ตลาดช็อคโกแลต’52 : ปรับตัวรับกำลังซื้อแผ่ว

ตลาดช็อคโกแลตไทยในปี 2552 ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ภาวะกำลังซื้อของประชาชนภายในประเทศที่มีแนวโน้มลดต่ำลงตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดหรืองดการซื้อผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตได้มาก รวมถึงสถานการณ์การแข่งขันทำตลาดระหว่างผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตที่นำเข้าจากชาติตะวันตก และชาติในเอเชียที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากบรรดาผู้นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตมีสินค้าค้างสต๊อกปริมาณมากจากปี 2551 ซึ่งได้นำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึง 14.36% แต่ความต้องการซื้อในช่วงปลายปี 2551 กลับลดต่ำลงมากตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับข่าวการพบสารเมลามีนปนเปื้อนเกินระดับมาตรฐานความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตที่มีนมเป็นส่วนประกอบ จึงทำให้บรรดาผู้ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายมีผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตคงค้างอยู่ในสต๊อกปริมาณค่อนข้างมาก ซึ่งตลอดทั้งปี 2552 นี้ ผู้ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตจำเป็นต้องงัดกลยุทธ์การตลาดต่างๆ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ และเพื่อให้สามารถระบายสต๊อกสินค้าก่อนที่ผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตจะหมดอายุ อันจะสร้างความเสียหายแก่ธุรกิจ

ปี’51 : นำเข้าช็อคโกแลตพุ่ง…ช็อคโกแลตราคาถูกบุกตลาด
ในปี 2551 ที่ผ่านมา ช็อคโกแลตต่างชาติได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น พิจารณาได้จากปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตตลอดปี 2551 ที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2550 ถึง 14.36% ซึ่งการนำเข้าผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตจะมีปริมาณมากในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนของทุกปี โดยเป็นการนำเข้ามาเพื่อรองรับกับความต้องการที่จะสูงขึ้นในช่วงเทศกาลสำคัญทั้งคริสต์มาส ปีใหม่ และวาเลนไทน์

ทั้งนี้ ช็อคโกแลตที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านทางสื่อต่างๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้ขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังร้านสะดวกซื้อ ดิสเคาท์สโตร์ และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ควบคู่ไปด้วย ซึ่งการเข้ามาทำตลาดของช็อคโกแลตนำเข้าจากต่างประเทศในปีที่ผ่านมา นอกจากกลุ่มประเทศต้นตำรับการผลิตช็อคโกแลตชาติตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และเบลเยียมแล้ว ผู้ผลิตในเอเชีย เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ถือเป็นกลุ่มประเทศที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะช็อคโกแลตนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งในปี 2550 – 51 มีปริมาณ และมูลค่าการนำเข้าสูงที่สุด ซึ่งผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตจากประเทศมาเลเซียมีจุดขายที่สำคัญ คือ ราคาจำหน่ายที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันที่ผลิตจากชาติตะวันตกประมาณ 50 % และมีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม รวมถึงวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และรสชาติที่ไม่แตกต่างจากช็อคโกแลตที่ผลิตจากชาติตะวันตกมากนัก ซึ่งช็อคโกแลตจากประเทศในเอเชียนี้ได้เข้ามาแย่งชิงกลุ่มผู้บริโภคช็อคโกแลตระดับกลางถึงล่างในประเทศไทยที่เดิมนิยมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ขนมหวานรสช็อคโกแลตที่มีส่วนประกอบของโกโก้เพียงเล็กน้อย(ต่ำกว่า 20%) หรือช็อคโกแลตรูปเหรียญ และรูปลูกบอล(ที่มีส่วนผสมของโกโก้เพียงประมาณ 20%)

แต่ทว่า สถานการณ์การจำหน่ายช็อคโกแลตในช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมากลับเป็นไปอย่างค่อนข้างเงียบเหงา ด้วยภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศลดต่ำลงมาก ผู้บริโภคจึงระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคภายในประเทศมีความกังวลที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตที่มีนมเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากข่าวการตรวจพบการปนเปื้อนสารเมลามีนเกินระดับมาตรฐานความปลอดภัยในนม และผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบ ซึ่งผลิตในประเทศจีน และมาเลเซีย

แนวโน้มปี’52 : กำลังซื้อลด…ผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์กระตุ้นยอดขาย
ด้วยภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลงมาก จะส่งผลให้แนวโน้มกำลังซื้อของประชาชนในปี 2552 ยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2551 อีกทั้งการเลิกจ้างงานที่ปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคในประเทศมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายค่อนข้างมาก โดยพยายามที่จะลดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพลง ซึ่งช็อคโกแลตถือเป็นขนมหวานประเภทหนึ่งที่ประชาชนส่วนมากมองว่าเป็นอาหารไร้ประโยชน์ มีราคาค่อนข้างแพง และก่อให้เกิดโรคอ้วน จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นสินค้ากลุ่มแรกๆที่ผู้บริโภคจะปรับลด หรืองดการซื้อ และการบริโภคลง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นในปัจจุบัน ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มที่เดิมนิยมบริโภค ช็อคโกแลต และมีความภักดีต่อตราสินค้าจะมีแนวโน้มลดการบริโภคลง ขณะที่ผู้บริโภครายใหม่อาจไม่หันมาทดลองบริโภค ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าหากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2552 อยู่ที่ประมาณ 2% จะทำให้อัตราการบริโภคช็อคโกแลตเฉลี่ยต่อคนลดลงประมาณ 30% จากปี 2551 มาอยู่ที่ประมาณ 180 กรัมต่อคนต่อปี แต่ทว่าปริมาณ ช็อคโกแลตที่นำเข้าจากต่างประเทศในปี 2551 ที่ผ่านมา ยังคงเหลืออยู่ในสต๊อกในระดับที่สูง ผู้ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายจึงจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อระบายสินค้าคงค้างออกโดยเร็วก่อนที่สินค้าจะหมดอายุ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถปรับ และดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายได้ต่อเนื่องตลอดปี น่าจะช่วยให้อัตราการบริโภคช็อคโกแลตเฉลี่ยต่อคนในปี 2552 ลดลงจากปี 2551 เพียงประมาณ 8 – 15% ด้วยปริมาณการบริโภคเฉลี่ยประมาณ 220 – 240 กรัมต่อคนต่อปี ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญในปี 2552 ประกอบไปด้วย

ลดราคาสินค้า ราคาช็อคโกแลตถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้ออยู่ในระดับต่ำ ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตจึงมักลดราคาจำหน่ายลงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อช็อคโกแลตได้ง่ายขึ้น หรือผู้จำหน่ายอาจใช้กลยุทธ์การแถมผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตแทนที่จะลดราคาโดยตรง เพื่อให้สามารถลดปริมาณสินค้าในสต๊อกได้มากขึ้น เช่น การซื้อผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตสองชิ้นแถมหนึ่งชิ้น หรือซื้อผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นแถมหนึ่งชิ้น เป็นต้น

สร้างภาพลักษณ์ช็อคโกแลตเพื่อสุขภาพ เนื่องจากผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ยังคงมีความเข้าใจว่าการบริโภคช็อคโกแลตจะทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย โดยเฉพาะเกิดโรคอ้วน และทำให้ระดับไขมันในเส้นเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวส่งผลให้ช็อคโกแลตบางประเภทที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหากบริโภคในระดับที่พอเหมาะ เช่น ช็อคโกแลตดำ (Dark Chocolate) ซึ่งมีเนื้อโกโก้สูง และมีน้ำตาล รวมถึงไขมันในระดับต่ำต้องสูญเสียโอกาสในการจำหน่ายไปมาก ผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตจึงควรสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนถึงประโยชน์จากการบริโภคช็อคโกแลตบางประเภท เพื่อให้เกิดการรับรู้ข้อมูลประโยชน์ของการบริโภคช็อคโกแลต อันจะส่งผลให้เกิดความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ดังเช่นผู้ผลิตบางรายในประเทศญี่ปุ่นที่สร้างภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตเพื่อสุขภาพ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ ช็อคโกแลตดำของทางบริษัท ซึ่งอาศัยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่บนบรรจุภัณฑ์ช็อคโกแลตเอง โดยอ้างอิงผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ถึงคุณประโยชน์ของช็อคโกแลตที่จำหน่ายว่าสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของโลหิต และลดความดันโลหิต จึงมีส่วนช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจได้ รวมถึงการพัฒนาช็อคโกแลตสูตรลดน้ำตาล และไขมันทำให้ปริมาณแคลอรี่ต่อหน่วยลดลง อันทำให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อ และบริโภคได้ง่ายขึ้น

วางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ผลิตช็อคโกแลตหลากหลายยี่ห้อ วางจำหน่ายช็อคโกแลตหลากหลายประเภท และรูปแบบมากขึ้นกว่าในอดีต ผู้บริโภคจึงมีตัวเลือกในการเลือกซื้อมากขึ้น ซึ่งทำให้การจำหน่ายเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นหากผู้ผลิต และจัดจำหน่ายไม่ได้วางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสร้างการรับรู้ตัวสินค้าแก่ผู้บริโภค และยังสามารถทำตลาดเจาะกลุ่มผู้บริโภคได้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการมากขึ้น เช่น ช็อคโกแลตนมไขมันต่ำสำหรับกลุ่มนักศึกษา และกลุ่มผู้หญิงวัยทำงาน ช็อคโกแลตดำที่มีเนื้อโกโก้ในสัดส่วนสูงสำหรับกลุ่มวัยทำงานที่นิยมรสชาติช็อคโกแลตแท้ เป็นต้น

ขยายช่องทางการจำหน่าย ผู้จำหน่ายช็อคโกแลตควรที่จะขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นโดยเฉพาะการวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อที่ผู้บริโภคมักเข้าไปจับจ่ายซื้อสินค้าเพื่อการบริโภค ซึ่งแม้ว่าจะทำให้ต้นทุนการดำเนินการเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ช่วยให้สามารถขายสินค้าได้เพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในวันวาเลนไทน์ปี 2552 ในสายตาของคนกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2552 จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 580 คนของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวกรุงเทพฯที่จะเลือกซื้อช็อคโกแลตเป็นของขวัญให้แก่คนรักจะนิยมไปเลือกซื้อช็อคโกแลตที่ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อสูงถึง 56% และ 33% ตามลำดับ ซึ่งการที่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และดิสเคาท์สโตร์อยู่เป็นระยะจึงสามารถกระตุ้นยอดจำหน่ายได้มาก

จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในเทศกาลสำคัญ ช็อคโกแลตนอกจากจะเป็นขนมหวานแล้ว ยังถือเป็นสัญลักษณ์ของความรู้สึกดีๆ ที่มอบให้แก่กันในโอกาสพิเศษต่างๆ แทนคำขอบคุณ มิตรภาพ และความรัก ในช่วงเทศกาลสำคัญจึงถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภคจะมีความต้องการซื้อช็อคโกแลตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ ซึ่งจากผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในวันวาเลนไทน์ปี 2552 ในสายตาของคนกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2552 จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 580 คนของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่ากลุ่มตัวอย่างชาวกรุงเทพฯ นิยมสนใจเลือกซื้อช็อคโกแลตให้แก่คนพิเศษมากที่สุดถึง 34% รองลงมาคือเลือกซื้อดอกไม้ 32.7% ซึ่งในช่วงเทศกาลพิเศษนี้จึงถือเป็นช่วงเวลาที่จะเพิ่มยอดขายให้แก่บรรดาผู้นำเข้า และจำหน่ายช็อคโกแลตได้มาก โดยการจัดกิจกรรมพิเศษ รวมไปถึงการผลิตช็อคโกแลตในลักษณะพิเศษเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ช็อคโกแลตรูปกุหลาบ หรือรูปหัวใจในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ จะช่วยเพิ่มยอดจำหน่ายช็อคโกแลตได้ค่อนข้างมาก ซึ่งผลการสำรวจพบว่าผู้ที่เลือกซื้อช็อคโกแลตในช่วงวันวาเลนไทน์จะนิยมเลือกซื้อช็อคโกแลตดำมากที่สุดถึง 51% ขณะที่จะเลือกซื้อช็อคโกแลตนม และช็อคโกแลตขาวประมาณ 31% และ 18% ตามลำดับ โดย 35% ของผู้มอบของขวัญเป็นช็อคโกแลตจะเลือกซื้อช็อคโกแลตที่มีลักษณะเป็นกล่อง รองลงมาได้แก่ ช็อคโกแลตที่เป็นชิ้น และ ช็อคโกแลตในลักษณะแท่งประมาณ 30% และ 29% ตามลำดับ โดยค่าใช้จ่ายในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตของกลุ่มตัวอย่างในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ปี 2552 เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 290 บาท โดยประมาณ 50% ของกลุ่มตัวอย่างตั้งงบประมาณใช้จ่ายใกล้เคียงกับปี 2551 อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิต และจำหน่ายไม่ควรจะปรับขึ้นราคาในช่วงเทศกาลสำคัญ เนื่องจากมีกลุ่มตัวอย่างประมาณ 36% ที่มีงบประมาณซื้อผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตให้แก่ผู้ที่รักลดลง โดยเหตุผลสำคัญคือต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงเวลาปกติก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม และเพิ่มลูกค้ารายใหม่ เนื่องจากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่ากลุ่มตัวอย่างชาวกรุงเทพฯ ผู้สนใจเลือกซื้อช็อคโกแลตเป็นของขวัญแก่คนพิเศษในวันวาเลนไทน์นั้น ในช่วงเวลาปกติก็ยังคงซื้อผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตรับประทานบ้างถึง 74.8% ซึ่งการส่งเสริมการขายอาจทำได้พร้อมกันหลายช่องทาง เช่น การแจกหรือแลกของพรีเมียมเมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ครบตามที่กำหนด และการส่งชิ้นส่วน บรรจุภัณฑ์ชิงรางวัล เป็นต้น

พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม กลยุทธ์ดังกล่าวเหมาะสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ รวมถึงผู้ผลิตที่จะนำช็อคโกแลตเข้ามาวางจำหน่ายใหม่ ซึ่งบรรจุภัณฑ์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่มีอิทธิพลช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคเมื่อแรกเห็น ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตจึงควรให้ความสนใจพัฒนา และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม ซึ่งจากผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในวัน วาเลนไทน์ปี 2552 ในสายตาของคนกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2552 จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 580 คนของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวกรุงเทพฯ ที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ช็อคโกแลตจะพิจารณาจากความสวยงามของบรรจุภัณฑ์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดถึง 31% รองลงมาได้แก่ ราคา แบรนด์สินค้าเป็นที่รู้จัก ประเทศที่ผลิต และของแถมในอัตรา 30%, 21%, 9% และ 9% ตามลำดับ

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
มองว่าแม้ภาวะกำลังซื้อของประชาชนในประเทศในปี 2552 จะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลงมาก ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตเฉลี่ยต่อคนต่อปีของประเทศไทยในปี 2552 ลดลงจากปี 2551 ประมาณ 30% แต่หากผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตสามารถปรับ และดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่องตลอดปี น่าจะทำให้อัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตเฉลี่ยต่อคนต่อปีของประเทศไทยลดลงเพียงประมาณ 8 – 15% ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดของบรรดาผู้ผลิต และจัดจำหน่ายช็อคโกแลตที่สำคัญประกอบไปด้วย การลดราคาจำหน่าย การแจกสินค้าพรีเมียมเมื่อซื้อสินค้าครบตามกำหนด การวางตำแหน่งสินค้าที่ชัดเจนขึ้น และการเข้าทำตลาดในกลุ่มช็อคโกแลตเพื่อสุขภาพมากขึ้น รวมไปถึงการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในเทศกาลสำคัญ และนอกเทศกาล รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามมากขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยทำให้ภาพรวมของตลาด ช็อคโกแลตในประเทศปี 2552 หดตัวลงเพียงประมาณ 8% ด้วยมูลค่าตลาดรวมประมาณ 2,300 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 1,400 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 ประมาณ 10% และมูลค่าผลิตภัณฑ์ช็อคโกแลตที่ผลิตภายในประเทศประมาณ 900 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 ประมาณ 5%