เศรษฐกิจไต้หวันปี 52 เผชิญส่งออกชะลอตัว..ผลกระทบต่อไทย

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอย่างหนักส่งผลให้ภาคส่งออกของไต้หวันชะลอตัวติดต่อกัน 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงธันวาคมของปี 2551 โดยอัตราการเติบโตของภาคส่งออกไต้หวันในเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมาทรุดลงรุนแรง โดยมีอัตราลดลงร้อยละ 42 (yoy) จากเดือนพฤศจิกายนที่หดตัวร้อยละ 23.3 ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในประวัติการณ์หลังจากที่อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกในไต้หวันเคยดิ่งลงในเดือนกันยายนของปี 2544 ที่ร้อยละ 32 ทั้งนี้ เศรษฐกิจไต้หวันที่มีแนวโน้มชะลอลงอีกเนื่องจากภาวะซบเซาต่อเนื่องของภาคส่งออกส่งผลให้ธนาคารกลางไต้หวันประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.5 จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1.5 ในวันที่ 7 มกราคม 2552 และ ต่อมาในวันที่ 18 ของเดือนเดียวกัน ทางการไต้หวันได้ดำเนินนโยบายแจกคูปองซื้อสินค้าแก่ประชาชนทั่วประเทศจำนวนกว่า 3 ล้านคน เป็นมูลค่าราว 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ โดยไต้หวันถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้นโยบายแจกคูปองซื้อสินค้าให้แก่ประชาชนเพื่อกระตุ้นภาคบริโภคภายในประเทศและรับมือกับภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกซึ่งก่อตัวเป็นคลื่นยักษ์กระเทือนเศรษฐกิจของไต้หวัน

สาเหตุหลักของภาวะซบเซาในภาคส่งออกของไต้หวันมาจากสินค้าส่งออกหลักซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไต้หวันชะลอตัวลงเนื่องจากอุปสงค์ในตลาดอ่อนแรงลง ทั้งนี้ ภาคส่งออกของไต้หวันมีสัดส่วนในเศรษฐกิจถึงร้อยละ 70 โดยมีสินค้าส่งออกหลักคือ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง ผลิตภัณฑ์แร่โลหะพื้นฐาน และผลิตภัณฑ์สารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งล่าสุดทางกระทรวงการคลังไต้หวัน ระบุว่า ในเดือนธันวาคม 2551 การส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักของไต้หวันล้วนหดตัวลง โดยการส่งออกไปยังญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 21.9 (yoy) จีน (รวม ฮ่องกง) หดตัวร้อยละ 54 (yoy) ขณะที่สหรัฐ ฯ และ สหภาพยุโรป หดตัวร้อยละ 23.5 (yoy) และ 29.5 (yoy) ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลพวงจากปัญหาภาคส่งออกของไต้หวันยังส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานของไต้หวัน โดยอัตราการว่างงานในไต้หวันในเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 5 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ซึ่งแสดงสัญญาณผลกระทบต่อภาคการผลิตในไต้หวันภายใต้ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งในไต้หวันต้องปิดกิจการลง

ทั้งนี้ ภาคส่งออกของไต้หวันซึ่งถือเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไต้หวันต้องเผชิญผลกระทบจากปัจจัยลบภายใต้ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกในขณะนี้โดยส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันในปี 2552 มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 โดยคาดว่า น่าจะหดตัวร้อยละ 1.6 (yoy) จากปี 2551 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 (yoy) โดยภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังย่ำแย่อยู่ในขณะนี้ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศอ่อนตัวลงและทำให้ไต้หวันเผชิญหน้ากับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ในอีกด้านหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไต้หวันกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกอย่างจีนมีแนวโน้มที่สดใสซึ่งทั้งสองประเทศได้คลี่คลายความสัมพันธ์ที่ตรึงเครียดเป็นผลสำเร็จหลังการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศไต้หวันของประธานาธิบดีหม่า อิง จิ่ว ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศน่าจะส่งผลดีต่อทั้งจีนและไต้หวันในระยะยาว ซึ่งประเด็นที่น่าจับตามองคือ สายสัมพันธ์ที่พัฒนาไปอีกก้าวของจีน-ไต้หวันอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย

ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันได้พัฒนาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยทางการจีนและไต้หวันได้ร่วมมือเจรจาเปิดความเชื่อมโยงโดยตรง 3 ทางคือ การเปิดเที่ยวบินโดยตรงระหว่างกัน การบริการขนส่งทางทะเล และการขนส่งวัสดุภัณฑ์ทางไปรษณีย์อย่างเป็นทางการในวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ซึ่งการเปิดเส้นทางเชื่อมโยงโดยตรง 3 ทางในครั้งนี้ ถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศหลังจากต้องปิดฉากความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันมานานกว่า 6 ทศวรรษ นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่สร้างความแตกแยกระหว่างไต้หวันและจีน อนึ่ง การติดต่อเชื่อมโยงโดยตรงทั้ง 3 ทางระหว่างไต้หวันและจีนเปรียบเสมือนแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน อีกทั้งการพัฒนาด้านการขนส่งคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างกันยังเป็นปัจจัยเอื้อหนุนต่อประโยชน์ด้านต่าง ๆ อาทิ การค้าและการลงทุน ด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจบริการด้านต่าง ๆ เช่น ธุรกิจการเงินและการขนส่ง เป็นต้น

o การค้าและการลงทุน
จีนถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไต้หวันนับตั้งแต่ปี 2546 เนื่องจากสินค้าส่งออกของจีนมีส่วนแบ่งตลาดในไต้หวันถึงร้อยละ 39 ของการนำเข้าทั้งหมดของไต้หวัน ซึ่งการเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมโดยตรงทั้ง 3 ทางระหว่างจีน-ไต้หวันในครั้งนี้ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ โดยใน 2551 ไต้หวันมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศจีนราว 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ หดตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 ขณะที่มีมูลค่านำเข้าราว 33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ขยายตัวร้อยละ 10.3 (yoy) และมีสัดส่วนในตลาดร้อยละ 13.7 ของการนำเข้าทั้งหมดของไต้หวันทำให้ไต้หวันเกินดุลการค้าจีนมูลค่าราว 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 5.5 (yoy) ในส่วนของการลงทุนของไต้หวันในจีนนั้นไต้หวันจัดอยู่ในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่มีบทบาทสำคัญในการเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศจีน โดยสถิติจากกระทรวงพาณิชย์จีน ระบุว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2551 มีจำนวนโครงการการลงทุนโดยตรงจากไต้หวันที่เข้าไปลงทุนในจีนกว่า 2,000 โครงการ ลดลงกว่าร้อยละ 30 (yoy) แต่หากคิดเป็นมูลค่าของโครงการลงทุนของไต้หวันในจีนในช่วงเดียวกัน พบว่ามีมูลค่าราว 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 (yoy)

o การท่องเที่ยว
ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไต้หวัน โดยปัจจุบันได้มีการเปิดให้บริการเที่ยวบินโดยตรงระหว่างจีน-ไต้หวันอย่างเป็นทางการโดยมีเที่ยวบินเดินทางเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองประเทศจำนวน 108 เที่ยว ต่อสัปดาห์ ในเมืองสำคัญต่าง ๆ ของจีน อาทิ มหานครปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และ กว่างโจว เป็นต้น ซึ่งเมื่อเทียบกับในอดีตมีการเปิดให้บริการเพียงเที่ยวบินเหมาลำในช่วงเทศกาลสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น ทั้งนี้ การเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมขนส่งทางอากาศของทั้งสองประเทศในครั้งนี้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้โดยสารโดยไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้โดยสารประหยัดระยะเวลาในการเดินทาง แต่ยังช่วยให้ผู้โดยสารประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกด้วย โดยทางการไต้หวันระบุว่า การเปิดให้บริการเชื่อมโยงโดยตรงทางการบินและทางเรือจะช่วยประหยัดเงินมูลค่าราว 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในแต่ละปี อีกทั้ง การเจรจาเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวระหว่างภาครัฐของทั้งสองฝ่ายที่มีขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 ส่งผลให้ผู้ให้บริการการบินของจีนสามารถเข้ามามีอำนาจในการบริหารธุรกิจมากขึ้นโดยสามารถเปลี่ยนรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจจากสำนักงานตัวแทนที่มีอยู่เดิมเป็นสาขาตัวแทนในไต้หวันได้

ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคมของปี 2551 ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางไปยังประเทศจีนรวม 43,595 คน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกันที่มีจำนวน 22,575 คน ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากการเปิดการเชื่อมโยงทางคมนาคมโดยตรงอย่างเป็นทางการระหว่างจีน-ไต้หวันเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 กอปรกับเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวปลายปีด้วย ขณะเดียวกันไต้หวันน่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งที่เป็นที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีน เนื่องจากใช้ระยะเวลาเดินทางสั้นและได้รับความสะดวกมากขึ้นจากการเปิดเที่ยวบินโดยตรงของสองประเทศ อีกทั้งมีนักธุรกิจไต้หวันจำนวนมากเข้ามาลงทุนและพำนักในประเทศจีน ทั้งนี้ การท่องเที่ยวไต้หวันในสังกัดทางกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารไต้หวัน คาดว่า น่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 13,200 คน เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไต้หวันในช่วงเทศกาลตรุษจีนและคาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัดมูลค่ากว่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ซึ่งนอกจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่คาดว่าจะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในไต้หวันแล้วยังคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจากภูมิภาคเอเชียอื่น ๆ เข้ามาท่องเที่ยวในไต้หวันอีกอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย เป็นต้น

ผลกระทบต่อประเทศไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เศรษฐกิจไต้หวันที่ชะลอตัวรุนแรงจากภาคส่งออกซบเซาส่งผลต่อไทยทั้งด้านภาคส่งออกและท่องเที่ยว ขณะที่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างไต้หวันและจีนยังคาดว่าจะส่งผลซ้ำเติมต่อภาคการลงทุนและภาคท่องเที่ยวของไทยด้วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สรุปผลกระทบต่อไทยดังนี้

ผลกระทบจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจไต้หวัน
เศรษฐกิจไต้หวันชะลอตัวจากภาคส่งออกที่ซบเซาอาจส่งผลกระทบไปยังภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย-ไต้หวัน โดยเฉพาะสินค้าส่งออกประเภทสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้าของไต้หวันที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ต้องซบเซาอย่างหนักตามภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งทำให้ไต้หวันนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากไทยเพื่อใช้ส่งออกต้องชะลอตัวด้วย ทั้งนี้จากสถิติของกระทรวงการคลังไต้หวันระบุว่า สินค้านำเข้าสำคัญของไต้หวันที่ชะลอตัวในช่วงเดือนธันวาคม 2551 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ลดลงกว่าร้อยละ 39 ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกล หดตัวราวร้อยละ 41 ผลิตภัณฑ์แร่โลหะ ลดลงกว่าร้อยละ 57 และ ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ หดตัวเกือบร้อยละ 50 สะท้อนถึงผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปไต้หวันที่ชะลอตามไปด้วย โดยในปี 2551 ไทยมูลค่าการส่งออกไปยังไต้หวันราว 2.7 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ฯ หดตัวร้อยละ 18.8 (yoy) โดยสินค้าส่งออกของไทยไปยังไต้หวันที่ขยายตัวติดลบได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 57.1 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 33.3 เม็ดพลาสติก หดตัวกว่าร้อยละ 43 และคาดว่าแนวโน้มการส่งออกสำคัญของไทยไปไต้หวันข้างต้นน่าจะชะลอตัวลงในอีก 2 ไตรมาสข้างหน้าตามภาวะเศรษฐกิจไต้หวันที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง ขณะที่สินค้านำเข้าของไทยจากไต้หวันมีมูลค่า 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ขยายตัวร้อยละ 8.0 (yoy) โดยสินค้านำเข้าที่ขยายตัวติดลบ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 12.2 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 6.8 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลงเกือบร้อยละ 16 และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน หดตัวกว่าร้อยละ 41

ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย
ภาคการท่องเที่ยวของไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยน่าจะชะลอตัวลงจากกำลังซื้อของชาวไต้หวันที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจถดถอยของไต้หวัน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวชาวไต้หวันเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีจำนวนเฉลี่ยปีละกว่า 4 แสนคน ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา

ความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันที่แน่นแฟ้นมากขึ้น
ความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่เหนียวแน่นขึ้นระหว่างจีน-ไต้หวันยังมีแนวโน้มส่งผลกระทบทางอ้อมซ้ำเติมมายังภาคลงทุนและธุรกิจท่องเที่ยวของไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย โดยผู้ประกอบการชาวไต้หวันและจีนอาจหันไปขยายการลงทุนระหว่างกันมากขึ้นแทนการเข้ามาลงทุนในไทยเนื่องจากบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้นระหว่างจีนและไต้หวันภายใต้การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางการคมนาคมโดยตรงของจีน-ไต้หวันซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนในการขนส่งมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงการสนับสนุนจากทางการของทั้งสองฝ่ายเพื่อให้เข้าไปลงทุนระหว่างกันมากขึ้นทั้งในภาคการผลิตและธุรกิจบริการในส่วนภาคธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งนี้ไทยอาจเสียส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งจากจีนและไต้หวันที่เดินทางท่องเที่ยวไปมาระหว่างกันมากขึ้น เนื่องจากได้รับความสะดวกด้านการเดินทางท่องเที่ยวจากการเปิดให้บริการการบินโดยตรงระหว่างกันซึ่งทำให้ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เข้มข้นเพิ่มขึ้นจากคู่แข่งทั้งไต้หวันและจีนสะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการที่จีนและไต้หวันเปิดเที่ยวบินโดยตรงระหว่างกันในวันที่ 15 ธันวาคม 2551

สรุป
ปัจจุบันไต้หวันกำลังเผชิญหน้ากับการขยายตัวของภาคส่งออกที่ทรุดตัวอย่างรุนแรงโดยชะลอตัวติดต่อกัน 4 เดือน โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม 2551 ที่ภาคส่งออกหดตัวสูงถึงร้อยละ 42 (yoy) ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุด ทำให้รัฐบาลไต้หวันดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.5 จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1.5 และแจกคูปองซื้อสินค้าแก่ประชาชนทั่วประเทศจำนวนกว่า 3 ล้านคน เป็นมูลค่าราว 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ทั้งนี้ สาเหตุหลักของภาวะซบเซาของภาคส่งออกของไต้หวันซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไต้หวันต้องเผชิญกับการชะลอตัวอย่างรุนแรงเนื่องจากอุปสงค์ในตลาดส่งออกที่สำคัญอ่อนแรงลง ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐ ฯ และ สหภาพยุโรป แม้ภาคส่งออกของไต้หวันได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันในปี 2552 น่าชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 โดยมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 1.6 (yoy) จากปี 2551 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 (yoy) โดยภาคส่งออกที่กำลังย่ำแย่อยู่ในขณะนี้ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศอ่อนตัวลงและทำให้ไต้หวันเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

ในอีกด้านหนึ่งความคืบหน้าของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างไต้หวันกับจีนน่าจะส่งผลดีในระยะยาวต่อเศรษฐกิจของไต้หวันและจีน โดยการเปิดการเชื่อมโยงโดยตรงทั้ง 3 ทางระหว่างไต้หวันและจีนได้แก่ การคมนาคมขนส่งทางอากาศ การบริการขนส่งทางทะเล และการขนส่งวัสดุภัณฑ์ทางไปรษณีย์ ซึ่งการเปิดการเชื่อมโยงโดยตรงทั้ง 3 ทางดังกล่าว นอกจากจะเป็นการพัฒนาด้านการขนส่งคมนาคมแล้วยังเป็นปัจจัยเอื้อหนุนต่อประโยชน์ด้าน ต่าง ๆ อาทิ การค้าและการลงทุน ด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการด้านการเงินและการขนส่ง เป็นต้น

สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปยังภาคส่งออกของไต้หวันซึ่งอาจทำให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของไทยไปยังไต้หวันเพื่อใช้ผลิตส่งออกต้องชะลอตัวลง เช่น แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก สำหรับผลกระทบด้านท่องเที่ยวของไทยนั้น คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยน่าจะชะลอตัวลงจากกำลังซื้อของชาวไต้หวันที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจถดถอยของไต้หวัน อีกประเด็นที่น่าจับตามองคือ สายสัมพันธ์ที่พัฒนาแน่นแฟ้นไปอีกก้าวของจีน-ไต้หวันคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในด้านการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการชาวไต้หวันอาจหันไปขยายการค้าและการลงทุนในจีนมากขึ้น ขณะที่ในส่วนของภาคธุรกิจท่องเที่ยวนั้นไทยอาจเสียส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวจากทั้งจีนและไต้หวันที่เดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนและไต้หวันที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยลดลง

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบการลงทุนและภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ภาครัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติรวมถึงนักลงทุนชาวไต้หวันโดยการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน รวมถึงการมุ่งเน้นปรับปรุงและพัฒนาการสร้างโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในประเทศให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น ส่วนในด้านการท่องเที่ยวนั้น รัฐบาลไทยควรเร่งรัดดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยในนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทั้งในตลาดจีนและไต้หวันอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและขยายจำนวนนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ สถานการณ์ทางการเมืองไทยที่เริ่มดีขึ้นหลังจากได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ต้นปีมานี้น่าจะช่วยสร้างบรรยากาศด้านการลงทุนและความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยน่าจะกลับมาดีขึ้นหลังเหตุการณ์ปิดสนามบินในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนธันวาคม 2551 ประกอบกับรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลาย ๆ ด้านทั้งด้านส่งเสริมการลงทุนและด้านการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้น่าจะช่วยดึงความเชื่อมั่นของต่างชาติเข้ามาลงทุนและท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น