เศรษฐกิจจีนไตรมาส 4/2551 ขยายตัว 6.8% ต่ำสุดในรอบ 7 ปี กระทบการส่งออกไทย

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบชัดขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 และคาดว่าจะดำเนินไปต่อเนื่องในปี 2552 ส่งผลให้ปัญหาการว่างงานของประเทศต่างๆ มีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ทางการของประเทศต่างๆ เตรียมการรับมือในขณะนี้ สำหรับประเทศจีนต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกเช่นกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ชะลอลงต่อเนื่องเหลือร้อยละ 6.8 ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี จากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 9 และทำให้อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2551 เติบโตเหลือเลขหลักเดียวที่ร้อยละ 9.1 ถือเป็นอัตราต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 13 ในปี 2550 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับจากปี 2543 ที่เติบโตร้อยละ 13.5

ภาวะซบเซารุนแรงของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของจีนและส่งผลต่อไปยังอุตสาหกรรมภายในที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกด้วย โดยการส่งออกและการนำเข้าของจีนชะลอตัวรุนแรงโดยมีอัตราขยายตัวติดลบในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2551 และส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคอุตสาหกรรมของจีนด้วย ทำให้อัตราการว่างงานของจีนปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.2 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา จากที่อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ในปี 2550 โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 จำนวนคนว่างงานในเขตเมืองของจีนเพิ่มขึ้น 560,000 คน เป็น 8.86 ล้านคน ทั้งนี้ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรรม (PMI) ของจีน ในเดือนธันวาคม 2551 ที่อยู่ที่ร้อยละ 41.2 ต่ำกว่าร้อยละ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนถึงเศรษฐกิจจีนที่ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวในระยะข้างหน้า เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อที่อ่อนแรงลง

แนวโน้มการว่างงานของจีนปี 2552 ที่ยังคงขยายตัว

 แนวโน้มการว่างงานปี 2552 & ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของการจ้างงาน
ภาคส่งออกและภาคอุตสาหกรรมของจีนที่คาดว่าจะชะลอลงอีกอย่างน้อยจนถึงในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้การว่างงานในจีนปี 2552 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ขณะที่ทางการจีนตั้งเป้าหมายให้อัตราการว่างงานของจีนในปี 2552 ต่ำกว่าร้อยละ 4.6 จากร้อยละ 4.2 ในปี 2551 และตั้งเป้าหมายเพิ่มการจ้างงานใหม่ในเขตเมืองอีก 9 ล้านคนในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้การจ้างงานของจีนฟื้นตัวดีขึ้นมาจากปัจจัย 2 ด้านควบคู่กัน ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวซึ่งส่งผลขับเคลื่อนให้ภาคส่งออกของจีนที่ปรับตัวดีขึ้น และแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพที่ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในจีนกระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ตามการบรรเทาปัญหาการว่างงานของจีนในปี 2552 อาจต้องเผชิญข้อจำกัดหลายๆ ด้าน สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. เศรษฐกิจโลกถดถอย
เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าซบเซาต่อเนื่องอย่างน้อยจนถึงไตรมาสที่ 2-3 ในปี 2552 ก่อนจะปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาคส่งออกของจีนยังคงอ่อนแรงลง และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศให้ชะลอตัวตามไปด้วยซึ่งเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้การจ้างงานในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออกยังคงต้องเผชิญกับการลด/เลิกจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานอพยพของจีนที่ว่างงานและต้องเดินทางกลับบ้านเกิดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กรมศุลกากรจีนคาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าของจีนในปี 2552 ยังคงมีแนวโน้มชะลอลงอีก โดยอาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 5 ในปี 2552 ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้อาจทำให้การส่งออกของจีนชะลอตัวรุนแรงขึ้นและอาจมีอัตราหดตัวในปี 2552 ซึ่งในกรณีนี้คาดว่าจะส่งผลต่อแรงงานอพยพของจีนที่อาจต้องประสบภาวะว่างงานรุนแรงขึ้น ขณะที่นักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ของจีนในปี 2552 คาดว่าจะมีจำนวน 6.1 ล้านคน รวมกับนักศึกษาจบการศึกษาในปี 2551 ที่ยังหางานไม่ได้อีก 1.5 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 5 แสนคนจากปี 2550) รวมเป็นจำนวนราว 7.6 ล้านคน สะท้อนถึงปัญหาการว่างงานของจีนในปี 2552 ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะการว่างงานในเขตเมือง นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจีนและการจ้างงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ถือเป็นหนึ่งในภาคบริการสำคัญของจีนที่ก่อให้เกิดการสร้างงาน เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2552 ตามกำลังซื้อที่ลดลงของชาวต่างชาติ

ข้อจำกัดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวนานกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของจีนอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่อยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจส่งผลให้แรงงานจีนในปี 2552 ยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างตามภาวะส่งออกที่ซบเซาต่อเนื่อง นอกจากนี้ กระแสกีดกันทางการค้าในภาคการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่ประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวตามวิกฤตเศรษฐกิจโลกจึงมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการทางการค้ามากขึ้นทั้งมาตรการด้านภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs) เพื่อปกป้องภาคแรงงานและภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการขยายการส่งออกของจีนมากขึ้น ขณะเดียวกันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ใช้เวลานานอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวจีนและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคค้าปลีกสินค้าและบริการ ที่เคยมีแหล่งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจต้องได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงและมีความเสี่ยงที่อาจต้องปรับลดหรือเลิกจ้างงานบางส่วน

2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของทางการจีน
 ทางการจีนตั้งเป้าหมายที่จะรักษาอัตราการว่างงานให้อยู่ต่ำกว่าร้อยละ 4.6 ในปี 2552 โดยพยายามออกมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 ซึ่งเป็นระดับที่ก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ที่เพียงพอและสร้างความมีเสถียรภาพทางสังคม เพื่อรับมือกับปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในปี 2552 ทั้งนี้ ในปี 2551 ทางการจีนดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งนโยบายการเงินผ่อนคลายที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปรับลดอัตราส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio : RRR) อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและเพิ่มสินเชื่อแก่ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาด้านการเงินค่อนข้างมาก ส่วนมาตรการการคลัง ทางการจีนได้อัดฉีดเม็ดเงิน 4 ล้านล้านหยวน หรือ 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 2 ปีจนถึงปี 2553 ที่ประกาศต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 เพื่อสร้างงานใหม่ โดยส่วนใหญ่เน้นใช้จ่ายด้านโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง รวมถึงการพัฒนาภาคชนบทเพื่อให้คนในชนบทอยู่ทำงานในบ้านเกิดในภาวะที่การจ้างงานในเมืองลดลง

สำหรับตั้งแต่ต้นปี 2552 มานี้ ทางการจีนออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจภายในอย่างต่อเนื่องในภาวะที่ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของจีนในเดือนธันวาคม 2551 ล้วนชะลอตัวรุนแรง มาตรการส่วนใหญ่เน้นกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง ยานยนต์ และภาคการเกษตรในชนบท ได้แก่ การปรับลดภาษีจำหน่ายยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์เล็กกว่า 1.6 ลิตร เหลืออัตราร้อยละ 5 จากเดิมร้อยละ 10 ในช่วงระหว่าง 20 มกราคม – 31 ธันวาคม 2552 การให้เงินอุดหนุนเกษตรกร 5 พันล้านหยวนระหว่าง 1 มีนาคม – 31 ธันวาคม 2552 เพื่อช่วยยกระดับเครื่องยนต์ทางการเกษตรและซื้อรถโดยสารขนาดเล็กที่มีเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1.3 ลิตร วางนโยบายเพิ่มราคารับซื้อธัญพืช อุดหนุนเกษตรกรเพื่อซื้อเครื่องจักร และสร้างงานสำหรับแรงงานอพยพกลับบ้านเกิดหลังจากโรงงานอุตสาหกรรมปิดตัวลง การใช้เงิน 10 พันล้านหยวน เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และพัฒนารถยนต์/ส่วนประกอบที่ใช้พลังงานทางเลือกในช่วงระยะเวลา 3 ปี จนถึงปี 2555 และวางแผนจัดตั้ง real estate investment trust (REITs) เพื่อฟื้นฟูโครงการก่อสร้างที่ประสบความล่าช้าจากปัญหาทางการเงิน

ข้อจำกัดของมาตรการภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการว่างงาน การบรรเทาปัญหาการว่างงานของจีนในปี 2552 ที่มีประสิทธิผล น่าจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการโอนแรงงานที่ว่างงานจากภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะแรงงานภาคส่งออกที่ว่างงาน ไปยังภาคก่อสร้างที่ถูกกระตุ้นจากมาตรการของทางการจีนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งเขตเมืองและภาคชนบททั่วประเทศ นอกจากนี้ การพัฒนาภาคชนบทของทางการจีนเพื่อรองรับแรงงานกลับบ้านเกิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม อาจต้องเผชิญผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องในปี 2552 ส่งผลให้รายได้จากภาคเกษตรปรับลดลง ประกอบกับผลกระทบจากการชะลอตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตร ทำให้รายได้ของภาคชนบทเติบโตชะลอลงด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพด้านสังคมในภาคชนบทตามมาด้วย

ข้อสังเกต & ผลต่อประเทศไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่ามาตรการของทางการจีนเพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงานเป็นมาตรการที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจจีนและแก้ไขปัญหาการว่างงานในระดับที่แตกต่างกันไป บางมาตรการดำเนินการได้ทันทีแต่ประสิทธิผลอาจมีข้อจำกัดจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังซบเซาและอาจถึงจุดต่ำสุดนานกว่าที่คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ขณะที่มาตรการหลายๆ ด้านส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ต้องอาศัยระยะเวลาก่อนเห็นผลที่ชัดเจน การจ้างงานในจีนที่ปรับตัวดีขึ้นจึงน่าจะมาปัจจัยขับเคลื่อนทั้งด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประสิทธิผลของมาตรการด้านการคลังที่กระตุ้นเศรษฐกิจจีน

o มาตรการช่วยเหลือภาคส่งออกของทางการจีนเป็นมาตรการเฉพาะหน้าที่เร่งด่วนและดำเนินการได้เร็ว เพื่อต้องการชะลอการปิดตัวของธุรกิจส่งออกที่ทำให้การเลิกจ้างงานพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือภาคส่งออกของทางการจีนยังอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดของความต้องการในตลาดต่างประเทศที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง

o มาตรการที่จะส่งผลดีต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนในระยะยาว แต่ผลที่ชัดเจนต่อระบบเศรษฐกิจอาจต้องอาศัยระยะเวลา ได้แก่ มาตรการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อพัฒนาด้านนวัตกรรมเป็นมาตรการระยะยาวที่ส่งผลดีต่อการยกระดับอุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่าสูงขึ้น ส่วนการพัฒนาภาคชนบท/ภาคเกษตร และการเน้นใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมทั่วประเทศทั้งเขตเมืองและชนบท เพื่อรองรับแรงงานอพยพที่กลับบ้านเกิด ถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลในระยะยาว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมทั่วประเทศถือเป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของจีนเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะยาว

การยกระดับรายได้ในภาคชนบทของจีนอาจต้องอาศัยระยะเวลาและขึ้นอยู่ประสิทธิภาพของการดำเนินมาตรการภาครัฐและความต่อเนื่องของนโยบายที่ครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษาและทักษะของแรงงานด้วย ทั้งนี้ ระดับรายได้ในภาคชนบทจีนเพิ่มขึ้นจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่สำคัญและทำให้จีนพึ่งพาการเติบโตจากเศรษฐกิจภายในได้มากขึ้นตามเป้าหมายที่ทางการจีนวางไว้ กล่าวได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ทางการจีนจำเป็นต้องดำเนินมาตรการในเชิงรุกเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายในระยะยาวให้เร็วขึ้นเพื่อรับมือกับภาวะชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจจีนที่เริ่มส่งผลชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 เช่น เป้าหมายในการพัฒนาภาคชนบทเพื่อยกระดับรายได้ภาคชนบทเพื่อให้การกระจายรายได้ของทั้งประเทศทัดเทียมกันมากขึ้น

สำหรับผลต่อประเทศไทย
ในระยะสั้น ด้านการส่งออกของไทยไปจีนต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจภายในจีนที่ชะลอตัวทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนจะส่งผลให้การส่งออกไทยไปจีนชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 เป็นต้นมา การส่งออกรายเดือนของไทยไปจีนชะลอลงอย่างต่อเนื่อง จนเป็นอัตราติดลบใน 2 เดือนสุดท้ายที่ร้อยละ 36 ในเดือนพฤศจิกายน (yoy) และร้อยละ 40 ในเดือนธันวาคม 2551 (yoy) โดยสินค้าส่งออกสำคัญๆ ไปจีนในเดือนธันวาคม 2551 ล้วนมีมูลค่าลดลงทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ที่สำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 39.5 ในเดือนธันวาคม (yoy) เคมีภัณฑ์ (-24.2%) ยางพารา (-72.2%) เม็ดพลาสติก (-38.5%) แผงวงจรไฟฟ้า (-57.8%) และผลิตภัณฑ์ยาง (-50%) ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่จีนนำเข้าเพื่อใช้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวจากทั้งความต้องการของตลาดต่างประเทศและในประเทศที่ซบเซา นอกจากนี้ จำนวนคนว่างงานในจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีนี้ รวมทั้งค่าจ้างของพนักงานที่อาจถูกปรับลดลงจากการลดการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตามความต้องการที่ชะลอตัว อาจทำให้การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยไปจีนชะลอตัวตามกำลังซื้อที่ลดลงด้วย นอกจากนี้ ด้านการนำเข้าจากจีน ธุรกิจส่งออกในจีนที่ประสบปัญหาอาจต้องปิดตัวลงมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการระบายสินค้าที่เหลืออยู่เข้ามาในไทย ทำให้ธุรกิจไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนที่เข้ามาตีตลาดมากขึ้นด้วย

สำหรับในระยะปานกลาง-ระยะยาว เมื่อเศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัวและขยายตัวได้ตามปกติแล้ว คาดว่ากำลังซื้อของประชาชนจีนโดยรวมที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยด้วย ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ภาคธุรกิจของประเทศอาเซียนรวมทั้งไทยได้ประโยชน์จากกำลังซื้อของชาวจีนที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว โดยมีแรงสนับสนุนจากความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างอาเซียนกับจีนด้านการค้าสินค้า ภาคบริการและการลงทุนที่ช่วยให้สินค้าส่งออกและภาคการลงทุนของอาเซียนและไทยมีโอกาสเข้าสู่ตลาดจีนได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากการลด/ยกเลิกอุปสรรคด้านภาษีและกฎระเบียบภาคบริการและการลงทุน ทั้งนี้ ปัจจุบันอาเซียนและจีนได้ดำเนินการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าและภาคบริการภายใต้ความตกลง FTA แล้ว โดยภาษีนำเข้าสินค้าทั่วไปของอาเซียนและจีนภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน จะเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 ซึ่งจะช่วยให้สินค้าส่งออกของอาเซียนรวมทั้งไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในตลาดจีนและจะช่วยให้การส่งออกไปจีนขยายตัวได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยอาจต้องแข่งขันกับสินค้าส่งออกจากประเทศอาเซียนอื่นๆ ในตลาดจีนด้วย แต่ผลดีจากการสร้างถนน R3E ที่เชื่อมระหว่างไทย ลาว และจีน น่าจะสร้างความได้เปรียบให้กับภาคส่งออกของไทยที่ส่งสินค้าผ่านเชียงรายไปจีนภาคตะวันตกที่เป็นพื้นที่ตอนในจะได้รับความสะดวกมากขึ้น ส่วนการเจรจาเปิดเสรีภาคการลงทุน (ASEAN-China Investment Agreement) ระหว่างอาเซียนกับจีนภายใต้ความตกลง FTA ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามความตกลงฯ ได้ในช่วงการประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับจีนที่กำหนดจัดขึ้นในปี 2552 จะส่งผลให้การลงทุนระหว่างไทยกับจีนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากการลดอุปสรรคจากกฎระเบียบและเงื่อนไขด้านการลงทุนของทั้งสองฝ่าย เป็นโอกาสให้นักลงทุนไทยจะเข้าไปประกอบธุรกิจลงทุนในจีนได้สะดวกขึ้น กล่าวได้ว่าในระยะปานกลาง-ระยะยาวแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนประกอบกับนโยบายของทางการจีนที่ต้องการยกระดับรายได้ของคนในภาคชนบทที่ปัจจุบันยังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับรายได้ของคนในเขตเมือง น่าจะเป็นโอกาสให้ธุรกิจไทยทั้งภาคส่งออกและลงทุนได้ประโยชน์จากความต้องการบริโภคของจีนที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากผลดีที่ได้รับจากการเปิดเสรีภายใต้ความ ตกลง FTA อาเซียน-จีน ด้วย แต่สำหรับในระยะสั้นแล้ว ภาคธุรกิจไทยคงต้องเผชิญกับผลกระทบจากการบริโภคของจีนที่อ่อนแรงตามภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาที่ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงอีกในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2552

สรุป
เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้อัตราขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ชะลอลงต่อเนื่องเหลือร้อยละ 6.8 ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี จากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 9 ทำให้อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2551 เติบโตเหลือเลขหลักเดียวที่ร้อยละ 9.1 ถือเป็นอัตราต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 13 ในปี 2550 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับจากปี 2543 ที่เติบโตร้อยละ 13.5 การส่งออกและการนำเข้าของจีนในช่วง 2 เดือนสุดท้ายปี 2551 ชะลอตัวรุนแรงจนเป็นอัตราติดลบ ส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตภายในประเทศด้วย คาดการณ์ว่าภาคส่งออกและภาคอุตสาหกรรมของจีนมีแนวโน้มชะลอลงอีกอย่างน้อยจนถึงในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงซบเซา ทำให้การว่างงานในจีนปี 2552 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 โดยแรงงานที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเลิกจ้างงานจะเป็นแรงงานอพยพในภาคธุรกิจส่งออกของจีนที่ต้องเผชิญกับภาวะชะลอรุนแรงของความต้องการจากตลาดต่างประเทศทำให้ต้องปิดตัวลงเพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่จะส่งผลให้สถานการณ์การจ้างงานในจีนในปี 2552 ที่ปรับตัวดีขึ้นน่าจะมาจากทั้ง 2 ด้านควบคู่กัน ได้แก่ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจะส่งผลขับเคลื่อนภาคส่งออกซึ่งถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการจ้างงานสูงที่สุดของจีน ขณะที่มาตรการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่มีประสิทธิผลมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมภายในซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการจ้างงานเช่นกัน ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และอุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการว่างงานในจีนอาจเผชิญกับข้อจำกัด ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวนานกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งอาจส่งผลให้แรงงานจีนในปี 2552 ยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างตามภาวะส่งออกที่ซบเซาต่อเนื่อง นอกจากนี้ กระแสกีดกันทางการค้าในภาคการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่ประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวตามวิกฤตเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการทางการค้ามากขึ้นเพื่อปกป้องภาคแรงงานและภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการขยายการส่งออกของจีนมากขึ้น ขณะเดียวกันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ใช้เวลานานอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวจีนและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคค้าปลีกสินค้าและบริการ ที่มีแหล่งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้อาจต้องได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงและมีความเสี่ยงที่อาจต้องปรับลดหรือเลิกจ้างงานบางส่วน

ข้อจำกัดอีกประการ ได้แก่ ประสิทธิภาพในการโอนแรงงานที่ว่างงานจากภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะแรงงานภาคส่งออกไปยังภาคก่อสร้างที่ถูกกระตุ้นจากมาตรการของทางการจีนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งเขตเมืองและภาคชนบททั่วประเทศ นอกจากนี้ การพัฒนาภาคชนบทของทางการจีนเพื่อรองรับแรงงานกลับบ้านเกิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม อาจต้องเผชิญผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องในปี 2552 ส่งผลให้รายได้จากภาคเกษตรปรับลดลง ประกอบกับผลกระทบจากการชะลอตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตร ทำให้รายได้ของภาคชนบทเติบโตชะลอลงด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพด้านสังคมในภาคชนบทตามมาด้วย

พิจารณาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนเห็นได้ว่ามาตรการช่วยเหลือภาค ส่งออกเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ดำเนินการได้เร็ว เช่น การเพิ่มอัตราภาษีคืนแก่ภาคส่งออกกำลังประสบปัญหาการว่างงานรุนแรงโดยเฉพาะธุรกิจส่งออกที่ใช้แรงงานมาก แต่อาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดของความต้องการในตลาดต่างประเทศที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง ส่วนมาตรการที่จะส่งผลดีต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนในระยะยาว แต่ผลที่ชัดเจนต่อระบบเศรษฐกิจอาจต้องอาศัยระยะเวลาที่แตกต่างกันไป ได้แก่ การใช้จ่ายด้านการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของจีนให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มาตรการช่วยเหลือและพัฒนาภาคเกษตร/ภาคชนบท เพื่อสร้างงานและรองรับแรงงานอพยพกลับบ้านเกิด ประกอบกับการพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนโดยการเพิ่มสวัสดิการสังคม ปรับปรุงระบบประกันสังคม และปรับปรุงกฎหมายแรงงานที่ปกป้องแรงงานมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการยกระดับรายได้ของคนในภาคชนบทและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ถือเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนในระยะยาวที่จะช่วยให้เศรษฐกิจจีนขับเคลื่อนจากการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น แม้ว่าผลของมาตรการพัฒนาภาคชนบทนี้อาจต้องอาศัยระยะเวลากว่าจะปรากฏผลที่ชัดเจนซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและความต่อเนื่องของนโยบายด้วย

สำหรับผลกระทบต่อไทย ในระยะสั้น การส่งออกของไทยไปจีนต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจภายในจีนที่ชะลอตัวทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนจะส่งผลให้การส่งออกไทยไปจีนชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกรายเดือนของไทยไปจีนชะลอลงอย่างต่อเนื่อง จนเป็นอัตราติดลบใน 2 เดือนสุดท้ายของปี 2551 โดยสินค้าส่งออกสำคัญๆ ไปจีนในเดือนธันวาคม 2551 ล้วนมีมูลค่าลดลงทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ที่สำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ยางพารา เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่จีนนำเข้าเพื่อใช้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวจากทั้งความต้องการของตลาดต่างประเทศและในประเทศที่ซบเซา นอกจากนี้ จำนวนคนว่างงานในจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีนี้ รวมทั้งค่าจ้างของพนักงานที่อาจถูกปรับลดลงจากการลดการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตามความต้องการที่ชะลอตัว อาจทำให้การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยไปจีนชะลอตัวตามกำลังซื้อที่ลดลงด้วย นอกจากนี้ ในด้านการนำเข้าจากจีน ธุรกิจส่งออกในจีนที่ประสบปัญหาและอาจต้องปิดตัวลงมากขึ้นอาจทำให้เกิดการระบายสินค้าที่เหลืออยู่เข้ามาในไทย ทำให้ธุรกิจไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนที่เข้ามาตีตลาดไทยด้วย

ในระยะปานกลาง-ระยะยาว หลังจากที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ผ่านพ้นไปแล้ว รายได้ในภาคชนบทของจีนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากมาตรการสนับสนุนของทางการจีนน่าที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่สำคัญและทำให้จีนพึ่งพาการเติบโตจากเศรษฐกิจภายในได้มากขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันกำลังซื้อของประชาชนจีนโดยรวมที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยในระยะยาวด้วย โดยเฉพาะไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความตกลง FTA อาเซียน-จีน ที่จะช่วยให้สินค้าส่งออกของอาเซียนรวมทั้งไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในตลาดจีน ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนมีแนวโน้มขยายตัวได้มากขึ้น ขณะที่การลดอุปสรรคจากกฎระเบียบและเงื่อนไขในภาคบริการและการลงทุนของทั้งสองฝ่าย เป็นโอกาสให้นักลงทุนไทยจะเข้าไปประกอบธุรกิจลงทุนในจีนได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่ปัจจุบันจีนยังมีข้อจำกัดด้านการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งถือเป็นผลดีจากความตกลง FTA ที่เป็นช่องทางให้สินค้าส่งออกและธุรกิจไทยสามารถรองรับความต้องการบริโภคของจีนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้ดีขึ้น แต่สำหรับในระยะสั้น ภาคธุรกิจไทยอาจต้องเผชิญกับผลกระทบจากการบริโภคของจีนที่อ่อนแรงตามภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาที่ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงอีกในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2552