ไอเอ็มเอฟ ชี้ 50 ประเทศยังได้รับผลกระทบจากราคาอาหาร และเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น

รายงานการประเมินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ล่าสุดระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนา 50 ประเทศ ยังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงไปจนถึงปี 2552 โดยเป็นผลกระทบจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น นายโดมินิค สเตราส์ คาห์น กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ในขณะที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจวิกฤติด้านการเงินที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้ว “เรายังมีความจำเป็นที่จะต้องจับตามอง ‘วิกฤติด้านอื่น’ ด้วย นั่นคือ ผลกระทบที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง อันเกิดมาจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในบางประเทศที่ยากจนที่สุดของโลก”

“แม้ว่าราคาอาหารและเชื้อเพลิงได้ปรับตัวอ่อนลงบ้างในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสูงกว่าระดับที่เคยปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกา ซึ่งเกิดขึ้นมากจนน่าตกใจ” นายสเตราส์ เรียกร้องให้เกิด “การดำเนินการอย่างเร่งด่วน” จากในสังคมระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

รายงานล่าสุดจากไอเอ็มเอฟแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้มีทีท่าที่จะอ่อนตัวลง และยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการรายงานครั้งล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำหรับช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงร้อยละ 40 จากระดับสูงสุดเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม แต่ยังคงสูงกว่าระดับที่เคยบันทึกไว้เมื่อสิ้นปี 2549 ถึงสองเท่า ในทำนองเดียวกัน ราคาอาหารได้ลดลงร้อยละ 8 จากระดับสูงสุดเมื่อเดือนมิถุนายน แต่ยังสูงกว่าระดับเมื่อสิ้นปี 2549

ดังนั้น ไอเอ็มเอฟจึงคาดการณ์ว่า ประเทศที่มีรายได้ต่ำและต้องนำเข้าเชื้อเพลิง กำลังเผชิญกับรายจ่ายด้านเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือคิดเป็น 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับ 43 ประเทศที่ต้องนำเข้าอาหาร จะมีรายจ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ของจีดีพี หรือ 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

“จากมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค เรามองเห็นผลกระทบด้านดุลการชำระเงินและงบประมาณของประเทศที่อ่อนแอลง ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการขยายตัวของภาวะเงินเฟ้อ” นายสเตราส์ คาห์น กล่าว อัตราเฉลี่ยเงินเฟ้อสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำ เพิ่มสูงขึ้นเกือบร้อยละ 3 ในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 และคาดว่าอัตราดังกล่าวจะสูงเกินร้อยละ 13 ภายในสิ้นปีนี้ นายสเตราส์ คาห์น ยังระบุอีกว่า “อย่างที่พวกเราทราบกันดีว่า ภาวะเงินเฟ้อนั้น ส่งผลกระทบต่อทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนยากจน”

ต้นทุนค่าใช้จ่ายของนโยบายการคลังที่ใช้ตอบโต้วิกฤติอาหารและพลังงานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในประเทศที่ตอบโต้การขึ้นราคาเบื้องต้นด้วยการลดภาษีและค่าธรรมเนียม เพิ่มเงินอุดหนุนแบบครอบจักรวาล ขยายโครงการขนส่ง และขึ้นเงินเดือนข้าราชการ รายงานไอเอ็มเอฟ แสดงให้เห็นว่าใน 24 ประเทศ ต้นทุนการคลังเกิดจากเงินสนับสนุนด้านอาหารและเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสูงเกินร้อยละ 2 ของจีดีพี รายงานดังกล่าวยังชี้อีกว่า เงินสนับสนุนเหล่านี้ แทบจะไม่เพียงพอต่อการกระจายไปสู่ประชาชนที่ยังมีความขาดแคลน

การเรียกร้องให้ดำเนินการ
นายสเตราส์ คาห์น กล่าวว่า “เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้าย โลกจะต้องทำอะไรมากขึ้น พวกเราต้องประสานพลังกันทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงกดดันที่สูงเกินไปทั้งในด้านงบประมาณและภาวะเงินเฟ้อ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องหาแนวทางให้ความช่วยเหลือคนยากจนด้วย”

ผลการศึกษาของไอเอ็มเอฟได้ระบุถึงมาตรการที่สำคัญสองอันดับแรกสำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบ ประการแรกคือ การทำให้ภาวะเงินเฟ้อกลับมาอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีนโยบายการเงินที่เหมาะสมและแข็งแกร่ง โดยต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง พร้อมทั้งเลี่ยงการขึ้นเงินเดือนที่ไม่แน่นอน ประการที่สอง คือการเปลี่ยนไปสู่แผนงานความมั่นคงทางด้านสังคมที่มีเป้าหมายดีขึ้น เพื่อให้สามารถปกป้องคนยากจนด้วยวิธีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ นายสเตราส์ คาห์น ยังได้เรียกร้องให้มีการบริจาคมากขึ้น “การสนับสนุนจากภายนอก โดยเฉพาะเงินช่วยเหลือในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ยังนับว่าเป็นความจำเป็นและมีความสำคัญที่จะช่วยบรรเทาภาระการเปลี่ยนแปลงและเพื่อที่จะจำกัดผลกระทบต่างๆ ที่จะส่งผลต่อรายได้จริงที่เกิดขึ้นและภาวะความยากจน”

ไอเอ็มเอฟ ได้ทำงานร่วมกับองค์กรนานาชาติอื่นๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบรวม 15 ประเทศ รวมมูลค่าทั้งหมด 264 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยเหตุนี้ ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD จึงได้ประชุมหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่ไอเอ็มเอฟ เพื่อหารือแนวทางการทำงานร่วมกันในโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้สามารถจัดการปัญหาราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นได้ดีกว่าเดิม นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะกรรมการและผู้บริหารกองทุนได้อนุมัติการปฏิรูปการต่ออายุสัญญาเงินกู้ระยะสั้น (credit line) ที่มีอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบ สามารถได้รับการช่วยเหลือทางด้านการเงินได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น