การประชุม 14 ม.ค. … คาด กนง.ลดดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.50

ในวันที่ 14 มกราคม 2552 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) จะมีการประชุมรอบแรกของปีเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.75 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ กนง.ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากถึงร้อยละ 1.00 จากร้อยละ 3.75 ในการประชุมรอบหลังสุดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง.อาจมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.50 มาที่ร้อยละ 2.25 หรืออาจจะต่ำกว่านั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กนง.ในการประชุมวันที่ 14 มกราคมนี้ อันเป็นผลจากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง สวนทางกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ลดความน่ากังวลลง โดยประเด็นสนับสนุนการคาดการณ์ดังกล่าว มีดังนี้ :-

ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีน้ำหนักที่เด่นชัด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ติดลบหรือหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (Year-on-Year: YoY) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ต่อเนื่องถึงในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 หรือกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ ได้แก่

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก … ยังมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการส่งออกซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย เป็นที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจหลักทั้งสาม คือ สหรัฐฯ กลุ่มยูโร และญี่ปุ่น อาจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ติดลบหรือหดตัวลงอย่างพร้อมเพรียงกันในปี 2552 และยังคงมีความเป็นไปได้ที่สำนักต่างๆ จะมีการทบทวนปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ลงอีกในระยะข้างหน้า ในขณะที่ ข้อมูลกิจกรรมภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกล่าสุดในเดือนธันวาคม 2551 ก็ได้แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวลดลงค่อนข้างมากสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปีและยังบ่งชี้ถึงภาวะถดถอยในภาคการผลิตเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นของสหรัฐฯ กลุ่มยูโร ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น ซึ่งภาวะดังกล่าว อาจนำมาสู่ประเด็นปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้นตามการปรับลดกำลังการผลิต การชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนแนวโน้มการถดถอยลงของภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเพื่อรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจดังกล่าว ธนาคารกลางของนานาประเทศจึงได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง นอกเหนือไปจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งล่าสุดเมื่อวานนี้ (8 ม.ค.) ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ก็เพิ่งจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 มาที่ร้อยละ 1.50 ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ที่บีโออีได้รับการก่อตั้งขึ้นมากว่า 300 ปี และตลาดยังคาดหมายว่าบีโออีน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมรอบถัดไปในเดือนหน้า ในขณะที่ ธนาคารกลางยุโรป ซึ่งมีกำหนดจะประชุมนโยบายอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 15 มกราคม หนึ่งวันถัดจาก กนง. ก็ถูกคาดหมายจากตลาดเช่นกันว่าคงจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.50 สู่ร้อยละ 2.00 หรือต่ำกว่านั้น ด้านธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ที่เพิ่งจะประชุมนโยบายอัตราดอกเบี้ยไปแล้วในวันนี้ (9 ม.ค.) ก็มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 สู่ร้อยละ 2.50 ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตามหลังธนาคารกลางอินโดนีเซียที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 สู่ร้อยละ 8.75 มากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับลดร้อยละ 0.25 และธนาคารกลางไต้หวันที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างฉุกเฉินร้อยละ 0.50 สู่ร้อยละ 1.50 เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ แนวโน้มขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ ยังคงถูกคาดหมายว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกในปี 2552 นี้

สำหรับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นั้น แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับลดลงมาในกรอบร้อยละ 0.00-0.25 ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นที่คาดการณ์ว่าเฟดคงจะยืนอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำนี้ต่อไปตลอดปีนี้ หลังจากที่ข้อมูลตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดแรงงานของสหรัฐฯยังคงสะท้อนถึงภาวะที่อ่อนแอ ซึ่งจุดที่เลวร้ายที่สุด (Bottom) ของภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะยังมาไม่ถึง โดยราคาบ้านในสหรัฐฯอาจยังคงต้องร่วงลงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่อัตราการว่างงานอาจปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่เหนือร้อยละ 8 เทียบกับที่อยู่ที่ร้อยละ 6.7 ในเดือนพฤศจิกายน 2551 ทั้งนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซาลงทั่วโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจหลักดังกล่าว คงจะมีผลต่อการส่งออกของไทยในปี 2552 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคาดว่า การส่งออกของไทยอาจมีแนวโน้มหดตัวลงในปีนี้ เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 17.2 ในปี 2551

ประเด็นทางการเมืองและความเชื่อมั่นที่ถดถอย … ยังคงกดดันการใช้จ่ายในประเทศ ถึงแม้ว่าความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศอาจเริ่มผ่อนคลายลงบ้างหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่ประเด็นเสถียรภาพของรัฐบาล รวมถึงการที่ยังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าที่การดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนปรนผ่านการพิจารณางบประมาณกลางปีงบประมาณ 2552 จำนวน 1.0 แสนล้านบาท และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ของรัฐบาล จะเห็นผลเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นก็คงจะเป็นในช่วงครึ่งหลังของปีมากกว่าจะเป็นในช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้น ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และการใช้จ่ายในประเทศ จึงอาจยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องต่อไปอีกอย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 นี้

ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อลดความน่าวิตกลง
จากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI Inflation) ในเดือนธันวาคม 2551 ที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.4 (YoY) ต่ำที่สุดในรอบ 76 เดือน และเทียบกับที่เคยขึ้นไปสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ร้อยละ 9.2 ในเดือนกรกฎาคมก่อนหน้านั้น ประกอบกับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่คาดว่าอาจยังชะลอตัวลงต่อเนื่องและมีค่าติดลบในบางเดือนของปีนี้ อันเป็นผลมาจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกซึ่งมีผลต่อราคาสินค้าในประเทศ การต่ออายุ ‘6 เดือน 6 มาตรการ ฝ่าวิกฤตเพื่อไทยทุกคน’ ในมาตรการส่วนใหญ่ไปอีก 6 เดือนนับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ของรัฐบาล รวมถึงการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่บรรเทาเบาบางลงชัดเจนนี้ น่าจะเอื้อให้ กนง.มีความยืดหยุ่นค่อนข้างมากหากจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่มีน้ำหนักมากขึ้นชัดเจน

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) อาจมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.50 จากร้อยละ 2.75 มาที่ร้อยละ 2.25 หรือต่ำกว่านั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กนง. ในการประชุมรอบแรกของปีในวันที่ 14 มกราคม 2552 นี้ โดยเป็นผลจากความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีน้ำหนักเด่นชัดมากขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อลดความน่ากังวลลงค่อนข้างมาก ซึ่งคงจะเอื้อให้ กนง.มีความยืดหยุ่นมากพอที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก ทั้งนี้ จากภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังคงมีความเปราะบางสูง โดยยังคงมีความเป็นไปได้ที่สำนักต่างๆ จะมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้ลงอีกในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจมีแนวโน้มประสบกับภาวะถดถอยในช่วงไตรมาสที่ 4/2551 ต่อเนื่องถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2552 พร้อมกันนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องและมีค่าติดลบในบางเดือนของปี 2552

ในทิศทางที่สอดคล้องกับทางการทั่วโลก การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายมากขึ้นจากทางการไทย คงจะถูกฝากความหวังว่าจะสามารถช่วยฟื้นเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะที่ซบเซาไปได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านเครดิตและความกังวลเรื่องสภาพคล่องทางการเงินของภาคธุรกิจที่ยังคงมีอยู่ ตลอดจนเสถียรภาพของรัฐบาล ยังคงเป็นประเด็นที่อาจทำให้กลไกการส่งผ่านและประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางภาวะที่ทุกภาคธุรกิจมีแนวโน้มจะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ