ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยปีฉลู…ต้องระมัดระวัง

ถึงแม้ว่าในปี 2551 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยจะประสบความสำเร็จในการสร้างผลกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการเพิ่มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ได้รายงานกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 309.6 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นจากร้อยละ 3.45 ในปี 2550 มาที่ร้อยละ 3.71 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 แต่คงต้องยอมรับว่าการรักษาความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะเผชิญความท้าทายอย่างยิ่งในปี 2552 โดยเฉพาะจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้สรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับทิศทางธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยในปีฉลูไว้ดังนี้

การขยายสินเชื่อคงจะชะลอตัวลง สำหรับในปี 2552 คาดว่าการขยายสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะได้รับผลกระทบหลักจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะบั่นทอนความต้องการสินเชื่อจากภาคเอกชน ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์เองก็คงจะเพิ่มความระมัดระวังในการขยายสินเชื่อมากขึ้นด้วย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพหนี้ที่เพิ่มขึ้น

ภายใต้เงื่อนไขที่คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2552 จะขยายตัวได้เพียงประมาณร้อยละ 1.5-2.5 เทียบกับของปี 2551 ที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.6 นั้น การขยายสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศในปี 2552 ดังกล่าวอาจชะลอลงมาเหลือเพียงร้อยละ 4-6 เท่านั้น เทียบกับที่คาดว่าน่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 10.5 ณ สิ้นปี 2551 (ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2551 สินเชื่อดังกล่าวขยายตัวร้อยละ 13.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) ตามการชะลอตัวของทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย

คุณภาพสินเชื่อจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น ขณะที่ธนาคารบางแห่งยังคงจำเป็นต้องกันสำรองเพิ่มเติม ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจคาดว่าจะสร้างข้อจำกัดด้านรายได้ให้กับทั้งธุรกิจและครัวเรือน อันจะบั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้ และนำมาสู่ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ หรือปัญหาเอ็นพีแอลที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากระดับประมาณร้อยละ 6.5-7.0 ณ สิ้นปี 2551 (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อยู่ที่ร้อยละ 6.63) ดังนั้น ภายใต้สภาวะดังกล่าว คาดว่าธนาคารพาณิชย์ไทยย่อมจะให้น้ำหนักกับการติดตามและบริหารคุณภาพสินทรัพย์ โดยเฉพาะสินเชื่อในพอร์ตของตนมากขึ้น โดยอาจปรับกลยุทธ์ให้มีลักษณะเชิงรุกมากขึ้น เช่น การเตือน หรือติดต่อไปยังลูกค้าที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ การให้ผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าติดตามสถานการณ์ด้านการเงิน หรือกระแสเงินสดของธุรกิจลูกค้าอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น รวมถึงการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยประคับประคองธุรกิจของลูกค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ แม้การประเมินความสามารถในการตั้งรับกับปัญหาหนี้เสียจากสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเอ็นพีแอล (Loan Loss Coverage) บ่งชี้ในเบื้องต้นว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความสามารถในการรองรับปัญหาหนี้เสียที่ดีขึ้น โดยสัดส่วนดังกล่าว ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71 ณ สิ้นปี 2550 มาที่ร้อยละ 73 แต่การพิจารณารายธนาคารยังพบว่ามีความแตกต่างของสัดส่วนดังกล่าวค่อนข้างมาก โดยมีธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งที่มีสัดส่วนดังกล่าวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของระบบ ขณะที่สัดส่วนที่ต่ำที่สุดนั้น อยู่ที่เพียงประมาณร้อยละ 40 เท่านั้น ซึ่งสะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์ไทยบางแห่งยังคงมีความจำเป็นในการกันสำรองเพิ่มเติมอยู่ในช่วงระหว่างปี 2552 อันจะเป็นปัจจัยที่กดดันผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปีนี้ได้

การบริหารสภาพคล่องคงจะมีข้อจำกัดมากขึ้น ในปีนี้ คาดว่าการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินคงจะมีข้อจำกัดมากขึ้น เนื่องจาก ประการแรก การระบายสภาพคล่องผ่านช่องทางหลักอย่างเช่นการขยายสินเชื่อนั้น อาจประสบอุปสรรคมากขึ้น ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ประการที่สอง อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งทำให้การลงทุนในต่างประเทศและการลงทุนในตราสารในประเทศอาจได้รับอัตราผลตอบแทนลดลง ประการที่สาม ความเสี่ยงด้านคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น จากปัญหาซับไพร์มที่แผ่ขยายออกไป ซึ่งอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงินคู่ค้าในต่างประเทศ หรือลดพอร์ตการถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศลง

ดังนั้น ในปี 2552 นี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะยังคงตกอยู่ในสภาวะที่มีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ดังสภาวะที่ปรากฏขึ้นในช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า สภาพคล่องที่วัดจากสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงิน (B/E) นั้น จะอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 88.6-91.2 เทียบกับที่ระดับคาดการณ์ ณ สิ้นปี 2551 ที่ร้อยละ 90.3 ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่าอาจเผชิญกับภาวะที่อัตราผลตอบแทนจากพอร์ตสินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว อาจลดลง

ความจำเป็นในการเร่งระดมเงินฝากคาดว่าจะลดลง สำหรับในปี 2552 คาดว่าความจำเป็นในการแข่งขันระดมเงินฝากระหว่างธนาคารพาณิชย์ คงจะลดความรุนแรงลง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา หลังจากที่คาดว่าการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะชะลอตัวลง กอปรกับ การบริหารสภาพคล่องเผชิญข้อจำกัดมากขึ้นดังที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมีแรงจูงใจในการระดมเงินฝากลดลง นั่นหมายความว่า จุดประสงค์หลักของการระดมเงินฝากในปี 2552 นี้ จึงน่าจะเน้นไปที่การรักษาฐานลูกค้าเงินฝาก ควบคู่กับการปรับโครงสร้างเงินทุนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มากกว่าการเร่งระดมทุนเพื่อรุกตลาดสินเชื่อเหมือนในช่วงต้นปี 2551

อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่ยังคงมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ผู้มีเงินออมบางส่วนอาจยังเลือกที่จะฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อเหตุผลด้านสภาพคล่อง ประกอบกับ คาดว่าจะมีเงินออมจากกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรประเทศเกาหลีใต้ที่คงจะครบกำหนด โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อีกจำนวนนับแสนล้านบาท ซึ่งเงินออมดังกล่าวบางส่วน อาจไหลกลับมาเป็นเงินฝาก หรือเพิ่มสภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ได้ ท่ามกลางช่องทางการลงทุนที่ค่อนข้างจำกัดและความไม่แน่นอนในการลงทุน อาทิ ในตลาดหุ้น ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่า เงินฝากจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2552 แต่ด้วยอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงจากประมาณร้อยละ 7.5 ณ สิ้นปี 2551 มาที่ประมาณร้อยละ 3-6

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ภายใต้แรงกดดัน หลังจากที่ในช่วง ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ที่ร้อยละ 3.75 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.71 ในไตรมาสที่ 2 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 น่าจะปรับตัวลดลงมาที่ประมาณร้อยละ 3.57 เนื่องจาก (1) การชะลอตัวของการขยายสินเชื่อตามสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลง (2) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะเงินให้กู้ยืมในช่วงปลายไตรมาส (3) ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงปลายไตรมาสถึงร้อยละ 1 และการปรับลดของอัตราผลตอบแทนในตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของพอร์ตสินทรัพย์สภาพคล่อง และ (4) การที่ธนาคารพาณิชย์ไทยต้องทยอยรับรู้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 6 เดือนในช่วงกลางปี 2551 ที่ผ่านมา

ขณะที่ สำหรับทั้งปี 2551 นั้น คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 3.66 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.71 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ แต่สูงกว่าร้อยละ 3.45 ของปี 2550

อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปี 2552 ถูกคาดหมายว่าจะปรับตัวลดลงจากประมาณร้อยละ 3.66 ในปี 2551 มาที่ประมาณร้อยละ 3.48-3.53 ซึ่งคิดเป็นการลดลงในช่วงประมาณร้อยละ 0.13-0.18 โดยแม้ในระหว่างปี ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของระบบธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับลดลงจากการคาดการณ์ว่าอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเพิ่มเติม ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 1.5-1.75 แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ก็น่าจะเผชิญปัจจัยลบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม (แม้คาดว่าจะมีการปรับลดในสัดส่วนที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็ตาม) อัตราผลตอบแทนจากพอร์ตสินทรัพย์สภาพคล่องที่ยังจะปรับตัวลดลงอีกตามแนวโน้มดอกเบี้ย การขยายสินเชื่อที่คาดว่าจะชะลอตัวลง และเอ็นพีแอลที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์คงต้องฝากความหวังไว้มากขึ้นกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียม ในการประคับประคองผลประกอบการในปี 2552 นี้

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในปี 2552 โดยเฉพาะจากเงื่อนไขเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจหลักอย่างการขยายสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 4-6 ณ สิ้นปี 2552 เทียบกับที่คาดว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 10.5 ณ สิ้นปี 2551 ขณะเดียวกัน เอ็นพีแอลยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนั้น การบริหารสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังอาจมีข้อจำกัดมากขึ้น ทั้งจากภาวะที่ช่องทางหลักในการระบายสภาพคล่องผ่านการปล่อยสินเชื่ออ่อนแรงลง อัตราผลตอบแทนจากสภาพคล่องมีแนวโน้มลดลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกและของไทย ตลอดจนความเสี่ยงในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากความเสี่ยงด้านคู่ค้า โดยเฉพาะสถาบันการเงินในต่างประเทศ อันเป็นผลจากปัญหาซับไพร์ม

ส่วนด้านเงินฝากนั้น คาดว่า การแข่งขันคงจะลดความรุนแรงลง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากจุดประสงค์ในการระดมทุนน่าจะโน้มเอียงจากการเร่งระดมทุนเพื่อรุกตลาดสินเชื่อเหมือนเช่นในปี 2551 มาเป็นการประคับประคองฐานลูกค้าเงินฝาก และปรับโครงสร้างเงินทุนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น

ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขการทำธุรกิจที่ซับซ้อนมากขึ้นดังกล่าว คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2552 คาดว่าจะขยับลดลงจากประมาณร้อยละ 3.66 ในปี 2551 มาที่ประมาณร้อยละ 3.48-3.53 ซึ่งคิดเป็นการลดลงในช่วงประมาณร้อยละ 0.13-0.18 ทำให้ในที่สุดแล้ว ธนาคารพาณิชย์คงต้องเร่งสรรหาแนวทางเพื่อประคับประคองผลประกอบการ ซึ่งคงหนีไม่พ้น การพึ่งพา หรือฝากความหวังไว้ที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยมีความเข้มแข็งกว่าอดีตมาก ทั้งในแง่ความเข้มแข็งของเงินกองทุน (ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 สัดส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่สูงถึงร้อยละ 15.27) และมีประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่สูงขึ้น ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยจึงน่าจะมีความสามารถในการรับมือกับความซับซ้อนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในปี 2552 ได้ ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า ความสามารถในการทำกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่อ่อนแรงลงในปี 2552 นี้ น่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และน่าจะค่อยๆ ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีถัดๆ ไป