เครื่องประดับตกแต่งบ้านปี’52 : เร่งปรับตัว…รับความผันผวนทางเศรษฐกิจ

ด้วยวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคการเงินของประเทศสหรัฐฯที่ส่งสัญญาณไม่ดีมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน และคาดว่าจะยังวิกฤตต่อเนื่องไปในปี 2552 จนอาจจะนำไปสู่การชะลอตัวลงรุนแรงของเศรษฐกิจโลกนั้น น่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะอุตสาหกรรมเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 2552 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงว่าผู้บริโภคทั้งในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งล้วนเสี่ยงต่อภาวะปัญหาเศรษฐกิจซบเซาค่อนข้างสูง จะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยด้วยการตัดลดค่าใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นลง เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางภาวะความตกต่ำของเศรษฐกิจ ขณะที่การส่งออกยังเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยเติบโตได้ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาของปีนี้ โดยมีทั้งสามประเทศข้างต้นเป็นตลาดส่งออกหลักคิดเป็นสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยโดยรวมในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม จากการที่สินค้าของจีนหลายประเภทเริ่มได้รับความเชื่อถือลดน้อยลงในด้านคุณภาพและความปลอดภัยที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด อาจจะกระตุ้นให้ผู้ซื้อต่างชาติหันมาซื้อสินค้าจากไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงกว่าทดแทนในระดับหนึ่ง ประกอบกับค่าจ้างแรงงานในจีนที่เพิ่มสูงขึ้น และรัฐบาลจีนเริ่มลดการสนับสนุนการให้เงินชดเชยสำหรับการส่งออกในอุตสาหกรรมเบา ทำให้ส่วนต่างของราคาสินค้ากลุ่มนี้ของจีนและไทยมีโอกาสลดลงในอนาคต อีกทั้งอุปสงค์ในตลาดใหม่ๆของไทยก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดีพอสมควร จึงคาดว่าปัจจัยบวกดังกล่าวน่าจะสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยในปี 2552 ไม่ซบเซาจนเกินไปนัก โดยน่าจะเติบโตไม่เกินร้อยละ 3 ซึ่งเป็นไปในทิศทางทรงตัวจากปี 2551 ที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 0-3 แต่ทั้งนี้อาจจะลดลงไปจากที่คาดการณ์ได้อีก หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง และเศรษฐกิจสหรัฐฯก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแท้จริงในปี 2552

9 เดือนแรกปี’51ซึม…ช่วงเวลาที่เหลือส่อแววทรงตัว
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตามรายงานของกรมศุลกากร มูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องประดับตกแต่งของไทย อันประกอบด้วย กรอบรูปไม้ รูปแกะสลักและเครื่องประดับไม้ ดอกไม้ประดิษฐ์ ของชำร่วยที่ทำจากเซรามิก ประทีปโคมไฟ รวมถึงของใช้ในเทศกาลและงานรื่นเริงเป็นไปในทิศทางชะลอตัวลงตามลำดับ อันเนื่องมาจากคู่แข่งที่มีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนอย่างจีนและเวียดนาม ที่สามารถผลิตสินค้าได้ในราคาที่ต่ำกว่าไทยต่างได้รับความนิยมจากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผู้บริโภคภายในประเทศของไทยเองก็หันมาบริโภคสินค้ากลุ่มนี้จากจีนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความได้เปรียบดุลการค้าของไทยทยอยปรับตัวลดลงตามลำดับ ดังรายละเอียดในตารางที่ 1 ขณะที่สถานการณ์สินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

สถานการณ์การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่รุนแรงมากนัก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าจากตลาดใหม่ๆที่มีกำลังซื้อสูง ทั้งรัสเซีย ตลาดตะวันออกกลาง และประเทศแถบยุโรปตะวันออก ซึ่งผู้ประกอบการไทยต่างพยายามบุกเบิกตลาดมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาตลาดหลักมากจนเกินไป ได้หันมาให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านคุณภาพสินค้ามากกว่าราคาสินค้า ทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้ผลิตสินค้าคุณภาพในตลาดโลก ไม่ตกต่ำตามการชะลอตัวของตลาดสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยมากจนเกินไปในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าปัจจุบันการส่งออกเครื่องประดับตกแต่งไปยังสหรัฐฯจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 27.7 ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่ลดน้อยถอยลงค่อนข้างมากจากปี 2545 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 52.3 แต่สหรัฐฯก็ยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทย โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 ไปยังตลาดสหรัฐฯลดลงอย่างชัดเจนถึงร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยโดยรวมในช่วงเวลาดังกล่าวได้ปรับตัวลดลงเพียงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ตลาดหลักส่วนใหญ่เติบโตถดถอย ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 ทิศทางการเติบโตของตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่ไทยยังคงพึ่งพาค่อนข้างสูง หรือคิดเป็นสัดส่วนรวมประมาณร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของไทย เป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างถดถอยพอสมควร โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯที่หดตัวร้อยละ 15.2 ขณะที่สหภาพยุโรปขยายตัวเพียงร้อยละ 3.6 ส่วนญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 0.07 และเป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราการเติบโตของการส่งออกเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยโดยรวมในแต่ละปี มักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงตลาดสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นด้วย

ตลาดอื่นๆนอกเหนือจากตลาดหลักขยายตัวในเกณฑ์ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวของตลาดอื่นๆ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมนั้นน่าสนใจไม่น้อย โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 อัตราการเติบโตของการส่งออกสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยไปยังกลุ่มตลาดดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 สวนทางความต้องการของตลาดคู่ค้าหลักของไทย โดยตลาดที่มีการเติบโตค่อนข้างชัดเจนได้แก่อาเซียนที่เติบโตร้อยละ 27.2 ส่วนตลาดใหม่โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง และรัสเซีย ต่างก็เติบโตในทิศทางที่ดีด้วยระดับอัตราการเติบโตร้อยละ 11.4 และ ร้อยละ 28.2 ตามลำดับ หรือแม้แต่ออสเตรเลียที่ไทยเปิดเจรจาการค้าเสรีไปแล้วก็เติบโตในเกณฑ์ดีที่ระดับร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่จะเห็นได้ว่าตลาดอินเดียชะลอตัวลง โดยขยายตัวลดลงร้อยละ 3.1 จากเดิมที่เคยขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 124.5 ในปี 2550 ทั้งนี้สัดส่วนการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังกลุ่มประเทศตลาดรองและใหม่ดังกล่าวข้างต้นได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วนร้อยละ 14.8 ในปี 2545 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.1 ในปี 2548 และปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.2 ในปี 2549 และสัดส่วนร้อยละ 29.3 ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 อีกทั้งมูลค่าการส่งออกยังเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย จากเดิมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ในปี 2546 ก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ 22.3 ในปี 2549 ร้อยละ 11.9 ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551

มูลค่าการส่งออกเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยปี 2551 น่าจะใกล้เคียงปีก่อน สำหรับในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2551 ซึ่งเป็นฤดูกาลสั่งซื้อสินค้าเพื่อเตรียมต้อนรับวันคริสต์มาสและวันปีใหม่ของต่างประเทศนั้น ก็อาจจะยังคงมีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ในระดับหนึ่งที่น่าจะช่วยพยุงให้ยอดขายสินค้ากลุ่มดังกล่าวของไทยขับเคลื่อนได้บ้าง แต่ไม่น่าจะคึกคักเท่าที่ควร เพราะผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดหลักน่าจะมีพฤติกรรมการจับจ่ายที่ประหยัดมากขึ้นเพื่อรองรับกำลังซื้อที่มีแนวโน้มถดถอย จึงคาดว่าการส่งออกสินค้าประเภทนี้ของไทยโดยรวมในปี 2551 น่าจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 12,600-13,000 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0-3

สินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนมาแรงรองรับความต้องการภายในประเทศ สำหรับสถานการณ์เครื่องประดับตกแต่งบ้านภายในประเทศนั้น พบว่า ผู้ประกอบการต่างต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการไม่แตกต่างจากการผลิตเพื่อการส่งออก ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้านต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศก็ไม่คึกคักเท่าที่ควร รวมถึงภาวะการณ์แข่งขันก็เป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างรุนแรงพอสมควร เพื่อช่วงชิงกำลังซื้อภายในประเทศที่ซบเซา ทั้งจากผู้ประกอบการไทยด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นประเภทสินค้าชนิดเดียวกัน หรือต่างประเภทกันที่สามารถทดแทนกันได้ค่อนข้างสมบูรณ์ รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 ไทยนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,997.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 63.3 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการนำเข้าจากจีน ซึ่งมีความได้เปรียบในด้านราคาสินค้าที่ถูกกว่าและมีความหลากหลาย ทั้งนี้ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญสำหรับอุปสงค์ภายในประเทศในปี 2551 น่าจะมาจากความต้องการซื้อเครื่องประดับตกแต่งบ้านของกลุ่มลูกค้ารายใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนหนุ่มสาวในวัยทำงานที่หันมาซื้อคอนโดมิเนียมใกล้ที่ทำงานตนเอง รวมถึงโครงการคอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่ในทำเลย่านธุรกิจใจกลางเมือง และตามเส้นทางที่รถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินผ่าน ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกสบาย และการประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางยุคน้ำมันแพง

แนวโน้มปี 2552 … ตลาดรอง-ตลาดใหม่น่าจะยังคงเติบโตได้
สำหรับแนวโน้มตลาดส่งออกเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยในปี 2552 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะเติบโตไม่เกินร้อยละ 3 ซึ่งเป็นไปในทิศทางทรงตัวจากปี 2551 ที่คาดว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 0-3 เพราะแม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงจากอุปสงค์ที่อาจจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มซบเซา แต่จากการที่สินค้าของจีนหลายประเภทเริ่มได้รับความเชื่อถือลดน้อยลงในด้านคุณภาพและความปลอดภัยที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ก็อาจจะกระตุ้นให้ผู้ซื้อต่างชาติหันมาซื้อสินค้าจากไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงกว่าทดแทนบ้างในระดับหนึ่ง ประกอบกับค่าจ้างแรงงานในจีนที่เพิ่มสูงขึ้น และรัฐบาลจีนเริ่มลดการสนับสนุนการให้เงินชดเชยสำหรับการส่งออกในอุตสาหกรรมเบา ที่คาดว่าจะมีผลให้ส่วนต่างของราคาสินค้ากลุ่มนี้ระหว่างจีนและไทยลดน้อยลงในอนาคต ขณะเดียวกัน ด้วยความต้องการสินค้าในตลาดรองและตลาดใหม่ของไทยที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี อีกทั้งยังมีความต้องการสินค้าที่ค่อนข้างหลากหลายทั้งที่เป็นสินค้าคุณภาพดี ราคาแพงที่แข่งขันด้านตราสินค้าและนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ และสินค้าที่มีราคาปานกลางถึงต่ำสำหรับผู้บริโภคที่มีความภักดีต่อตราสินค้าไม่สูงมากนัก จึงเป็นไปได้ว่าการส่งออกสินค้าของเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยโดยภาพรวมในกลุ่มตลาดรองและใหม่ น่าจะมีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นได้เป็นร้อยละ 30-35 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวม และอาจจะสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศคิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลักดังเช่น 3-4 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในปี 2552 ได้แก่

ปัจจัยด้านกำลังซื้อของผู้บริโภค สถานการณ์ตลาดสินค้าเครื่องประดับแต่งบ้านมักจะเกี่ยวพันกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเป็นปัจจัยทางตรงในการกำหนดมูลค่าการใช้จ่ายของผู้บริโภค และเป็นปัจจัยทางอ้อมในการกำหนดความพึงพอใจในการซื้อสินค้า โดยผลกระทบแบบลูกโซ่จากวิกฤตทางการเงินในสหรัฐฯที่มีแนวโน้มจะลุกลามกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2552 น่าจะส่งผลกระทบไปสู่การจ้างงาน รวมถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคธุรกิจตามมา ซึ่งล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ประเมินว่าในปี 2552 เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพียงร้อยละ 3.0 (จากปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 3.9) ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ด้วยการหลีกเลี่ยงการซื้อของไม่จำเป็นเร่งด่วน หรือซื้อของราคาถูกลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคในตลาดระดับกลางถึงล่าง ที่มีต้นทุนในการเปลี่ยนตราสินค้าต่ำและมีความภักดีต่อตราสินค้าไม่มากนัก ขณะที่กลุ่มสินค้าในตลาดระดับบนนั้น ก็คาดว่าผู้บริโภคอาจจะปรับเปลี่ยนไปซื้อสินค้าในระดับกลางที่ผลิตภายในประเทศทดแทนกันมากขึ้น หรืออาจจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายด้วยการซื้อสินค้าในมูลค่าเม็ดเงินต่อครั้งที่ลดลง หรือลดจำนวนครั้งในการจับจ่ายลง

ปัจจัยด้านการแข่งขัน ผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันจากคู่แข่ง 2 กลุ่ม (Competitive Nutcracker) อย่างกลุ่มที่ผลิตสินค้าคุณภาพสูง อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี ที่ต่างมีจุดเด่นในด้านการออกแบบชิ้นงาน และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเสริมศักยภาพการแข่งขัน และกลุ่มที่ผลิตสินค้าคุณภาพปานกลางถึงต่ำ ซึ่งมีราคาจำหน่ายเฉลี่ยต่อหน่วยต่ำกว่าไทย ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยอาศัยปัจจัยสนับสนุนจากอุปทานของแรงงานที่มีเป็นจำนวนมาก และมีการพัฒนาแรงงานฝีมืออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ปัจจุบันสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านของจีนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 30-35 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมในตลาดโลก ส่วนในด้านการตลาดพบว่าไทยยังคงเสียเปรียบต่อฮ่องกง ซึ่งหากผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งปรับกลยุทธ์การตลาด และพัฒนาสินค้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดโดยเร็วอย่างจริงจัง ก็มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอันใกล้สินค้าของชำร่วยและเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยอาจจะมีบทบาทลดลงได้ และยิ่งในภาวะที่การค้าโลกมีการเปิดเสรีทางการค้ากันมากขึ้น และคู่แข่งแต่ละรายของไทยต่างก็มุ่งหวังที่จะขยายการส่งออกในวงกว้างขึ้นเช่นกัน ก็อาจจะมีผลให้การขยายตัวของการส่งออกสินค้าของชำร่วยและเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยสู่ตลาดใหม่ๆไม่ง่ายนัก

จากปัจจัยต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้นที่จะส่งผลต่อการทำธุรกิจในปี 2552 ผู้ประกอบการเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว เพื่อรองรับกับความผันแปรของเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศคู่แข่งให้ทันท่วงที ดังรายละเอียดในตารางต่อไปนี้

กลยุทธ์ทางการแข่งขัน
1.ด้านการผลิต
1.1) หาวิธีลดต้นทุนการผลิต พยายามคงราคาเดิม
หรือขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็น โดยต้องตรวจสอบราคาของประเทศคู่แข่งด้วย และพยายามหาทางใช้วัตถุดิบตามธรรมชาติที่ประเทศไทยหาได้ง่ายและราคาถูก อีกทั้งยังสอดรับกับกระแสรณรงค์ต้านโลกร้อนด้วยหากสามารถประยุกต์ใช้แทนวัตถุดิบสังเคราะห์ที่ราคาแพงกว่าได้ นอกจากนี้ สินค้าประเภท Hand Made จากวัตถุดิบธรรมชาติหลายชนิด ผู้นำเข้าหลายประเทศอาจจะไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร เช่น ไม้ กระดาษ เหล็ก เป็นต้น ประกอบกับการผู้บริโภคปัจจุบันตื่นตัวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง สินค้าจากวัสดุทางธรรมชาติจึงเป็นแนวโน้มตลาดที่กำลังขยายตัวและยังมีอนาคตที่สดใส พร้อมกับเร่งพัฒนาแรงงานฝีมือของไทยให้สามารถประดิษฐ์ชิ้นงานที่มีความประณีตและมีรายละเอียดในชิ้นงานเพิ่มมากขึ้น อันจะนำไปสู่อำนาจการกำหนดราคาเหนือคู่แข่ง

1.2) เพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้สินค้า เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย แต่ต้องรักษาความสมดุลของรูปแบบไว้ด้วย ให้มีความสวยงามและใช้การได้ดี ควรมีขนาดกระทัดรัด เนื่องจากที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมักจะเป็นอพาตเม้นท์ที่มีพื้นที่ใช้สอยน้อย อาจหารูปแบบที่แตกต่างจากรูปทรงทั่วไปที่ใช้ๆกันอยู่อย่างทรงกลมและเหลี่ยม โดยควรหันมาใช้รูปทรงรี ทรงหลายเหลี่ยม ทรงไข่หรือรูปร่างแปลกๆที่เกิดตามธรรมชาติ เช่น หยดน้ำ ใบไม้หิน ดอกไม้ ท่อนไผ่ ใบไม้ หรือนำเอาสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาตกแต่งสินค้า เป็นต้น

1.3) พยายามรวมกลุ่มกันเป็น Cluster ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ หรือแม้กระทั่งสินค้าในกลุ่มของชำร่วยและเครื่องประดับตกแต่งบ้านเพื่อประโยชน์ต่อการสร้างอำนาจการต่อรอง และอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในลักษณะครบครันทั้งกรอบรูปไม้ รูปแกะสลักและเครื่องประดับไม้ ดอกไม้ประดิษฐ์ และของชำร่วยที่ทำจากเซรามิก

2.ด้านการตลาด
2.1) ศึกษาธรรมเนียมนิยมทั่วไปในการให้ของขวัญและการใช้เครื่องใช้ในครัวเรือนและของแต่งบ้านของแต่ละประเทศ
ได้แก่ ธรรมเนียมการจัดโต๊ะอาหาร การใช้เครื่องใช้ในบ้าน วิธีการแต่งห้องหรืออุปกรณ์ตกแต่งบ้าน รวมถึงการใช้สี ซึ่งจะแตกต่างกันบ้างในแต่ละประเทศ โดยสามารถค้นคว้าทาง internet ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถหาข้อมูลได้รวดเร็วและกว้างขวาง นอกจากนี้ ควรสอบถามจากลูกค้า หรือการเดินทางไปชมงานแสดงสินค้าที่สำคัญและที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการออกแบบสินค้า หรือในประเทศที่ต้องการส่งออกสินค้าอย่างต่อเนื่องด้วย

2.2) ศึกษาข้อมูลเทศกาลและวันหยุดของประเทศคู่ค้า ว่ามีการให้ของขวัญ ของที่ระลึกที่เฉพาะเจาะจงหรือไม่ และเป็นสินค้าประเภทไหน เช่น วันแม่ ของแต่ละประเทศก็ไม่ตรงกัน ของขวัญที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน หรือของขวัญสำหรับวันครบรอบแต่งงานในประเทศแถบยุโรปก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนการครบรอบปี เป็นต้น

2.3) ศึกษาค่าครองชีพและกำลังซื้อของผู้บริโภค เพื่อผลิตสินค้าให้มีราคาที่เหมาะสม และเป็นที่ยอมรับของตลาด เพราะจะทำให้ขายสินค้าได้ง่ายขึ้น จากการที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี หลายประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจไม่ขยายตัว ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง และมักจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น จึงต้องคำนึงถึงความจำเป็นและขีดความต้องการของสินค้าในตลาดด้วย ราคาจึงต้องเหมาะสม และแข่งขันได้ ขณะเดียวกันควรหมั่นตรวจสอบราคาของประเทศคู่แข่ง เพื่อเป็นประโยชน์ในการตั้งราคาไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไปด้วย

2.4) ศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันหันไปนิยมสินค้าที่เกี่ยวกับอิเล็คทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ากันมากขึ้น ก็อาจจะหันมาผลิตสินค้าเสริมที่สามารถนำไปใช้คู่กันได้ นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญต่อกฎระเบียบการนำเข้าของสินค้าของประเทศลูกค้าด้วย เช่น ข้อห้ามของวัตถุดิบ เช่น ไม้ ต้องผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้ออย่างไร หรือการติดฉลาก ต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ สามารถสอบถามจากลูกค้า บริษัทขนส่งสินค้า หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องของประเทศผู้นำเข้า

2.5) ขยายตลาดในประเทศ ในระยะสั้นที่สินค้ากลุ่มนี้ของไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น ผู้ผลิตน่าจะหันมามองโอกาสในการขยายตลาดภายในประเทศ เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศยังมีความเอื้ออำนวยอยู่บ้าง โดยภาวะค่าครองชีพสูงของประชาชนเริ่มบรรเทาลง ทั้งจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และมาตรการลดผลกระทบจากภาวะค่าครองชีพสูงของรัฐบาลที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น

2.6) ขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ แม้ว่าการหาตลาดใหม่ทดแทนในภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มซบเซาจะไม่ง่ายนัก เพราะการที่กำลังซื้อของตลาดส่งออกหลักมีปัญหาก็ทำให้ประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆ ต่างก็มุ่งหวังกระจายหาตลาดส่งออกใหม่เช่นเดียวกับไทย อีกทั้งยังต้องมีต้นทุนในการศึกษาพฤติกรรมความต้องการของผู้ซื้อในตลาดใหม่ๆด้วย แต่ผู้ประกอบการไทยก็จำเป็นต้องเร่งสำรวจ และศึกษาลู่ทางการตลาดใหม่ๆอย่างต่อเนื่องและจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศคู่เจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี เพื่อช่วยลดผลกระทบจากตลาดสหรัฐฯที่หดตัวลง และการพึ่งพิงตลาดหลักมากจนเกินไป โดยอาจจะขยายตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโต เช่น ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มีรายรับเพิ่มขึ้นจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแม้แนวโน้มราคาน้ำมันในปี2552อาจจะอ่อนตัวลง แต่กลุ่มตะวันออกกลางถือเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง และได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกค่อนข้างน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงตลาดอาเซียนที่ไทยยังคงมีความได้เปรียบจีน ทั้งในด้านค่าขนส่งที่ถูกกว่าเพราะระยะทางใกล้กว่า หรืออัตราภาษีภายใต้ข้อตกลงอาฟต้าเองที่มีผลให้สินค้าจากไทยจ่ายภาษีต่ำกว่าสินค้าจากจีน

2.7) การเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นของภาครัฐในส่วนของการสนับสนุนการพัฒนาทางการผลิต ภาครัฐน่าจะเข้ามาเป็นกำลังสนับสนุนสำคัญด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและการผลิตสินค้ากลุ่มนี้จากต่างประเทศมาให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้ผลิตคนไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาไปสู่การผลิตที่ได้รูปแบบที่ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศมากขึ้น

2.8) ภาครัฐควรสนับสนุนการส่งออกให้ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงของการทำเอฟทีเอที่มีอยู่ และส่งเสริมให้เกิดการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านหรือการค้าชายแดนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีความสะดวกขึ้นจากการที่มีการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานภายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน จากเส้นทางขนส่งที่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นนี้จะช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า

3.ด้านช่องทางการจำหน่าย
3.1) การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า
ก็นับเป็นช่องทางสำคัญช่องทางหนึ่งในการเข้าสู่ตลาดของขวัญและเครื่องประดับตกแต่งบ้าน เพราะนอกจากจะมีโอกาสในการพบปะกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโดยตรงทั้งผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง/ค้าปลีกแล้ว ยังทำให้ทราบถึงทิศทางความต้องการของตลาดได้ด้วย ซึ่งควรมีการเข้าร่วมอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้นำเข้าแต่ละประเทศ ซึ่งหากภาครัฐสามารถประสานงานให้กลุ่มเอสเอ็มอีสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อออกบูธร่วมกันภายในพื้นที่เดียวกันได้ก็จะยิ่งดี

3.2) การขยายช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลายมากขึ้น นอกเหนือจากการวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าที่จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านโดยเฉพาะ ไปสู่การสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตซึ่งกำลังเป็นช่องทางจำหน่ายที่ขยายตัวดีและต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันผู้บริโภคต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงส่วนใหญ่ค่อนข้างคุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังนับเป็นช่องทางการจำหน่ายที่มีต้นทุนต่ำกว่าช่องทางผ่านร้านค้าปลีกโดยทั่วไปพอสมควร จึงน่าจะเหมาะสำหรับผู้ประกอบการไทยรายที่เป็นบริษัทขนาดเล็กซึ่งมีเงินทุนไม่มากนัก

บทสรุป
แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ประเทศแถบยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการบริโภคสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านค่อนข้างสูงในตลาดโลก หรือประมาณ 3 ใน 4 ของปริมาณความต้องการในตลาดโลก จนอาจจะชะลอการนำเข้าจากไทยหนักกว่าที่ผ่านมาในปี 2551 แต่มีความเป็นไปได้ว่าความต้องการสินค้าจากตลาดใหม่ๆที่มีกำลังซื้อสูง ทั้งรัสเซีย ตะวันออกกลาง และประเทศแถบยุโรปตะวันออก ที่หันมานิยมใช้สินค้าที่มีคุณภาพ น่าจะมีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ และอาจจะกลายเป็นตัวช่วยสำคัญที่พยุงให้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยไม่ตกต่ำตามการชะลอตัวของตลาดหลักมากจนเกินไป ประกอบกับจากการที่สินค้าของจีนหลายประเภทเริ่มได้รับความเชื่อถือลดน้อยลงในด้านคุณภาพและความปลอดภัยที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด อาจจะกระตุ้นให้ผู้ซื้อต่างชาติหันมาซื้อสินค้าจากไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงกว่าทดแทนในระดับหนึ่ง จึงคาดว่าการส่งออกสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยในปี 2552 น่าจะเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2551 ที่ระดับไม่เกินร้อยละ 3 แต่ทั้งนี้อาจจะลดลงไปจากที่คาดการณ์ได้อีก หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง และเศรษฐกิจสหรัฐฯก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแท้จริงในปี 2552 ดังนั้น ปี 2552 ก็ยังคงเป็นปีที่ผู้ประกอบการเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว เพื่อรองรับกับความผันแปรของเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศคู่แข่งให้ทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพันธมิตรทางการค้าที่ดีกับคู่ค้ารายเดิม และแสวงหาคู่ค้ารายใหม่เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและเพิ่มยอดขาย รวมทั้งการหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในส่วนของคุณสมบัติ และนวัตกรรมของวัตถุดิบ รวมถึงเทคโนโลยีการผลิต ภายใต้การออกแบบที่คำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างในรายละเอียดมากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้ พร้อมกับสร้างเอกลักษณ์ที่ยากจะลอกเลียนแบบ เพื่อรักษาความแตกต่างไว้ให้ได้นานที่สุด ควบคู่กับการขยายตลาดกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างยิ่งขึ้นนอกเหนือจากกลุ่มผู้บริโภคตามบ้านเรือน ไปสู่กลุ่มโรงแรมระดับ4-5ดาว และกลุ่มรีสอร์ท ขณะเดียวกัน ก็จะต้องเร่งพัฒนาแรงงานฝีมือของไทยให้สามารถประดิษฐ์ชิ้นงานที่มีความประณีตและมีรายละเอียดในชิ้นงานเพิ่มมากขึ้น อันจะนำไปสู่อำนาจการกำหนดราคาเหนือคู่แข่ง รวมถึงการปรับปรุงระบบลอจิสติก และระบบการจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและรวดเร็วยิ่งขึ้น