แนวโน้มอุตสาหกรรมจีนปี 2552 ชะลอตัว … กระทบส่งออกไทยไปจีน

เศรษฐกิจจีนปี 2551 เผชิญความท้าทายจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงเหลือร้อยละ 9 เป็นการเติบโตที่อ่อนแรงมากที่สุดในรอบ 5 ปี เมื่อเทียบกับปี 2550 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 13 ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 ปี ผลผลิตมวลรวมภาคเศรษฐกิจต่างๆชะลอตัวจากปีก่อนโดยภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 5.5 ภาคบริการขยายตัวร้อยละ 9.5 และภาคอุตสาหกรรมซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.5 ของ GDP ขยายตัวเพียงร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 14.7 จะเห็นได้ว่า ภาคอุตสาหกรรมของจีนชะลอตัวค่อนข้างมากและมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องใน 2 ไตรมาสแรกปี 2552 ตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่จะชะลอตัวต่อเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุมเร้ามากยิ่งขึ้นซึ่งอาจกดดันภาคอุตสาหกรรมของจีนคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงสูงขึ้นตามไปด้วยซึ่งอาจส่งผลกระทบมายังการส่งออกของไทยให้ชะลอตัวตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จากปี 2551 ที่ผ่านมาที่การส่งออกของไทยไปจีนได้รับผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรมจีนที่ชะลอลงทำให้อัตราขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 9 จากที่เติบโตร้อยละ 26.3 ในปี 2550

ภาคอุตสาหกรรมจีนชะลอตัว

ผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ทั้งโลกรวมทั้งจีนจึงส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จีนลดลงถึงกว่าร้อยละ 60 ในปี 2551 ทำให้ความมั่งคั่ง(wealth)ของนักลงทุนในจีนลดลงส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะการเงินตึงตัว ประชาชนชะลอการจับจ่าย ภาคการผลิตปรับลดกำลังการผลิตตามความต้องการที่ชะลอตัวส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆของจีนรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนที่ชะลอลงตามกำลังซื้อภายในประเทศที่ลดลงเช่นกัน

นอกจากนี้ผลกระทบโดยอ้อมจากประเทศคู่ค้าหลักๆ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มหดตัวมากขึ้นส่งผลต่อภาคการค้าระหว่างประเทศของจีน โดยการส่งออกและนำเข้าสินค้าของจีนปี 2551 ขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 17.2 และร้อยละ 18.5 ตามลำดับ จากปี 2550 ที่เติบโตร้อยละ 25.7 และร้อยละ 20.8 ตามลำดับ ความต้องการสินค้าที่ปรับตัวลดลงทั้งตลาดต่างประเทศและภายในประเทศโดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนเดือนธันวาคม 2551 ขยายตัวเพียงร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ขยายตัวถึงร้อยละ 15.7 โดยสาขาอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า/อุปกรณ์ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลที่ใช้ในการผลิต อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการขนส่ง/อุปกรณ์ ที่ขยายตัวร้อยละ 12.5, ร้อยละ 11.6, ร้อยละ 8, ร้อยละ 6.2 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ ในขณะที่อุตสาหกรรมที่หดตัวค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราขยายตัวมาโดยตลอด ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมวัตถุดิบเคมีภัณฑ์/เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้า/เครื่องทำความร้อน และอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์/อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งหดตัวร้อยละ 6.3, ร้อยละ 3.3, ร้อยละ 1.1 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอีกโดยเฉพาะครึ่งแรกของปี 2552 อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยให้ชะลอตัวโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมประเภท วัตถุดิบขั้นต้น/กึ่งสำเร็จรูป และสินค้าทุน ที่ไทยส่งออกไปจีนมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ตามลำดับ

อุตสาหกรรมจีนชะลอตัว….สินค้าส่งออกของไทยที่เกี่ยวเนื่องชะลอตัวตาม

ภาวะอุตสาหกรรมของจีนที่ชะลอตัวทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนชะลอลงตามไปด้วย การนำเข้าสินค้าปี 2551 เติบโตชะลอลงเหลือร้อยละ 18.5 โดยเฉพาะ 2 เดือนสุดท้ายที่เป็นอัตราติดลบและเร่งตัวขึ้นซึ่งเดือนธันวาคมหดตัวรุนแรงถึงร้อยละ 21.3 ทั้งนี้การนำเข้าของจีนชะลอตัวตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 เป็นต้นมาทั้งวัตถุดิบขั้นต้น/สินค้าทุน และสินค้าสำเร็จรูป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า นักธุรกิจไทยที่ประกอบธุรกิจในจีนหรือส่งออกสินค้าไปยังจีนอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณการส่งออกที่ลดลงและอาจต้องปรับลดกำลังการผลิตให้เหมาะสมตามภาคอุตสาหกรรมของจีนที่แนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากแรงกดดันทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมจีนปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ซึ่งคาดว่าสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยจะได้รับอานิสงส์ให้มีโอกาสขยายตัวได้มากขึ้นด้วย แต่สำหรับในช่วงครึ่งแรกปี 2552 นี้ ภาคส่งออกของไทยไปจีนคงต้องเผชิญกับผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมจีนต่อไป ดังนี้

ภาคอสังหาริมทรัพย์ & อุตสาหกรรมยานยนต์
ภาคอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนปี 2551 อยู่ในช่วงขาลงที่ได้รับผลกระทบทั้งจากการส่งออกที่ชะลอตัวและการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนแรง ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ และผลกระทบจากอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯที่ประสบปัญหาและปรับลดกำลังการผลิตลง อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนให้ชะลอตัวตาม ดังนั้นสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจภายในจีนและอุปสงค์ของตลาดโลกที่ลดลง ทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมดังกล่าวของไทยที่ส่งออกไปจีนในปี 2551 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ อุปกรณ์การขนส่ง(-3.4%) เหล็ก(+18.28%) สังกะสี(-32.68%) อะลูมิเนียม(-32.26%) ทองแดง (-50.47%) และเฟอร์นิเจอร์/ชิ้นส่วน(-30.11)

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และสิ่งทอ
สินค้าส่งออกของไทยปี 2551 หลายชนิดมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาคอุตสาหกรรมจีนเนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และสิ่งทอ อยู่ในห่วงโซ่การผลิตซึ่งจีนนำเข้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป และสินค้าทุนจากไทย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยไปยังจีนชะลอตัวไปด้วยเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ คอมพิวเตอร์(+21.91%) เครื่องใช้ไฟฟ้า(+19.35%) อิเล็กทรอนิกส์ (+14.64%) สิ่งทอ(-4.15%) แผงวงจรไฟฟ้า(-10.6%) และเคมีภัณฑ์(-36.83%) เป็นต้น

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

จีนมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ผลิตของโลกที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่องแต่เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวในปี 2551 โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 13 สูงที่สุดในรอบ 13 ปี เนื่องจากผลกระทบทางอ้อมจากความต้องการบริโภคของตลาดหลักที่ลดลงเช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปที่เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง ทำให้การส่งออกสินค้าของจีนปี 2551 ชะลอตัวเหลือร้อยละ 17.2 การนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตและการบริโภคชะลอตัวโดยขยายตัวเพียงร้อยละ 18.5 ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของจีนประสบปัญหาผลกำไรลดลง 3 เดือนติดต่อกัน (กันยายน-พฤศจิกายน 2551) ภาคอุตสาหกรรมจีนในเดือนธันวาคมปี 2551 ขยายตัวเพียงร้อยละ 5.7 การนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมจึงได้ปรับลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากภายในประเทศจากสภาพแวดล้อมและความเชื่อมั่นการทำธุรกิจในจีนที่ลดต่ำลงสะท้อนถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยเฉพาะมาตรการอัดฉีดเงิน 586 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่มุ่งช่วยเหลือธุรกิจก่อสร้างที่ซบเซา คาดว่าจะส่งผลดีต่อการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เหล็ก โลหะและอโลหะ เป็นต้น อีกทั้งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าจะรักษาระดับค่าเงินหยวนไม่ให้แข็งค่ามากนักและมาตรการปรับอัตราภาษีคืนส่งออกที่จะช่วยส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมของจีนมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้นและช่วยให้การส่งออกสินค้าของจีนให้มีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของจีนโดยรวมปรับตัวดีขึ้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุมเร้าและอาจส่งผลดีทางอ้อมต่อการส่งออกสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปและสินค้าทุนจากไทยให้ได้รับอานิสงส์ขยายตัวตามไปด้วย

ไทยส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.5 ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมดของไทย ซึ่งเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ภาวะอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันนอกจากจะได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาแล้วยังได้รับแรงกดดันทางอ้อมจากการเชื่อมโยงทางด้านการผลิตและการค้ากับจีน การที่ภาคอุตสาหกรรมของจีนชะลอตัวอาจส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านทางการส่งออกสินค้าของไทยไปยังจีนชะลอตัวตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนที่อยู่ในภาวะซบเซา รวมทั้งสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป และสินค้าทุนที่ใช้ในการผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมของจีนที่เผชิญกับความต้องการที่ลดลงทั้งตลาดต่างประเทศและตลาดภายใน เช่น อุปกรณ์การขนส่ง วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์/ชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์/อิเล็กทรอนิกส์และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า นักธุรกิจไทยในจีนและนักธุรกิจไทยที่ส่งออกสินค้าไปจีนในปัจจุบันอาจต้องเผชิญการแข่งขันในจีนที่สูงขึ้นเนื่องจากความต้องการสินค้าสำหรับการผลิตและการบริโภคในจีนอ่อนแรงตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาอย่างน้อยจนถึงกลางปี 2552 จึงเป็นการยากลำบากที่จะขยายตลาดในจีนในสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้สำหรับภาคธุรกิจไทยยังอาจได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่ถูกระบายมาจากโรงงานจีนที่ต้องปิดตัวลงจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้สินค้าเหล่านี้มีโอกาสทะลักเข้าสู่ไทยและมีความได้เปรียบด้านราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งผลกระทบดังกล่าวยิ่งตอกย้ำภาคอุตสาหกรรมของไทยที่อยู่ในภาวะชะลอตัวและต้องแข่งขันรุนแรงมากขึ้นกับสินค้าราคาถูกจากจีน ดังนั้นภาคธุรกิจไทยควรปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน ลดต้นทุนหรือเน้นที่คุณภาพแทนการแข่งขันด้านราคาที่ไทยอาจสู้ไม่ได้ และควรพิจารณาขยายตลาดไปยังตลาดใหม่ที่ยังคงเติบโตได้และได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ไม่รุนแรงนักทำให้ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ได้แก่ แอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย และยุโรปตะวันออก เป็นต้น

สำหรับในระยะต่อไปเมื่อเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า จีนก็ยังคงมีความต้องการสินค้าเพื่อการผลิตและบริโภคตามเศรษฐกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ดังนั้นการผลิตสินค้าที่มุ่งเน้นการขยายตลาดในจีนอาจต้องเพิ่มศักยภาพในการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเน้นการสร้างคุณภาพที่แตกต่างจึงจะสามารถแข่งขันในตลาดจีนได้ โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากประโยชน์ของข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน ที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนนักธุรกิจไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นจากการปรับลดอัตราภาษีศุลกากร และการผ่อนคลายเงื่อนไข/กฎระเบียบภาคบริการของจีนส่งผลดีต่อ ด้านการส่งออกของไทยไปจีน สินค้าอาหารของไทยที่มีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกน่าจะขยายตลาดได้ดีในจีน เช่น ผลไม้เมืองร้อน รวมไปถึงสินค้าเมล็ดธัญพืช อุปกรณ์การถ่ายภาพ และอัญมณี/เครื่องประดับ เป็นต้น สำหรับธุรกิจของไทยที่มีศักยภาพ คาดว่าจะขยายการลงทุนในจีนได้ดีจากอานิสงส์ของความตกลง FTA อาเซียน-จีน เช่น ร้านอาหารไทย โรงแรม และบริการทางการแพทย์ เป็นต้น และด้านการนำเข้าของไทยจากจีนน่าจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางจากจีนต่ำลงตามการลดภาษีศุลกากรในกรอบ FTA อาเซียน-จีน เช่น เครื่องจักรกลทางการเกษตร ยานยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์การขนส่ง เป็นต้น