‘มนตรี นิด้า’ หนุนผ่านงบ 52 เชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโต 5%

รศ.ดร.มนตรี จีเอสพีเอ นิด้า หนุนสภาผ่านงบประมาณปี 52 เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฝ่าปัจจัยลบ ตั้งข้อสังเกตงบฯ กลางสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท หวั่นเป็นช่องทางใช้เงินหลวงในการหาเสียงกับรากหญ้า

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (GSPA NIDA) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่า หาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ ประกาศใช้ ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ที่หลายฝ่ายมีความกังวลในเรื่องของการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางด้านการเมืองที่ทำให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 ชะลอตัวลง

“หากสถานการณ์การเมืองเลิกวุ่นวาย และมีเม็ดเงินงบประมาณในการเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ เอกชนทั้งในและต่างชาติกลับมาเข้ามาลงทุน ก็เชื่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศในปีนี้เติบโตได้ 5% และจะเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจในปี 2552 ให้เติบโตในอัตราที่เพิ่มขึ้นกว่าปีนี้ได้” รศ.ดร.มนตรี กล่าว

ทั้งนี้ จากการตั้งงบประมาณที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ถึง 1 กันยายน 2552 เม็ดเงินงบประมาณกว่า 1.835 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบประมาณขาดดุลกว่า 2.4 แสนล้านบาท หรือมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น 9 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2551 นั้น นับเป็นงบประมาณขาดดุลสูงสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากภาครัฐมองสถานการณ์ในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลง ปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีความผันผวน ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของการเมือง ที่ทำให้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศได้ตัดสินในชะลอการลงทุน ขณะที่ผู้บริโภคก็ชะลอการจับจ่ายใช้สอยจากผลกระทบดังกล่าวด้วย

โดยหากดูถึงตัวเลขของการใช้จ่ายงบประมาณปี 2552 จะพบว่า กว่า 73% เป็นการใช้จ่ายประจำ เช่น การจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ครุภัณฑ์ อีก 22% เป็นการใช้จ่ายเพื่อการลงทุน ซึ่งหลังจากที่วุฒิสภาเห็นชอบในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินปี 2552 คาดว่ารัฐบาลจะเร่งใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้ทันที เพื่อผลักดันเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ให้เติบโต 5%

“อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายเงินงบประมาณปี 2552 ยังต้องจับตาการใช้จ่ายของงบกลางที่มีกว่า 2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 15% โดยภาครัฐยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องของการใช้จ่ายเงิน ทำให้เงินดังกล่าว อาจถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อการหาเสียงโดยพรรคการเมืองได้” รศ.ดร.มนตรีกล่าว