กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งสร้าง Productivity Facilitator มุ่งเพิ่มผลิตภาพอุตสาหกรรมไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม จัดพิธีเปิด และ ลงนามความร่วมมือ (MOU) โครงการ “สร้างบุคลากรด้านการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร (Productivity Facilitator) โดยได้รับเกียรติจากนายดำริ สุโขธนัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดโครงการ ณ โรงแรมตวันนา รามาดา

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินโครงการ “สร้างบุคลากรด้านการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร (Productivity Facilitator)” ภายใต้ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมตามนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตภาพ (Productivity) สำหรับปีงบประมาณ 2552 โดยสถาบันได้คัดเลือกองค์กรจาก 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลาสติก และอื่นๆ รวม 20 องค์กร จาก 106 องค์กรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ

นายดำริ สุโขธนัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “โครงการนี้ เป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรในภาคอุตสาหกรรม ด้วยการพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากร ให้มีความพร้อมปฏิบัติงานในยุคโลกาภิวัตน์ อยู่ในระดับที่แข่งขันได้และสนับสนุนการเพิ่มความรู้ความสามารถด้านการบริหารจัดการให้แก่ผู้บริหารในสถานประกอบการ”

“ในฐานะของผู้บริหารและผู้ประกอบการ นอกจากจะต้องเร่งสร้างกลยุทธ์และพัฒนาองค์กรเพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจแล้ว ยังต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า องค์กรจึงจะเติบโตและอยู่รอด พนักงานมีความมั่นคงและผาสุก สุดท้ายจะส่งผล ให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีความเติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ดร. พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า “นับเป็นปีที่ 3 แล้ว ที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินโครงการ “สร้างบุคลากรด้านการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร (Productivity Facilitator)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบุคลากรที่ทำหน้าที่ส่งเสริม ผลักดัน และกระตุ้นให้คนส่วนใหญ่ในองค์กรร่วมกันปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในองค์กร รวมทั้งการทำหน้าที่เป็นแกนนำในการขยายผลไปสู่บุคลากรในวงกว้าง ทำให้เกิดวัฒนธรรมและชุมชนคุณภาพ ซึ่งจะเป็นรากฐานการพัฒนาตนเองที่แท้จริงของภาคเอกชน โดยโครงการนี้จะประกอบด้วยกิจกรรมหลักของโครงการ 3 ส่วน คือ 1. การฝึกอบรม และให้คำปรึกษาแนะนำ โดยทีมวิทยากรที่ปรึกษาจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติและหน่วยงานร่วม ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2. การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์รณรงค์ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพ และ 3. การจัดงานสัมมนาและนิทรรศการวิชาการ เพื่อเผยแพร่ผลงานและถ่ายทอดประสบการณ์ขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการ”

นอกจากพิธีเปิดโครงการแล้ว ยังมีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) เพื่อให้ผู้บริหารขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการทราบถึงบทบาท รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ ตลอดจนการสัมมนาผู้บริหาร ในหัวข้อ “บทบาทผู้นำกับสถานการณ์ปัจจุบัน” โดย คุณอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง เป็นวิทยากร และ กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ในหัวข้อ “ผู้บริหารกับการสนับสนุนกิจกรรมการเพิ่มผลผลิต” โดยผู้บริหารที่ได้รับรางวัล The Best Executive ในปีที่ผ่านมาอีกด้วย

รายชื่อ 20 องค์กรที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ

อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

1. กรุงเทพโปรดิ๊วส บมจ.

2. ปริ้นเซส ฟูดส์ บจก.

3. สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) บจก.

4. ลัคกี้ ยูเนี่ยน ฟู้ดส์ บจก.

5. อุตสาหกรรมอาหาร ส.ขอนแก่น บมจ.

6. กำแพงแสน คอมเมอร์เชียล บจก.

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

7. กระจกพีเอ็มเค – เซ็นทรัล บจก.

8. เอ็ม แอนด์ ที อัลไลด์ เทคโนโลยี บจก.

9. ซี.เอ็น.ไอ. เอ็นจิเนียริ่ง ซัพพลาย บจก.

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

10. ซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมเน้นท์ บจก.

11. เอ เอ็ม พี เมทัลเวอคส์ (ประเทศไทย) บจก.

12. ซิสเท็ม คอมโพเน้นท์ (ไทยแลนด์) บจก.

13. คาโต้สปริง (ไทยแลนด์) บจก.

อุตสาหกรรมพลาสติก และอื่นๆ

14. ไทยนามพลาสติกส์ บมจ.

15. เวิลด์ แพคเกจจิ้ง อินดัสตรี้ บจก.

16. ไบโอแลป บจก.

17. คิงส์สเตลล่า แลบบอราทอรี่ บจก.

18. โมเดอร์นไดสตัฟส์ แอนด์ พิคเมนท์ส บจก.

19. ลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ บมจ.

20. ไทยเทคโนกลาส บจก.