วิกฤตนมปนเปื้อนของจีน…โอกาสขยายตลาดส่งออกไทย

วิกฤตนมปนเปื้อนสารเมลามีนของจีนถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ เนื่องจากผลกระทบครั้งนี้ได้ขยายจากนมผงสำหรับทารกไปสู่นม/ผลิตภัณฑ์นม และผลิตภัณฑ์ขนม เช่น นมสำหรับผู้ใหญ่ ช๊อกโกแลต ไอศครีม ลูกอม และขนมต่างๆ ที่สำคัญได้ลุกลามจากภายในจีนไปยังประเทศที่เป็นตลาดส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของจีนด้วย คาดว่าจะเป็นปัจจัยท้าทายสำคัญของการเติบโตของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมของจีนในปีนี้

ปัญหานมผงปนเปื้อนสารเมลามีนทำให้เด็กทารกในจีนเสียชีวิต 4 คน จากการเป็นนิ่วในไต ป่วยกว่า 60,000 คน อาการอยู่ในขั้นอันตราย 150 คน นอกจากนี้ยังลามไปถึงฮ่องกงที่พบเด็กป่วยเป็นนิ่วในไต ซึ่งเกิดจากการดื่มนมปนเปื้อนสารเมลามีนวันละ 2-3 แก้วติดต่อกันเป็นเวลา 15 เดือน กล่าวได้ว่าคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตราสินค้า ซึ่งจีนเคยประสบปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหารสำหรับเด็กเมื่อปี 2547 โดยการโกงส่วนประกอบในอาหารสำหรับเด็กทำให้เด็กขาดสารอาหารตายถึง 12 คน และเมื่อปี 2550 พบสารเมลามีนปนเปื้อนในอาหารสัตว์ ยาสีฟันมีสารพิษและยาที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งได้ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาทำให้ทั้งคนและสัตว์เจ็บป่วยและเสียชีวิต จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาเหล่านี้ทำให้จีนตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลด้านมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร แต่ปัญหาก็ยังคงเกิดขึ้นอีกโดยกรณีนมปนเปื้อนสารเมลามีนของจีนครั้งนี้นับว่ารุนแรงมากกว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีต

ปัญหานมปนเปื้อน: ผลกระทบต่อตลาดภายใน & ตลาดส่งออก

การบริโภคนมของจีนในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2543 มีอัตราเติบโตกว่า 2 หลักในแต่ละปี เนื่องมาจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น นมสด โยเกิร์ต และไอศครีม จนกลายเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่งของชาวจีน และคาดว่ายอดบริโภคนมของจีนในช่วงที่เหลือของปี 2551 มีแนวโน้มชะลอตัวลงอันเป็นผลจากการปนเปื้อนสารเมลามีนในนมทำให้ผู้บริโภคขาดความมั่นใจด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพ

การผลิตนมและผลิตภัณฑ์นมของจีนในช่วง 8 เดือนแรกปี 2551 มีปริมาณการผลิต 12.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนมสดมีสัดส่วนการผลิตสูงที่สุด รองลงมาเป็นนมปรุงแต่งสำหรับดื่ม โยเกิร์ต/นมเปรี้ยว นมผง นมถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ ตามลำดับ โดยบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดในปี 2550 สูงที่สุดได้แก่ บริษัท Bristol-Myers Squibb Co,. มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 12.1 รองลงมา Groupe Danone SA’s International Jutrition Co. สัดส่วนร้อยละ 11.6, Inner Mongolia Yili Industrial Group เป็นลำดับที่ 5 มีสัดส่วนร้อยละ 7.5, Shijiazhuang Sanlu Group Co., ลำดับที่ 7 มีสัดส่วนร้อยละ 6.2 และ Nestle ลำดับที่ 9 มีสัดส่วนร้อยละ 5.6 เป็นต้น

ทางการจีนตรวจพบสารเมลามีนปนเปื้อนในนมของShijiazhuang Sanlu Group Co.,(บริษัท Sanlu) สูงถึง 6,196 mg/kg โดยบริษัท Sanlu ตั้งอยู่ในเมืองสือเจียจวน(Shijiazhuang) มณฑลเห่อเป่ยซึ่งเป็นแหล่งการเกษตรที่สำคัญของจีน โดยบริษัท Sanlu เป็นบริษัทผู้ผลิตนมรายใหญ่ของจีน มีส่วนแบ่งการตลาดนมผงในจีนร้อยละ 18 ผลิตนมได้ 6,800 ตัน/วัน และซื้อวัตถุดิบนมจากตัวแทนจำหน่ายและเกษตรกรรายย่อยรวม 60,000 ครัวเรือน ซึ่งในปี 2548 บริษัท Fonterra Co-operative Group Ltd. ของนิวซีแลนด์ได้เข้ามาถือหุ้นของบริษัท Sanlu ถึงร้อยละ 43 คิดเป็นมูลค่า 107 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งบริษัท Fonterra ถือได้ว่าเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์นมที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก มีรายได้ต่อปี 11.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีตลาดทั่วโลกกว่า 120 แห่ง

กระบวนการจัดซื้อน้ำนมดิบมีช่องโหว่ในมาตรฐานความปลอดภัย

กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมเริ่มจากการรับซื้อวัตถุดิบหรือนมทั้งจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและจากผู้จัดซื้อนมในท้องถิ่น ซึ่งจัดซื้อนมและรับซื้อนมจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยมาอีกที จากนั้นจึงนำมาผสมรวมกันและทำการจัดส่งให้แก่บริษัทผู้ผลิตเพื่อนำไปผลิตต่อไป ซึ่งในช่วงที่ราคาน้ำนมดิบตกต่ำ เกษตรกรบางรายของจีนได้ทำการผสมน้ำลงในนมให้มีปริมาณนมมากขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น แล้วนำไปขายให้กับผู้จัดซื้อนมของท้องถิ่น สารเมลามีนจะถูกเติมลงในนมก่อนนำไปขายให้แก่บริษัทผู้ผลิต ซึ่งสารเมลามีนมีไนโตรเจนสูง เมื่อถูกเติมลงในนมจะทำให้นมมีระดับโปรตีนสูงจึงขายได้ราคาดี และเป็นที่ต้องการของบริษัทผู้ผลิตนม

ผู้จัดซื้อเองบางรายได้เติมสารเมลามีนลงในน้ำนมตั้งแต่ปลายปี 2550 เนื่องจากขายได้ราคาดีรวมถึงเป็นผู้จัดซื้อนมให้แก่บริษัท Sanlu ปริมาณ 3 ตัน/วันด้วย ซึ่งในขณะนี้ทางการจีนได้จับกุมผู้ผสมสารเมลามีนลงในนมได้กว่า 12 ราย และตรวจพบว่ามีสารปนเปื้อนเมลามีนในสินค้ารวมกว่า 100 ชนิด เป็นนมผงสำหรับเด็ก 69 ชนิด มีบริษัทที่เกี่ยวข้อง 42 บริษัท โดยมี 2 บริษัทที่ผลิตนมปรุงแต่งสำหรับทารกแล้วส่งไปขายยังต่างประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ บุรุนดี กาบอง พม่า และเยเมน สำหรับบริษัท Sanlu ได้ผลิตนมผงและส่งออกไปยังไต้หวัน กล่าวได้ว่า กระบวนการผลิตอาหารของจีนยังคงมีปัญหาด้านคุณภาพและความปลอดภัยทำให้เกิดสารเมลามีนปนเปื้อนในนมรวมทั้งการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของภาครัฐที่ยังไม่รัดกุมซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่กว่าประชาชนจะรับรู้ถึงอันตรายก็กินเวลายาวนานกว่า 6 เดือน แสดงให้เห็นช่องโหว่ทางกฎหมายและประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่เคยประสบปัญหาที่คล้ายกันในด้านความปลอดภัยของสินค้ามาแล้วหลายครั้ง โดยปัญหานมปนเปื้อนสารเมลามีนได้กลายเป็นปัญหาระดับโลกเนื่องจากนมของบริษัท Sanlu ได้ทำการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก และนมยังเป็นวัตถุดิบของสินค้าบริโภคอื่นๆอีกด้วย

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมของจีน

เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในจีน วิกฤตนมปนเปื้อนสารเมลามีนส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในมณฑลที่เป็นแหล่งผลิตหลัก เช่น เหอเป่ย มองโกเลียใน ซานซี ซานตง เป็นต้น เมื่อทางการจีนประกาศถึงอันตรายของสารเมลามีปนเปื้อนในนม ทำให้เกษตรกรต้องเทนมทิ้งเนื่องจากไม่สามารถขายน้ำนมได้ เพราะผู้บริโภคขาดความเชื่อถือในการบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศและหันไปบริโภคสินค้าต่างประเทศแทน โดยกระทรวงเกษตรของจีนได้วางแผนช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้สามารถอยู่รอดโดยไม่ต้องฆ่าวัวทิ้ง โดยให้เงินสนับสนุนเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์และต้นทุนค่าขนส่ง ดูแลด้านสุขอนามัย และให้ความรู้แก่เกษตรกร เป็นต้น นอกจากนี้ยังดูแลให้การซื้อนมจากเกษตรกรเป็นไปตามปกติและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบคุณภาพนมให้มีความปลอดภัย เพื่อเร่งสร้างความเชื่อถือของผู้บริโภคกลับคืนมา

ตลาดผู้บริโภคนมในจีน ผู้บริโภคในจีนขาดความเชื่อมั่นต่อนมและผลิตภัณฑ์นมภายในประเทศนอกจากจะหันไปบริโภคนมจากต่างประเทศแล้ว ยังเกิดธุรกิจการรับจ้างเป็นแม่นมสำหรับเด็กทารก นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของความปลอดภัยสำหรับเด็กและเป็นที่ต้องการอย่างมากในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งวิธีนี้เริ่มหายไปจากจีนตั้งแต่ปี 2543 ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 62 และเหลือเพียงร้อยละ 38 ในปี 2548 เนื่องจากการใช้ชีวิตของคนจีนที่เปลี่ยนแปลงไป และมีทางเลือกอื่นที่สะดวกมากขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ตลาดนมผงสำหรับเด็กในจีนขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา

ตลาดส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของจีน นมที่มีสารเมลามีนปนเปื้อนส่งออกไปในภูมิภาคเอเชียเป็นส่วนใหญ่ และขณะนี้ขยายไปสู่ขนมที่ใช้นมเป็นส่วนประกอบส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยประเทศที่นำสินค้าจากจีนไปผลิตและจำหน่ายได้นำสินค้าออกจากชั้นวางจำหน่ายซึ่งถือเป็นมาตรการความปลอดภัยขั้นต้น และประกาศห้ามจำหน่ายหรือนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมที่มีสารเมลามีนปนเปื้อนจากจีน ทั้งยังมีมาตรการตรวจสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบและออกมาตรการข้างต้น ได้แก่ ฮ่องกง ไต้หวัน เนปาล บังคลาเทศ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย พม่า บุรุนดี กาบอง เยเมน และแทนซาเนีย เป็นต้น รวมทั้งส่งผลกระทบไปสู่ตลาดประเทศอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยสหภาพยุโรปออกมาตรการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่มีส่วนผสมนมจากจีนทุกชนิด ส่วนสหรัฐอเมริกางดนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมทุกชนิดจากจีน ผลกระทบจากนมและผลิตภัณฑ์นมปนเปื้อนดังกล่าวไม่เพียงแต่ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในนมและผลิตภัณฑ์นมที่มาจากจีนเท่านั้นผู้ผลิตที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากจีนต่างวิตกถึงผลกระทบที่จะทำให้ผู้บริโภคขาดความไว้วางใจในตราสินค้า ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีมาตรฐานความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ ส่งผลให้ผู้ผลิตที่นำเข้าวัตถุดิบนมและผลิตภัณฑ์นมจากจีนต่างเปลี่ยนแหล่งนำเข้าจากจีนและฮ่องกงไปยังประเทศอื่นๆที่มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารเป็นที่ยอมรับเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งคาดว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของจีนให้ชะลอตัวลงในปีนี้และปี 2552 ซึ่งคงต้องอาศัยระยะเวลาและมาตรการของทางการจีนที่มีประสิทธิภาพที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในต่างประเทศในการกลับมาบริโภคสินค้าของจีนอีกครั้งหนึ่ง

วิกฤตนมของจีน & โอกาสของไทย

การเติบโตของอุตสาหกรรมนมของไทยโดยเฉพาะนมพร้อมดื่มที่ขยายตัวได้ดีเนื่องจากผู้บริโภคนิยมดื่มนมซึ่งถือว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ทำให้ความต้องการน้ำนมดิบในประเทศขยายตัวตาม แต่ปริมาณการผลิตน้ำนมดิบในประเทศมีไม่เพียงพอและราคาสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ไทยจึงนำเข้าวัตถุดิบนมผงจากต่างประเทศเพื่อมาใช้ในการผลิต โดยการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยจากต่างประเทศในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 คิดเป็นมูลค่า 366 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 38 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 แหล่งนำเข้าหลัก คือ นิวซีแลนด์คิดเป็นร้อยละ 41 ยุโรปคิดเป็นร้อยละ 20 และออสเตรเลียคิดเป็นร้อยละ 16 โดย นำเข้าจากจีนเพียงร้อยละ 1.6 ของการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมดของไทย

ปริมาณการผลิตน้ำนมดิบของโลกลดลงตั้งแต่ปี 2549 เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้แหล่งผลิตและส่งออกนมที่สำคัญของโลก เช่น ยุโรป ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ต่างประสบปัญหาความแห้งแล้ง แต่ความต้องการนำเข้านมยังคงมีมาก ราคาน้ำนมดิบจึงสูงขึ้น ไทยจึงหันมานำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากจีนที่มีราคาถูกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยผลิตภัณฑ์นมที่นำเข้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นนมและครีมผงเม็ด แต่ไม่ได้นำเข้านมและครีมใช้สำหรับเลี้ยงทารก ซึ่งนมและครีมที่ใช้เลี้ยงทารก ไทยนำเข้าเกือบทั้งหมดจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 96 ของการนำเข้านมและครีมที่ใช้เลี้ยงทารกทั้งหมดของไทย

จากวิกฤตนมปนเปื้อนสารเมลามีน ไทยได้ออกมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและจำหน่ายนมที่มีการปนเปื้อนเมลามีน และออกมาตรฐานเมลามีนที่สามารถมีในสินค้า ทั้งยังเร่งทำการตรวจสอบคุณภาพสินค้าในกลุ่มเสี่ยงที่มีนมเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ นม นมเปรี้ยว ช๊อกโกแลต ไอศครีม เวเฟอร์ แครกเกอร์ คุกกี้ และลูกอม เป็นต้น ซึ่งพบว่าสินค้าส่วนใหญ่ในท้องตลาดของไทยนั้นมีความปลอดภัย และผลิตภัณฑ์ของหลายบริษัทมีมาตรฐานในการผลิตสูงถึงแม้ว่าจะมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีนแต่วัตถุดิบก็นำเข้าจากต่างประเทศและมีมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ผลิตเอง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ประเทศไทยนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากจีนค่อนข้างน้อยเพียงร้อยละ 1.6 ของการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมดของไทย จึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อการผลิตของอุตสาหกรรมนมของไทยมากนัก แต่อาจส่งผลให้การบริโภคสินค้าที่ใช้นมเป็นส่วนประกอบชะลอตัวลง เนื่องจากผู้บริโภคต่างวิตกถึงอันตรายจากกระแสข่าวนมปนเปื้อนสารเมลามีนของจีนจึงลดการบริโภคลงจากความไม่มั่นใจในส่วนประกอบของสินค้า ทำให้คาดว่าการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์นมในไทยอาจจะชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปี 2551 ในอีกด้านหนึ่งผลกระทบจากวิกฤตนมปนเปื้อนของจีนที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของจีนและลุกลามไปยังตลาดขนม และสินค้ากลุ่มอาหารต่างๆ ของจีนทั้งที่มีส่วนผสมของนมและไม่มีนมเป็นส่วนประกอบ เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ตอกย้ำภาพลักษณ์ในด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้าหมวดอาหารของจีนที่ยังไม่ได้มาตรฐานสากลด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ (Sanitary and Phyto-Sanitary Measures: SPS) ที่ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามประเด็นนี้จะเป็นข้อได้เปรียบของสินค้าอาหารของไทยที่ถือว่าได้มาตรฐานสากล เนื่องจากมีระบบการผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีระบบการจดทะเบียนฟาร์ม มีการผลิตภายใต้ระบบ Good Manufacturing Practices(GMP) และระบบ Good Agricultural Practices(GAP) รวมทั้งมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบหรือ Lab ที่ได้มาตรฐานสากลสำหรับตรวจสอบมาตรฐานก่อนส่งออก จึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าอาหารไทยในตลาดโลกได้ดี อย่างไรก็ตามไทยควรเพิ่มจำนวนห้องปฏิบัติการตรวจสอบ(Lab) ให้เพียงพอเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสินค้าส่งออกประเภทอาหารและรองรับกับสินค้าอาหารส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วิกฤตนมปนเปื้อนของจีนจึงอาจส่งผลดีทางอ้อมให้กับสินค้ากลุ่มอาหารของไทยประเภทอาหารแปรรูป และอาหารแช่แข็ง ที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งตลาดเหล่านี้คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคเป็นหลัก และกำหนดมาตรฐานสินค้าด้านสุขอนามัย(SPS) ในระดับสูง หากพิจารณาสินค้ากลุ่มอาหารของจีนที่มีมูลค่าส่งออกชั้นนำในตลาดโลก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ไก่ และผลิตภัณฑ์ผัก/ผลไม้ ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพและมีมูลค่าส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การที่ประเทศต่างๆ ชะลอการนำเข้าสินค้าอาหารจากจีนอันเนื่องจากเหตุการณ์นมปนเปื้อนของจีน อาจเป็นโอกาสให้สินค้าส่งออกของไทยเหล่านี้สามารถส่งออกได้ดีขึ้น หากสินค้าส่งออกของไทยรักษาคุณภาพและมาตรฐานตามระดับสากล

ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2551 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลมูลค่า 1,723 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ(สัดส่วนร้อยละ 29) ญี่ปุ่น(สัดส่วนร้อยละ 28) และอิตาลี(สัดส่วนร้อยละ 5) ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ไก่มูลค่า 951 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น(สัดส่วนร้อยละ 40) อังกฤษ(สัดส่วนร้อยละ 30) และเนเธอร์แลนด์(สัดส่วนร้อยละ 11) ตามลำดับ และผลิตภัณฑ์ผัก/ผลไม้มูลค่า 470 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน(สัดส่วนร้อยละ 24) ญี่ปุ่น(สัดส่วนร้อยละ 15) และฮ่องกง(สัดส่วนร้อยละ 12) ตามลำดับ

บทสรุป
วิกฤตนมจีนส่งผลให้มีเด็กทารกเสียชีวิต 4 คน และเจ็บป่วยกว่า 60,000 คน ทำให้ผู้บริโภคในจีนขาดความเชื่อมั่นต่อสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมที่ผลิตในประเทศ และหันไปบริโภคสินค้าจากต่างประเทศแทน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในจีนที่ไม่สามารถขายน้ำนมดิบได้ ทั้งยังกระทบต่อภาคการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของจีน ซึ่งประเทศที่นำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากจีนต่างระงับการนำเข้าทั้งยังห้ามผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบของนมและผลิตภัณฑ์นมจากจีน ซึ่งผู้ผลิตบางรายถึงกับย้ายแหล่งนำเข้าวัตถุดิบไปเป็นประเทศอื่นที่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ ภาครัฐของจีนจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือและเร่งแก้ปัญหาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กลับคืนมา นับได้ว่าเป็นปัจจัยลบที่คาดว่าจะทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมของจีนชะลอตัวลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า วิกฤตนมปนเปื้อนสารเมลามีนอาจกดดันให้อุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมของจีนชะลอลงต่อเนื่องตั้งแต่ปีนี้ถึงปี 2552 และการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยด้านอาหาร มาตรฐานสินค้าและชื่อเสียงของสินค้า “Made in China” ให้กลับคืนมาคงต้องอาศัยระยะเวลาหนึ่ง

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การผลิตนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนมปนเปื้อนของจีนมากนักเนื่องไทยนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากจีนค่อนข้างน้อย แต่การบริโภคสินค้าที่ใช้นมเป็นส่วนประกอบของไทยอาจชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปี 2551 เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการบริโภคลงเพราะยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยต่อสุขภาพ สำหรับกรณีที่ผู้บริโภคหลายประเทศต่างวิตกถึงอันตรายจากกระแสข่าวนมปนเปื้อนสารเมลามีนทำให้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าหมวดอาหารอื่นๆของจีนด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกอาหารของจีน ทำให้คาดว่าการส่งออกอาหารของไทยอาจได้รับผลดีทางอ้อม โดยสินค้าอาหารส่งออกของไทยที่มีศักยภาพและมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับต้นๆของโลก น่าจะสามารถขยายตลาดไปยังประเทศสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ได้มากขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ไก่ และผลิตภัณฑ์ผัก/ผลไม้ โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารเหล่านี้มีมูลค่าการส่งออก 8 เดือนแรกปี 2551 รวมกว่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสินค้าอาหารของไทยมีมาตรฐานในการผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ทั้งยังมีระบบการผลิตและห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพสินค้าส่งออก(Lab)ที่ได้มาตรฐานสากล สามารถสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยของสินค้าบริโภคให้แก่ประเทศผู้นำเข้าได้เป็นอย่างดีจึงถือเป็นข้อได้เปรียบด้านหนึ่งของไทยแต่ไทยควรเพิ่มจำนวนห้อง Lab ให้เพียงพอกับปริมาณสินค้าอาหารส่งออกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ไทยควรคำนึงถึง ได้แก่ การรักษาคุณภาพสินค้าส่งออกให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศที่ขณะนี้มีมาตรการเข้มงวดด้านความปลอดภัยของอาหารและคำนึงถึงผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อให้สินค้าส่งออกของไทยสามารถขยายตลาดได้โดยไม่มีอุปสรรคและได้มาตรฐานเป็นที่น่าเชื่อถือในตลาดต่างประเทศ