กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ ชูแผนงานเพิ่มศักยภาพองค์กรเล็งเปิด ASEAN Board ปี 2552

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับองค์กรเป็นกลุ่มงานธุรกิจและกลุ่มงานพัฒนาตลาดทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพ พร้อมกำหนด 9 กลยุทธ์สำหรับปี 2552 ตั้งเป้ามี 46 บริษัทจดทะเบียนได้รับอนุมัติให้เสนอขายหลักทรัพย์ โดยมีแผนปรับแนวทางให้บริษัทที่จะจดทะเบียนใน mai เข้าระดมทุนได้สะดวกขึ้น และเพิ่มอีก 4 ประเภทตราสาร ได้แก่ Gold Futures, Derivative Warrants, ETF และ Islamic Fund พร้อมเพิ่มผู้ลงทุนบุคคลอีกร้อยละ 5 หรือ 100,000 ราย เพิ่มสัดส่วนซื้อขายผู้ลงทุนสถาบันอีกร้อยละ 10 และเพิ่มผู้ลงทุนซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตอีกร้อยละ 10 โดยเตรียมพัฒนาระบบ IT รองรับธุรกรรมข้ามตลาด ทั้งนี้ จะทำงานเชื่อมโยงกับงานด้านการพัฒนาตลาดทุนระยะยาว ทั้งด้านการให้ความรู้ และยกระดับบริษัทจดทะเบียนให้มีระดับบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้มาตรฐานสากล รวมทั้ง การสร้างผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดทุน

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แผนงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2552 เป็นการเดินหน้าพัฒนาองค์กรตามกรอบกลยุทธ์ 5 ปี เพื่อสร้างศักยภาพขององค์กรก้าวสู่การเป็นบริษัทมหาชน และเตรียมความพร้อมเป็นบริษัทจดทะเบียนในปี 2554 เริ่มจากการวางรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นกลไกสำคัญเพื่อตอบสนองลูกค้าในประเทศ (Domestic Champion) ทั้งการเป็นแหล่งระดมทุนด้วยต้นทุนต่ำสำหรับบริษัทจดทะเบียน ซึ่งถือเป็นบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงของภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ซึ่งในอดีต หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มีสถิติที่ชัดเจนว่าตลาดทุนได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ จะเน้นนำเสนอสินค้าและให้บริการที่ ครบวงจรกับลูกค้าด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างฐานที่สำคัญในการทำงานก้าวต่อไปร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ ในภูมิภาค (Regional Integration) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของตลาดทุนในอาเซียน ก่อนก้าวต่อไปสู่การทำงานเชื่อมโยงกับตลาดทุนในระดับนานาชาติ (Global Network)

“ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำงานภายใต้โครงสร้างใหม่ ซึ่งมีการจัดแบ่งกลุ่มงานเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มงานด้านธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ และกลุ่มงานด้านการพัฒนาตลาดทุนโดยกำหนด 9 กลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งด้านการเพิ่มสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยตั้งเป้าเพิ่มบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติการเสนอขายหลักทรัพย์เพื่อรอเข้าจดทะเบียน 46 บริษัท เพิ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 10 กองทุน รวมทั้ง การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ Gold Futures, Derivatives Warrant, ETF รวมทั้ง การออก Islamic Fund เพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากตะวันออกกลาง” นางภัทรียากล่าว

นอกจากนี้ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนต่อประชากรทั้งหมดอีกร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 3.75 (จากร้อยละ 3.59) หรือประมาณ 100,000 ราย เพิ่มสัดส่วนตามมูลค่าซื้อขายของผู้ลงทุนสถาบันในประเทศอีกร้อยละ 10 และเพิ่มผู้ลงทุนผ่านอินเทอร์เน็ตร้อยละ 10 จากปี 2551 รวมทั้ง ตั้งเป้าจำนวนสัญญาของตราสารอนุพันธ์ซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4 จากปี 2551 เป็น 10,910 สัญญา ในขณะเดียวกัน กลุ่มงานพัฒนาตลาดทุน ได้ตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินโครงการ 15 โครงการ เพื่อการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว

นางภัทรียากล่าวต่อว่า กลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มบทบาทความสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ และการเตรียมความพร้อมขององค์กร 3 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์การผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นกลไกหลักในการจัดทำแผน และผลักดันให้เกิดการดำเนินงานตามแผนพัฒนาตลาดทุน นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดกลยุทธ์การเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่ระดับอาเซียน โดยเน้นการสร้างผู้นำและบุคลากรเพื่อรองรับความต้องการขององค์กรในอนาคต รวมถึง กลยุทธ์การสร้างคุณค่าทางธุรกิจโดยการตั้งเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่มีบรรษัทภิบาลที่ได้รับการยอมรับ มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ เพื่อเตรียมการเป็นบริษัทมหาชน และเข้าจดทะเบียนในปี 2554

นายวิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการ เปิดเผยถึงแผนงานตามกลยุทธ์การเพิ่มบริษัทที่ได้รับอนุมัติเสนอขายหลักทรัพย์ เพื่อรอเข้าจดทะเบียน 46 บริษัท ในปี 2552 ว่า กลยุทธ์สำคัญคือการปรับเปลี่ยนสถานะ mai ให้เป็น disclosure based โดยให้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินมีบทบาทในการดูแลคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนและการเปิดเผยข้อมูลตลอดเวลาการเข้าจดทะเบียน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจขนาดกลางเข้าจดทะเบียนได้สะดวก คล่องตัวยิ่งขึ้น ทำให้ mai เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจขนาดกลางได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางอาจประสบปัญหาการระดมเงินทุนจากแหล่งทุนต่าง ๆ

“นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสร้างความสัมพันธ์และทำงานกับองค์กรทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ เพื่อดึงดูดให้ธุรกิจใน อินโดจีนเลือกที่จะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย เมื่อนึกถึงการระดมทุน รวมถึง การส่งเสริมและผลักดันให้รัฐวิสาหกิจและธุรกิจที่ได้รับสัมปทานเข้ามาจดทะเบียนด้วย” นายวิเชฐกล่าว

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ ซึ่งจะรับผิดชอบงานด้านการพัฒนาตลาด (Markets) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2552 กลยุทธ์ ด้านการพัฒนาตลาด จะเน้นตอบสนองความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การเพิ่มสินค้า ที่จะคำนึงถึงความสำเร็จทางธุรกิจหรือความสำคัญต่อการพัฒนาตลาด ซึ่งจะมีการออกตราสารใหม่ ๆ เข้าจดทะเบียนในตลาด อาทิ Gold Futures, Derivatives Warrant และเพิ่มกองทุนอีทีเอฟ อย่างน้อย 1 กองทุน โดยเป็น ETF on international index หรือ dual-listing ETF และกองทุน Islamic Fund อย่างน้อย 1 กองทุน รวมทั้ง ศึกษาความเป็นไปได้ของตราสารใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง

กลยุทธ์การเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบัน และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ตัวกลาง จะเน้นการเพิ่มช่องทางใหม่ ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรม พร้อมทั้งจะมีการขยายผู้ลงทุน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ ผู้ลงทุน High Net Worth โดยผ่านธนาคารพาณิชย์ และ ผู้ลงทุนจากตะวันออกกลาง นอกจากนี้ จะเพิ่มช่องทางให้สมาชิกสามารถซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า และการรวมศูนย์ข้อมูลตราสารหนี้และเพิ่มประสิทธิภาพระบบซื้อขายตราสารหนี้ด้วย

ด้านกลยุทธ์สำหรับงานบริการหลังการซื้อขาย (Post Trade Services) ได้มีขยายขอบเขตการให้บริการที่สำคัญ ได้แก่ การเป็นนายทะเบียนตราสารหนี้ภาครัฐ และบริการบริหารหลักประกันข้ามตลาดเพื่อรองรับหลักประกันอื่นนอกเหนือจากเงินสด และการรวมศูนย์สำนักหักบัญชี เป็นต้น ทั้งนี้ การปรับเพิ่มสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่อการเพิ่มธุรกรรม ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่ต่ำลง ถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของสมาชิกและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงส่งผลดีต่อการเติบโตของตลาดทุนโดยรวมด้วย

นางนงราม วงษ์วานิช รองผู้จัดการ เปิดเผยถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีว่าจะเน้นการพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้ทัดเทียมตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเชื่อมโยงการทำธุรกรรมข้ามตลาด รวมถึงเพื่อสนับสนุนแผนการจัดตั้ง ASEAN Board กับตลาดหุ้นอาเซียน โดยในปี 2552 นี้ จะมีการเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นอย่างน้อย 1 แห่ง และรองรับการเข้าจดทะเบียนจาก Indochina นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนการออกผลิตภัณฑ์และการให้บริการใหม่ ๆ แก่ลูกค้าของตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย

สำหรับกลุ่มงานพัฒนาตลาดทุนนั้น ถือว่าเป็นกลุ่มงานใหม่ที่มีการกำหนดเป้าหมาย 4 ประการตามพันธกิจ (Mission based) ทั้งการเป็นผู้นำทางความคิดในการผลักดันการพัฒนาตลาดทุน การยกระดับ Good Governance ของบริษัทจดทะเบียน การสร้างกลไกในการสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดทุน และการสร้างผู้ลงทุนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ด้านการเงินการลงทุน รวมถึง การศึกษาวิจัยด้านตลาดทุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนโดยรวม

นางจิราพร คูสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการ กล่าวว่าในปี 2552 นั้น งานด้านการให้ความรู้ผู้ลงทุน จะเน้นการเพิ่มผู้ลงทุนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิด Wealth Management ผ่านการอบรมและกิจกรรมที่หลากหลาย โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มผู้ที่มีความรู้ด้านการเงินและการลงทุนในส่วนของบุคคลทั่วไปปีละร้อยละ 10 และในผู้ลงทุนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย อาทิ พนักงาน สมาชิกกองทุนสำรอง เลี้ยงชีพ ในกลุ่มบริษัท SET100 พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้มีเงินฝาก เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ทั้งนี้ จะเน้นการทำงานผ่านเครือข่ายทั้งองค์กรภาคธุรกิจตลาดทุน และสถานศึกษา โดยเฉพาะสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.)

ในขณะเดียวกัน ได้จัดทำโครงการเพิ่มคุณภาพและจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน โดยเน้นการเพิ่มสัดส่วนเจ้าหน้าที่การตลาดต่อจำนวนผู้ลงทุนที่เหมาะสม และเพิ่มสัดส่วนจำนวนนักวิเคราะห์ต่อบริษัทหลักทรัพย์ โดยจะกำหนดมาตรฐานร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ต่อไป นอกจากนี้ จะอบรมให้ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 หลังการอบรม

ทั้งนี้ กลุ่มงานพัฒนาตลาดทุนจะเป็นศูนย์กลางการทำหน้าที่หลักที่จะทำให้อุตสาหกรรมโดยรวม ลดต้นทุนด้านการพัฒนา ผู้ประกอบวิชาชีพด้วยการเปิดเป็นศูนย์ทดสอบใบอนุญาตและความรู้ด้านตลาดทุนเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย (Capital market Examination Center ) และขยายไปสู่การเป็น Capital Market Education Center สำหรับกลุ่มประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย รวมทั้งการผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นศูนย์กลางในการศึกษาวิจัยด้านตลาดทุนและใช้เครือข่ายของวตท. ให้เกิดประโยชน์

ด้านนายเก่งกล้า รักษ์เผ่าพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ได้กล่าวถึงงานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยรวมของตลาดทุนว่า จะเน้นสร้างความต่อเนื่องด้านการดำเนินการเพื่อยกระดับ CG (บรรษัทภิบาล) CSR (ความรับผิดชอบต่อสังคม) และ IR (งานด้าน นักลงทุนสัมพันธ์) ของบริษัทจดทะเบียนให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลในระยะเวลา 5 ปี โดยส่งเสริมให้มีคะแนนด้านการกำกับดูแลกิจการ (CG scoring ) เพิ่มขึ้น และมีมาตรฐานเทียบเคียงกับประเทศอื่นในภูมิภาค และบจ. อย่างน้อยร้อยละ 75 มีการดำเนินงานด้าน IR ตามมาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีการดำเนินงานด้าน CSR และอย่างน้อย ร้อยละ 50 มีการจัดทำรายงานการดำเนินงานด้าน CSR นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้มีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดทุน ผ่านการสร้าง mai matching fund และ Venture Capital Model เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการเพิ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต