ตลาดน้ำมันพืชช่วงที่เหลือปี 2551: อานิสงส์กินเจหนุนตลาดโตร้อยละ 5 จากเดือนก่อนหน้าเทศกาล

เทศกาลกินเจที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 29 กันยายน-7 ตุลาคม 2551 นับเป็นช่วงเวลาที่สินค้าน้ำมันพืชซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์จากเทศกาลดังกล่าว โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ปริมาณจำหน่ายน้ำมันพืชในช่วงเทศกาลกินเจจะเพิ่มขึ้นจากปริมาณจำหน่ายในช่วงเดือนก่อนหน้าเทศกาลกินเจอีกประมาณร้อยละ 5 แม้ว่าตลาดน้ำมันพืชยังคงมีการแข่งขันสูงในระหว่างผู้ประกอบการน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์และน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็มีการอนุมัติปรับราคาจำหน่ายน้ำมันหลายครั้งตั้งแต่ปลายปี 2550 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้ประกอบการประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูง แต่ในช่วงนี้ผู้ประกอบการน้ำมันถั่วเหลืองยังไม่กล้าที่จะขอให้มีการปรับขึ้นราคาน้ำมันถั่วเหลือง เนื่องจากระยะนี้กำลังจะเข้าสู่เทศกาลกินเจ ซึ่งผู้ประกอบการน้ำมันถั่วเหลืองเกรงว่า หากมีการปรับราคาจะทำให้ส่วนต่างของราคาจำหน่ายน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองห่างกันมากขึ้น ก็ยิ่งจะทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลกระทบให้น้ำมันถั่วเหลืองมียอดจำหน่ายที่ลดลงได้

การแข่งขันในธุรกิจ…ยังคงเป็นตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองเป็นหลัก
ภาพรวมการผลิตและความต้องการบริโภคน้ำมันพืชภายในประเทศยังคงขยายตัวทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหาร จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 มีปริมาณการผลิตน้ำมันพืช 715,644 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งมีปริมาณการผลิตเพียง 598,940.7 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 ส่วนปริมาณจำหน่ายน้ำมันพืชในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 มีปริมาณ 491,921.2 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีปริมาณจำหน่ายอยู่ที่ 406,933.3 ตัน โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 20.9

สำหรับภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันพืช ยังคงเป็นการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดระหว่างผู้ผลิต 2 กลุ่มที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

ตลาดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับการนำไปประกอบอาหารประเภททอดต่าง ๆ เนื่องมีคุณสมบัติที่สามารถทนความร้อนในอุณหภูมิที่สูงกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ ทำให้อาหารที่ทอดมีสีสวยงาม ไม่มีกลิ่นเหม็นหืนและเก็บไว้ได้นาน สำหรับการใช้น้ำมันปาล์มส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ด และอาหารสำเร็จรูปต่างๆ ทั้งนี้ คาดว่า ปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เพราะไทยมีปริมาณการบริโภคน้ำมันปาล์มปีละประมาณ 500,000 ตัน หรือคิดเป็นอัตราการบริโภคซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำเพียง 8 กิโลกรัมต่อคนต่อปี อีกทั้งน้ำมันปาล์มยังมีราคาต่ำกว่าน้ำมันพืชประเภทอื่นๆ ขณะเดียวกันไทยยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกและแปรรูปอาหารรายสำคัญของโลก ทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก สำหรับการผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ต้องใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นวัตถุดิบ และปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศยังคงผันแปรตามปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ป้อนเข้าสู่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ขณะเดียวกันไทยยังคงเป็นประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันในปริมาณไม่มาก ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก โดยมีประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ของโลก ได้แก่ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น

ตลาดน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ยังคงขยายตัว เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงถึงร้อยละ 80-85 ทำให้น้ำมันถั่วเหลืองเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคตระหนักและรับรู้ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งนี้ น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์มักนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อการส่งออก ได้แก่ อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋อง น้ำพริกเผา และน้ำมันสลัด เป็นต้น สำหรับการผลิตต้องพึ่งพาวัตถุดิบถั่วเหลืองนำเข้าในสัดส่วนสูง เนื่องจากปริมาณการผลิตถั่วเหลืองภายในประเทศยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ ดังนั้น ต้นทุนวัตถุดิบถั่วเหลืองที่นำเข้าจึงมีราคาเปลี่ยนแปลงตามราคาถั่วเหลืองในตลาดโลก สำหรับแหล่งนำเข้าถั่วเหลืองที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ บราซิล อาร์เจนตินา และจีน เป็นต้น

นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ตลาดน้ำมันพืชยังมีน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ อาทิ น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดทานตะวัน และน้ำมันมะกอก เป็นต้น ซึ่งตลาดน้ำมันพืชเหล่านี้ยังคงมีสัดส่วนน้อย และผู้บริโภคยังคงจำกัดเฉพาะกลุ่ม

ราคาวัตถุดิบพุ่ง กดดันต้นทุนของผู้ผลิตน้ำมันพืช
ผู้ประกอบการน้ำมันพืชยังต้องเผชิญอุปสรรคสำคัญจากปัญหาราคาวัตถุดิบ ในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงกลางปี 2551 สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบ และราคาถั่วเหลืองในประเทศปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก จนทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ สามารถแบ่งการวิเคราะห์ประเด็นด้านวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันพืชออกเป็น ดังนี้

ราคาน้ำมันปาล์มดิบพุ่งตามความต้องการนำไปผลิตไบโอดีเซลของตลาดโลกและตลาดในประเทศที่ขยายตัว
ความเคลื่อนไหวด้านราคาน้ำมันปาล์มของไทยเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลก ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมการค้าภายใน พบว่า ในปี 2551 (เดือนมกราคม-สิงหาคม) ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดมาเลเซียเฉลี่ยอยู่ที่ 34.02 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 48.6 ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศในช่วงเวลาเดียวกันมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 33.67 บาท/กิโลกรัม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 49.8 โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2550 ซึ่งราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดมาเลเซียมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 24.80 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ถึงร้อยละ 57.7 และน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 24.45 บาท/กิโลกรัม ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 54.7 ซึ่งผลมาจากความต้องการน้ำมันปาล์มดิบเพื่อนำไปผลิตไบโอดีเซลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนมากขึ้น ทั้งจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดโลกและความต้องการของตลาดในประเทศจากมาตรการของรัฐในการบังคับให้น้ำมันดีเซลที่จำหน่ายทั่วประเทศต้องผสมน้ำมันไบโอดีเซลลงไปในสัดส่วนร้อยละ 2 จึงทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ราคาถั่วเหลืองพุ่งตามปริมาณการผลิตของโลกที่ลดลง
ราคาน้ำมันถั่วเหลืองในประเทศยังคงมีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ทั้งนี้ จากการลดพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองที่สำคัญของโลก จากรายงานการศึกษาของ USDA คาดว่า ปี 2551 ผลผลิตถั่วเหลืองของโลกจะมีปริมาณ 218.2 ล้านตัน ลดลงจากปี 2550 ที่ผลิตได้ 236.6 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 7.8 ส่งผลให้สถานการณ์ราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกสูงขึ้น โดยในฤดูกาลผลิตปี 2550/2551 ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม (ข้อมูลจาก Oilseeds World Markets and Trade: September 2008) ราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็น 473 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 67.7 ต่อเนื่องจากปี 2549/2550 ที่ราคาถั่วเหลืองโดยเฉลี่ยในตลาดโลกอยู่ที่ 282 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ขณะที่ราคาวัตถุดิบถั่วเหลืองในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในช่วงกลางปี 2551 ราคาถั่วเหลืองเฉลี่ยอยู่ที่ 16-17 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 11.31 บาท/กิโลกรัม หรือเติบโตร้อยละ 40-50

ผู้ประกอบการน้ำมันพืชยังเผชิญความเสี่ยงสูง
สินค้าน้ำมันพืชเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมราคาโดยภาครัฐ และผู้ประกอบการในธุรกิจน้ำมันพืชยังคงเผชิญความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น จนกระทบต่อโครงสร้างต้นทุนการผลิต ทำให้รัฐบาลมีการอนุมัติปรับราคาน้ำมันพืชถึง 3 ครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน และธันวาคมปี 2550 และครั้งสุดท้ายในเดือนมกราคม ปี 2551 กล่าวคือ ในเดือนพฤศจิกายน กรมการค้าภายในอนุมัติปรับราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดจาก 38 บาท/ลิตร เป็น 41 บาท/ลิตร และเดือนธันวาคมปรับจาก 41 บาท/ลิตรเป็น 43.50 บาท/ลิตร ส่วนราคาน้ำมันถั่วเหลืองเดือนพฤศจิกายนปรับจาก 40 บาท/ลิตรเป็น 43 บาท/ลิตร และเดือนธันวาคมปรับราคาจาก 43 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ 45.50 บาท/ลิตร ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2551 มีการอนุมัติปรับราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดจาก 43.50 บาท/ลิตร เป็น 47.50 บาท/ลิตร ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองบรรจุขวดปรับราคาจาก 45.50 บาท/ลิตร เป็น 49.50 บาท/ลิตร และยังคงไม่มีการอนุมัติปรับราคาน้ำมันพืชโดยยืนราคาดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบันราคาวัตถุดิบน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศปรับตัวลดลงตาม จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและกรมการค้าภายใน พบว่า ปี 2551 (เดือนสิงหาคม) ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศปรับตัวลดลงจาก 34.61 บาท/กิโลกรัม เหลือ 25.87 บาท/กิโลกรัม ตามราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดมาเลเซียซึ่งปรับลดลงจาก 34.51 บาท/กิโลกรัม เหลือ 26.91 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ราคาวัตถุดิบเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้ามีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มตามราคาถั่วเหลืองในตลาดโลก เนื่องจากการที่ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ ลดพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองหันมาผลิตข้าวโพดเพื่อนำมาผลิตเอทานอลแทน ทำให้ราคาถั่วเหลืองในประเทศ ปี 2551 (เดือนพฤษภาคม) มีราคา 17.14 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนซึ่งมีราคา 10.32 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.1 จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าจึงได้เปรียบผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ และหากมีการเสนอปรับราคาน้ำมันถั่วเหลืองเพิ่ม ก็จะยิ่งทำให้น้ำมันปาล์มบรรจุขวดสามารถเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดจากน้ำมันถั่วเหลืองได้มากขึ้น

โดยสรุป สินค้าน้ำมันพืชเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลดีในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งนับเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการในธุรกิจน้ำมันพืช เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้ผลิตต่างเร่งกระตุ้นยอดขายของตน โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตามแหล่งท่องเที่ยวที่จัดเทศกาลกินเจต่างๆ และการโฆษณาให้ผู้บริโภครับรู้ตรายี่ห้อสินค้าตามจุดขายอาหารและตามภัตตาคาร ร้านอาหารต่างๆ เพื่อเป็นสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในระหว่างเทศกาลกินเจปริมาณจำหน่ายน้ำมันพืชจะเพิ่มขึ้นจากปริมาณจำหน่ายในช่วงเดือนก่อนหน้าเทศกาลกินเจประมาณร้อยละ 5 แม้ตลาดน้ำมันพืชยังคงมีการแข่งขันสูงระหว่างผู้ประกอบการน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง และผู้ประกอบการยังมีภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ในช่วงตั้งแต่ปลายปี 2550 เป็นต้นมา รัฐบาลได้อนุมัติปรับราคาจำหน่ายน้ำมันพืชหลายครั้ง ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบันผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ได้เปรียบผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ เนื่องจากปัจจุบันราคาวัตถุดิบน้ำมันปาล์มในตลาดโลกเริ่มปรับตัวลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มในตลาดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ยังคงมีแนวโน้มสูงตามราคาถั่วเหลืองในตลาดโลก จากการที่ปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองของโลกที่คาดว่าจะลดลง อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ประกอบการน้ำมันถั่วเหลืองยังมีความประสงค์ที่จะเสนอขอปรับขึ้นราคาจากทางการ แต่ขณะนี้กำลังเข้าสู่เทศกาลกินเจ ทำให้ผู้ประกอบการน้ำมันถั่วเหลืองเกรงว่า หากมีการปรับราคาก็จะส่งผลให้น้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองมีราคาจำหน่ายแตกต่างกันมาก และน้ำมันถั่วเหลืองจะถูกน้ำมันปาล์มแย่งส่วนแบ่งตลาดไปจากการที่ผู้บริโภคหันไปซื้อน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการน้ำมันถั่วเหลืองจึงได้มีการชะลอการปรับขึ้นราคาออกไปก่อน