจากที่ประมาณการไว้ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ โดยในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่เหตุการณ์ชุมนุมเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาลดลงประมาณ 6 หมื่นคน (หรือลดลงร้อยละ 30 จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2 แสนคนที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาในช่วงปลายเดือนสิงหาคม) ส่งผลให้โดยรวมตลอดเดือนสิงหาคมมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาลดลงร้อยละ 5 จากนักท่องเที่ยวจำนวน 1.28 ล้านคนที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์

สำหรับในเดือนกันยายน ซึ่งสถานการณ์การชุมนุมยังมีแนวโน้มขยายวงและทวีความรุนแรงขึ้นหลังประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มเลื่อนการเดินทางออกไป เพื่อรอดูสถานการณ์ให้เกิดความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยเสียก่อน โดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาลดลงประมาณกว่าร้อยละ 30 หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 3.6 แสนคนจากจำนวน 1.1 ล้านคนที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์

จากแนวโน้มดังกล่าวจึงคาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2551จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงประมาณกว่าร้อยละ 10 (หรือประมาณ 4.2 แสนคน) จากจำนวนนักท่องเที่ยว 3.6 ล้านคนที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท

ผลกระทบในช่วงไตรมาสสุดท้าย : คาดการณ์ใน 2 กรณี

– กรณีเหตุการณ์คลี่คลายลงก่อนไตรมาสสุดท้าย : คาดสูญเสียรายได้ท่องเที่ยว 20,000 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 นั้นคาดว่า หากสถานการณ์ความไม่สงบของผู้ชุมนุมในหลายพื้นที่คลี่คลายสู่ภาวะปกติได้ภายในเดือนกันยายน จะมีผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ไม่รุนแรงเท่าใดนัก โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลความสงบภายในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยให้กับบรรดาเอเยนต์ทัวร์และนักท่องเที่ยวต่างชาติ กรณีนี้คาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 จะมีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าลดลงราวร้อยละ 10 (หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 5 แสนคน) จากจำนวน 4.4 ล้านคนที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท

-กรณีเหตุการณ์ยืดเยื้อมาในช่วงไตรมาสสุดท้าย : คาดสูญเสียรายได้ท่องเที่ยว 55,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมยังยืดเยื้อมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาลดลงประมาณร้อยละ 30 (หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 1.35 ล้านคน) จากจำนวน 4.4 ล้านคนที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นมูลค่าประมาณ 55,000 ล้านบาท

ในกรณีที่เหตุการณ์ยืดเยื้อมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 นั้น นอกจากจะส่งผลกระทบทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาลดลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 แล้ว ยังมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปในปี 2552 เพราะคาดว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะเรียกความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยให้กลับคืนมาในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมของกลุ่มต่างๆในกรุงเทพฯและขยายวงกว้างไปตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวสำคัญในภาคใต้ ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาลดลงประมาณกว่าร้อยละ 10-20 จากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่จำนวน 8.0 ล้านคน ทำให้สูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นมูลค่าประมาณ 35,000-70,000 ล้านบาท

สรุป
การท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ โดยเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และมีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นมูลค่าประมาณ 35,000 ล้านบาทในกรณีที่เหตุการณ์ความไม่สงบจากกลุ่มผู้ชุมนุมคลี่คลายลงได้ในช่วงเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เหตุการณ์ความไม่สงบยืดเยื้อมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 คาดว่ารายได้ด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประเทศไทยมีแนวโน้มจะสูญเสียไปมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท

เม็ดเงินเหล่านี้ คือ รายได้ที่คาดว่าบรรดาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจำนวนมาก ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีแนวโน้มจะสูญเสียไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 เม็ดเงินส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 28 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาทเป็นรายได้ที่คาดว่าธุรกิจด้านที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม และรีสอร์ตจะสูญเสียไป รองลงมา คือ ร้อยละ 26 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,000-18,000 ล้านบาทเป็นรายได้ที่คาดว่าธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยว ซึ่งรวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าหัตถกรรมไทย และสินค้าพื้นเมืองต่างๆจะสูญเสียไป ที่เหลืออีกประมาณ 16,000-32,000 ล้านบาทเป็นรายได้ที่คาดว่าธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารประเภทต่างๆ ธุรกิจประเภทสถานบันเทิง กีฬา และสปา ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ตลอดจนธุรกิจบริการด้านการขนส่ง จะสูญสียไป อันเป็นผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่างๆในประเทศไทยที่มีต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นแหล่งที่นำรายได้เข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 600,000 ล้านบาท