นิด้า-SCRI จี้รัฐเร่งโครงการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้อัดฉีดระยะสั้น 1.15 แสนล้าน

NIDA Business School ร่วมกับสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ผ่ามาตรการลงทุนภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจไทย รับมือเศรษฐกิจขาลง จี้ภาครัฐต้องเร่งลงทุนโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน พลังงานทดแทน และด้านการศึกษา หวังพัฒนาและกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานทั่วประเทศ หลังประเมินเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น 1.15 แสนล้าน แค่ประคองจีดีพีโตได้เพียง 1.4% หวั่นหากภาครัฐไม่เร่งลงทุน เศรษฐกิจไทยมีสิทธิ์โตไม่ถึง 2% ดันยอดตกงานพุ่งกว่า 1 ล้านคน

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2552 NIDA Business School ร่วมกับสถาบันวิจัยนครหลวงไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอไอ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และโครงการสร้าง “CFO มืออาชีพ” จัดงานเสวนา “Crisis Watch series 4 : Investment Package for Economic Stimulus ผ่ามาตรการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ”

รศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School ประธานที่ปรึกษาโครงการสร้าง “CFO มืออาชีพ” และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยนครหลวงไทย เปิดเผยว่า การเสวนาในครั้งนี้ จะมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดการจ้างงานทั่วประเทศ โดยเฉพาะโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ทั้งเรื่องของการขนส่งสินค้า เช่น โครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการพลังงานทดแทนเพื่อรองรับกับแนวโน้มในอนาคตที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการลงทุนในด้านการศึกษา ตลอดจนการลงทุนในการพัฒนาทักษะของแรงงานไทยให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า โครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภค ถือเป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขันของไทยกับต่างประเทศได้ดีขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา มาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินกว่า 1.15 แสนล้านบาทนั้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นให้เกิดการจับจ่ายภายในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ที่ไม่ได้มีผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่าใดนัก โดยคาดว่าจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะช่วยให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้เติบโตได้เพียง 1.4% เท่านั้น

“ภาครัฐต้องเป็นพระเอกในการเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ แม้บางโครงการอาจจะใช้เวลายาวนานกว่าจะแล้วเสร็จ แต่เม็ดเงินก้อนแรกในการลงทุนที่บางโครงการสามารถเริ่มต้นได้ภายในปีนี้ ก็จะช่วยให้เกิดการจ้างงานและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มากกว่าการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น” รศ.ดร.เอกชัยกล่าว

ด้านนายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกได้ส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ จากการที่คำสั่งซื้อสินค้าลดลง ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงาน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองและการปิดสนามบิน ที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อภาคบริการและกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในที่สุด

อย่างไรก็ตาม มองว่า มาตรการที่ภาครัฐออกมาเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ หรือแม้กระทั่งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ถือเป็นเพียงมาตรการที่ช่วยประคองเศรษฐกิจของไทยไม่ให้ทรุดตัวลงตามเศรษฐกิจของโลกและรอจังหวะการฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง ซึ่งหากภาครัฐเร่งเดินหน้าลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพิ่มเติมที่จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นจากภาคเอกชนให้กลับคืนมา และกล้าเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจของไทยในปี 2552 สามารถเติบโตได้ถึง 2% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนี้ เนื่องจากหากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าระดับ 2% ก็จะส่งผลให้มีคนว่างงานมากกว่า 1 ล้านคน