อัญมณีและเครื่องประดับไทยปี’52 : อุปสงค์ตลาดโลกหด

สถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า น่าจะเติบโตไม่เกินร้อยละ 20 ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2551 ที่เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยในปี 2552 มูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทยเปลี่ยนแปลง เพราะมีความเป็นไปได้ว่านักลงทุนจำนวนไม่น้อยยังคงนิยมที่จะลงทุนและค้ากำไรจากส่วนต่างของราคาทองคำแท่งเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เพราะคาดว่าภาวะการลงทุนทั้งในตลาดเงินและตลาดทุนยังคงมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องจากปีก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปในปี 2552 น่าจะมีแนวโน้มเติบโตในระดับที่สูงใกล้เคียงกับมูลค่าการนำเข้าและส่งออกในปี 2551 ที่ผ่านมา ขณะที่สถานการณ์การค้านั้นมีความเป็นไปได้ว่าไทยจะขาดดุลการค้าในสินค้าประเภทนี้ต่อเนื่องจากปี 2551 ที่ขาดดุลถึง 37,935.6 ล้านบาท(หรือคิดเป็นมูลค่า 1,089.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งนับเป็นการขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ 9 ปีนับตั้งแต่ปี 2543

แต่หากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยโดยไม่นับรวมการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป ก็คาดว่าน่าจะมีอัตราการเติบโตชะลอตัวลงจากปี 2551 ที่เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.99 ในรูปเงินบาท ด้วยการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเลขหลักเดียวในระดับที่ไม่เกินร้อยละ 10 ในกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เพราะสินค้ากลุ่มนี้จะมีความอ่อนไหวต่อภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างสูง โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของตลาดหลักอัญมณีและเครื่องประดับของไทยทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปที่ส่อแววซบเซาค่อนข้างชัดเจนในปี 2552 ขณะที่ไทยต้องพึ่งพิงตลาดทั้งสองแห่งรวมกันประมาณร้อยละ 30-40 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยโดยรวมในแต่ละปี ดังนั้น เมื่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดดังกล่าวหดตัวลง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ย่อมต้องปรับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยด้วยการลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยและราคาแพงอย่างสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับน่าจะได้รับผลกระทบในทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดในอีกหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ผู้บริโภคไม่มีแรงซื้อมากเท่าที่ควรด้วย ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการชะลอคำสั่งซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2552 จะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามมา และน่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม

อย่างไรก็ตาม หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศคู่ค้าของไทยเป็นไปด้วยดี หรือสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างภายในครึ่งหลังปี 2552 ก็น่าจะช่วยผลักดันให้ความต้องการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้นได้บ้างในระดับหนึ่ง และมีความเป็นไปได้ว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่ไม่นับรวมการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปอาจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10-15 โดยในช่วงครึ่งแรกปี 2552 อาจจะทรุดตัวต่อเนื่องจากคำสั่งซื้อที่หดตัวลงในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2551 เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงขาลง แต่น่าจะกระเตื้องขึ้นในครึ่งหลังปี 2552 เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐฯและยุโรปสามารถฟื้นตัวได้ภายในไตรมาส 3-4 ของปี 2552 อันเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งสหรัฐฯและยุโรป รวมถึงงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งญี่ปุ่น จีน อินเดีย และรัสเซียด้วย

วิเคราะห์ศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในตลาดโลกปี 2552
หากวิเคราะห์ศักยภาพของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดโลกจะพบว่า สินค้ากลุ่มนี้ของไทยมีจุดแข็ง-จุดอ่อน และโอกาส-อุปสรรค ดังรายละเอียดในตารางต่อไปนี้

จุดแข็ง
• สินค้าโดดเด่นด้วยเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่นการเผาพลอย และการเจียระไน
• ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยสีของโลก ทำให้มีโอกาสเลือกซื้อวัตถุดิบที่หลากหลาย คุณภาพดี ในราคาเหมาะสม
• ช่างฝีมือของไทยเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำด้านการเผาพลอย
• แรงงานไทยมีทักษะและฝีมือประณีตในการขึ้นรูปเครื่องประดับด้วยมือประณีตในการขึ้นรูปเครื่องประดับด้วยมือ

จุดอ่อน
• การขาดแคลนวัตถุดิบภายในประเทศ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก
• การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการออกแบบและการเจียระไนยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับอินเดีย และยุโรป
• การเข้าไปลงทุนในแหล่งวัตถุดิบมีอุปสรรคหลายประการ
• เครือข่ายการตลาดที่ยังไม่กว้างขวางมากนักเมื่อเทียบกับฮ่องกง ทำให้สินค้ายังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าที่ควร

โอกาส
• ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพพอสมควร
• มีหน่วยงานวิเคราะห์และตรวจสอบอัญมณีที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทำให้สินค้าของไทยเป็นที่น่าเชื่อถือในด้านคุณภาพพอสมควร
• ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งในเอเชีย แม้ปัจจุบันจะสั่นคลอนบ้างตามภาวะการเมืองในประเทศและกำลังซื้อที่มีแนวโน้มลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เป็นไปได้ว่ามาตรการการกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทยในปี 2552 น่าผลักดันไทยให้ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในภูมิภาคเอเชียได้ต่อเนื่อง
• มีอุตสาหกรรรมสนับสนุนอย่างบรรจุภัณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ทั้งในด้านคุณภาพ ความหลากหลาย และการเพียงพอกับความต้องการ

อุปสรรค
• การแข่งขันค่อนข้างสูงจากจีน และอินเดียที่มีความได้เปรียบด้านค่าจ้าง และความพร้อมของวัตถุดิบ อีกทั้งยังมีการพัฒนาด้านการผลิตอย่างต่อเนื่องด้วย
• มีการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศคู่แข่งมากขึ้น เพราะค่าจ้างถูกกว่าไทย อาทิจีน อินเดีย และเวียดนาม
• เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป มีแนวโน้มชะลอตัว
• อุตสาหกรรมสนับสนุนบางประเภทประสบปัญหาด้านคุณภาพ และผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการ เช่นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและตัวเรือน การชุบ และการผลิตแม่พิมพ์ต้นแบบ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2552 น่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างน้อย 3 ประการคือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ปัญหาการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ เพราะแม้ว่าไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ค้าขายพลอยและเครื่องประดับเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะในส่วนของพลอยสีอย่างไพลินและทับทิม ที่ผู้บริโภคชาวต่างชาติมักจะต้องนึกถึงสินค้าจากไทยเป็นแห่งแรก แต่ไทยกลับต้องอาศัยวัตถุดิบจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น ด้วยการนำเข้าพลอยเป็นมูลค่ารวมหลายพันล้านบาทต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนำมาเจียระไนและขึ้นเรือนเครื่องประดับก่อนจะส่งออกต่อไป เนื่องจากปัจจุบันพลอยดิบภายในประเทศทั้งทับทิมและไพลินแทบจะไม่มีแล้ว อีกทั้งในส่วนของเพชร ไข่มุก ทอง หรือเงิน เป็นต้น ต่างก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศแทบทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ดังนี้

1.ปัญหาการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลกตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย การที่ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยุโรปมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2552 ส่งผลให้ผู้นำเข้าทั้งสหรัฐฯและยุโรปจำนวนไม่น้อยมีปัญหาการชำระเงินและชะลอการชำระเงิน เพราะเครดิตที่ได้รับจากธนาคารหดหายไป ประกอบกับความมั่งคั่งของผู้บริโภคภายในประเทศดังกล่าวลดลง ดังนั้น การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯและยุโรปปี 2552 อาจจะเติบโตเป็นเลขหลักเดียว หรืออาจจะเติบโตติดลบก็ได้ จึงเป็นการยากที่จะขยายตลาดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การสร้างความสัมพันธ์กับตลาดดั้งเดิมต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม เพราะตลาดหลักดังกล่าวยังคงเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการบริโภคค่อนข้างสูงสำหรับอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ของไทย โดยผู้ส่งออกไทยที่ส่งสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯและยุโรปเป็นหลัก ควรร่วมมือกันอย่างจริงจังในการสร้างกระแสความนิยมการใช้พลอยสีซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยและวัตถุดิบใหม่ๆ เพราะมีราคาย่อมเยากว่าเครื่องประดับเพชร ประกอบกับผู้บริโภคมีแนวโน้มจะหันมาให้ความสำคัญกับรูปแบบและการผสมผสานของอัญมณีสีสันต่างๆมากขึ้น โดยยังคงอิงตามกระแสแฟชั่นเป็นหลัก พร้อมกับการนำเสนอสินค้าให้หลากหลายมากขึ้นและเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งเครื่องประดับที่มีการใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น หรือสามารถใช้ได้ในหลากหลายโอกาสภายในชิ้นเดียวน่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้พอสมควร อีกทั้งยังก่อให้เกิดความรู้สึกของการคุ้มค่าคุ้มราคาที่จ่ายไปสำหรับผู้ซื้อจากอรรถประโยชน์ดังกล่าวด้วย ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคของการระมัดระวังค่าใช้จ่ายเช่นปัจจุบันได้ดีในระดับหนึ่ง นอกจากนี้อาจจะต้องหันมาพัฒนารูปแบบสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคภายในประเทศที่มีกำลังซื้อสูงมากขึ้น จากเดิมที่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยพึ่งพาการส่งออกประมาณร้อยละ 80 และการจำหน่ายภายในประเทศเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น

2.ปัญหาด้านการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพราะคู่แข่งแต่ละรายของไทยต่างก็ต้องเร่งเครื่องเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในภาวะที่อุปสงค์ของตลาดโลกส่วนใหญ่ชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องหันมาเพิ่มความสำคัญต่อการแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกไปตลาดอินเดีย ตะวันออกกลาง และรัสเซียในปี 2552 น่าจะยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะเป็นตลาดที่คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของตลาดสหรัฐฯไม่มากนัก และกำลังซื้อยังค่อนข้างดี

สำหรับตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ที่แม้ว่าอาจจะมีมูลค่าและอัตราการเติบโตไม่สูงนักในปี 2552 เนื่องด้วยมรสุมทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า แต่ก็ต้องมีการติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งการเจาะตลาดหรือขยายตัวของสินค้าเครื่องประดับในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้แบรนด์หรือตรายี่ห้อสินค้าภายใต้การผลิตที่มีคุณภาพเป็นกลยุทธ์บุกตลาด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าที่ตอบสนองต่อตลาดระดับบนเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้ลูกค้ารับรู้ถึงความแตกต่างจากสินค้าที่วางจำหน่ายโดยทั่วไปแต่ไม่มีแบรนด์ ขณะเดียวกันก็ควรหันมาให้ความสำคัญกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับตราสินค้ามากขึ้นด้วย โดยอาจจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ที่โดดเด่นยิ่งใหญ่และเป็นไปอย่างสม่ำเสมออันเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ให้ได้มากที่สุดและสร้างโอกาสในการเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าใหม่ๆเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่การเจาะตลาดจีนที่แม้ว่าเศรษฐกิจของจีนอาจจะได้รับผลกระทบบ้างจากรายได้การส่งออกสินค้าโดยรวมที่มีแนวโน้มลดลง อันเนื่องมาจากคำสั่งซื้อที่หดหายของตลาดสหรัฐฯและยุโรป แต่จีนยังคงมีอัตราการออมอยู่ในเกณฑ์สูงและหนี้ภาคครัวเรือนค่อนข้างต่ำ จึงน่าจะยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแรงระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยจำเป็นต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคในเมืองใหญ่ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจสูง เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจ เซินเจิ้น เจิ้งโจว และซิงเตา เป็นต้น เนื่องจากผู้บริโภคในเมืองเหล่านี้มีกำลังทรัพย์มากเพียงพอที่จะซื้อสินค้าเครื่องประดับจากไทย พร้อมกับดำเนินกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม เพื่อให้เห็นคุณค่าและความมีระดับของผู้ที่สวมใส่

3.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ เพราะไทยต้องอาศัยวัตถุดิบจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาต่อรองเพื่อผ่อนผันและหามาตรการรองรับข้อบังคับหรือกฎหมายต่างๆ ของประเทศคู่ค้าที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุดิบในแหล่งต่างๆของไทย รวมถึงการเร่งแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง เช่น เพิ่มการทำเหมืองในศรีลังกา เคนยา แทนซาเนีย รวมถึงการหันไปซื้อทับทิมจากแหล่งอื่นๆนอกเหนือจากพม่าเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เช่น ศรีลังกา แทนซาเนีย เคนยา ออสเตรเลีย และปากีสถาน เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการที่ต้องพึ่งแหล่งวัตถุดิบทับทิมจากพม่า ที่อาจจะถูกคว่ำบาตรจากพันธมิตรของสหรัฐฯตามมาอีกหลายประเทศ หรือแม้แต่แหล่งวัตถุดิบแถบแอฟริกาใต้ ที่อาจจะมีบางประเทศดำเนินการเลียนแบบตามมาดากัสการ์ที่ควบคุมการส่งออกพลอยดิบ เพื่อหวังสร้างรายได้เข้าประเทศจากพลอยที่เจียระไนแล้วเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการกระตุ้นความต้องการพลอยสีและวัตถุดิบใหม่ๆ เพื่อทดแทนทับทิม และไพลิน นอกจากนี้ ควรเร่งดำเนินการวางแผนบริหารการจัดการด้านวัตถุดิบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นท่ามกลางราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นและผู้บริโภคมีความมั่งคั่งลดลง เช่นการผลิตเครื่องประดับให้มีน้ำหนักเบาลงหรือใช้โลหะมีค่าน้อยลง การหันไปใช้โลหะเงินแทนทองคำขาว หรือใช้พลอยเนื้ออ่อนที่มีสีสันสดใสตกแต่งบนตัวเรือนเครื่องประดับแทนพลอยเนื้อแข็ง หรืออาจจะต้องหันไปใช้อัญมณีตกแต่งมากขึ้นกว่าการใช้โลหะมีค่า เช่น เงินหรือทอง เป็นต้น

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2552 น่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ปัญหาการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ จากการที่แหล่งวัตถุดิบสำคัญอย่างพม่าและมาดากัสการ์มีอุปสรรคในการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากมาตรการทางการค้าทางตรงและทางอ้อมของประเทศคู่ค้าของไทย ที่อาจจะเป็นการซ้ำเติมให้การค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดโลกเป็นไปด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2552 น่าจะเติบโตไม่เกินร้อยละ 20 ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2551 ที่เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับปี 2550 ทั้งนี้มูลค่าการนำเข้าและส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปน่าจะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้มูลค่าการนำเข้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมเปลี่ยนแปลง และคาดว่าไทยจะยังคงขาดดุลการค้าในสินค้าประเภทนี้ต่อเนื่องจากปี 2551 ขณะที่มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยโดยไม่นับรวมการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปนั้น คาดว่าน่าจะมีอัตราการเติบโตชะลอตัวลงจากปี 2551 ที่เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.99 ด้วยการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเลขหลักเดียวในระดับที่ไม่เกินร้อยละ 10 ในกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เพราะมีความเป็นไปได้ว่าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจะมีความอ่อนไหวต่อภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างสูง แต่หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศคู่ค้าของไทยเป็นไปด้วยดี หรือสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างภายในครึ่งหลังปี 2552 ก็มีความเป็นไปได้ว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่ไม่นับรวมการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปอาจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10-15 ดังนั้น การดำเนินกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม ด้วยการสร้างความแตกต่างของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในเรื่องของคุณภาพ การออกแบบ ให้มีความหลากหลายและตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกับการนำเสนอสินค้าที่หลากหลายภายใต้ระดับราคาที่เหมาะสม เพื่อรองรับภาวะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีงบประมาณอันจำกัด และการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้เห็นคุณค่าและความมีระดับของผู้ที่ได้สวมใส่ จึงน่าจะเป็นทางรอดสำหรับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยในการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นปัจจุบัน