วาเลนไทน์ในกทม.ปี’52 : เงินสะพัด 940 ล้านบาท…ลดลง 3.1%

วันวาเลนไทน์ในปี 2552 นี้ตรงกับวันเสาร์ ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยเอื้ออำนวยที่สำคัญสำหรับบรรดานักการตลาดทั้งหลายที่มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวันวาเลนไทน์ เนื่องจากบรรดาผู้ที่ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มีเวลาในการที่จะเลือกซื้อสิ่งของเพื่อมอบให้แก่กัน และยังมีเวลาที่จะทำกิจกรรมอื่นๆร่วมกัน เช่น การรับประทานอาหาร ชมภาพยนตร์ ช็อปปิ้ง ท่องเที่ยวระยะใกล้ เป็นต้น ดังนั้นจึงเห็นว่าบรรดาธุรกิจต่างๆเริ่มมีการโหมโรงกระตุ้นผู้บริโภคให้มีการจับจ่ายใช้สอยตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องจากเทศกาลตรุษจีน บรรดาผู้ประกอบการต่างหวังเม็ดเงินที่จะสะพัดในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์นี้มาช่วยให้กิจการกระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงเน้นประหยัดไม่จับจ่ายใช้สอยฟุ่มเฟือย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่บีบรัด ความวิตกกังวลถึงรายได้ในอนาคต และความกังวลถึงความมั่นคงทางด้านหน้าที่การงาน ทำให้ในปีนี้ผู้บริโภคจัดอันดับความสำคัญ โดยให้ความสำคัญกับการซื้อดอกไม้มอบให้กัน และการรับประทานอาหารร่วมกัน ในขณะที่พยายามตัดค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ไม่จำเป็น อันเป็นผลมาจากข้อจำกัดของงบประมาณ ทำให้ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ในช่วงวันวาเลนไทน์คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้ และธุรกิจร้านอาหาร

โพลล์ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้…วาเลนไทน์ปีฉลู เม็ดเงินสะพัดลดลง 3.1%
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “พฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาล วาเลนไทน์ปี 2552” ในระหว่างวันที่ 29 มกราคม- 2 กุมภาพันธ์ 2552 จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 580 คน โดยเน้นกลุ่มเยาวชน กลุ่มนิสิตนักศึกษา และกลุ่มผู้ที่เพิ่งจะเริ่มเข้าทำงาน ซึ่งจะมีอายุอยู่ระหว่าง 13-25 ปี เนื่องจากผลการสำรวจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเทศกาลนี้ และเป็นกลุ่มกำลังซื้อหลักของเทศกาลนี้ด้วย ส่วนกลุ่มอายุอื่นๆนั้นค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลนี้ไม่แตกต่างกันมากนักในแต่ละปี คาดว่าในปี 2552 นี้จะมีเม็ดเงินสะพัดทั่วกรุงเทพฯในช่วงวันวาเลนไทน์ประมาณ 940 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาแล้วเม็ดเงินสะพัดในกรุงเทพฯลดลงร้อยละ 3.1 แม้ว่าวันวาเลนไทน์ในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ ซึ่งนับว่าเอื้อต่อโอกาสที่ธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวันวาเลนไทน์จะสร้างเม็ดเงินสะพัดได้เพิ่มขึ้น แต่ท่ามกลางภาวะบีบรัดทางเศรษฐกิจ และความวิตกเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ทำให้คนกรุงเทพฯยังเน้นประหยัด และไม่จับจ่ายฟุ่มเฟือย โดยจะเห็นได้จากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวันวาเลนไทน์ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า และค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน การชมภาพยนตร์ เป็นต้น

เงินสะพัดวันวาเลนไทน์…ช็อคโกแล็ตนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ค่าใช้จ่ายกิจกรรมพิเศษเพิ่ม
ในปี 2552 นี้มีปัจจัยลบสำคัญคือ ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และความวิตกกังวลถึงรายได้ในอนาคต ขณะที่ราคาสินค้าและบริการก็ยังอยู่ในเกณฑ์สูง จากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.8 ปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์ ร้อยละ 43.9 ยังคงงบประมาณค่าใช้จ่ายเท่ากับในปี 2551 และมีเพียงร้อยละ 14.3 ของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่ตั้งใจจะเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายในปี 2552 นี้ เนื่องจากตั้งใจจะซื้อของขวัญที่มีราคาแพงขึ้นกว่าเมื่อปี 2551 และคาดว่าจะมีกิจกรรมพิเศษเพิ่มเติมในช่วงวันวาเลนไทน์ เนื่องจากในปีนี้วันวาเลนไทน์ตรงกับวันหยุด

สำหรับคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่จะปรับลดค่าใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์นั้น ร้อยละ 32.0 ต้องการประหยัด ร้อยละ 26.5 มีภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.0 เผชิญกับปัญหาราคาสินค้าแพงขึ้น และที่เหลืออีกร้อยละ 20.5 ไม่ต้องการทำกิจกรรมพิเศษ เนื่องจากต้องการเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคต และบางส่วนยังเห็นว่าในช่วงวันวาเลนไทน์ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นมากเกินไป

ค่าใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์แยกเป็น ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า
จากการสำรวจค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ในปี 2552 พบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.0 เลือกซื้อช็อคโกแล็ต ร้อยละ 32.7 เลือกซื้อดอกไม้ ร้อยละ 9.3 ซื้อการ์ด ร้อยละ 7.1 ประดิษฐ์สิ่งของเอง ร้อยละ 6.2 เลือกซื้อของจากร้านกิ๊ฟช็อป ร้อยละ 5.7 เลือกซื้อขนม และที่เหลืออีกร้อยละ 5.0 เลือกซื้อสินค้าอื่นๆ เช่น ลูกอม สติ๊กเกอร์ เป็นต้น ประเด็นที่น่าสนใจคือ ปี 2552 นี้นับเป็นปีแรกที่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างนั้นระบุว่าจะซื้อช็อคโกแล็ตในวันวาเลนไทน์เป็นอันดับหนึ่ง และมากกว่าการเลือกซื้อดอกไม้ ซึ่งเคยมีสัดส่วนมากเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด ดังนั้น ในเทศกาลวันวาเลนไทน์นับว่าเป็นโอกาสในการเพิ่มยอดจำหน่ายให้กับบรรดาผู้ผลิตช็อคโกแล็ต อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาถึงประเด็นในการให้ช็อคโกแล็ตในช่วงวันวาเลนไทน์แล้วจะพบว่าส่วนหนึ่งเป็นการให้เพื่อแสดงถึงมิตรภาพใสๆระหว่างเพื่อนในช่วงวัยรุ่น รวมไปถึงเพื่อนร่วมงาน แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่ซื้อให้คู่รักแล้วการให้ดอกไม้ โดยเฉพาะดอกกุหลาบยังคงมาเป็นอันดับหนึ่ง ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ การเลือกซื้อสินค้าในวันวาเลนไทน์ให้บรรดาเพื่อนๆนั้น โอกาสที่จะตัดสินใจเปลี่ยนประเภทสินค้านั้นค่อนข้างสูงมาก กล่าวคือ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างตั้งใจจะเลือกซื้อช็อคโกแล็ต แต่เมื่อไปเลือกซื้อสินค้าแล้วอาจจะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าประเภทอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มตัวอย่างสามารถหาซื้อช็อคโกแล็ตที่ราคาไม่แพง และมีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามได้หรือไม่ รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงการเก็บรักษาด้วย เพื่อให้ช็อคโกแล็ตยังคงรูปสวยงามเมื่อถึงมือผู้รับ

โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์แยกเป็น ดังนี้
– ค่าใช้จ่ายในการซื้อดอกไม้
ในช่วงวันวาเลนไทน์ดอกกุหลาบนับว่าเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมทุกปี โดยเฉพาะดอกกุหลาบสีแดงและสีขาว ซึ่งถือว่าเป็นสัญญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย(อายุ 13-25 ปี)ส่วนใหญ่ก็ยังยืนยันที่จะให้ดอกกุหลาบโดยเฉพาะสีแดงและสีขาวถึงร้อยละ 83.7 ทำให้ยอดจำหน่ายดอกกุหลาบในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์นี้สูงกว่าช่วงปกติประมาณ 10 เท่าตัว ซึ่งทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดทั้งในธุรกิจร้านจัดดอกไม้ ร้านจำหน่ายดอกไม้สด ไปจนถึงเกษตรกรผู้ปลูกดอกกุหลาบ จากการสำรวจในปีนี้บรรดาผู้ที่ต้องการมอบดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์นั้นตั้งงบประมาณในการซื้อดอกกุหลาบเฉลี่ย 253 บาทต่อคน อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการซื้อดอกไม้ในวันวาเลนไทน์นั้นแตกต่างกันอย่างมากเมื่อแยกกลุ่มลูกค้าที่ซื้อให้เพื่อนและซื้อให้แฟน รวมทั้งยังแตกต่างกันในกรณีที่ซื้อเป็นดอกเดี่ยวโดยไม่จัดเป็นช่อ ซื้อดอกเดี่ยวและจัดเป็นช่อ และซื้อหลายดอกและจัดเป็นช่อ นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจที่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหันไปเลือกซื้อช็อคโกแล็ตแทนการซื้อดอกไม้ เนื่องจากช็อคโกแล็ตนั้นเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความรักเช่นกัน อีกทั้งยังเก็บรักษาได้ง่าย และอายุการเก็บรักษานานกว่า รวมทั้งราคาคงที่ไม่พุ่งขึ้นไปอย่างมากเหมือนดอกกุหลาบในช่วงวันวาเลนไทน์ จากการสำรวจพบว่าในปี 2552 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการซื้อดอกไม้ในวันวาเลนไทน์ประมาณ 253 บาทต่อคน คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้วาเลนไทน์ถึง 230 ล้านบาท

– ค่าใช้จ่ายในการซื้อช็อคโกแล็ต จากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างตั้งใจจะเลือกซื้อช็อคโกแล็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ในปีนี้พบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างตั้งงบประมาณในการซื้อช็อคโกแล็ตเฉลี่ย 290 บาทต่อคน คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินสะพัดถึง 300 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2551 นั้นเม็ดเงินสะพัดในการซื้อช็อคโกแล็ตใกล้เคียงกัน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการซื้อช็อคโกแล็ตต่อคนลดลง โดยช็อคโกแล็ตที่นิยมซื้อคือ ช็อคโกแล็ตดำ รองลงมาคือ ช็อคโกแล็ตนมและช็อคโกแล็ตขาว ส่วนลักษณะของช็อคโกแล็ตที่นิยมเลือกซื้อคือ ช็อคโกแล็ตที่บรรจุกล่อง รองลงมาเป็นแบบแท่ง ก้อน/ชิ้น และอื่นๆ เช่น ลูกอมเคลือบช็อคโกแล็ต เป็นต้น

– ค่าใช้จ่ายในการซื้อของอื่นๆไม่รวมค่าดอกไม้และช็อคโกแล็ต สินค้ายอดฮิตคือ การ์ดวาเลนไทน์ ของประดิษฐ์ขึ้นเอง สินค้ากิ๊ฟช็อป โดยเฉพาะตุ๊กตาหมีและเสื้อผ้า และขนม อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง คือ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.1 เตรียมหาซื้ออุปกรณ์มาประดิษฐ์เป็นของขวัญมอบให้กับเพื่อนๆ หรือผู้เป็นที่รักเอง หรือถ้าไม่มีฝีมือด้านประดิษฐ์ก็ระบุว่าจะหาซื้อของที่ประดิษฐ์ด้วยมือให้เป็นของขวัญ เนื่องจากมีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าและยังเป็นของที่เป็นเอกลักษณ์มากกว่าด้วย รวมทั้งยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้น ในช่วงนี้ธุรกิจที่เฟื่องฟูในช่วงวันวาเลนไทน์ที่ไม่ควรมองข้าม คือ ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ประดิษฐ์ ซึ่งแหล่งใหญ่ในกรุงเทพฯ คือ ย่านพาหุรัด-สำเพ็ง ส่วนแหล่งที่จะหาซื้อของประดิษฐ์ด้วยมือแหล่งใหญ่ในกรุงเทพฯ คือ ตลาดนัดสวนจตุจักร ดังนั้น ในช่วงวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์นี้ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ทั้งสองแหล่งนี้จะมีผู้คนไปเลือกหาซื้อของเพื่อมอบให้คนรักเนื่องในวันวาเลนไทน์มากเป็นพิเศษ จากการสำรวจในปีนี้พบว่าคนกรุงเทพฯที่จะเลือกซื้อของในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์นี้ตั้งงบค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับการซื้อของ(ไม่รวมค่าดอกไม้และช็อคโกแล็ต)เฉลี่ย 230 บาทต่อคน คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวเนื่อง 200 ล้านบาท

2. ค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมอื่นๆ นอกจากการซื้อสินค้าเพื่อมอบให้แก่กันในช่วงวันวาเลนไทน์แล้ว การทำกิจกรรมพิเศษอื่นๆร่วมกันก็เป็นที่นิยมเช่นกันโดยเฉพาะดูภาพยนตร์ ช็อปปิ้ง รับประทานอาหารนอกบ้าน เป็นต้น จากการสำรวจพบว่ากิจกรรมพิเศษยอดนิยมในช่วงวันวาเลนไทน์อันดับหนึ่งคือ การรับประทานอาหารนอกบ้าน รองลงมาคือ การส่งข้อความผ่านมือถือและอินเทอร์เน็ต การโทรศัพท์คุยกันเป็นกรณีพิเศษ และการช็อปปิ้งด้วยกัน ซึ่งในปี 2552 นี้วันวาเลนไทน์ตรงกับวันเสาร์นับว่าเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมพิเศษในวันวาเลนไทน์ จากการสำรวจพบว่าค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมพิเศษนั้นเป็นค่าใช้จ่ายประเภทเดียวที่สร้างเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2551 กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการทำกิจกรรมพิเศษในปี 2552 เท่ากับ 240 บาทต่อคน สร้างเม็ดเงินสะพัด 210 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2551 ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 250 บาทต่อคน และสร้างเม็ดเงินสะพัดเพียง 200 ล้านบาทเท่านั้น

ภาวะเศรษฐกิจซบเซา…คนกรุงฯจัดลำดับประเภทค่าใช้จ่าย
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และความวิตกกังวลในเรื่องรายได้ในอนาคต และความมั่นคงทางด้านหน้าที่การงาน ปัจจัยเหล่านี้เป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังเน้นการประหยัดค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะยังคงให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ ดังนั้นคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจัดลำดับประเภทค่าใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์โดยประเภทค่าใช้จ่าย 2 ลำดับแรก คือ การซื้อดอกไม้ และการรับประทานอาหารร่วมกัน โดยการซื้อดอกไม้นั้นยังคงเป็นค่าใช้จ่ายลำดับแรกที่ยังต้องคงไว้ เนื่องจากการมอบดอกไม้ โดยเฉพาะดอกกุหลาบนับว่าเป็นสัญญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์ ดังนั้นแม้ว่าราคากุหลาบในวันวาเลนไทน์จะแพงมากขึ้นเท่าใดก็ตาม คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ก็ยังต้องเลือกซื้อเพื่อนำไปมอบให้แก่กัน หลังจากนัดพบปะเพื่อมอบดอกไม้ให้แก่กัน หรือการส่งดอกไม้ไปให้ที่บ้านหรือที่ทำงานแล้ว สิ่งที่พลาดไม่ได้คือ การนัดรับประทานอาหารร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นมื้อกลางวันหรือมื้อเย็น ซึ่งจะเห็นได้จากผลการสำรวจที่พบว่าเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้ และกิจกรรมพิเศษโดยเฉพาะการรับประทานอาหารในปี 2552 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงวันวาเลนไทน์

ดังนั้น เมื่อคนกรุงเทพฯต้องจำกัดค่าใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์ เมื่อยังต้องคงค่าใช้จ่ายในการซื้อดอกไม้และการรับประทานอาหารร่วมกัน ทำให้คนกรุงเทพฯต้องลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับวันวาเลนไทน์ในด้านอื่นๆ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหันไปลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอื่นๆที่ไม่ใช่ดอกไม้และช็อคโลแล็ต ทำให้คาดหมายได้ว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายประเภทนี้จะได้รับอานิสงส์จากวันวาเลนไทน์ในปีนี้ลดลง โดยเฉพาะร้านกิ๊ฟช็อป โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหันไปซื้ออุปกรณ์มาประดิษฐ์เอง หรือเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาต่อชิ้นไม่แพงมากนัก

หลากธุรกิจรับทรัพย์…อานิสงส์วาเลนไทน์

เม็ดเงินที่สะพัดในธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวันวาเลนไทน์นั้นเชื่อมโยงกับค่าใช้จ่ายต่างๆของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยธุรกิจที่ได้อานิสงส์ในช่วงวันวาเลนไทน์ แยกเป็นดังนี้

1. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้ ในช่วงก่อนจะถึงเทศกาลวันแห่งความรักประมาณ 1 สัปดาห์ เป็นช่วงที่เกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ประเด็นที่ต้องพิจารณาถึงโอกาสในการสร้างกำไรของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้ คือ

– ปริมาณดอกกุหลาบที่เข้าสู่ตลาดในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลโดยตรงกับปริมาณและคุณภาพดอกกุหลาบคือ สภาพอากาศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กำหนดราคาดอกกุหลาบในช่วงวันวาเลนไทน์ว่าจะเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติมากน้อยเพียงใด

ในปี 2552 คาดว่าราคาดอกกุหลาบจะมีราคาสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว เพราะปีนี้อากาศหนาวเย็นผิดปกติ ทำให้กุหลาบช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาดอกไม่สวย และมีขนาดเล็ก ผลผลิตดอกกุหลาบขาดตลาด แต่ถือว่าโชคดีที่ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ อากาศอยู่ในอุณหภูมิที่พอดีกับการเติบโตของกุหลาบ ทำให้ออกดอกมากขึ้น ทำให้มีปริมาณการสั่งซื้อดอกกุหลาบเพิ่มขึ้นทันที 3 เท่า เกษตรกรผู้ปลูกจึงเร่งผลิตเพื่อส่งไปจำหน่าย ซึ่งในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ราคากุหลาบที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยที่ราคาดอกละ 1.50-2.00 บาทเท่านั้น แต่ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ผลผลิตกุหลาบชุดใหม่สำหรับจำหน่ายในวันวาเลนไทน์ราคาจะสูงขึ้นถึงดอกละ 8.00-10.00 บาท หรือสูงขึ้นประมาณ 4 เท่าตัวและกุหลาบสีแดงเป็นสีที่ขายดีที่สุด

ปัจจุบันในพื้นที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีพื้นที่ปลูกกุหลาบกว่า 4,000 ไร่ จำนวนเกษตรกรผู้ปลูก 130-150 ราย สามารถผลิตกุหลาบนำออกจำหน่ายในตลาดในจังหวัดและต่างจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพฯ มากถึงวันละกว่า 2 ล้านดอก และราคาขายเฉลี่ยดอกละ 6.00 บาท ไปจนถึง 10.00 บาท ตามขนาดและคุณภาพความสวยของดอกกุหลาบ ในช่วงวันวาเลนไทน์มีเงินสะพัดจากการขายดอกกุหลาบในพื้นที่อำเภอพบพระมากกว่า 20 -25 ล้านบาทต่อวัน และจะเป็นเช่นนี้ติดต่อกันประมาณ 2 สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยราคาดอกกุหลาบจะพุ่งสูงขึ้นกว่าในช่วงปกติ 4-7 เท่า(ทั้งนี้ขึ้นกับความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดปริมาณและคุณภาพของดอกกุหลาบ) กล่าวคือ ราคาดอกกุหลาบจากเดิมราคาดอกละ 1-2 บาท ในช่วงวันวาเลนไทน์ราคาเพิ่มเป็นดอกละ 6-8 บาท และ 8-10 บาท ตามแต่ขนาดของดอก พันธุ์ และสี ซึ่งกุหลาบที่เกษตรกรจำหน่ายแบ่งออกเป็น 3 เกรด คือเกรด A ราคาดอกละ 8-10 บาท เกรด B ราคาดอกละ 6-8 บาท และเกรด C ราคาดอกละ 4-6 บาท พันธุ์และสีของกุหลาบที่เป็นที่นิยมของตลาดแบ่งเป็น 2 ชนิด คือแกลกาล่าสีแดง ไม่มีหนาม และขาวแก้ว ซึ่งมีสีขาว ดอกใหญ่ คอโต และก้านแข็ง นอกจากนั้นก็จะเป็นกุหลาบสีต่างๆที่ใช้เพื่อตกแต่งสีสัน

– กุหลาบจากจีนเข้ามาตีตลาดกุหลาบของไทย นับตั้งแต่กุหลาบของจีนเข้ามาตีตลาดกุหลาบไทย ทำให้ในช่วงวันวาเลนไทน์ราคากุหลาบไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากนัก โดยกุหลาบจากจีนเข้าไปเบียดแย่งกุหลาบตลาดบน โดยราคาจำหน่ายใกล้เคียงกับกุหลาบตลาดบนของไทยที่มีแหล่งผลิตในเชียงรายและเชียงใหม่ ในขณะที่คุณภาพนั้นใกล้เคียงกับกุหลาบที่นำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบเพื่อป้อนตลาดบนของไทยคงต้องปรับตัวไปเป็นการผลิตกุหลาบตกเกรด เพื่อป้อนตลาดระดับกลาง โดยความต้องการของกุหลาบตกเกรดในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์สูง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าการผลิตกุหลาบป้อนตลาดบน เนื่องจากสามารถผลิตได้ทางภาคเหนือ

ประเด็นที่น่าสนใจจากการสอบถามคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง และบรรดาร้านจำหน่ายดอกไม้พบว่า กลุ่มวัยรุ่นส่วนหนึ่งนิยมซื้อดอกกุหลาบแบบห่อ(50ดอก) แล้วนำไปจัดช่อเอง ซึ่งกุหลาบแบบห่อนี้ส่วนใหญ่มาจากแหล่งปลูกที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ราคากุหลาบแบบห่อในช่วงวัน วาเลนไทน์ปรับขึ้นไปเป็นห่อละ 120 บาท จากในช่วงปกติราคาจะอยู่ที่ประมาณ 70-80 บาท/ห่อ ทำให้การจำหน่ายดอกกุหลาบในลักษณะจัดช่อให้ของร้านจำหน่ายดอกไม้มียอดลดลงไปบางส่วน ในขณะที่กุหลาบแบบห่อและอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการจัดช่อดอกไม้มียอดจำหน่ายสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นบางกลุ่มให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ แต่ก็ยังไม่ได้ฟุ่มเฟือย นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ในช่วงวันวาเลนไทน์คือ กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เป็นสื่อกลางจากบรรดาร้านจัดดอกไม้ที่ใช้บริการส่งดอกไม้ถึงมือผู้รับ โดยอัตราค่าจ้างขึ้นอยู่กับระยะทางและเท่ากับราคาส่งผู้โดยสารปกติ ซึ่งจากการสอบถามมอเตอร์ไซค์รับจ้างย่านปากคลองตลาดพบว่าเฉพาะในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นั้น มอเตอร์ไซค์รับจ้างแต่ละรายจะให้บริการเฉพาะการส่งดอกไม้ขั้นต่ำ 20 เที่ยวขึ้นไป โดยคิดค่าบริการเท่ากับการส่งผู้โดยสาร(ตามระยะทาง)

สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวกับดอกไม้ที่รับทรัพย์ในช่วงวันวาเลนไทน์แยกออกเป็น ร้านจัดดอกไม้และร้านขายดอกไม้ กุหลาบแดงเป็นสัญญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์ ทำให้ในช่วงวาเลนไทน์ของทุกปีราคาดอกกุหลาบสีแดงจึงพุ่งขึ้นอย่างมาก ส่วนร้านจัดดอกไม้มีดอกกุหลาบให้บริการแก่ลูกค้าทั้งดอกกุหลาบในประเทศและดอกกุหลาบต่างประเทศ ซึ่งดอกกุหลาบในประเทศนั้นแต่ละร้านที่มีร้านเจ้าประจำที่ตลาดปากคลองตลาด และมีแหล่งซื้อสำรอง คือ ตลาดมีนบุรี และตลาดสี่มุมเมือง เนื่องจากในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ความต้องการดอกกุหลาบมีมาก จนบางครั้งทำให้ดอกกุหลาบขาดตลาด โดยเฉพาะดอกกุหลาบสีแดง อย่างไรก็ตาม บรรดาร้านจัดดอกไม้คาดว่าภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลกระทบต่อยอดการสั่งซื้อดอกไม้ ทำให้บรรดาร้านจัดดอกไม้ต้องปรับกลยุทธ์โดยการพัฒนารูปแบบการจัดดอกไม้และเพิ่มลูกเล่นในด้านอุปกรณ์ตกแต่ง ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องความสนใจจากลูกค้า รวมทั้งไม่ปรับราคาเพิ่มขึ้นมากนักเพื่อจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ

นอกจากนี้ ธุรกิจรับสั่งดอกไม้ออนไลน์ ก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์ช่วงวัน วาเลนไทน์ จากการสอบถามผู้ประกอบการร้านสั่งดอกไม้ออนไลน์พบว่ายอดคำสั่งซื้อในปี 2552 น่าจะลดลงประมาณร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากคาดการณ์ว่าผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในเรื่องค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่อายุมากกว่า 35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของร้านสั่งดอกไม้ออนไลน์ ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นยังเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายเงินในการซื้อดอกไม้และสินค้าอื่นๆในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา

2. ห้างสรรพสินค้า ในช่วงเทศกาลแหล่งจับจ่ายซื้อสินค้ายอดนิยมของคนกรุงเทพฯคือ ห้างสรรพสินค้า การเลือกซื้อสินค้าอื่นๆที่ไม่ใช่ดอกไม้นั้นคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างก็ตั้งใจจะไปเลือกซื้อที่ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะช็อคโกแล็ต ซึ่งจากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.4 เลือกซื้อช็อคโกแล็ตในห้างสรรพสินค้า ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของซุปเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าที่จะจัดบูธพิเศษเพื่อจำหน่ายช็อคโกแล็ตในช่วงวันวาเลนไทน์ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสำคัญในการที่จะให้คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังคงตัดสินใจเลือกซื้อช็อคโกแล็ต คือ ราคาไม่แพงและบรรจุภัณฑ์สวยงาม รวมทั้งมีรูปทรงและสีสันซึ่งแสดงถึงสัญญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์

ปัจจุบันช็อคโกแล็ตที่จำหน่ายกันอยู่นั้น มีให้เลือกหลากหลาย และราคาก็แตกต่างกันไปตามคุณภาพ และแหล่งที่มาของช็อคโกแล็ต จากการสำรวจพบว่าด้วยข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในปี 2552 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลือกซื้อช็อคโกแล็ตต่อคนลดลง เมื่อเทียบกับปี 2551 กล่าวคือ ในปี 2552 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลือกซื้อช็อคโกแล็ตอยู่ที่ 290 บาทต่อคน ในขณะที่ในปี 2551 ค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับ 320 บาทต่อคน ดังนั้น แม้ว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหันมาซื้อช็อคโกแล็ตเพิ่มขึ้น แต่เม็ดเงินสะพัดในธุรกิจช็อคโกแล็ตยังคงใกล้เคียงกับในปี 2551 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าวันวาเลนไทน์ปี 2552 นี้เป็นโอกาสของช็อคโกแล็ตที่ราคาไม่แพงมากนัก แต่นอกจากการเลือกซื้อด้วยการพิจารณาราคาเป็นอันดับแรกแล้ว สิ่งที่ได้รับการพิจารณาร่วมด้วยคือ ความสวยงามของบรรจุภัณฑ์

3. ธุรกิจบัตรอวยพร จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการบัตรอวยพรรายใหญ่ๆ ในประเทศไทย ต่างลงความเห็นว่ายอดจำหน่ายบัตรอวยพรสำหรับเทศกาลวันวาเลนไทน์ในปีนี้น่าจะทรงตัวพอๆ กับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากคนไทยหันไปนิยมการส่งอี-การ์ดหรือการส่งข้อความผ่านทางอี-เมล์แทน อย่างไรก็ตาม บัตรอวยพรในเทศกาลวันวาเลนไทน์นั้นยังมียอดจำหน่ายที่น่าพอใจ โดยกลุ่มเป้าหมายที่ให้ความสำคัญกับเทศกาลวันวาเลนไทน์ยังนิยมซื้อบัตรอวยพรส่งไปพร้อมกับดอกไม้หรือของขวัญ

4. ร้านกิ๊ฟท์ช็อป ในปีนี้ช่วงเทศกาลวาเลนไทน์มีแนวโน้มว่ากิจการของร้านกิ๊ฟท์ช็อปจะซบเซาในช่วงปีที่ผ่านมา พฤติกรรมการเลือกซื้อของในร้านกิ๊ฟช็อปในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์พอจะแบ่งลูกค้าออกเป็น 2 กลุ่มคือ ลูกค้าที่ซื้อให้เพื่อน ลูกค้ากลุ่มนี้จะซื้อของจำนวนมากชิ้นราคาไม่แพงนัก และส่วนใหญ่ซื้อเป็นของกระจุกกระจิก ส่วนลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งซื้อให้คู่รักจะเลือกของที่ดูดี ราคาที่ซื้อต่อชิ้นจะสูงกว่ากลุ่มแรก อย่างไรก็ตาม คู่แข่งที่มาแรงสำหรับร้านกิ๊ฟช็อปคือ ของที่ประดิษฐ์เอง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุในช่วง 17-29 ปี โดยความนิยมให้ของที่ประดิษฐ์เองนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากเห็นว่าของที่ประดิษฐ์เองนั้นมีคุณค่าทางใจต่อผู้รับที่เป็นที่รักมากกว่า

5. ร้านอาหาร บรรดาร้านอาหารต่างๆ เตรียมตัวรับเทศกาลวันวาเลนไทน์กันอย่างคึกคัก โดยถือว่าเป็นโอกาสโกยกำไรกันอีกช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะร้านอาหารที่มีบรรยากาศดีๆ หรือร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า เนื่องจากวันวาเลนไทน์ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ คาดว่าร้านอาหารบรรยากาศดีๆ และร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้านั้นจะมีโอกาสดีเป็นพิเศษ เนื่องจากในวันนั้นบรรดาหนุ่มสาว และวัยรุ่นจะมีกิจกรรมอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะการเดินเลือกซื้อของ และดูภาพยนตร์ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน

6. ธุรกิจสื่อสารไฮเทค ธุรกิจสื่อสารไฮเทคนี้นับว่าเป็นกามเทพยุคใหม่ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต สำหรับธุรกิจที่ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ คาดว่าเทศกาลวันวาเลนไทน์ปี 2552 นี้จะมีผู้ใช้บริการส่งเอสเอ็มเอสและเอ็มเอ็มเอสเพิ่มขึ้น โดยจากสถิติของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ระบุว่าในช่วงวันวาเลนไทน์ของทุกปีการส่งเอสเอ็มเอสเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 และการส่งเอ็มเอ็มเอสเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัวของช่วงปกติ ซึ่งทางบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือได้เตรียมความสามารถในการรองรับการใช้บริการ และเริ่มมีการจัดโปรโมชั่นในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ด้วย เช่น บริการดาว์นโหลดข้อความ เพลงและภาพฟรี เป็นต้น รวมทั้งมีการดึงเอาเทศกาลวาเลนไทน์มาจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อดึงให้ผู้ใช้บริการเข้ามาใช้บริการมากขึ้นด้วย

สำหรับธุรกิจที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต ในช่วงวาเลนไทน์จะส่งข้อความผ่านอี-เมล์หรืออี-การ์ดให้กับคนพิเศษ โดยลักษณะการใช้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตในช่วงวันวาเลนไทน์มี 2 ประเภท คือการใช้บริการฝากข้อความผ่านอินเทอร์เนตของโทรศัพท์มือถือ และการส่งบัตรอวยพรอิเล็กทรอนิกส์(E-card) การส่งบัตรอวยพรอิเล็กทรอนิกส์นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแสดงความรักที่มีผู้นิยมใช้กันมาก ทั้งนี้การส่งบัตรอวยพรแบบนี้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีราคาถูก จึงได้รับความนิยมมากกว่าการส่งบัตรอวยพร

บทสรุป
วันวาเลนไทน์เป็นอีกวันหนึ่งที่บรรดาธุรกิจต่างรอคอยด้วยความหวังว่าเทศกาลนี้จะมาช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้าและบริการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2552 นี้เงินสะพัดทั่วกรุงเทพฯในช่วงวันวาเลนไทน์จะอยู่ที่ประมาณ 940 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วลดลงร้อยละ 3.1 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซา ทำให้ผู้บริโภคเน้นประหยัดลดการจับจ่ายใช้สอยลง เนื่องจากยังวิตกกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตและความมั่นคงในหน้าที่การงาน นอกจากนี้ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าเม็ดเงินสะพัดในช่วงวันวาเลนไทน์ของทั้งประเทศในปี 2552 น่าจะอยู่ในระดับประมาณ 1,880 ล้านบาท โดยคำนวณจากเม็ดเงินสะพัดของคนกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นผู้กระจายเม็ดเงินให้สะพัดประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณเม็ดเงินสะพัดทั้งประเทศในช่วงวันวาเลนไทน์

สำหรับในปี 2552 นี้วันวาเลนไทน์ตรงกับวันเสาร์ ทำให้คาดหมายว่ากิจกรรมต่างๆในวันวาเลนไทน์ปีนี้จะคึกคักตั้งแต่ช่วงวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันหยุดยาว โดยบรรดาผู้ที่ให้ความสำคัญกับเทศกาลวาเลนไทน์ต่างนัดหมายกันไปจับจ่ายซื้อของกันล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ในยุคเศรษฐกิจซบเซาทำให้ผู้บริโภคเน้นประหยัดรายจ่าย ทำให้ผู้บริโภคหันมาจัดอันดับความสำคัญของกิจกรรมในวันวาเลนไทน์ โดยกิจกรรมที่มีความสำคัญมากคือ การมอบดอกไม้ให้กับผู้เป็นที่รัก และการรับประทานอาหารร่วมกัน ในขณะที่งบประมาณมีจำกัด ทำให้ต้องมีการลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่เหลือ ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมากนัก ผลของพฤติกรรมการจัดลำดับความสำคัญการใช้จ่ายของผู้บริโภค อันเนื่องจากภาวะบีบรัดทางเศรษฐกิจ และความกังวลถึงรายได้ในอนาคต ทำให้เม็ดเงินที่สะพัดในช่วงวันวาเลนไทน์ปี 2552 ลดลงแล้ว ยังทำให้บางธุรกิจได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินที่สะพัดในวันวาเลนไทน์ลดลงด้วย