การค้า-การลงทุน-ท่องเที่ยว ไทย-ญี่ปุ่น : อาจฟื้นตัวปลายปี 2552

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พร้อมด้วยคณะนักธุรกิจและภาครัฐของไทยเดินทางไปโรดโชว์ ณ ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางการค้าและการลงทุนให้กับนักธุรกิจญี่ปุ่น รวมถึงเรียกความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยด้วย เนื่องจากในปีที่ผ่านมาที่บรรยากาศทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของไทยต้องเผชิญกับปัจจัยลบจากทั้งสถานการณ์การเมืองภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวรุนแรงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทำให้ภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับญี่ปุ่นซบเซาลงอย่างเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 1 ของไทย และเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับที่ 1 เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอตัวรุนแรงจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกย่อมส่งผลมายังภาคส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นและการเข้ามาลงทุนของญี่ปุ่นในไทย รวมทั้งการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยด้วย

ด้านส่งออก ภาคส่งออกของญี่ปุ่นที่หดตัวในอัตราเร่งขึ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2551 ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่นจากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย เพื่อใช้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมส่งออกของญี่ปุ่นต้องชะลอตัวตามไปด้วย ทำให้การส่งออกของไทยไปตลาดญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 8.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2551 (yoy) และร้อยละ 15.1 ในเดือนธันวาคม 2551 (yoy) การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยไปญี่ปุ่นเติบโตชะลอเหลือร้อยละ 4.5 ในปี 2551 จากที่ขยายตัวร้อยละ 12.9 ในปี 2550 สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกไปญี่ปุ่นที่ชะลอตัวจนมีอัตราติดลบในปี 2551 ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 12.6 (yoy) เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดลงร้อยละ 6.9 (yoy) และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร หดตัวร้อยละ 5.6 (yoy) ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นที่ขยายตัวชะลอลงในปี 2551 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เซรามิก เม็ดพลาสติก อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด และเคมีภัณฑ์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2552 น่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการนำเข้าของญี่ปุ่นที่ยังคงชะลอลงอย่างต่อเนื่องตามภาวะซบเซาของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สินค้าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น โดยเฉพาะสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงเหล็ก เหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกับอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น มีแนวโน้มชะลอตัวตามไปด้วยอย่างน้อยในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ สำหรับในช่วงปลายปี 2552 การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นน่าจะเติบโตดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับความตกลง FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2552 น่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นขยายตัวได้ดีขึ้นเนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการไปญี่ปุ่นจะได้ประโยชนด์ด้านภาษีเพิ่มเติมจากข้อตกลง JTEPA เช่น ผลิตภัณฑ์จากปลา อาหารแปรรูป ไม้อัดและไม้แปรรูป รวมทั้งยังได้ประโยชน์ในแง่ที่สามารถนำวัตถุดิบจากประเทศอาเซียนอื่นๆ มาผลิตสินค้าตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อใช้สิทธิประโยชน์การลดภาษีภายใต้ความตกลง FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นได้

ด้านการลงทุน การลงทุนของญี่ปุ่นที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยในปี 2551 ลดลงทั้งจำนวนและมูลค่าโครงการ โดยมีจำนวนรวม 324 โครงการ มูลค่าโครงการลงทุน 102.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 31 จากมูลค่า 149 พันล้านบาทในปี 2550 สาเหตุสำคัญของมูลค่าการลงทุนที่ลดลงเนื่องจากวิกฤตการเงินโลกที่ทำให้สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทแม่ในญี่ปุ่นตึงตัว ประกอบกับผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอรุนแรงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ทั่วโลกทำให้ความต้องการบริโภคทั่วโลกชะลอตัวซึ่งส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่น ทำให้บริษัทญี่ปุ่นต้องชะลอแผนขยายการลงทุนและการผลิตออกไปในไทยเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินและลดความเสี่ยงจากอุปสงค์ที่อ่อนแรง ประกอบกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยในปี 2551 ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นชะลอแผนการลงทุนในไทยออกไปก่อน

โครงการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยหลายประเภทที่มีมูลค่าลดลงในปี 2551 เมื่อเทียบกับปี 2550 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็ก/เครื่องจักร ลดลงร้อยละ 35.7 เครื่องไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 27.7 เคมีภัณฑ์/กระดาษ ลดลงร้อยละ 73.3 และภาคบริการ ลดลงร้อยละ 45.9 ขณะที่โครงการลงทุนประเภทสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเบา/สิ่งทอมีมูลค่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยขยายตัวถึงร้อยละ 165 และร้อยละ 170.8 ตามลำดับ ส่วนมูลค่าโครงการลงทุนประเภทสินแร่/เซรามิกส์ของญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.7 โครงการลงทุนของญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดยังคงเป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนโลหะและยานพาหนะ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าโครงการลงทุนทั้งหมดที่ญี่ปุ่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในไทย
แนวโน้มการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยคาดว่า โครงการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยประเภทอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนและอุตสาหกรมเครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ในปี 2552 นี้ น่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ตามภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่ซบเซา อย่างไรก็ตาม ทิศทางการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยในปีนี้อาจฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้นในปลายปี 2552 นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากที่รัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศตั้งแต่ต้นปี อีกทั้งทางการไทยได้ออกมาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรวมถึงโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านการบริโภคและการลงทุน รวมถึงการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้คาดว่าการลงทุนของต่างชาติรวมทั้งญี่ปุ่นน่าจะกลับเข้ามาในไทยมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 อุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นที่น่าจะเข้ามาขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมากขึ้นตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของทางการไทย เช่น การลงทุนผลิตเครื่องยนต์ไฮบริด ซึ่งถือเป็นกิจการเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน และพลังงานทดแทน ซึ่งเป็น 1 ใน 6 อุตสาหกรรมที่ทางการไทยได้ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดด้านการลงทุนสำหรับการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552

สำหรับโครงการลงทุนสินค้าเกษตรและอาหาร ของญี่ปุ่นในไทยน่าจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2552 ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นหนึ่งใน 6 อุตสาหกรรมที่ทางการไทยให้สิทธิประโยชน์สูงสุดสำหรับการขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้เช่นกัน (กิจการในอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ) ปัจจัยสำคัญอีกประการเนื่องจากญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตอาหาร โดยเฉพาะการผลิตอาหารป้อนญี่ปุ่น ซึ่งโดยปกติญี่ปุ่นต้องนำเข้าอาหารราวร้อยละ 60 ของความต้องการบริโภคภายในประเทศในแต่ละปี โดยในขณะนี้บริษัทญี่ปุ่นบางรายได้วางแผนที่จะเข้ามาขยายการลงทุนด้านอาหารในไทย สะท้อนจากโครงการลงทุนสินค้าเกษตรที่ญี่ปุ่นยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2551 ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานการผลิตอาหารในไทยเพื่อส่งออกกลับไปตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากอานิสงส์ของความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น ที่ทำให้สินค้าที่ผลิตในไทยและส่งออกไปญี่ปุ่นได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีตามความตกลง FTA ทำให้บริษัทนำเข้าในญี่ปุ่นมีต้นทุนนำเข้าที่ต่ำลงด้วย การเข้ามาผลิตอาหารของญี่ปุ่นเพื่อป้อนกลับประเทศยังจะช่วยให้การส่งออกเกษตรแปรรูปและสินค้าอาหารของไทยไปญี่ปุ่นเติบโตได้ดีขึ้น

สำหรับความตกลง FTA ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2552 น่าจะช่วยให้ไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพสำหรับญี่ปุ่นมากขึ้น เนื่องจากผลดีของกฎแหล่งกำเนิดสินค้าตามความตกลง FTA ดังกล่าว ทำให้ญี่ปุ่นสามารถเข้ามาลงทุนผลิตในไทยโดยนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นจากประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้ และส่งออกสินค้ากลับไปญี่ปุ่นโดยไม่เสียภาษีศุลกากรตามสิทธิประโยชน์ของความตกลง FTA อีกทั้งยังสามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอื่นๆ ที่มีความตกลง FTA กับอาเซียน โดยได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีตามความตกลง FTA ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ด้วย ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ ปัจจัยจากค่าเงินเยนของญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับแข็งค่าอย่างต่อเนื่องน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นพิจารณาเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตในไทยเพิ่มขึ้น การเข้ามาลงทุนผลิตในไทยของญี่ปุ่นเพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าส่งออกเนื่องจากในปัจจุบันการส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นที่ผลิตในประเทศต้องเผชิญกับการแข็งค่าของเงินเยนทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นลดลงในตลาดโลก ซ้ำเติมปัญหาความต้องการในตลาดต่างประเทศที่ซบเซาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก จึงทำให้ญี่ปุ่นอาจหันมาผลิตสินค้าในไทยเพิ่มขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากค่าเงินเยนแข็งค่าที่ทำให้ศักยภาพทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกที่ผลิตในญี่ปุ่นในตลาดต่างประเทศปรับลดลง โดยค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นราวร้อยละ 17 ตั้งแต่ต้นปี 2551 จนถึงปัจจุบัน และแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 13 ปีนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 สำหรับกรณีบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน แต่บริษัทญี่ปุ่นในไทยยังต้องนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางบางประเภทจากบริษัทแม่ในญี่ปุ่น ทำให้มูลค่านำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนดังกล่าวจากญี่ปุ่นสูงขึ้นเนื่องจากการแข็งค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินบาท โดยคิดเป็นแข็งค่าราวร้อยละ 28 จากช่วงต้นปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ต้นทุนการผลิตในไทยปรับสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น การผลิตรถบรรทุกขนาดกลางและใหญ่ของบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นในสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ซึ่งปัจจัยต่างๆ ข้างต้น น่าจะสนับสนุนให้ญี่ปุ่นเข้ามาผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวในไทยมากขึ้นแทนการนำเข้าจากญี่ปุ่นเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตในไทยก็เป็นได้

ด้านท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ต้องปรับลดการผลิตและต้องปิดตัวลงจำนวนมากในปัจจุบัน เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์/เครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ทำให้มีจำนวนคนว่างงานในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในญี่ปุ่น ประกอบกับกำลังซื้อของชาวญี่ปุ่นที่ปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจเศรษฐกิจถดถอย ถือเป็นปัจจัยลบต่อการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศของคนญี่ปุ่นในปี 2551 นอกจากนี้ เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองไทยกรณีปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-ต้นเดือนธันวาคม 2551 ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในไทยในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงญี่ปุ่นย่ำแย่ลง คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นในไทยทั้งปี 2551 จะปรับลดลงจากปี 2550 ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นที่เดินทางมาไทยผ่านทางสนามบินสุวรรณภูมิในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2551 มีจำนวน 931.2 แสนคน ลดลงร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 สำหรับในปี 2552 เสถียรภาพทางการเมืองไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้นน่าจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติและญี่ปุ่นให้กลับคืนมาได้มากขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นและของประเทศต่างๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ซึ่งคาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เริ่มดีขึ้นน่าจะช่วยให้นักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามาในไทยเฉลี่ยปีละกว่า 1.2 ล้านคน

สรุป เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอตัวรุนแรงจากปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญด้านภาคส่งออกที่หดตัวรุนแรงในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2551 ส่งผลกระทบมายังภาคส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นให้ชะลอลงตามไปด้วยโดยเฉพาะสินค้าส่งออกประเภทยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้าเกษตรและอาหารได้รับอานิสงส์จากระดับราคาในปี 2551 ที่อยู่ในระดับสูง และผลดีจากการลดภาษีภายใต้ JTEPA ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2551 ยังคงขยายตัวได้ดี แต่คาดว่าในปี 2552 การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตร/เกษตรแปรรูปมีแนวโน้มชะลอตัวโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในปี 2552 ที่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 ส่วนสินค้าส่งออกประเภทอุตสาหกรรม ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สินค้าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ที่สำคัญ ได้แก่ สินค้ายานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นน่าจะเติบโตดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในปลายปีนี้ นอกจากนี้ ความตกลง FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีนี้น่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นขยายตัวได้ดีขึ้น ที่สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์จากปลา อาหารแปรรูป ไม้อัดและไม้แปรรูป ความตกลง FTA ยังให้ประโยชน์ในแง่ที่สามารถนำวัตถุดิบจากประเทศอาเซียนอื่นๆ มาผลิตสินค้าตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อใช้สิทธิประโยชน์การลดภาษีภายใต้ความตกลง FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นได้

สำหรับภาคการลงทุน การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยในปี 2552 ประเภทอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์น่าจะยังคงชะลอตัวตามภาวะอุตสาหกรรมโลกที่ยังซบเซาในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่คาดว่าในระยะต่อไปการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้นตามสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนนโยบายส่งเสริมการลงทุนของทางการไทยที่ให้สิทธิพิเศษสูงสุดในกิจการลงทุน 6 ประเภทสำหรับการขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2552 จะช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวในปลายปี 2552 ทำให้ภาคการบริโภคและการลงทุนปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ คาดว่านักลงทุนญี่ปุ่นมีแนวโน้มเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ประหยัดพลังงานและอุตสาหกรรมประเภทอาหารในไทยมากขึ้น ซึ่งเป็น 2 ใน 6 ประเภทกิจการที่ทางการไทยให้สิทธิประโยชน์สูงสุดด้านการลงทุน นอกจากนี้ ปัจจัยจากค่าเงินเยนของญี่ปุ่นที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้สินค้าส่งออกที่ผลิตในญี่ปุ่นมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาลดลงในตลาดโลก ซ้ำเติมปัญหาของภาคส่งออกของญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกที่ซบเซาในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นตัวเร่งให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนจัดตั้งฐานการผลิตในไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้นทุนการผลิตในไทยต่ำกว่า โดยคาดว่าการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยจะมีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาทอาจทำให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในไทยเพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจญี่ปุ่นที่มีการผลิตในไทยอยู่แล้ว จากเดิมที่บริษัทลงทุนของญี่ปุ่นในไทยจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางบางรายการจากบริษัทแม่ในญี่ปุ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินเยนแข็งค่าทำให้มูลค่านำเข้าสินค้าสูงขึ้น

นอกจากนี้ ความตกลง FTA ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2552 น่าจะช่วยให้ไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพสำหรับญี่ปุ่นมากขึ้น เนื่องจากผลดีของกฎแหล่งกำเนิดสินค้าตามความตกลง FTA ดังกล่าว ทำให้ญี่ปุ่นสามารถเข้ามาลงทุนผลิตในไทยโดยนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นจากประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้ และส่งออกสินค้ากลับไปญี่ปุ่นโดยไม่เสียภาษีศุลกากรตามสิทธิประโยชน์ของความตกลง FTA อีกทั้งยังสามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอื่นๆ ที่มีความตกลง FTA กับอาเซียน โดยได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีตามความตกลง FTA ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ปัจจัยบวกทั้งด้านการเมืองไทยที่มั่นคงขึ้น นโยบายส่งเสริมการลงทุนของทางการไทย การแข็งค่าของเงินเยน และการเปิดเสรีของความตกลงในกรอบอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ รวมทั้งญี่ปุ่น น่าจะสนับสนุนให้การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยเติบโตได้ดีขึ้นในช่วงปลายปี 2552 ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

สำหรับด้านท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในญี่ปุ่นและกำลังซื้อของชาวญี่ปุ่นที่ปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะถดถอย ถือเป็นปัจจัยลบต่อการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศของคนญี่ปุ่นในปี 2551 ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองไทยกรณีปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-ต้นเดือนธันวาคม 2551 ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวในไทยในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นในไทยลดลงในปี 2551 ลดลงจากปี 2550 สำหรับในปี 2552 สถานการณ์การเมืองไทยที่มีเสถียรภาพมากขึ้นน่าจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติและญี่ปุ่นให้กลับคืนมาดีขึ้น รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของทางการไทย เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า 3 เดือน และการใช้งบประมาณในการจัดกิจกรรมโปรโมตการท่องเที่ยว น่าจะช่วยฟื้นการท่องเที่ยวในไทยจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศรวมทั้งนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นได้บ้าง