ปูนซีเมนต์ ปี 2552 ตลาดภายในซบเซา… ตลาดต่างประเทศเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2551 ได้หดตัวลงอย่างรุนแรง ซึ่งสะท้อนถึงความซบเซาในภาคก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบหลักมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ประกอบกับความล่าช้าของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ อีกทั้งปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมานั้นยังหดตัวรุนแรง เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศผู้นำเข้าหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปลดลง ประกอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศเวียดนาม และในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ได้แพร่กระจายไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ด้วยความรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นในช่วงปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ทำการคาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่ต้องเผชิญทั้งความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายในที่ทิศทางของการเมืองยังไม่มีความชัดเจนไว้ดังนี้

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา การผลิต ปริมาณการจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกหดตัวสูง

ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2551 มีทั้งสิ้น 27.1 ล้านตัน โดยปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์หดตัวลงร้อยละ 10.1 หดตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 9.4 ในช่วงเดียวกันของปี 2550 มีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ทั้งสิ้น 30.1 ล้านตัน ส่วนการผลิตปูนเม็ดในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมามีปริมาณการผลิตทั้งสิ้น 32.0 ล้านตัน หดตัวลงรุนแรงถึงร้อยละ 9.6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีการขยายตัวร้อยละ 5.0 และปริมาณการผลิตทั้งสิ้น 35.4 ล้านตัน จากปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ที่ลดลงมีสาเหตุจากการที่ผู้ผลิตบางรายลดกำลังการผลิตลง ประกอบกับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่ลดลง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากภาคการก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา เนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุนทั้งการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐบาล โดยทั้งการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐบาลได้รับผลกระทบมาจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้ทั้งผู้บริโภค นักลงทุน และผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนเลื่อนการตัดสินใจในการลงทุนออกไปก่อน ส่วนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐบาลหรือเมกะโปรเจกต์มีความล่าช้า นอกจากนั้นความต้องการปูนซีเมนต์ยังได้รับผลกระทบจาก ราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี ส่งผลให้ผู้รับเหมารายย่อยชะลองานก่อสร้างออกไป

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2551 มีปริมาณการจำหน่ายทั้งสิ้น 21.2 ล้านตัน หดตัวลงร้อยละ 9.9 โดยหดตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ร้อยละ 4.2 โดยมีปริมาณจำหน่าย 23.5 ล้านตัน การหดตัวลงอย่างมากของยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์เนื่องมาจากภาวะการลงทุนในภาคก่อสร้างที่ค่อนข้างซบเซา อีกทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันการลงทุนใหม่ๆ ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐบาลยังมีความล่าช้า

ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2551 มีทั้งสิ้น 13.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 22.8 ล้านบาท ซึ่งปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์หดตัวรุนแรงถึงร้อยละ 12.5 จากที่เคยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 26.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีปริมาณการผลิตทั้งสิ้น 15.6 ล้านตัน สาเหตุที่การส่งออกปูนซีเมนต์หดตัวค่อนข้างสูง เนื่องมาจากการส่งออกไปตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปหดตัวสูง (อัตราการขยายตัวของการส่งออกปูนซีเมนต์ไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาหดตัวลงร้อยละ 89.1 และ 64.9 ตามลำดับ) จากผลของวิกฤตการเงินที่กำลังส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อยู่ในปัจจุบัน แต่สำหรับสหรัฐฯ นั้น การส่งออกปูนซีเมนต์ได้มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงที่เกิดปัญหาวิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) ในช่วงระหว่างปี 2549-2550 อีกทั้งในช่วงประมาณกลางปีที่ผ่านมาเวียดนามได้ประสบปัญหาเงินเฟ้อสูงและปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตกำลังอยู่ในช่วงของการขยายการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงที่ประเทศคู่ค้าหลักในอดีตอย่างสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยในปี 2551 ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ บังคลาเทศ เวียดนาม และกัมพูชา โดยสัดส่วนการส่งออกรวมของทั้ง 3 ประเทศในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 56 ของการส่งออกปูนซีเมนต์ทั้งหมด ซึ่งความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศเหล่านี้ขยายตัวสูงตามการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ปี 2551 ตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศหดตัวรุนแรง

ในระยะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศต้องเผชิญกับภาวะการลงทุนในภาคก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ค่อนข้างซบเซาต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงส่งผลให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐล่าช้า และในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ แนวโน้มและทิศทางของเศรษฐกิจยังคงไม่ชัดเจน จากทั้งความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจการเงินของโลก ความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐคงยังไม่เกิดขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ของปี 2551 จะหดตัวลงร้อยละ 8.3 ซึ่งหดตัวต่อเนื่องจากปี 2550 ที่ร้อยละ 5.0 โดยปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศของปี 2551 จะมีประมาณ 25.4 ล้านตัน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 ที่มีปริมาณจำหน่ายทั้งสิ้น 27.7 ล้านตัน

ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาแม้ว่าการส่งออกปูนซีเมนต์หดตัวในระดับสูง อย่างไรก็ตามผู้ผลิตได้เร่งขยายตลาดส่งออก เช่น บังคลาเทศ เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อทดแทนความต้องการปูนซีเมนต์ภายในประเทศและตลาดคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่มีความต้องการลดลง ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 วิกฤตการเงินเริ่มส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นและแพร่กระจายไปยังทุกๆ ภูมิภาคทั่วโลก จนกระทั่งล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ทำการปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตของภูมิภาคต่างๆ ลงอีกเนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ของประเทศไทยในปี 2551 จะหดตัวร้อยละ 10.2 เนื่องจากผลของการหดตัวที่ค่อนข้างสูงในช่วง 10 เดือนแรกของปี และต้องเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในปี 2550 ที่ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 26.7 ซึ่งในปี 2551 จะมีปริมาณการส่งออกทั้งสิ้น 16.7 ล้านตัน เทียบกับปี 2550 ที่มีปริมาณการส่งออกทั้งสิ้น 18.6 ล้านตัน สาเหตุที่การส่งออกปูนซีเมนต์หดตัวลงน้อยกว่าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา คาดว่าเป็นเพราะยังคงมีแรงหนุนจากความต้องการปูนซีเมนต์เพื่อใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าปูนซีเมนต์กลุ่มใหม่ของไทย ได้แก่ บังคลาเทศ เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคของประเทศต่างๆ เหล่านี้ กำลังดำเนินการอยู่ในช่วงเวลาปัจจุบันและได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น Asian Development Bank, International Development Association เป็นต้น คาดว่า การก่อสร้างน่าจะดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องเพราะไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากภาคเอกชน ประกอบกับผู้ผลิตได้กำลังเร่งขยายการส่งออกมายังกลุ่มประเทศเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งน่าจะทดแทนความต้องการที่หดตัวลงจากประเทศคู่ค้าปูนซีเมนต์รายเดิมได้

ส่วนการผลิตปูนซีเมนต์นั้น คาดว่า ผู้ผลิตยังคงระดับการผลิตเดิมไว้เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอุปสงค์ต่อปูนซีเมนต์ในประเทศผู้นำเข้าหลักในภูมิภาคเอเชียยังขยายตัวได้ดีแม้ว่าตลาดปูนซีเมนต์ภายในประเทศจะค่อนข้างซบเซา (อย่างไรก็ตามอาจต้องติดตามผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียในระดับที่รุนแรงเพียงใด หากมีระดับของผลกระทบสูง อาจส่งผลให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์พิจารณาปรับลดกำลังการผลิตลง)

แนวโน้มปี 2552 ตลาดในประเทศยังคงซบเซา ขณะที่ตลาดต่างประเทศเผชิญเศรษฐกิจโลกถดถอย

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 คาดว่า ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซาต่อเนื่องจากปี 2551 เนื่องจากผลของวิกฤตการเงินที่จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงมากยิ่งขึ้น ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังชะลอตัว ขณะที่โครงการลงทุนของภาครัฐอาจยังไม่มีโครงการใหม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยความไม่สงบทางการเมืองจะยิ่งซ้ำเติมภาคความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน รวมทั้งทำให้การบริหารราชการของรัฐบาลไม่ราบรื่นเท่าที่ควร อย่างไรก็ดีถ้าสถานการณ์วิกฤตการเงินโลกและปัญหาการเมืองคลี่คลายลงภาคอสังหาริมทรัพย์อาจมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่โครงการก่อสร้างของภาครัฐน่าจะเริ่มต้นได้บ้าง แต่ทั้งนี้หากสถานการณ์การเมืองรุนแรงจนการลงทุนของภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนผลกระทบก็คงจะรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้นี้ โดยโครงการก่อสร้างภาครัฐที่หายไปทุก 10,000 ล้านบาท จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของยอดขายปูนซีเมนต์ลดลงอีกร้อยละ 1.2 (เช่น จากที่หดตัวร้อยละ 5.0 มาเป็นหดตัวร้อยละ 6.2) โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศของปี 2552 อาจอยู่ระหว่างหดตัวร้อยละ 5.0 ถึงขยายตัวร้อยละ 2.0 จากที่ในปี 2551 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศหดตัวลงร้อยละ 8.3 โดยปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในปี 2552 อาจจะมีประมาณ 23.9 ถึง 25.7 ล้านตัน จาก 25.2 ล้านตัน ในปี 2551

ในปี 2552 นั้น ภาวะเศรษฐกิจโลกคงเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตการเงินจะส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริงมากขึ้น แม้ว่าตลาดส่งออกปูนซีเมนต์รายหลักของไทยจะไม่ใช่สหรัฐฯ และยุโรปก็ตาม แต่วิกฤตการณ์ทางการเงินก็คงส่งผลกระทบมายังกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกปูนซีเมนต์บ้างเช่นกัน อาจทำให้ความต้องการปูนซีเมนต์ในตลาดโลกลดลง อย่างไรก็ตามอาจได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้ผลิตได้เริ่มเปลี่ยนแปลงประเทศคู่ค้าหลักมาตั้งแต่ช่วงปี 2550 (โดยเปลี่ยนประเทศคู่ค้าหลักมาเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง มากขึ้น) ประกอบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกาส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังคงมีความต้องการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2552 จะหดตัวลงประมาณร้อยละ 6.5 ถึง 7.0 ซึ่งหดตัวลดลงน้อยกว่าปี 2551 ที่ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์หดตัวร้อยละ 10.2 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 2551 โดยมีปริมาณการส่งออกประมาณ 15.6 ถึง 15.7 ล้านตัน ลดลงจาก 16.7 ล้านตัน ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยยังคงมีโอกาสขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยประเทศที่มีความน่าสนใจที่จะทำการขยายตลาดส่งออกปูนซีเมนต์ ได้แก่ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลาว เป็นต้น เพราะภาคก่อสร้างในประเทศบาห์เรน มีการเติบโตอย่างมาก เนื่องจากบาห์เรนต้องการกระจายฐานเศรษฐกิจไปยังสาขาอื่นๆ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว และบาห์เรนยังเป็นประเทศที่ใช้เป็นฐานขยายการค้าไปสู่ประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลางได้ ส่วนในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ภายหลังจากที่ได้ปรับเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรัฐดูไบเติบโตสูง ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรัฐอื่นๆ เริ่มเติบโตตามรัฐดูไบไปด้วย ลาว มีโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า และโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในปี 2552 อีกทั้งต้นทุนค่าขนส่งสินค้าระหว่างไทยและลาวมีราคาไม่สูงและมีเส้นทางคมนาคมขนส่งหลายสาย

สรุปและข้อเสนอแนะ

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2551 ได้หดตัวลงอย่างรุนแรงถึงร้อยละ 9.9 สะท้อนถึงความซบเซาในภาคก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบหลักมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง กระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน และก่อให้เกิดความล่าช้าของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ อีกทั้งปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมานั้นยังหดตัวรุนแรงถึงร้อยละ 12.5 เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศผู้นำเข้าหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปลดลง ประกอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศเวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าปูนซีเมนต์จากไทยค่อนข้างมาก ทำให้ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์หดตัวสูง

จากสถานการณ์ข้างต้น คาดว่า ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศของปี 2551 จะหดตัวลงร้อยละ 8.3 ส่วนตลาดต่างประเทศ คาดว่า ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ของปี 2551 จะหดตัวร้อยละ 10.2 ซึ่งหดตัวน้อยกว่าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี เพราะคาดว่าน่าจะได้รับปัจจัยหนุนจากปูนซีเมนต์เพื่อใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าปูนซีเมนต์กลุ่มใหม่ของไทย ซึ่งโครงการเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากภาคเอกชน น่าจะสามารถดำเนินโครงการได้ต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ผลิตกำลังเร่งขยายการส่งออกมายังกลุ่มประเทศเหล่านี้มากขึ้น น่าจะทดแทนความต้องการที่หดตัวลงจากประเทศคู่ค้าปูนซีเมนต์รายเดิมได้

แนวโน้มของตลาดปูนซีเมนต์ภายในประเทศของปี 2552 คาดว่ายังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศว่าจะคลี่คลายลงและทำให้ทางการสามารถเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์หรือไม่ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศของปี 2552 อาจอยู่ระหว่างหดตัวร้อยละ 5.0 ถึงขยายตัวร้อยละ 2.0 จากที่หดตัวร้อยละ 8.3 ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ทางการเมืองยังคงรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐให้มีความล่าช้าอาจทำให้ยอดขายปูนซีเมนต์ภายในประเทศของปี 2552 คงจะหดตัวลงมากกว่าที่ได้ประเมินไว้ส่วนตลาดต่างประเทศนั้นยังคงต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่อาจได้รับผลดีอยู่บ้างจากการเปลี่ยนประเทศคู่ค้าหลักมาเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา เพราะประเทศในภูมิภาคเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังคงมีความต้องการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ คาดว่าในปี 2552 ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์จะหดตัวลงประมาณร้อยละ 6.5 ถึง 7.0 หดตัวต่ำกว่าปี 2551 ที่หดตัวลงร้อยละ 10.2 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 2551

จากแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2552 ที่ภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซา และในบางประเทศอาจต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันเนื่องมาจากปัญหาวิกฤตการเงินที่กำลังส่งผลกระทบไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศในภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น การที่ผู้ผลิตเร่งขยายตลาดส่งออกเพื่อทดแทนความต้องการปูนซีเมนต์ภายในประเทศที่หดตัวลง คงจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินครั้งนี้ด้วย ถึงแม้ว่าตลาดส่งออกปูนซีเมนต์หลักๆ จะเป็นตลาดในภูมิภาคเอเชียก็ตาม เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่หลายๆ ฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียอาจได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าที่คาดไว้เดิม ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศถ้าไม่สามารถคลี่คลายได้โดยเร็วจะยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อธุรกิจก่อสร้างด้วยเช่นกัน ในภาวะดังกล่าวข้างต้น เห็นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ รัฐบาลต้องแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อให้กลไกในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศเดินหน้าได้อย่างปกติ หลังจากนั้นควรเร่งฟื้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ เร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะทำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามมา (Crowding-in effect) ส่วนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ควรรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศผู้นำเข้าหลักอย่าง บังคลาเทศ เวียดนาม และกัมพูชาไว้ อีกทั้งอาจต้องพิจารณาถึงตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่สามารถแข่งขันได้และมีความคุ้มค่าทางด้านต้นทุนค่าขนส่ง และอาจทำการส่งออกไปยังประเทศที่เป็นประตูการค้าซึ่งสามารถขยายฐานการค้าไปสู่ประเทศอื่นๆ ได้

**********************************************