มาตรการเศรษฐกิจโอบามา : กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น…ระยะยาวยังไม่ชัดเจน

แม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะได้เร่งผลักดันหลากหลายมาตรการ เพื่อเข้าจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่แนวโน้มการถดถอยลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งถูกคาดการณ์ว่า จะยืดเยื้อต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3/2552 เป็นอย่างน้อยนั้น ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ตลาดการเงินต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ การประกาศผลขาดทุนในรายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 4/2551 ของสถาบันการเงินสหรัฐฯ หลายแห่งนั้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภาคการเงินสหรัฐฯ ยังคงตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเปราะบาง และมีความเป็นไปได้สูงว่า ระลอกของข่าวร้ายในภาคการเงินสหรัฐฯ อาจถูกเปิดเผยออกมาสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนในระยะถัดไป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาคการเงินสหรัฐฯ อาจเริ่มพบกับสัญญาณเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนฟื้นฟูภาคการเงินของทางการสหรัฐฯ ที่อาจถูกทยอยประกาศออกมาภายหลังจากการเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 44 ของนายบารัค โอบามา ในวันที่ 20 มกราคม 2552 นี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการรวบรวมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ในระยะถัดไปไว้ดังนี้:-

การผสานหลากหลายมาตรการเพื่อสู้วิกฤต
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ ซึ่งหมายความรวมถึง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กระทรวงการคลัง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐฯ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเร่งผลักดันมาตรการการเงิน-การคลัง และแผนการเฉพาะกิจ เพื่อเข้าจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้ ซึ่งถูกประเมินว่ามีความรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ยืดเยื้อในภาคการเงิน และแนวโน้มถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้น สะท้อนให้เห็นว่า ทางการสหรัฐฯ ยังคงต้องผลักดันมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและภาคการเงินอย่างต่อเนื่องต่อไป

นโยบายการคลังสหรัฐฯ…เร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2552 ผู้นำพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้เปิดเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ทีมบริหารชุดใหม่ของทำเนียบขาววงเงิน 8.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งมาตรการดังกล่าวถูกคาดหมายว่า จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานเพิ่มเติมได้ถึง 3-4 ล้านตำแหน่ง โดยในเบื้องต้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกภายใต้สมัยที่นายบารัค โอบามา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกคาดหมายว่า จะถูกผลักดันออกมาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นั้น อาจประกอบไปด้วย มาตรการลดหย่อนภาษี มูลค่า 2.75 แสนล้านดอลลาร์ฯ และการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ มูลค่า 5.50 แสนล้านดอลลาร์ฯ .

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ วงเงิน 8.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ ดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 5.8 ของ GDP สหรัฐฯ ซึ่งเป็นวงเงินที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกเปิดเผยออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ที่มีมูลค่าประมาณ 6.75-7.75 แสนล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทีมบริหารของทำเนียบขาวภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายบารัค โอบามา อาจต้องเผชิญกับความคาดหวังที่สูงท่ามกลางความจำเป็นเร่งด่วนในการกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ฟื้นกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง โดยตลาดการเงินและนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ควรจะถูกเร่งผลักดันออกมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมทั้งยังเป็นผู้ครองอำนาจในทำเนียบขาวอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังชะลอตัว/ถดถอยลง อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับโจทย์ที่ยากลำบากในการจัดเก็บรายได้เพื่อมาสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงมากอยู่แล้ว ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เงื่อนไขของวินัยทางการคลังอาจเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากขึ้นต่อการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ทีมบริหารทำเนียบขาวชุดใหม่หลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายบารัค โอบามา แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจมีความจำเป็นต้องเลือกที่จะใช้มาตรการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีผลกระทบที่เลวร้ายมากกว่า ก็ตาม

แผนช่วยเหลือภาคการเงินสหรัฐฯ…พร้อมถูกจัดสรรเพื่อฟื้นฟูตลาดสินเชื่อ
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 52 ต่อ 42 อนุมัติการใช้วงเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นงบช่วยเหลือภาคการเงินส่วนที่ 2 ของมาตรการฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ การที่นายบารัค โอบามา และคณะที่ปรึกษา สามารถโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการใช้วงเงินที่เหลืออยู่จำนวน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ได้นั้น นอกจากจะเป็นการแสดงจุดยืนที่หนักแน่นในการแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมานานในภาคการเงินสหรัฐฯ แล้ว ยังนับได้ว่าเป็นการดำเนินการที่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนก่อนการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกด้วย

สำหรับแนวทางการใช้วงเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่วนที่ 2 เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงินสหรัฐฯ นั้น นายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ซึ่งจะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติประจำทำเนียบขาวได้ออกมากล่าวว่า การจัดสรรเม็ดเงินดังกล่าวจะเน้นไปที่โครงการช่วยเหลือเจ้าของบ้านที่กำลังเผชิญกับการยึดทรัพย์จำนอง ตลอดจนโครงการที่กระตุ้นการไหลเวียนของสินเชื่อสู่ภาคเอกชน โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อการบริโภค สินเชื่อเพื่อธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก และเงินช่วยเหลือหน่วยงานเทศบาล โดยจะมีการติดตามแนวทางการใช้เงินของสถาบันการเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากทางการสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มความโปร่งใสของโครงการนี้ หลังจากที่เงินส่วนใหญ่จากงบช่วยเหลือภาคการเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่วนแรก ถูกนำไปใช้ในการลงทุนโดยตรงในสถาบันการเงินเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับระดับเงินทุนของสถาบันการเงินเหล่านั้น และส่วนหนึ่งถูกจัดสรรเพื่อช่วยเหลือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมแนวทางการใช้เงินทุนจากวงเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่วนที่ 2 ของมาตรการฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ ที่อาจจะถูกผลักดันออกมาในระยะถัดไป ดังนี้ :-

มาตรการแก้ไขวิกฤตการณ์ยึดบ้านติดจำนอง ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจสามารถช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ในระยะถัดไป

โครงการเพิ่มการไหลเวียนสินเชื่อไปสู่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนการกู้ยืมให้กับภาคเอกชน ซึ่งต้องเผชิญกับเงื่อนไขที่รัดกุมในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในยามที่สถานการณ์ตลาดสินเชื่อหลายประเภทยังคงไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

มาตรการแก้ปัญหางบดุลที่อ่อนแอของสถาบันการเงิน ด้วยการจัดสรรวงเงินในการจัดตั้ง “Aggregator Bank” หรือ “Bad Bank” เพื่อรับซื้อสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพหรือขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะตราสารทางการเงินที่เกี่ยวโยงกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย ออกจากงบดุลบัญชีของภาคธนาคาร ทั้งนี้ หนี้จำนองด้อยคุณภาพดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้งบดุลของสถาบันการเงินสหรัฐฯ มีความเปราะบาง และทำให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางด้านเงินกองทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่ง “Aggregator Bank” ที่อาจถูกจัดตั้งขึ้นนั้น จะมีลักษณะเหมือนกับบรรษัท RTC (The Resolution Trust Corporations) ที่มีบทบาทในการจัดการกับหนี้เสียมูลค่าเกือบ 4 แสนล้านดอลลาร์ฯ ของสถาบันเงินฝากและปล่อยกู้ (Savings and Loans : S&Ls) ในวิกฤต S&Ls ช่วงปีค.ศ. 1985-1995 นอกจากนี้ ปัญหางบดุลที่อ่อนแอของสถาบันการเงิน อาจถูกแก้ไขด้วยมาตรการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับฐานะเงินกองทุน และจัดสรรวงเงินเพื่อค้ำประกันความสูญเสียที่เกิดจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับมาตรการช่วยเหลือซิตี้กรุ๊ป และแบงก์ ออฟ อเมริกา คอร์ป (ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการใช้วงเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่วนแรก)

การจัดสรรวงเงินเพื่อชดเชยการขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นในโครงการของเฟด ที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ไขภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อบางประเภท (ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการใช้วงเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่วนแรก) เนื่องจากคาดว่า เฟดอาจจะพิจารณามาตรการด้านสภาพคล่องอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดสินเชื่อประเภทอื่นเพิ่มเติมอีกในระยะถัดไป

นโยบายการเงินสหรัฐฯ…ผ่อนคลายต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างรุนแรง ขณะที่ สถานการณ์ในตลาดสินเชื่อหลายประเภทยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกตินั้น เฟดอาจจะยังคงใช้มาตรการด้านสภาพคล่องที่มีอยู่เดิมต่อไปอีกระยะหนึ่ง พร้อมๆ กับพิจารณามาตรการทางเลือกอื่นเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องและเพื่อแก้ไขการหยุดชะงักของกลไกการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
แม้ว่าเฟดได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงสู่กรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.00-0.25 ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) เมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2551 ซึ่งทำให้ประเมินได้ว่า ภารกิจนโยบายการเงินของเฟดในส่วนของเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น สิ้นสุดลงแล้วก็ตาม

เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงินของสหรัฐฯ เฟดได้ดำเนินการในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยใช้มาตรการแบบพิเศษในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อหลายประเภท อาทิ มาตรการเข้าซื้อตราสารเพื่อการพาณิชย์ซึ่งเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับภาคเอกชน และมาตรการซื้อตราสารหนี้ที่ออกจำหน่ายหรือที่ค้ำประกันโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งนี้ มาตรการเฉพาะกิจของเฟดหลายมาตรการมีกำหนดจะหมดอายุลงในช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2552 นี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เฟดระดับสูงหลายท่านซึ่งหมายความรวมถึง ประธานเฟด นายเบน เบอร์นันเก้ กล่าวว่า มาตรการเฉพาะกิจที่ใช้แก้ไขภาวะตลาดสินเชื่อตึงตัวหลายมาตรการอาจได้รับการต่ออายุออกไปจนกว่าจะไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้นอีก

และหากประเมินภาพในระยะถัดไป มีความเป็นไปได้สูงมากว่า เฟดอาจจะพิจารณามาตรการเพิ่มเติมในการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อช่วยกดดันให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงร่วงลง ซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่ช่วยทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมสำหรับภาคเอกชนลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ เฟดยังอาจพิจารณาแนวทางอื่นๆ ในการใช้งบดุลของเฟดเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงินและสนับสนุนเศรษฐกิจ พร้อมๆ การยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

ประเมินภาพระยะถัดไป และสรุป
นับได้ว่า มาตรการเข้ารับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของทางการสหรัฐฯ มีความหลากหลาย และถูกผลักดันออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของนโยบายการเงินภายใต้อำนาจการดำเนินการของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นโยบายการคลังภายใต้อำนาจการดำเนินการของทีมบริหารของทำเนียบขาวและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ตลอดจนมาตรการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาในภาคการเงินของทางการสหรัฐฯ ทั้งนี้ การดำเนินการของทางการสหรัฐฯ ดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างจริงจังของทางการสหรัฐฯ ในการประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายโดยให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยสถานการณ์ที่เรื้อรังของวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินสหรัฐฯ ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า ต้นทุนของการแก้ไข/รับมือกับวิกฤตในรอบนี้อาจเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ มาตรการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของทางการสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาสามารถทำได้เพียงแค่เยียวยาผลกระทบและบรรเทาปัญหาไม่ให้รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาคการเงินสหรัฐฯ อาจเริ่มพบกับสัญญาณเชิงบวกจากการคาดการณ์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้การนำของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 8.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ นั้น อาจถูกผลักดันออกมาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ขณะที่ ความคืบหน้าของการอนุมัติแผนกอบกู้ภาคการเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่วนที่ 2 ของทางการสหรัฐฯ ก็นับเป็นสัญญาณที่ดี และสะท้อนให้เห็นว่า ทีมเศรษฐกิจของนายโอบามา ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วและพร้อมที่จะเข้าจัดการกับวิกฤตหลังการเข้ารับตำแหน่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความหวังต่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการกอบกู้ภาคการเงินของทางการสหรัฐฯ ได้ส่งผลทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินดีขึ้น (เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้น ขณะที่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น) ในช่วงก่อนการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งนั่นก็แปลว่า ข่าวดีดังกล่าวได้ถูกรับรู้ไปแล้วในระดับหนึ่ง แต่จะเป็นปัจจัยบวกที่เพียงพอที่จะทำให้ความเชื่อมั่นของตลาดเงิน-ตลาดทุนฟื้นกลับคืนมาอย่างยั่งยืนหรือไม่นั้น จะต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ เนื่องจากการลากยาวของปัญหาในภาคการเงินเป็นเวลานานกว่า 1 ปีนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคเศรษฐกิจจริงรุนแรงกว่าที่คาด และอาจทำให้ขนาดของมาตรการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งนั่นก็เปรียบเสมือนว่า ข่าวร้ายอาจจะยังคงไม่จบสิ้นลงในระยะเวลาข้ามคืน และโจทย์หนักในการรับมือกับวิกฤตการเงินและมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของทางการสหรัฐฯ รอบนี้ยังคงไม่จบสิ้นลงในอนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ ประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนการสร้างเสถียรภาพให้กับภาคการเงินของเฟดและทางการสหรัฐฯ อาจสะท้อนออกมาผ่านเครื่องชี้เศรษฐกิจ อาทิ สัญญาณการชะลอการปลดคนงาน/การเริ่มจ้างงาน การปรับตัวลงของสต็อกบ้านคงค้างและเสถียรภาพของราคาบ้าน การเริ่มฟื้นคืนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคสหรัฐฯ รวมทั้งภัยคุกคามจากภาวะเงินฝืดที่เบาบางลง ตลอดจนการปรับตัวของตลาดการเงิน อาทิ การหดแคบลงของส่วนต่างที่สะท้อนความเสี่ยงที่ภาคเอกชนต้องแบกรับ การเริ่มปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการกลับมาทำงานอย่างเป็นปกติของตลาดสินเชื่อภาคเอกชน ซึ่งก็จะทำให้มาตรการช่วยเหลือเฉพาะกิจจากทางการมีความจำเป็นน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนของมาตรการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินสหรัฐฯ ที่เพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ นั้น เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า ขนาดของความสูญเสียของภาคการเงินและผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงนั้น ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ ทางการสหรัฐฯ อาจจะยังคงจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกในระยะถัดไปหากตัวเลขการว่างงานยังคงเพิ่มสูงขึ้นและเศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งจะทำให้ทางการสหรัฐฯ จำต้องแบกรับระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นไปที่ร้อยละ 80 ต่อ GDP ในปี 2552 (จากปัจจุบันที่ร้อยละ 74 ต่อ GDP) และอาจจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอีกในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดังกล่าว อาจจะกลายมาเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความผันผวนต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ และการปรับตัวของอัตราผลตอบแทบของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ในที่สุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดการเงินคงจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า สหรัฐฯ จะเผชิญปัญหาทางการคลังก่อนหรือหลังการเยียวยาวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้จะเสร็จสิ้นลง โดยหากความพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสามารถบรรลุผลในเวลาที่ไม่นานนักจากนี้ (ไม่เกิน 1 ปี) ภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นแม้ว่าจะสูงเป็นประวัติการณ์แต่ก็คงจะอยู่ในระดับที่พอรับได้ และไม่น่าที่จะส่งผลกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ และตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ มากนัก อย่างไรก็ตาม หากปัญหาเศรษฐกิจดื้อยาและลากยาวจนทางการสหรัฐฯ จำต้องออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มอีกหลายระลอกแล้ว ภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยอาจเข้าหาระดับร้อยละ 100 ต่อ GDP ในเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จนสร้างความกังวลต่อนักลงทุน โดยเฉพาะต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ย่อมจะสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินโลกตามมาอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง