นิด้าแนะจับตามะกันสางปมสถาบันการเงิน เตือนไทยรับมือบาทอ่อน-กระตุ้นเอกชนบริหารความเสี่ยง

นิด้า บิสิเนส สคูล ชี้ต้นตอวิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐฯ มาจากความซับซ้อนของตราสารทางการเงินที่พัฒนาจนหน่วยงานกำกับตามไม่ทัน ขณะที่วัฒนธรรมสร้างแรงจูงใจด้วยการเพิ่มผลตอบแทน ส่งผลให้วาณิชธนกรยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น ชี้ผลกระทบไทยมากน้อยแค่ไหน ต้องจับตาดูทิศทางการแก้ปัญหาของสหรัฐฯ แนะจับตาตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก หวั่นบาทอ่อนค่าตามยูเอสดอลลาร์ พร้อมเตือนสถาบันการเงินไทยและภาคเอกชนเร่งบริหารความเสี่ยง สร้างความแข็งแกร่งก่อนปัญหารอบใหม่ปะทุ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สอาดโฉม รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า บิสิเนส สคูล เปิดเผยถึงกรณีที่วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่อย่าง “เลห์แมน บราเธอร์ส” ประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน จนต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกว่า หากพิจารณาสาเหตุหลักของปัญหาดังกล่าว จะพบว่า มีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญ โดยประเด็นแรกเป็นเรื่องของความซับซ้อนของตราสารทางการเงินที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งหน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐฯ ไม่สามารถติดตามได้ทัน แม้กระทั่งหลังเกิดความสูญเสียแล้วก็ยังไม่ชัดเจนในทิศทางของวิธีการแก้ไข ที่ผ่านมาธนาคารกลางตั้งหลักแก้ปัญหาโดยลดอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีที่ทำกันมาตั้งแต่สงครามโลก แต่ก็ยังยึดติดกับวิธีการแก้ปัญหาเก่าๆ ทั้งที่การลดดอกเบี้ยเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาซัพไพร์ม

“ต้องยอมรับว่า ผู้บริหารหน่วยงานกำกับของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ยังคงยึดติดกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมๆ ขณะที่โลกการเงินเปลี่ยนแปลงไปมาก วิศวกรรมทางการเงินได้ก่อให้เกิดตราสารที่เคยช่วยชีวิตสหรัฐอเมริกาผ่านการทำ securitization แล้ววันนี้มันกลับมาเป็นเชื้อร้ายทำลายตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐอเมริกาเสียเอง ตราสารอนุพันธ์ ตราสารทางการเงินมีความซับซ้อนขึ้น ในขณะที่องค์กรที่กำหนดทิศทางนโยบายทางการเงินของประเทศไม่สามารถที่จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมได้ทัน ขณะที่ชนวนของปัญหาประการที่ 2 อยู่ที่วัฒนธรรมองค์กรของสถาบันการเงินเหล่านี้ที่พยายามสร้างแรงจูงใจให้กับเจ้าหน้าที่ด้วยโบนัสที่สูงตามผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อต้องการผลตอบแทนที่สูงจึงทำให้เขาหล่านี้พยายามที่จะรับความเสี่ยงมากขึ้นจนเกินไป ดังนั้น การลงทุนของสถาบันการเงินเหล่านี้ จึงเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ผศ.ดร.นฤมล กล่าว

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยนั้น เชื่อว่าผลกระทบทางตรงคงมีเพียงการโยกย้ายของเงินทุนในระยะสั้นนี้จากการขาดสภาพคล่อง ซึ่งเห็นผลในตลาดหุ้นชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาพอร์ตการลงทุนของสถาบันการเงินของไทยส่วนใหญ่แล้ว จะพบว่า แทบไม่มีการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้เลย แต่ลักษณะการลงทุนจะเน้นไปที่พันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก ยกเว้นบางสถาบันการเงินที่ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าได้ลงทุนในตราสารที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมน บราเธอร์ส อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า อาจจะเกิดผลกระทบทางอ้อมกับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแนวทางการแก้ปัญหาของสหรัฐอเมริกา เพราะหากว่าการแก้ปัญหาทำได้ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และปัญหาไม่ลุกลามทำให้ฝั่งประเทศในยุโรปเกิดปัญหามากนัก ก็อาจจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทกับเยนญี่ปุ่นมีโอกาสอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรและปอนด์สเตอริง ขณะที่ปัจจัยบวกที่ยังคาดหมายกันอยู่ คือ การเข้าไปซื้อบริษัทที่ประสบปัญหาเหล่านี้โดย Sovereign Wealth Fund (SWF) ที่จะสามารถฃ่วยประคับประคองภาวะวิกฤติการเงินของสหรัฐอเมริกาได้

รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา นิด้า บิสิเนส สคูล กล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณาจากจุดเริ่มต้นของปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ทำให้สถาบันการเงินและภาคเอกชนไทยควรตระหนักถึงการบริหารความเสี่ยง เนื่องจากจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครสามารถประเมินถึงความเสียหายที่เป็นเม็ดเงินได้อย่างชัดเจนและแน่นอน โดยเฉพาะความหวั่นวิตกว่าปัญหาดังกล่าวจะลุกลามต่อไปกว้างแค่ไหน คู่สัญญาของเลห์แมน บราเธอร์ส มีมากเท่าใดที่จะเกิดปัญหาตามมา และในเกมส์นี้ไม่ใช่แค่เลห์แมนจะกระทบใครตรงๆเท่านั้น แต่ทุกคนในเกมส์นี้ต่างมีธุรกรรมระหว่างกัน ความสูญเสียจริงๆเป็นเท่าไรจึงไม่ใฃ่เรื่องที่ใครจะสามารถประเมินได้ ดังนั้น การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงในอนาคตจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับภาคเอกชนและสถาบันการเงินไทยในขณะนี้

“ที่ผ่านมา นิด้า บิสิเนส สคูล ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงมาโดยตลอด โดยได้เปิดอบรมหลักสูตรการบริหารความเสี่ยงขององค์กรต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 8 ซึ่งปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมในหลักสูตรดังกล่าว จะได้รับความรู้ในเรื่องของการรู้จักความเสี่ยงและขั้นตอนในการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ความเสี่ยงทางกฎหมาย รวมถึงการประเมินความเสี่ยงและการสื่อสารเพื่อบริหารความเสี่ยง เป็นต้น ซึ่งนับได้ว่า เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สุด โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.training.nida.ac.th/” ผศ.ดร.นฤมลกล่าว