อุตสาหกรรมเอทานอลปี 2552 ชะลอตัว…ท่ามกลางหลากปัจจัยเสี่ยง

อุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลส่วนใหญ่ผลิตจากผลิตผลทางการเกษตร ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าว ข้าวฟ่างหวาน และถั่วเหลือง เป็นต้น ทั้งนี้ การผลิตเอทานอลในประเทศส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากพืชพลังงานที่สำคัญคือ กากน้ำตาลจากอ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งประเทศไทยเองมีศักยภาพและความพร้อมด้านวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลสูง สำหรับโรงงานผู้ผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพภายในประเทศมักใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาลเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ต่อยอดมาจากโรงงานน้ำตาลจึงทำให้มีความได้เปรียบด้านการผลิตและการประหยัดจากขนาด ส่วนจำนวนโรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังยังมีไม่มาก

การผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลของไทยขึ้นอยู่กับสถานการณ์การผลิตอ้อยในแต่ละปี สำหรับฤดูกาลผลิตอ้อยปี 2550/2551 เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องประสบปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นตกต่ำ โดยราคาอ้อยขั้นต้นที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายประกาศอยู่ที่ระดับ 600 บาท/ตันอ้อย ซึ่งต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นของปี 2549/2550 มีราคาอยู่ที่ 800 บาท/ตันอ้อย ขณะเดียวกันผลผลิตอ้อยปี 2550/2551 ซึ่งคาดว่า จะมีปริมาณสูงถึง 73.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 14.7 ประกอบกับในช่วงต้นปี 2551 ที่ผ่านมา เกษตรกรชาวไร่อ้อยประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงทั้ง ค่าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และต้นทุนพลังงาน ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ขณะเดียวกันปัจจัยที่กดดันให้ราคาอ้อยขั้นต้นของปี 2550/2551 ตกต่ำยังมีสาเหตุจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกในปี 2551 ซึ่งคาดว่า จะทรงตัวในระดับต่ำเพียง 11-12 เซนต์/ปอนด์ต่อเนื่องจากปี 2550 และปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้การส่งออกน้ำตาลของไทย ประกอบกับในปี 2551 นับเป็นปีทองของราคาพืชพลังงาน ทำให้ราคาพืชพลังงานโดยเฉพาะมันสำปะหลังและปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาก ดังนั้น จึงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันไปปลูกพืชพลังงานชนิดอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า แต่ในปี 2552 คาดว่า ราคาอ้อยจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2551 จากการที่ภาครัฐอนุมัติการปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายอีกกิโลกรัมละ 5 บาทเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย

สำหรับอุตสาหกรรมเอทานอลปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะยังมีแนวโน้มเติบโตได้แต่มีอัตราที่ชะลอลงจากปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่ราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงประมาณ 80-100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ทำให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างน้ำมันแก๊สโซฮอล์กันมากขึ้น เนื่องจากแรงจูงใจด้านปัจจัยราคาเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันปิโตรเลียมมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ของผู้บริโภค และจากการคาดการณ์ของหลายฝ่ายระบุว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปี 2552 จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับไม่เกิน 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนอาจหันไปใช้น้ำมันปิโตรเลียมกันมากขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการใช้เอทานอลจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจในประเด็นต่างๆ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย นำเสนอข้อวิเคราะห์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเอทานอลของไทยโดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

ปี 2551 อุปสงค์ของเอทานอลขยายตัวสูง…จากปัจจัยหนุนปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้นและมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล
จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ทำให้ราคาสินค้าหมวดอาหารปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มตามราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกต่างหันมาสนใจพัฒนาพลังงานทดแทนกันอย่างจริงจัง เพื่อรองรับความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่มีความผันผวนสูง ทั้งนี้ จากความตื่นตระหนกต่อภาวะวิกฤตอาหารและวิกฤตด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2551 ที่ผ่านมา โดยมีประเด็นสำคัญมาจากความต้องการใช้พืชพลังงานเพิ่มขึ้น ทั้งจากความต้องการใช้ในการผลิตอาหาร ความต้องการนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ และความต้องการใช้พืชพลังงานเพื่อนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งนี้ จากแรงผลักดันด้านอุปสงค์ของพืชพลังงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในปี 2551 ราคาพืชพลังงานที่สำคัญในตลาดโลกได้รับอานิสงส์ดีจนราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ความต้องการใช้เอทานอลเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ขยายตัวต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานในเดือนตุลาคม ปี 2551 พบว่า มีปริมาณจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทุกประเภทรวม 10.5 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นปริมาณการใช้เอทานอลอยู่ที่ 1.1 ล้านลิตร/วัน หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 87.5 และ 83.3 ตามลำดับ

ปริมาณการผลิตเอทานอลของไทยในปี 2551 ยังมีมากกว่าปริมาณความต้องการใช้ ดังจะเห็นได้จากจำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตผลิตเอทานอล 47 ราย มีกำลังการผลิตรวม 12.3 ล้านลิตร/วัน โดยมีโรงงานที่ดำเนินการผลิตขณะนี้ทั้งสิ้นจำนวน 11 โรง มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 1.6 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ปริมาณการใช้เอทานอล ณ เดือนตุลาคม ปี 2551 อยู่ที่ 1.1 ล้านลิตร/วัน ทำให้ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเอทานอลยังคงประสบปัญหาอุปทานล้นตลาด แต่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2551 ปริมาณการผลิตเอทานอลกลับต่ำกว่าความต้องการใช้เอทานอล โดยในเดือนตุลาคม ปี 2551 มีปริมาณการผลิตเอทานอลในประเทศ 28.62 ล้านลิตร/เดือน และมีปริมาณความต้องการใช้เอทานอลอยู่ที่ 32.92 ล้านลิตร/เดือน จนทำให้เกิดปัญหาอุปทานการผลิตเอทานอลตึงตัวในช่วงเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา แต่ในช่วงปลายปี 2551 ไปจนถึงช่วง 4-5 เดือนแรกของปี 2552 ก็จะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลเปิดหีบอ้อย ซึ่งจะทำให้มีปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานมาก ขณะเดียวกันในปี 2552 จะมีจำนวนโรงงานผลิตเอทานอลที่จะเปิดดำเนินการอีกประมาณ 10 โรง ดังนั้น จึงคาดว่า จะทำให้ไทยมีปริมาณการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น

สำหรับด้านการส่งออกในปี 2551 ผู้ประกอบการหันไปส่งออกเอทานอลสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้นเพื่อเป็นการระบายสต็อกส่วนเกินภายในประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่า ปี 2551 (มกราคม-ตุลาคม) ไทยมีปริมาณส่งออกเอทานอลทั้งสิ้น 30.7 ล้านลิตร เติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งมีปริมาณการส่งออกเอทานอลเพียง 7.9 ล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 288.6 โดยส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์เป็นหลักสัดส่วนร้อยละ 61.3 รองลงมาเป็นประเทศในแถบยุโรปร้อยละ 22.3 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 10.3 ออสเตรเลียร้อยละ 5.9 และไต้หวันร้อยละ 0.2 ขณะเดียวกันตลาดในประเทศ ภาครัฐบาลเองยังมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการรักษาส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันปิโตรเลียมและราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์โดยการลดภาษีสรรพสามิต และใช้กลไกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ปัจจุบันราคาจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 ต่ำกว่าราคาจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันเบนซิน 91ประมาณลิตรละ 5-9 บาท

ปี 2552 แนวโน้มอุตสาหกรรมเอทานอลยังชะลอตัว…ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า
สำหรับปี 2552 คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมเอทานอลจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวจากปี 2551 ซึ่งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ทะยานไปแตะจุดสูงสุดที่ระดับ 147 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในเดือนกรกฎาคม ปี 2551 ก่อนที่ราคาน้ำมันดิบจะอ่อนค่าลงในช่วงหลังของปี 2551 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2552 และมีสัญญาณว่า ปี 2552 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอ่อนค่าลง และจะทำให้ผู้บริโภคหันกลับไปใช้น้ำมันปิโตรเลียมมากขึ้นได้ ขณะที่ การเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลขึ้นกับปัจจัยหลักที่สำคัญคือ ปัจจัยด้านการผลิต และปัจจัยด้านการตลาด โดยมีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้

ไทยมีศักยภาพด้านวัตถุดิบมาก ประเทศไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบพืชพลังงาน เนื่องจากไทยเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชที่สำคัญในการนำมาผลิตเป็นเอทานอลโดยเฉพาะอ้อยและมันสำปะหลัง

รัฐบาลรณรงค์ส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการรักษาส่วนต่างของราคาจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมกับราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพื่อจูงใจผู้บริโภคหันมานิยมใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น และการบังคับให้มีการเพิ่มสัดส่วนการผสมเอทานอลลงในน้ำมันเบนซินให้มากขึ้นทั้งการส่งเสริมให้มีการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 20 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 ภายในประเทศเพื่อช่วยเพิ่มอุปสงค์ของความต้องการใช้เอทานอลให้มากขึ้น

ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงงานทดแทนทั้งหมดภายในประเทศ อีกทั้งปัจจุบันไทยมีความก้าวหน้าด้านเชื้อเพลิงชีวภาพมาก ทำให้ภาครัฐสนับสนุนและต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าเอทานอลที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

ผลของมาตรการ 6 เดือน 6 มาตรการของรัฐบาล ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนมกราคม ปี 2552 และจะส่งผลให้ราคาจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมภายในประเทศทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้นได้ ทั้งนี้ ผลของมาตรการดังกล่าว อาจช่วยให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นได้หากภาครัฐยังคงมีนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อย่างต่อเนื่องต่อไป

ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ค้าน้ำมันหันมาสนใจทำตลาดน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น จากประเด็นนโยบายการสนับสนุนของรัฐบาล ทำให้มีผู้ประกอบการในธุรกิจต่างขยายตลาดน้ำมันแก๊สโซฮอล์อย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า จำนวนสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์เดือนกันยายน ปี 2551 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,130 แห่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีจำนวนเพียง 3,661 แห่ง หรือเติบโตร้อยละ 12.8

ประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ในตลาดโลกอย่างสหรัฐฯ ในส่วนของสหรัฐฯมีการกำหนดนโยบายการนำข้าวโพดกว่า 1 ใน 4 ของผลผลิตภายในประเทศมาผลิตเป็นเอทานอล และมีเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานชีวภาพให้มากขึ้น

แม้อุตสาหกรรมเอทานอลจะมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ แต่ยังมีปัญหาจากปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ซึ่งสามารถรวบรวมเป็นประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
ปัญหาอุปทานการผลิตเอทานอลในประเทศซึ่งมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก ดังนั้น ธุรกิจต้องเผชิญแรงกดดันจากภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงผันผวนสูง ซึ่งเป็นปัจจัยของราคาน้ำมันปิโตรเลียมมีส่วนต่อการตัดสินใจเลือกใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ของผู้บริโภค

ปริมาณผลผลิตธัญพืชในปี 2551/2552 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ทั้งปริมาณผลผลิตข้าวโพดและถั่วเหลืองในตลาดโลก และอาจทำให้เกิดปัญหาอุปทานผลผลิตพืชพลังงานในตลาดโลกล้นตลาดได้ และส่งผลให้ราคาพืชพลังงานทั้งในตลาดโลกและตลาดภายในประเทศตกต่ำลง

ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง จากสถานการณ์ความเสี่ยงของวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และกำลังลุกลามไปยังสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจของโลกก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศหดตัว จนอาจส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบของโลกปรับตัวลดลงตาม เนื่องจากสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายสำคัญของโลก

ปัญหาการเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 นักลงทุนทั่วโลกต่างเข้าไปลงทุนเพื่อเก็งกำไรในตลาดดังกล่าวค่อนข้างมาก แต่ในระยะหลังสถานการณ์การเก็งกำไรกลับลดลงมากภายหลังการดิ่งลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมากภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน จึงดึงให้ราคาเอทานอลในประเทศมีโอกาสปรับลดลงตามราคาซื้อขายล่วงหน้าของเอทานอลในตลาดโลก

กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2552 ทิศทางของอุตสาหกรรมเอทานอลแม้ว่าจะยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวจะชะลอลงจากปีก่อน ซึ่งในปี 2551 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยืนราคาสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ส่งผลให้ทั่วโลกต่างหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์แทนการใช้น้ำมันปิโตรเลียมกันมากขึ้น โดยมีปัจจัยราคาเป็นแรงจูงใจสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ขณะที่ปี 2552 นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่า ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับไม่เกิน 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนหันไปใช้น้ำมันปิโตรเลียมกันมากขึ้นได้อีกครั้ง ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้เอทานอลจะยังเติบโตต่อไปตามปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ขยายตัว โดยมี ปัจจัยสนับสนุน จากการที่ไทยมีความพร้อมด้านการผลิตพืชพลังงานทั้งอ้อยและมันสำปะหลังมาก อีกทั้งมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยใช้นโยบายส่วนต่างราคาน้ำมันปิโตรเลียมกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และมาตรการเพิ่มสัดส่วนการผสมเอทานอลลงในน้ำมันเบนซินให้มากขึ้น ตลอดจนรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนทั้งหมดจากร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 20 ภายในปี 2565 ประกอบกับการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันภายใต้มาตรการ 6 เดือน 6 มาตรการซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2552 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศปรับตัวสูงขึ้นได้ อีกทั้งผู้ค้าน้ำมันต่างหันมาขยายสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันทั่วโลกต่างสนใจหันมาใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพกันมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมเอทานอลก็ยังมี ปัจจัยเสี่ยง ที่พึงระวังจากอุปทานการผลิตเอทานอลที่ยังกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก และในภาวะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงผันผวนสูงก็อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ของผู้บริโภคได้ และปัญหาปริมาณผลผลิตธัญพืชของโลกในปี 2551/2552 ที่จะขยายตัวจากปีก่อนโดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลือง อีกทั้งปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐฯซึ่งคาดการณ์ว่า จะลุกลามทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกลดลงตาม ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงจากการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงจากเดิมที่นักลงทุนมีการเข้าไปเก็งกำไรในตลาดดังกล่าวค่อนข้างมาก ทำให้แนวโน้มราคาเอทานอลในประเทศจะปรับตัวลดลงตามราคาเอทานอลในตลาดซื้อขายล่วงหน้าของโลก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจที่รัฐบาลควรพิจารณา คือ ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ทำให้ส่วนต่างของราคาน้ำมันปิโตรเลียมและราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดลง และอาจทำให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันปิโตรเลียมกันมากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศไทยในอนาคต ดังนั้น ภาครัฐควรวางแนวทางที่ชัดเจนในการรับมือกับปัญหาความผันผวนของราคาน้ำมันที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยในระยะยาวต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง