คนกรุงฯช้อปประหยัด : ซื้อของขวัญปีใหม่ลดลงร้อยละ 5-6

เป็นที่สังเกตว่า เมื่อคนกรุงเทพฯต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และมีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินจากการที่กิจการบางแห่งมีแนวโน้มจะปรับลดพนักงาน ปรับลดเงินเดือน รวมถึงปรับลดโบนัสในปี 2551 ทำให้คนกรุงเทพฯจำนวนไม่น้อยต่างมีพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังมากขึ้นในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ปี 2552 ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการซื้อของขวัญต้อนรับปีใหม่ปี 2552 ของคนกรุงเทพฯ จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 530 รายในระหว่างอายุ 15-65 ปี โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551- 12 ธันวาคม 2551 พบว่า แม้คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่จะมีการวางแผนซื้อของขวัญปีใหม่ในวาระของการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าปี 2551 ต้อนรับปี 2552 แต่สัดส่วนของจำนวนผู้ที่วางแผนจะซื้อของขวัญปีใหม่ในครั้งนี้กลับลดลงเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.3 จากเดิมที่มีสัดส่วนร้อยละ 75.8 ในปีที่แล้ว และเมื่อสอบถามถึงภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาการปรับลดพนักงานที่อาจส่งผลให้ปัญหาการว่างงานทวีความรุนแรงมากขึ้นว่า มีผลต่อการวางแผนซื้อของขวัญปีใหม่ในปีนี้หรือไม่นั้น พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต่างยอมรับว่าได้รับผลกระทบคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 อีกทั้งกลุ่มคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ไม่มีการปรับเพิ่มงบประมาณในการซื้อของขวัญปีใหม่คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 67.9 จึงมีความเป็นไปได้ว่าภาวะตลาดของขวัญปีใหม่ของคนกรุงเทพฯที่เสมือนเป็นสีสัน และมีการยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกปีในช่วงเทศกาลปีใหม่เพื่อมอบความสุขให้แก่กันและกันในปีนี้อาจจะชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 5,100-5,200 ล้านบาท หรือลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5-6

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อของขวัญต้อนรับปีใหม่ของคนกรุงเทพฯ จากผลการสำรวจในครั้งนี้ที่น่าสนใจ ได้แก่

กลุ่มที่ซื้อของขวัญปีใหม่ปีนี้มีสัดส่วนลดลง จากการสำรวจพฤติกรรมการซื้อของขวัญปีใหม่ของคนกรุงเทพฯครั้งนี้ พบว่าผู้ที่ต้องการซื้อของขวัญปีใหม่เพื่อต้อนรับปี 2552 นั้นมีสัดส่วนร้อยละ 71.3 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากปีที่แล้วที่มีสัดส่วนร้อยละ 75.8 ทั้งนี้ผู้ที่ซื้อของขวัญปีใหม่ในปีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่นิยมซื้อของขวัญเพื่อมอบให้กันและกันในเทศกาลหรือโอกาสวันสำคัญต่างๆในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว โดยเฉพาะในวันเกิดของบุคคลที่รักหรือคนที่รู้จัก ตามมาด้วยวันรับปริญญา วันวาเลนไทน์ วันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และในโอกาสที่คนรู้จักได้รับการปรับเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงาน ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่ไม่ต้องการซื้อของขวัญปีใหม่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีสัดส่วนร้อยละ 24.2 เป็นสัดส่วนร้อยละ 28.7 ในปีนี้ ซึ่งกลุ่มที่ไม่ต้องการซื้อของขวัญปีใหม่ในปีนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ซื้อของขวัญสำหรับโอกาสหรือเทศกาลอื่นๆเลยในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2551 เป็นต้นมา รวมถึงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ซื้อของขวัญปีใหม่ในปีที่ผ่านมาแล้วด้วย ด้วยเหตุผลหลักในการไม่ซื้อของขวัญปีใหม่ในปีนี้ก็คือ ต้องการออมเงินสำหรับไว้ใช้จ่ายในอนาคต เนื่องจากไม่มั่นใจในฐานะการเงินของตนเอง ประกอบกับภาระค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มสูงขึ้น นอกนั้นเป็นเพราะเล็งเห็นว่าสินค้าที่วางจำหน่ายในปัจจุบันมีราคาค่อนข้างแพงขึ้นมาก รวมถึงเห็นว่าของขวัญเป็นสิ่งที่สิ้นเปลือง และไม่มีความเป็นจำเป็น

คาดเม็ดเงินหมุนเวียนมีมูลค่าประมาณ 5,100-5,200 ล้านบาท เมื่อพิจารณาถึงงบประมาณที่ตั้งไว้ก็พบว่า กลุ่มที่มีงบประมาณเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 32.1 ของกลุ่มที่ซื้อของขวัญ ซึ่งกลุ่มที่มีการปรับเพิ่มงบประมาณดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และนอกจากปัจจัยราคาสินค้าโดยเฉลี่ยที่แพงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนตามภาวะต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น และทำให้งบประมาณในการซื้อของขวัญเพิ่มขึ้นแล้ว กลุ่มนี้ยังมีการเพิ่มจำนวนชิ้นของขวัญและราคาต่อชิ้นต่อคนที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจครั้งนี้ พบว่า คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับเพิ่มงบประมาณในการซื้อของขวัญปีใหม่ในปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 67.9 ของกลุ่มตัวอย่างที่ซื้อของขวัญปีใหม่ โดยเป็นกลุ่มที่ตั้งงบประมาณในการซื้อของขวัญปีใหม่ปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อนในสัดส่วนร้อยละ 39.2 และกลุ่มที่ตั้งงบประมาณลดลงอีกสัดส่วนร้อยละ 28.7 ซึ่งกลุ่มที่มีงบประมาณลดลงนี้ส่วนใหญ่จะลดจำนวนผู้ที่จะซื้อให้ก่อน แล้วจึงตามมาด้วยการเลือกซื้อของขวัญให้แต่ละบุคคลในราคาที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อน และบางรายยังวางแผนที่จะหันไปทำขนมทั้งคุ้กกี้หรือเค้กด้วยตนเองเพื่อนำไปมอบให้แก่บุคคลต่างๆ หรืออาจจะเป็นการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้/ถักทอ/ปักครอสติสกันเองแทนการซื้อของขวัญตามห้างร้านต่างๆ จึงมีความเป็นไปได้ว่าเม็ดเงินหมุนเวียนสำหรับการจับจ่ายซื้อของขวัญปีใหม่ของคนกรุงเทพฯในปี 2551 น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ปรับตัวลดลงจากปีก่อน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,100-5,200 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 5-6

เลือกลดงบประมาณสำหรับเพื่อนอันดับแรก ทั้งนี้เมื่อสอบถามเป็นรายวัตถุประสงค์ว่าจะมีการเพิ่มงบประมาณ หรือลดงบประมาณในการซื้อของขวัญปีใหม่สำหรับวัตถุประสงค์ใดบ้างนั้น พบว่า วัตถุประสงค์ที่ผู้ซื้อกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าจะมีการลดงบประมาณ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.กลุ่มเพื่อนฝูง 2.การจับฉลาก 3.ญาติผู้ใหญ่ 4.พี่น้อง และ 5.สามี-ภรรยา/แฟน ขณะที่วัตถุประสงค์ที่จะมีการปรับเพิ่มงบประมาณ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.พ่อแม่ 2.ญาติผู้ใหญ่ 3.สามี-ภรรยา/แฟน 4.พี่น้อง และ 5.ลูกหลาน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มญาติผู้ใหญ่ สามี-ภรรยา/แฟน และพี่น้อง ต่างอยู่ทั้งในกลุ่มที่จะปรับเพิ่มงบและปรับลดงบประมาณ โดยปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจว่าจะปรับเพิ่มงบประมาณขึ้น หรือปรับลดงบประมาณลงสำหรับบุคคลใดบ้างนั้น น่าจะขึ้นอยู่กับว่าระหว่างผู้ให้กับผู้รับมีความใกล้ชิดสนิทสนมเพียงใด หรือระยะเวลาในคบหากันสั้นหรือยาวมากน้อยเพียงใด

ชนิดของสินค้า คุณภาพและราคา เป็นปัจจัยหลักของการเลือกซื้อของขวัญปีนี้ สำหรับปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อของขวัญต้อนรับปี 2552 ของคนกรุงเทพฯยุคนี้จะพิจารณาจากหลากหลายปัจจัยควบคู่กันไป แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในปีนี้คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่คำนึงถึงชนิดของสินค้าที่เหมาะสมกับผู้รับ เป็นปัจจัยแรกในการพิจารณาก่อนการตัดสินใจซื้อของขวัญปีใหม่ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.9 ของกลุ่มตัวอย่างที่จะซื้อของขวัญปีใหม่ แล้วจึงตามมาด้วยคุณภาพของสินค้าและราคา พร้อมกับพิจารณาถึงความคุ้มค่าประกอบด้วย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาเมืองไทยได้เผชิญกับหลากหลายปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อทั้งกำลังซื้อและอารมณ์ความรู้สึกในการดำเนินชีวิตพอสมควร โดยเฉพาะความเครียดจากภาวะเศรษฐกิจ และความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้การซื้อของขวัญปีใหม่ในปีนี้ผู้คนส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญกับการเลือกสรรชนิดของสินค้าที่นอกจากจะเหมาะสมกับผู้รับแล้ว ยังต้องเป็นสินค้าดีมีคุณภาพที่หมายรวมถึงความใหม่ สด สะอาดของสินค้า ภายใต้ระดับราคาที่เหมาะสมด้วย รวมถึงคำนึงถึงความคุ้มค่าที่สุดจากเม็ดเงินที่จ่ายไป ด้วยหวังที่จะมอบสิ่งที่ดีมีคุณภาพเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่บุคคลอันเป็นที่รักและเคารพ และเพื่อให้ปีศักราชใหม่ปี 2551 เป็นปีแห่งความสุขทั้งในส่วนของผู้รับที่มีความสุขจากการได้รับของดีมีคุณภาพ และผู้ให้เองก็สุขใจที่ได้มอบสิ่งที่ดีให้ ส่วนยี่ห้อของสินค้า แพกเกจจิ้งที่สวยงามและสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก รวมถึงสถานที่จำหน่ายที่มีความหลากหลายของสินค้าและสะดวกในการเดินทาง ก็เป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคคำนึงถึงในลำดับถัดมา จากนั้นจึงหันมาพิจารณาสิ่งกระตุ้นจากการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าทั่วไปในกลุ่มอาหาร/เครื่องดื่ม

มหกรรมลดราคาสินค้ามีผลต่อการตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อของกลุ่มที่มีแนวโน้มจะไม่ซื้อของขวัญ ทั้งนี้ เมื่อสอบถามว่ากิจกรรมส่งเสริมการขายใดบ้างที่จะมีผลให้ผู้ที่มีแนวโน้มจะไม่ซื้อของขวัญในปีนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือหันมาซื้อสินค้าของขวัญเพื่อมอบในช่วงเทศกาลปีใหม่ต้อนรับปี 2552 พบว่า มหกรรมลดราคาหรือการนำเสนอขายสินค้าราคาถูกๆ จะมีผลให้มีการตัดสินใจใหม่ถึงร้อยละ 91 ของกลุ่มตัวอย่าง ตามมาด้วยกิจกรรมชิงโชคแจกรางวัล และการโฆษณา/จัดกิจกรรม ณ จุดขาย กล่าวคือปัจจัยราคามีอิทธิพลค่อนข้างสูงสำหรับการตัดสินใจซื้อของกลุ่มนี้
ความหลากหลายของสินค้า ความสะดวก และราคาที่สมเหตุสมผล เป็นปัจจัยเอื้อต่อการตัดสินใจเลือกแหล่งจับจ่าย จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในการซื้อของขวัญปีใหม่ในครั้งนี้ พบว่าปัจจัยสำคัญที่คนกรุงเทพฯใช้ในการตัดสินใจเลือกสถานที่เพื่อซื้อของขวัญปีใหม่อันดับแรกคือ ความหลากหลายของสินค้า ตามมาด้วยความสะดวกสบายในการเดินทาง และต้องใกล้บ้านหรือที่ทำงาน รวมทั้งจำหน่ายสินค้าในราคาที่เหมาะสม โดยห้างสรรพสินค้ายังคงเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ซื้อของขวัญได้ค่อนข้างครบถ้วนทั้งในส่วนของความหลากหลายของสินค้าที่มีให้เลือกสรรทั้งของกินของใช้ เบเกอรี่ และดอกไม้ต้นไม้ รวมถึงจำนวนสาขาที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมเมืองในกรุงเทพฯ ทั้งในย่านที่พักอาศัยและย่านธุรกิจ อีกทั้งยังมีความสะดวกสบายในการเดินทางด้วย รวมถึงระดับความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าของผู้ซื้อต่อห้างสรรพสินค้าก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ส่วนใหญ่ห้างสรรพสินค้ามักจะมีการจัดมหกรรมลดราคาสินค้าที่กระหน่ำลดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 มาจูงใจผู้ซื้อกันอย่างต่อเนื่องด้วย จึงสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคที่ต้องประหยัดเช่นปัจจุบันเป็นอย่างมาก ประกอบกับบรรยากาศภายในห้างสรรพสินค้าก็มักจะอบอวลไปด้วยความคึกคัก และสวยงามจากทั้งการตกแต่งสถานที่ด้วยโคมไฟรูปแบบต่างๆภายในและภายนอกอาคาร รวมถึงการเปิดเพลงสร้างบรรยากาศ ขณะที่ร้านจำหน่ายสินค้าเฉพาะอย่าง เช่น ร้านเบเกอรี่ กิ๊ฟช้อป หรือร้านดอกไม้ เป็นต้น ได้รับความนิยมเป็นลำดับสอง ด้วยปัจจัยสำคัญด้านความหลากหลายของสินค้าที่แต่ละร้านจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นคุ้กกี้/เค้กชนิดต่างๆ หรือบัตรอวยพรรูปแบบต่างๆ และสินค้าอุปกรณ์เครื่องเขียน กรอบรูป หรือตุ๊กตาในร้านกิ๊ฟช้อป รวมถึงดอกไม้/ต้นไม้นานาชนิดในร้านดอกไม้ที่พร้อมจัดส่งให้ถึงที่ด้วย เป็นต้น อีกทั้งมักจะมีสินค้าแปลกใหม่ทันสมัยมานำเสนอ ประกอบกับลูกค้ามักมีความมั่นใจในคุณภาพสินค้าของร้านที่เลือกแล้วด้วย ทำให้ร้านจำหน่ายสินค้าเฉพาะอย่างได้รับความนิยมไม่น้อยในช่วงเทศกาลปีใหม่แต่ละปี และร้านที่คนกรุงเทพฯเลือกใช้บริการก็มักจะเป็นร้านค้าที่อยู่ใกล้บ้านหรือที่ทำงานที่ผู้บริโภคมีความคุ้นเคยในการเดินเลือกซื้อสินค้าภายในร้าน โดยกลุ่มที่นิยมส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนวัยทำงานในช่วงอายุ 20-34 ปี นอกนั้นเป็นงานแสดงสินค้าของขวัญและของชำร่วย ที่มักจะมีการจำหน่ายสินค้าราคาที่ถูกกว่าราคาปกติ หรือจำหน่ายในระดับราคาขายส่งหรือเป็นราคาสินค้าจากโรงงานโดยตรง รวมถึง ดิสเคานท์สโตร์ และ ตลาดนัดสวนจตุจักร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปด้วยเหตุผลที่มีความหลากหลายของสินค้า และราคาไม่แพงจนเกินไป หรือสามารถต่อรองราคาได้พอสมควรในส่วนของตลาดนัดสวนจตุจักร และมีสาขาเป็นจำนวนมากในส่วนของดิสเคานท์สโตร์ นอกจากนี้ ก็ยังมีตลาดสำเพ็ง ตลาดพาหุรัด ตลาดสะพานพุทธ และตลาดวังหลัง ที่มีทั้งสินค้าแปลกแตกต่างจากแหล่งอื่นๆ และราคาไม่แพงจนเกินไปนัก

ชนิดของขวัญที่ซื้อแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ สำหรับสินค้ายอดนิยมที่มักจะมีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อนำไปมอบให้แก่บุคคลต่างๆนั้น พบว่าเป็นกลุ่มอาหารเสริมสุขภาพซึ่งสอดคล้องกับบุคคลที่คนกรุงฯนิยมซื้อสินค้าเพื่อนำไปมอบให้มากที่สุดนั้นก็คือพ่อแม่ และกลุ่มญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดของครอบครัวอย่างปู่ย่าตายาย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ด้วยความเอาใจใส่และห่วงใยต่อสุขภาพของผู้รับซึ่งเป็นบุคคลอันเป็นที่รักและเคารพของผู้ให้ นอกจากนี้ ยังนิยมนำไปมอบให้แก่กลุ่มหัวหน้างาน/ผู้บังคับบัญชา และกลุ่มลูกค้า/หน่วยงานที่ติดต่อด้วย ขณะที่สินค้าที่ได้รับความนิยมตามมาเป็นอันดับสองได้แก่ กระเช้าของขวัญปีใหม่สำเร็จรูปที่ปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายในส่วนของชนิดสินค้าที่บรรจุในกระเช้าของขวัญ โดยคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าที่บรรจุเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าแต่ละรายต่างพยายามสร้างสรรค์รูปแบบของบรรจุภัณฑ์หีบห่อให้มีความสวยงามมากขึ้น และเน้นกระเช้าสุขภาพเพิ่มขึ้นด้วย พร้อมทั้งมีการแยกย่อยสำหรับผู้รับที่เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตโดยเฉพาะด้วย ขณะเดียวกันก็มีการนำเสนอในระดับราคาหลากหลายมากขึ้น คือเริ่มตั้งแต่ 200 กว่าบาทจนถึงเกือบ 30,000 บาท เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกสรรตามอัธยาศัยและกำลังทรัพย์ของแต่ละราย โดยมักจะนิยมนำกระเช้าของขวัญปีใหม่ไปมอบให้แก่พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ หัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา และลูกค้า/หน่วยงานที่ติดต่อ ขณะที่สินค้ายอดนิยมอันดับสามเป็นกลุ่มเสื้อผ้า-รองเท้า-กระเป๋า ที่ปัจจุบันแฟชั่นมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก และมีให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย โดยนิยมมอบให้แก่กันในกลุ่มพี่น้อง กลุ่มสามี-ภรรยา หรือแฟน และการซื้อของขวัญให้ตนเอง รวมถึงกลุ่มเพื่อนและลูกหลานด้วย สำหรับอันดับสี่เป็นกลุ่มขนมนมเนย คุ้กกี้ และเค้ก ซึ่งนับเป็นของขวัญที่สามารถสร้างสีสันไม่น้อยสำหรับเทศกาลเฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ในแต่ละปี โดยผู้ให้มักจะพยายามสรรหาของดีของอร่อยที่สุดเท่าที่จะหาได้มามอบให้กันเพื่อแบ่งปันความสุข ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เลือกหลากหลายมาก โดยนิยมมอบความอิ่มอร่อยดังกล่าวในทุกกลุ่ม แต่มักจะไม่นิยมซื้อให้ตนเอง และพ่อแม่มากนัก ส่วนสินค้าของขวัญปีใหม่ที่ได้รับสนใจเป็นอันดับห้านั้นเป็นเครื่องประดับแต่งกาย เช่น สร้อยคอพร้อมจี้ แหวน ตุ้มหู และที่กลัดเน็กไท เป็นต้น มักนิยมมอบให้กันในระหว่างคู่สามี-ภรรยา และแฟน รวมถึงการซื้อเพื่อเป็นรางวัลให้แก่ตนเองที่ต้องทำงานหนักมาตลอดทั้งปี 2551 ด้วย ทั้งนี้รายการสินค้าที่น่าสนใจก็คือการมอบหนังสือเป็นของขวัญปีใหม่ที่เริ่มกระจายวงกว้างมากขึ้นจากตนเองไปสู่ เพื่อนฝูง และลูกหลาน ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการฝึกให้เด็กๆรักการอ่านกันมากขึ้น และนอกจากสิ่งของที่นิยมมอบให้แก่กันแล้ว ในปีนี้เช็คของขวัญก็ได้รับความนิยมเช่นกัน โดยมักจะมอบให้แก่บุคคลใกล้ชิดอย่างพ่อแม่ และลูกหลาน เป็นต้น

การจับจ่ายคึกคักในช่วงสัปดาห์ที่ 1 และ 2 ของเดือนธันวาคม ทั้งนี้ช่วงเวลาที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มักจะวางแผนที่จะไปเลือกซื้อของขวัญปีใหม่ตามแหล่งจำหน่ายต่างๆ ก็คือช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี หรือระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะกิจการห้างร้านต่างๆมักจะมีการนำสินค้ามาล้างสต็อกเพื่อเตรียมรับสินค้าแฟชั่นใหม่ๆในปีหน้า โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าที่มักจะมีการจัดมหกรรมลดราคาสินค้าที่กระหน่ำลดอย่างคึกคักในช่วงปลายปี อีกทั้งกิจการร้านค้าต่างๆก็มักจะมีการมอบบัตรลดราคาสินค้า บัตรของขวัญ หรือบัตรกำนัลในมูลค่าต่างๆ ด้วย หากซื้อสินค้าเป็นมูลค่าครบตามหลักเกณฑ์ที่ร้านค้าต่างๆกำหนด และห้างร้านบางแห่งก็ได้ร่วมมือกับบัตรเครดิตต่างๆเพื่อมอบส่วนลด พร้อมทั้งยังมีการร่วมลุ้นรางวัลอีกมากมายด้วย ซึ่งนับเป็นกิจกรรมส่งเสริมการขายที่สอดคล้องกับความต้องการของคนกรุงเทพฯยุคเศรษฐกิจซบเซาเช่นปัจจุบันเป็นอย่างดี โดยช่วงเวลาที่คาดว่าจะคึกคักมากที่สุดน่าจะเป็นช่วงวันที่ 1-15 ธันวาคม 2551 ที่พบว่ามีผู้ต้องการจะจับจ่ายซื้อของขวัญในช่วงเวลาดังกล่าวมากถึงร้อยละ 62.1 ขณะที่บางส่วนทยอยซื้อหาของขวัญปีใหม่กันตั้งแต่วันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2551 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.0 และมีความเป็นไปได้ว่าบรรยากาศการจับจ่ายที่คึกคักน่าจะมีไปจวบจนถึงช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปี เพราะกลุ่มตัวอย่างประมาณร้อยละ 15.2 วางแผนที่จะเดินซื้อหาของขวัญปีใหม่เพื่อมอบให้แก่บุคคลอันเป็นที่เคารพรักในช่วงวันที่ 15-31 ธันวาคม 2551 ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากจะขึ้นกับกิจกรรมส่งเสริมการขายที่เร้าใจของบรรดาห้างร้านต่างๆแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการตัดสินเลือกวันเวลาที่จะจับจ่ายซื้อของขวัญยังขึ้นอยู่กับวันเวลาที่สะดวกของผู้ซื้อ และชนิดของสินค้าอย่างสินค้ากลุ่มผลไม้ และขนมนมเนย ที่มีข้อจำกัดด้านวันหมดอายุด้วย

บทสรุป
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่จะมีการวางแผนซื้อของขวัญปีใหม่ในวาระของการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าปี 2551 ต้อนรับปีใหม่ 2552 แต่พบว่าในปีนี้สัดส่วนของคนที่ซื้อของขวัญปีใหม่ลดลงจากปีก่อนหน้า อีกทั้งคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ไม่ได้มีการปรับเพิ่มงบประมาณในการซื้อของขวัญปีใหม่ในปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 67.9 ของกลุ่มตัวอย่างที่ซื้อของขวัญปีใหม่ (โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งงบประมาณลดลงเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.7 และกลุ่มที่ตั้งงบประมาณใกล้เคียงกับปีก่อนเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.2) ซึ่งกลุ่มที่มีงบประมาณลดลงส่วนใหญ่จะลดจำนวนผู้ที่จะซื้อให้ก่อน แล้วจึงตามมาด้วยการเลือกซื้อของขวัญให้แต่ละบุคคลในราคาที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งกลุ่มเพื่อนเป็นกลุ่มที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เลือกที่จะตัดลดงบประมาณลงเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ บางรายวางแผนที่จะทำขนมทั้งคุ๊กกี้หรือเค้กด้วยตนเอง เพื่อนำไปมอบให้แก่บุคคลต่างๆ หรืออาจจะเป็นการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้/ถักทอ/ปักครอสติสกันเองแทนการซื้อของขวัญตามห้างร้านต่างๆ ขณะที่ปัจจัยหลักของการเลือกซื้อของขวัญปีนี้ กลุ่มตัวอย่างเลือกที่จะพิจารณาทั้งในส่วนของชนิดของสินค้า คุณภาพและราคาไปด้วยกัน จึงสะท้อนให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจากการสำรวจพฤติกรรมการซื้อของขวัญต้อนรับปีใหม่ปี 2552 ของคนกรุงเทพฯ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551- 12 ธันวาคม 2551 เป็นไปในทิศทางที่เน้นการประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อของขวัญปีใหม่ เพราะมีความหวั่นวิตกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต ส่งผลให้ไม่มีอารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยมากเท่าที่ควรในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในครั้งนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าเม็ดเงินหมุนเวียนสำหรับการจับจ่ายซื้อของขวัญปีใหม่ของคนกรุงเทพฯในปี 2551 น่าจะหดตัวลงเป็นปีแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,100-5,200 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ลดลงร้อยละ 5-6 ดังนั้น ปี 2551 จึงเป็นปีที่ผู้ประกอบการต้องเหนื่อยหนัก เพื่อช่วงชิงและรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ให้ได้มากที่สุดในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ปี 2552 ท่ามกลางปัญหากำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากมรสุมทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงจากจำนวนผู้ประกอบการที่ต่างหวังรักษาส่วนแบ่งตลาดและเพิ่มยอดขาย อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจครั้งนี้ พบว่า พฤติกรรมของผู้ที่ตัดสินใจไม่ซื้อของขวัญปีใหม่ในปีนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ หากบรรดากิจการห้างร้านต่างๆมีการนำเสนอสินค้าราคาถูกที่ชัดเจน หรือมีราคาถูกมากๆ เพราะกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ซื้อของขวัญปีใหม่ประมาณร้อยละ 91 ระบุว่าการลดราคาสินค้ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อค่อนข้างสูง ตามมาด้วยกิจกรรมชิงโชคแจกรางวัล และการโฆษณา/จัดกิจกรรม ณ จุดขายที่คึกคักและดึงดูด