ธนาคารทิสโก้โชว์ผลประกอบการ 9 เดือน กำไรเพิ่ม 7.7%

ธนาคารทิสโก้เผยผลประกอบการงวด 9 เดือน กำไรสุทธิโต 7.7% โดยยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตให้อยู่ในระดับดี ท่ามกลางความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจ

นายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลประกอบการงวด 9 เดือนของปี 2551 (ม.ค. – ก.ย. 51) ว่าธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,328.29 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 7.7% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้น 25.6% ตามการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยที่เพิ่มขึ้น 16.9% ในขณะเดียวกันรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 144.23 ล้านบาท หรือเติบโต 8.3% ซึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากธุรกิจประกันชีวิตธนกิจ, ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินและธุรกิจจัดการกองทุน ซึ่งนับว่าธนาคารสามารถรักษาอัตราการเติบโตให้อยู่ในระดับที่ดีท่ามกลางความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สำหรับผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 (ก.ค.-ก.ย. 51) นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการรองกรรมการอำนวยการ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 397.92 ล้านบาท ลดลง 9.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2550 อย่างไรก็ตามรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิมีจำนวน 1,048.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 163.03 ล้านบาท หรือ 18.4% ตามการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 16.9% และการรักษาระดับของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อไว้ที่ 3.7% เทียบกับ 3.8% ในช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว โดยรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล มีจำนวน 1,938.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.1% ส่วนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 90.93 ล้านบาท หรือ 11.4%

สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยซึ่งไม่รวมกำไรจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 1.3% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจหลัก ได้แก่ รายได้จากธุรกิจเช่าซื้อเพิ่มขึ้น 75.5% รายได้จากธุรกิจประกันชีวิตธนกิจเพิ่มขึ้น 31.2% และรายได้จากธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินเพิ่มขึ้นจำนวน 28.0% อย่างไรก็ตาม รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง 46.6% และกำไรจากเงินลงทุนลดลง 95.9% ตามภาวะตลาดทุนที่ซบเซา ส่งผลให้ธนาคารและบริษัทย่อยมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยโดยรวม 589.95 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว 19.0%

นางอรนุชกล่าวต่อไปว่า ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2551 เงินให้สินเชื่อของธนาคารและบริษัทย่อยมีจำนวน 97,833.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากสิ้นไตรมาส 2 ปี 2551 ตามการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย โดยในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อเช่าซื้อจำนวน 71,658.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8%, สินเชื่อธุรกิจ 18,998.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% และสินเชื่ออื่นๆ 5,402.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.4% โดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อแบ่งออกเป็น สินเชื่อรายย่อย 75.1% สินเชื่อธุรกิจ 19.4% และสินเชื่ออื่นๆ 5.5%

ทั้งนี้ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่มีจำนวน 9,299.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ส่วนยอดขายรถยนต์ใหม่ภายในประเทศงวด 8 เดือนแรกของปี 2551 อยู่ที่ 412,186 คัน เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราปริมาณการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ของธนาคารต่อปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ใหม่เฉลี่ย (Penetration Rate) ใน 8 เดือนแรกของปี 2551 อยู่ที่ 9.9% ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยในปี 2550ที่ 9.4%

สำหรับเงินฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้นเงินฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้นรวมมีจำนวน 93,565.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% จากสิ้นไตรมาสที่แล้ว ทั้งนี้เงินฝากออมทรัพย์มีอัตราการเติบโตมากที่สุดคือ เพิ่มขึ้นถึง 50.6% อยู่ที่ 4,361.00 ล้านบาท, เงินฝากกระแสรายวันเพิ่ม 38.5% อยู่ที่ 3,843.72 ล้านบาท, เงินฝากประจำเพิ่ม 11.1% อยู่ที่ 34,456 ล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะสั้นเพิ่ม 5.0% อยู่ที่ 50,904.75 ล้านบาท โดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้นเท่ากับ 104.6% ลดลงจาก 111.9% ซึ่งเป็นผลจากการเร่งระดมเงินฝากเพื่อรองรับการเติบโตของสินเชื่อในอนาคต

ในด้านอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารอยู่ที่ 3.9% ลดลงจาก 4.1% ณ สิ้นไตรมาสที่ผ่านมา โดยสัดส่วนของ NPLของสินเชื่อรายย่อยเท่ากับ 2.5% และสัดส่วน NPL ของสินเชื่อธุรกิจ เท่ากับ 6.4% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารและบริษัทย่อยมีจำนวน 3,873.98 ล้านบาท ลดลง 2.1% อันเป็นผลจากการบริหารจัดการหนี้อย่างมีคุณภาพ โดยยอดสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและค่าเผื่อการปรับมูลค่าจากการปรับโครงสร้างหนี้ (Coverage Ratio) มีจำนวน 2,950.41 ล้านบาท คิดเป็น 76.2% ของ NPL ทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เท่ากับ 2,344.44 ล้านบาท ตามนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการดำเนินงาน

“ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาเราพัฒนาบริการหลายด้าน ทั้งการเปิดตัวเงินฝากประจำพ่วงความคุ้มครองสุขภาพ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก และยังมีการร่วมมือกับไทยสมาร์ทคาร์ด เปิดตัวบัตร TISCO Purse ซึ่งเป็นทั้งบัตรเอทีเอ็มและบัตรสมาร์ทเพิร์สในใบเดียว เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าสะดวกและประหยัดในการทำธุรกรรมการเงิน รวมถึงนวัตกรรมใหม่ของเครื่องให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ นั่นก็คือเครื่อง e-Money ATM หรือ e-TM ที่จะเป็นช่องทางให้บริการทางบัญชีแก่ลูกค้าได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ส่วนกลยุทธ์ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เราก็ยังคงมุ่งเน้นที่การขยายฐานลูกค้าเงินฝากอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความแตกต่างและเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้า รวมถึงการขยายสาขาอีกประมาณ 4-5 แห่งภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่มีสาขาจำนวน 30 แห่ง” นายปลิว กล่าว

สำหรับความคืบหน้าของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้ง (การจัดตั้งบริษัทมหาชนที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์เพื่อเป็นบริษัทโฮลดิ้งและเป็นบริษัทแม่ของธนาคารทิสโก้) นายปลิวเปิดเผยว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะนี้การดำเนินการเกือบเสร็จสมบูรณ์เป็นตามแผนที่วางไว้