แผนกระตุ้นเศรษฐกิจจีน 2552 : รับมือเศรษฐกิจโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี

ทางการจีนรับมือกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2551 โดยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะดำเนินการจนถึงปี 2553 โดยการใช้จ่ายมูลค่า 100 พันล้านหยวนจะดำเนินการในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติมของภาคเอกชนและการลงทุนของท้องถิ่นอีก 400 พันล้านหยวน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ได้แก่ รายจ่ายด้านสังคมเพื่อช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบท โครงการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และสนามบิน การพัฒนาระบบการศึกษาและสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ การพัฒนาด้านนวัตกรรม การบูรณะสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหว การปฏิรูประบบภาษีมูลค่าเพิ่มรวมถึงการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อสินทรัพย์ลงทุนเพื่อกระตุ้นภาคการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดรายจ่ายด้านภาษีของภาคธุรกิจราว 120 พันล้านหยวน นอกจากนี้ ทางการจีนมีมาตรการกระตุ้นรายได้ภาคชนบท โดยเพิ่มราคาขั้นต่ำเพื่อรับซื้อสินค้าธัญพืชและเพิ่มการอุดหนุนทางตรงให้กับเกษตรกรในปี 2552 รวมถึงการผ่อนคลายด้านสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เช่น ยกเลิกข้อจำกัดด้านโควตาการปล่อยกู้ของธนาคาพาณิชย์เพื่อช่วยธุรกิจ SMEs

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนครั้งนี้คาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในทั้งภาคการบริโภคและการลงทุน ในขณะที่ภาคส่งออกของจีนต้องเผชิญกับกำลังซื้อจากภายนอกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักที่เข้าสู่ภาวะถดถอยทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปี 2552 ในอัตราร้อยละ 0.7 ร้อยละ 0.5 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับ

ก่อนหน้านี้ทางการจีนใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อภาคส่งออกของจีนและลุกลามเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจภายในจีนที่เห็นชัดมากขึ้น โดยทางการจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะ 1 ปี ลง 3 ครั้ง ในช่วงเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 นับเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 6 ปีของจีน จนเหลือร้อยละ 6.66 ในปัจจุบัน หลังจากที่ดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญล้วนส่งสัญญาณชะลอตัว กดดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ชะลอเหลือร้อยละ 9 เป็นอัตราเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีของจีน ส่งผลให้การเติบโตของจีนใน 9 เดือนแรกของปีนี้ชะลอเหลือร้อยละ 9.9

ภาคส่งออกซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาในปีนี้ โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักอย่างกลุ่มประเทศจี 3 ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่เศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้นจนเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ประกอบกับค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินยูโร ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกจีนในตลาดทั้งสอง ทำให้การส่งออกของจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้เติบโตชะลอลงเหลือร้อยละ 22 (yoy) เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 27 (yoy) และคาดว่าการส่งออกของจีนในเดือนตุลาคมนี้มีแนวโน้มชะลอลงเป็นร้อยละ 18.1 (yoy) ถือว่าชะลอลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 ส่งผลให้การส่งออกของจีนทั้งปี 2551 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 20 จากที่เติบโตเกินร้อยละ 20 มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2545-2550 นอกจากภาวะซบเซาของตลาดส่งออกหลักของจีนแล้ว การดำเนินธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันยังต้องเผชิญกับภาวะสินเชื่อตึงตัว เนื่องจากความยากลำบากในการขอ L/C โดยเฉพาะการส่งออก-นำเข้าที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในสภาวะปัจจุบันที่ภาคธุรกิจทั่วโลกต่างประสบปัญหาด้านการขอสินเชื่อที่ยากขึ้น ขณะที่รายได้ภาคธุรกิจที่ปรับลดลง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะปัญหาด้านการชำระเงิน

ในช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจส่งออกของจีนต้องเผชิญผลกระทบรุนแรงจากทั้งการส่งออกที่ชะลอตัว ต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น และสินเชื่อตึงตัวจนต้องเลิกกิจการไป โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้แรงงานมาก ได้แก่ ธุรกิจสิ่งทอ/เสื้อผ้า ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงภาคเศรษฐกิจภายในจีน ที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ชะลอตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547 ตามภาคส่งออกที่อ่อนแรงลง ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนก็อยู่ในช่วงขาลงตามความต้องการภายในประเทศที่ชะลอลง โดยยอดขายบ้านในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งปรับลดลง รวมถึงปริมาณรถยนต์ใหม่ที่ยังขายไม่ได้ในเดือนกันยายน 2551 ที่พุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี ปัจจัย ท้าทายข้างต้นทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้มีแนวโน้มจะชะลอลงเหลือร้อยละ 9.7 ถือว่าเป็นอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2546 สำหรับในปี 2552 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2552 เหลือร้อยละ 8.5 ลดลงร้อยละ 0.8 จากร้อยละ 9.3 ที่คาดการณ์ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยที่ชัดเจนมากขึ้นในปี 2552 โดยเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น ต่างมีแนวโน้มหดตัวลงในปี 2552 ซึ่งถือเป็นการหดตัวลงพร้อมๆ กันครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนคาดว่าเศรษฐกิจจีนอาจชะลอลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 7.5 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2533

เงินเฟ้อของจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่อ่อนตัวลง โดยอัตราเงินเฟ้อที่วัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนตุลาคม 2551 ปรับลดลงเหลือร้อยละ 4.0 จากร้อยละ 4.6 ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นระดับต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.2 และเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 17 เดือนของจีน ทำให้ คาดว่าทางการจีนจะสามารถดำเนินนโยบายการเงินผ่อนมากขึ้นโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีกในช่วงที่เหลือของปีนี้เพื่อช่วยเหลือธุรกิจภายในประเทศ ขณะเดียวกันดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีนในเดือนตุลาคม 2551 ก็ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2550 (yoy) จากที่อยู่ที่ร้อยละ 9.1 ในเดือนกันยายน (yoy) ชะลอลงมากที่สุดในรอบ 8 เดือน เนื่องจากการอ่อนตัวลงของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตใน 10 เดือนแรกอยู่ที่ร้อยละ 8.2 (yoy)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า หากพิจารณาฐานะการคลังของจีน นับว่าจีนสามารถดำเนินนโยบายการคลังโดยเพิ่มรายจ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมาก เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เนื่องจากดุลงบประมาณของจีนที่เกินดุลคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.3 ของ GDP ในปี 2550 ขณะที่ดุลงบประมาณของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น มีฐานะขาดดุลร้อยละ 1.1 และร้อยละ 3.3 ในปี 2550 ตามลำดับ โดยในปี 2551 นี้ ทางการจีนวางแผนขาดดุลงบประมาณโดยเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ แต่การขาดดุลยังอยู่ในระดับต่ำ คาดว่าจะไม่เกินร้อยละ 1 ของ GDP ขณะเดียวกันทางการจีนสามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินทุนสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เนื่องจาก หนี้ภาครัฐยังอยูในระดับต่ำเช่นกัน คาดว่ามีสัดส่วนราวร้อยละ 17 ของ GDP นอกจากนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของจีนถือว่าแข็งแกร่ง เนื่องจากมีทุนสำรองต่างประเทศสูงถึงกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่ามากที่สุดในโลก

การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในระดับเหมาะสมพร้อมๆ กับนโยบายการคลังที่กระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจภายในจีนและบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซารุนแรงในปัจจุบันส่งผลให้ประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของทางการจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีนให้เติบโตในอัตราสูงเป็นตัวเลข 2 หลักเหมือนในช่วงที่ผ่านมาคงเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการบางด้านตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนคงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งกว่าจะเกิดผลที่ชัดเจนต่อภาคเศรษฐกิจ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างและพัฒนาด้านนวัตกรรม และการพัฒนาระบบการศึกษาและสุขภาพ ขณะที่มาตรการตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วนไม่ได้เป็นการลงทุนที่เกิดขึ้นใหม่แต่ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว ได้แก่ การพัฒนาและบูรณะอาคาร/สิ่งปลูกสร้างจากเหตุแผ่นดินไหวโดยใช้งบลงทุน 1 ล้านล้านหยวน

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของทางการจีนครั้งนี้คาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในของจีนให้เติบโตต่อไปได้ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ภาคเศรษฐกิจที่จะได้รับผลดีตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย และภาคก่อสร้าง จากแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของจีน คาดว่าจะช่วยสนบสนุนการเติบโตของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างต่างๆ เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้นได้ หลังจากที่ธุรกิจส่งออกหลายประเภทของจีนต้องปิดกิจการลงในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก

สำหรับผลต่อประเทศไทยนั้น ภาคส่งออกของจีนที่ชะลอตัวได้ส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยไปจีนชะลอลงด้วย เนื่องจากการนำเข้าของจีนในสินค้าประเภทส่วนประกอบ/ชิ้นส่วน/สินค้าทุนที่ชะลอตัวตามการส่งออกของจีนที่อ่อนแรงลง ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนชะลอตัวตามไปด้วย โดยการส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ชะลอเหลือร้อยละ 22.3 (yoy) จากที่เติบโตร้อยละ 26.8 ในช่วงเดียวกันของปี 2550 (yoy) โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนที่ชะลอลงค่อนข้างมากในเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา โดยเติบโตชะลอลงเป็นร้อยละ 1.4 (yoy) และร้อยละ 6.1 (yoy) ตามลำดับ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนในเดือนกันยายน 2551 ซึ่งเป็นสินค้าที่จีนใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ โดยมีอัตราลดลงร้อยละ 14.3 ร้อยละ 5.9 และร้อยละ 39.1 ตามลำดับ

ขณะเดียวกันธุรกิจส่งออกของจีนที่ต้องปิดตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบรุนแรงจากความต้องการนำเข้าของตลาดส่งออกหลักที่ชะลอตัว รวมทั้งปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งค่าแรงงานและต้นทุนทางการเงิน อาจทำให้ธุรกิจส่งออกของจีนที่ปิดกิจการดังกล่าวระบายสินค้าที่เหลืออยู่เข้ามาในไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยหากพิจารณาจากประเภทธุรกิจส่งออกของจีนที่ต้องปิดกิจการเนื่องจากวิกฤตการเงินโลก และสถิติการนำเข้าของไทยจากจีนในสินค้าประเภทเดียวกันนี้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 พบว่าสินค้าที่มีมูลค่านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.9 (yoy) ผลิตภัณฑ์เซรามิก เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.7 (yoy) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.2 (yoy) เครื่องดนตรี ของเล่น เครื่องกีฬาและเครื่องเล่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 (yoy) และหลอดภาพโทรทัศน์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6 (yoy) อย่างไรก็ตาม การที่ทางการจีนออกมาตรการช่วยภาคส่งออกโดยเพิ่มอัตราคืนภาษีส่งออก (Export Rebates) ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ให้กับธุรกิจหลายประเภท รวมถึงสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ของเล่น และเครื่องหนัง คาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาของธุรกิจภาคส่งออกของจีนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาการเลิกกิจการของธุรกิจส่งออกของจีนลดลงด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่ง สินค้าส่งออกของจีนที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่ดีขึ้นในตลาดโลก อาจทำให้สินค้าส่งออกของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นกับสินค้าส่งออกของจีนในตลาดประเทศที่สาม โดยเฉพาะในยามที่ตลาดมีกำลังซื้อจำกัดจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

โดยสรุป ทางการจีนประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2551 โดยเป็นแผนดำเนินการถึงปี 2553 ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอเหลือร้อยละ 2.2 ในปี 2552 และเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องเหลือร้อยละ 8.5 ในปี 2552 จากที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 9.7 ในปี 2551 สาเหตุสำคัญเนื่องจากภาคส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะหดตัวลงต่อเนื่องในปี 2552 การส่งออกของจีนที่ชะลอตัวในปีนี้ส่งผลกระทบไปยังภาคเศรษฐกิจภายในจีนที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนชะลอตัวต่ำสุดตั้งแต่ปี 2547 ทำให้ธุรกิจส่งออกของจีนต้องปิดกิจการลง โดยเฉพาะการผลิตที่ใช้แรงงานมาก ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานในประเทศด้วย ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนอยู่ในภาวะซบเซาตามความต้องการภายในจีนที่อ่อนแรงลง ภาคเศรษฐกิจของจีนที่จะได้รับผลดีตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนในครั้งนี้ ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย และภาคก่อสร้าง จากแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของจีน คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างต่างๆ เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจะบรรเทาปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้นได้ หลังจากที่ธุรกิจส่งออกหลายประเภทของจีนต้องปิดกิจการลงในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก

ฐานะการคลังของจีนที่แข็งแกร่งทำให้ทางการจีนสามารถดำเนินนโยบายการคลังโดยเพิ่มรายจ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมาก เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่มีการขาดดุลงบประมาณค่อนข้างสูง ขณะที่จีนมีดุลงบประมาณเกินดุลในปี 2550 ทางการจีนวางแผนขาดดุลงบประมาณในปีนี้โดยเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ แต่การขาดดุลยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันทางการจีนสามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินทุนสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เนื่องจากหนี้ภาครัฐยังอยูในระดับต่ำเช่นกัน ส่วนเสถียรภาพด้านต่างประเทศของจีนถือว่าแข็งแกร่ง เนื่องจากมีทุนสำรองต่างประเทศสูงถึงกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่ามากที่สุดในโลก

เงินเฟ้อของจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่อ่อนตัวลง ทำให้ทางการจีนน่าจะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีกในช่วงที่เหลือของปีนี้เพื่อช่วยเหลือธุรกิจภายในประเทศ แผนการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่มีประสิทธิผล ควบคู่กับนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในระดับเหมาะสม คาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในจีนให้ดำเนินต่อไปได้และบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซารุนแรงในปัจจุบันส่งผลให้ประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของทางการจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีนให้เติบโตในอัตราสูงเป็นตัวเลข 2 หลักเหมือนในช่วงที่ผ่านมาคงเป็นไปได้ยาก

สำหรับผลต่อไทย ภาคส่งออกของจีนที่ชะลอตัวได้ส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยไปจีนชะลอลงด้วย เนื่องจากการนำเข้าของจีนในสินค้าประเภทส่วนประกอบ/ชิ้นส่วน/สินค้าทุนที่ชะลอตัวตามการส่งออกของจีนที่อ่อนแรงลง ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนชะลอตัวตามไปด้วย โดยการส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ชะลอเหลือร้อยละ 22.3 (yoy) จากที่เติบโตร้อยละ 26.8 ในช่วงเดียวกันของปี 2550 (yoy) โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนที่ชะลอลงค่อนข้างมากในเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา สินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่ลดลง ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ โดยมีอัตราลดลงร้อยละ 14.3 ร้อยละ 5.9 และร้อยละ 39.1 ตามลำดับ

ขณะเดียวกันธุรกิจส่งออกของจีนที่ต้องปิดตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบรุนแรงจากความต้องการนำเข้าของตลาดส่งออกหลักที่ชะลอตัว รวมทั้งปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น อาจทำให้ธุรกิจส่งออกของจีนที่ปิดกิจการดังกล่าวระบายสินค้าที่เหลืออยู่เข้ามาในไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 พบว่าสินค้าที่มีมูลค่านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.9 (yoy) ผลิตภัณฑ์เซรามิก เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.7 (yoy) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.2 (yoy) เครื่องดนตรี ของเล่น เครื่องกีฬาและเครื่องเล่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 (yoy) และหลอดภาพโทรทัศน์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6 (yoy) อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการช่วยเหลือภาคส่งออกของทางการจีนที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งล่าสุดได้ปรับเพิ่มอัตราคืนภาษีส่งออกในสินค้าหลายประเภท ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาของธุรกิจภาคส่งออกของจีนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ทำให้ปัญหาการเลิกกิจการของธุรกิจส่งออกของจีนน่าจะลดลง และช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงานของจีนซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทางการจีนให้ความสำคัญค่อนข้างมาก แต่ในอีกด้านหนึ่ง สินค้าส่งออกของจีนที่มีความสามารถทางการแข่งขันดีขึ้นอาจทำให้สินค้าส่งออกของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นกับสินค้าส่งออกของจีนในตลาดประเทศที่สาม โดยเฉพาะในยามที่ตลาดมีกำลังซื้อที่จำกัดจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก