ที.ซี.แนลเชอรัลเดินเครื่องบุกฟังก์ชั่นนัลดริ๊งค์ ชูแบรนด์ ‘บริ๊งค์’ ทำตลาดปั๊มยอดขายโต 50%

ที.ซี.แนลเชอรัล ชี้เทรนด์ตลาดเสริมอาหารปี 52 ยังโตต่อเนื่อง รับปัจจัยหนุนจากภาครัฐกระตุ้นการจับจ่าย พร้อมชูแบรนด์ “บริ๊งค์” ทำตลาดเต็มสูบ หวังยอดขายเพิ่ม 50% เผยภายในปีนี้ลุยออกสินค้าใหม่อย่างน้อย 2 รายการ เชื่อหลังกฎหมายควบคุมสินค้าไม่ปลอดภัยบังคับใช้ 20 ก.พ.นี้ ช่วยยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

นายปิยะ กิตติธีรพรชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาด บริษัท ที.ซี.แนลเชอรัล จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้ชื่อ บริ๊งค์ เวคกี้ โอเม็กซ์ และยู-สลิม กล่าวว่า แนวโน้มของตลาดรวมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปีนี้ เชื่อว่าจะเติบโต 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยหากแบ่งสัดส่วนตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะพบว่า ในกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกายและเครื่องดื่ม คิดเป็นประมาณ 40% ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วไปและวิตามิน 50% ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับเด็กและอื่นๆ 10% โดยในกลุ่มตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมประเภทฟังก์ชันนัลดริ๊งค์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่บริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ทำตลาดอยู่นั้น ถือว่าเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่ดีมาก โดยคาดว่าเฉพาะปีนี้ตลาดดังกล่าวจะเติบโตถึง 20%

ทั้งนี้ การเติบโตดังกล่าวของกลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนัลดริ๊งค์ซึ่งเป็นกลุ่มเซ็กเมนต์ใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากปัจจัยในเรื่องของระดับราคาสินค้าในกลุ่มฟังก์ชั่นนัลดริ๊งค์ที่เป็นราคาที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้ง่าย โดยมีระดับราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 20-30 บาท และช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่ ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกในการหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น

“ก่อนหน้านี้เรามองว่าในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ ตลาดฟังก์ชั่นนัลดริ๊งค์จะได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่จากมาตรการเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กล้าออกมาจับจ่าย และช่วยกระตุ้นตลาดฟังก์ชั่นนัลดริ๊งค์ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าทั้งปีตลาดรวมของผลิตภัณฑ์ฟังก์ชั่นนัลดริ๊งค์จะยังคงเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ไว้” นายปิยะกล่าว

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาด ที.ซี. แนลเชอรัล กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทฟังก์ชั่นนัลดริ๊งค์เติบโตมากในปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ยังดูแลสุขภาพ และเมื่อมองถึงโอกาสทางการตลาดในผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้แล้ว ถือว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากมีผู้เล่นรายเดิมส่งสินค้าใหม่เข้ามาในตลาด อีกทั้งยังมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาด จึงส่งผลทำให้มีปัจจัยกระตุ้นการเติบโตของตลาดขึ้นตามลำดับ

ส่วนแผนทำตลาดในปีนี้ บริษัทฯ จะใช้งบทำตลาดทั้งหมดประมาณ 50 ล้านบาท ในการปรับภาพลักษณ์ให้มีความทันสมัยและมีทิศทางเดียวกัน โดยใช้ผลิตภัณฑ์ “บริ๊งค์” เพื่อสื่อสารการตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน พร้อมทั้งออกผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 2 รายการ ภายใต้แบรนด์ “บริ๊งค์”

“จากการสำรวจ เราพบว่า แบรนด์ บริ๊งค์ เป็นที่รู้จักของลูกค้าเป็นอย่างดี เราจึงได้เปลี่ยนชื่อวารสารคู่มือการสั่งซื้อสินค้าเป็น “บริ๊งค์ แม็ก” ส่วนช่องทางขายผ่านโทรศัพท์จะใช้ชื่อว่า “บริ๊งค์ คอลล์ เซ็นเตอร์” ซึ่งช่วยให้สามารถสื่อภาพของความทันสมัยไปยังกลุ่มเป้าหมายของเราได้ดีกว่า อีกทั้งช่องทางจำหน่ายผ่านคอลล์ เซ็นเตอร์ ยังมีแนวโน้มที่ลูกค้าจะซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้เนื่องจากสะดวกเพราะเป็นการบริการโดยส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้า จากแผนการทำตลาดดังกล่าวในปีนี้คาดการณ์ว่าจะทำให้ยอดขายในปีนี้เติบโตขึ้น 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนยอดขายจากบริ๊งค์ 80% ที่เหลืออีก 20% จะมาจากผลิตภัณฑ์เวคกี้ โอเม็กซ์ และยู-สลิม” นายปิยะ กล่าว

ส่วน พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ นายปิยะมองว่า ถือเป็นผลดีต่อธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะในตลาดดังกล่าวมีผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก และบางรายก็ผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น กฎหมายฉบับดังกล่าว จึงมีส่วนช่วยกลั่นกรองผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐานให้ออกไปจากตลาด อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การบังคับใช้กฎหมายก็มีความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีอาจใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเสียหายกับผู้ประกอบการได้เช่นกัน