การส่งออกเดือนมกราคมหดตัวสูงเป็นประวัติการณ์ … แนวโน้มและทางออกของผู้ประกอบการส่งออกไทย

จากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 ตัวเลขการส่งออกในเดือนมกราคม 2551 ยังคงหดตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกต่อการส่งออกของไทย อาจจะยังคงมีความรุนแรงต่อไปตลอดระยะครึ่งแรกของปี 2552 นี้เป็นอย่างน้อย โดยประเด็นวิเคราะห์ที่สำคัญ มีดังนี้

การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2551 มีมูลค่า 10,496 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 26.5 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หดตัวสูงเป็นประวัติการณ์ และมีอัตราการขยายตัวติดลบเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 อย่างไรก็ตาม การนำเข้าในช่วงเดือนนี้มีมูลค่า 9,119 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 37.6 หดตัวรุนแรงกว่าด้านการส่งออก จึงส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนนี้มีการเกินดุลรายเดือนในระดับที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยเกินดุล 1,377 ล้านดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สภาวะที่การส่งออกหดตัวสูงเป็นอัตราตัวเลขสองหลักนี้จะต่อเนื่องต่อไป จนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3/2552 ขณะที่การฟื้นตัวของการส่งออกยังเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม เนื่องจากขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นทั้งจุดศูนย์กลางของปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลก และยังเป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดที่มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 ของตลาดโลกเช่นกัน โดยจากตัวเลขการส่งออกในเดือนมกราคมของประเทศแถบเอเชียที่มีการประกาศตัวเลขออกมาแล้ว ล้วนแต่ทรุดตัวลงอย่างหนัก บ่งชี้ว่าการส่งออกที่หดตัวสูงนี้เป็นปัญหาที่เผชิญทั่วทั้งภูมิภาค โดยการส่งออกของไต้หวันหดตัวร้อยละ 44.5 สิงคโปร์ (ไม่รวมน้ำมัน) หดตัวร้อยละ 37.8 เกาหลีใต้หดตัวร้อยละ 33.8 ส่วนเวียดนามและจีนที่เดิมค่อนข้างได้รับผลกระทบน้อย ในเดือนนี้การส่งออกยังลดลงถึงร้อยละ 24.2 และ 17.5 ตามลำดับ

 ปัจจัยเสี่ยงมีเพิ่มสูงขึ้นจากโอกาสที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะถดถอยในขนาดที่ลึกและยาวนานกว่าที่คาด ซึ่งทำให้โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจล่าช้าออกไปจากคาดการณ์เดิมที่มีการมองว่าเศรษฐกิจหลักของโลกอาจจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4/2552 แต่จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุดขณะนี้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่การฟื้นตัวอาจข้ามไปถึงปี 2553 เนื่องจากปัญหาการว่างงานที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก จะเป็นผลทำให้ผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายลดน้อยลง ซึ่งสถานการณ์จะดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแรงงานตกงานจำนวนมหาศาลนี้เริ่มกลับมามีงานทำ ขณะเดียวกัน ปัญหาสภาพตลาดที่หดตัวและผลประกอบการที่ตกต่ำของธุรกิจต่างๆ ตลอดจนกำลังการผลิตส่วนเกินในหลายอุตสาหกรรมที่ยังเหลืออยู่จำนวนมาก น่าจะส่งผลให้ธุรกิจส่วนใหญ่จะยังคงไม่มีแผนการขยายการลงทุนในระยะอันใกล้นี้ สถานการณ์ดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการในตลาดโลกต่อสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าผู้บริโภคหรือสินค้าทุนมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ดังนั้น ยิ่งถ้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยิ่งล่าช้าออกไปนานเท่าไร ภาพรวมการส่งออกของไทยตลอดทั้งปี 2552 ก็จะยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดประมาณการแนวโน้มการส่งออกของไทยลง โดยคาดว่าการส่งออกในปี 2552 อาจจะลดลงประมาณร้อยละ 10.0-16.0 จากปีก่อนหน้า เป็นการหดตัวมากขึ้นจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะลดลงร้อยละ 7.0-12.0 ซึ่งจะนับเป็นการถดถอยของการส่งออกครั้งรุนแรงเป็นประวัติการณ์ของไทย โดยจากการศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่า การส่งออกของไทยเคยหดตัวเฉลี่ยต่อปีครั้งรุนแรงที่สุด คือ ในปี 2518 (หลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 1) หดตัวประมาณร้อยละ 9.5 ที่รุนแรงรองลงมาคือปี 2526 (ช่วงวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2) หดตัวประมาณร้อยละ 7.4 และปี 2544 (ช่วงวิกฤต Dot Com) หดตัวประมาณร้อยละ 7.1

 ท่ามกลางวิกฤตในธุรกิจส่งออกนี้ ธุรกิจแต่ละประเภทอาจจะได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ต่อกลุ่มสินค้าส่งออกของไทย โดยจำแนกลักษณะของผลกระทบได้ดังนี้
 กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงและฟื้นตัวช้า
เช่น กลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกล ชิ้นส่วนอากาศยาน และอาจรวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องเรือน โดยสินค้ากลุ่มนี้มีลักษณะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและมีราคาสูง ซึ่งมักได้รับผลกระทบหนักในภาวะที่คนมีรายได้ลดลง อีกกลุ่มหนึ่งเป็นสินค้าทุนที่จะถูกกระทบจากสภาวะกำลังการผลิตล้นเกินในขณะนี้ การฟื้นตัวของสินค้ากลุ่มนี้อาจต้องรอจนถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 หรือในปี 2553 ทั้งนี้ จากตัวเลขส่งออกในเดือนมกราคม การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบลดลงร้อยละ 36.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (จากที่หดตัวร้อยละ 24.3 ในเดือนก่อนหน้า) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรลดลงร้อยละ 20.5 (จากร้อยละ 7.1 ในเดือนก่อน) ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบินลดลงร้อยละ 38.2 (จากร้อยละ 49.5 ในเดือนก่อน) เครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 29.5 (จากร้อยละ 20.7 ในเดือนก่อน) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนลดลงร้อยละ 31.2 (จากร้อยละ 18.4 ในเดือนก่อน) อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตสินค้าประเภทอะไหล่ทดแทนอาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากอาจมีความต้องการบำรุงรักษาอุปกรณ์ในภาวะที่คนชะลอการซื้อสินค้าใหม่

กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบรุนแรงแต่มีโอกาสฟื้นตัว เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทฮาร์ดดิสก์ เซมิคอนดักเตอร์ โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมหดตัวสูงถึงร้อยละ 40.4 ในเดือนมกราคม (จากร้อยละ 34.6 ในเดือนก่อน) แต่คาดว่าอาจเห็นการปรับตัวดีขึ้นบ้างในช่วงครึ่งหลังของปีเมื่อระดับสินค้าคงคลังเริ่มลดลง โดยระดับการสะสมสินค้าคงคลังของอุตสาหกรรมนี้ในปัจจุบันไม่สูงดังเช่นอดีต นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังมีความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าปลายน้ำที่ค่อนข้างหลากหลาย

กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการปรับตัวลดลงของทั้งด้านราคาและความต้องการสินค้า โดยการส่งออกยางพาราในเดือนมกราคมหดตัวร้อยละ 51.3 (จากร้อยละ 50.4 ในเดือนก่อน) ข้าวหดตัวร้อยละ 23.7 (จากร้อยละ 22.0 ในเดือนก่อน) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์หดตัวร้อยละ 17.0 (จากที่ขยายตัวร้อยละ 21.2 ในเดือนก่อน) แต่สินค้าโภคภัณฑ์ที่สวนกระแสคือทองคำ ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 99.1 โดยเป็นผลจากแรงขายทองคำจากผู้บริโภคในช่วงที่ราคาทองปรับสูงขึ้นอย่างมากทำให้ผู้ค้าต้องส่งออกทองคำเพื่อไม่ให้ต้องแบกรับต้นทุนสูงเกินไป อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ การฟื้นตัวอาจจะเริ่มเห็นได้ถ้าหากมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเริ่มกล้าที่จะเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในประเทศชั้นนำ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีนที่จะมีการใช้จ่ายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และอาจทำให้อุปสงค์ต่อโลหะพื้นฐานและน้ำมันปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกัน ในกลุ่มสินค้าเกษตร ปัจจัยที่ต้องติดตามเพิ่มเติมคือสภาพอากาศ ซึ่งถ้าหากเกิดปัญหาความแห้งแล้งในปีนี้รุนแรงในระดับโลกจนสร้างความเสียหายต่อผลผลิตพืชผลที่สำคัญ ในด้านหนึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนราคาสินค้าเกษตรให้กลับมาดีขึ้น

กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบปานกลาง สินค้าข้าวของเครื่องใช้ใกล้ตัว เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย รองเท้า ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ของเล่น อาจหดตัวในอัตราที่น้อยกว่ากลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น แต่ปัญหาที่ผู้ผลิตสินค้ากลุ่มนี้อาจต้องเผชิญคือการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะการแข่งขันตัดราคาจากประเทศผู้ผลิตที่มีการผลิตขนาดใหญ่และมีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าไทย

กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เช่น กลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าที่ผู้บริโภคมองว่าเป็นสิ่งจำเป็น ดังจะเห็นได้ว่า สินค้ากลุ่มนี้ยังคงมีการส่งออกที่ค่อนข้างทรงตัวหรือยังขยายตัวได้ เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น

โดยสรุป ท่ามกลางแนวโน้มที่ภาคธุรกิจส่งออกของไทยจะยังคงเผชิญผลกระทบที่รุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลก โดยยิ่งการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยของโลกล่าช้าออกไปมากเท่าไร ผลกระทบต่อการส่งออกตลอดทั้งปีก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นมากตามไปด้วย การปรับตัวของผู้ประกอบการในสภาวการณ์เช่นนี้ การหาตลาดใหม่อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่จะเข้ามาชดเชยกำลังซื้อในตลาดหลักที่หายไปจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม การรุกตลาดใหม่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดใหม่เองก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความมั่งคั่งของกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่เคยเพิ่มพูนขึ้นมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมัน สินค้าเกษตร และวัตถุดิบโลหะ ลดน้อยลงตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลงอย่างมากในปีนี้ ซึ่งตามข้อมูลการส่งออกในเดือนมกราคม การส่งออกไปยังตลาดใหม่ หดตัวร้อยละ 24.7 ต่ำกว่าตลาดหลักซึ่งหดตัวร้อยละ 28.2 เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยที่จะส่งสินค้าไปยังตลาดใหม่ยังต้องให้ความระมัดระวังในการทำธุรกรรมกับคู่ค้ารายใหม่ๆ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในเรื่องการชำระค่าสินค้าตามสัญญา ดังนั้น กลยุทธ์การปรับตัวให้อยู่รอดคงไม่อาจหวังพึ่งตลาดใหม่เพียงหนทางเดียว

ผู้ประกอบการควรแสวงหากลุ่มตลาดที่มีกำลังซื้อในตลาดหลักควบคู่กันไปด้วย โดยมุ่งเป้าหมายกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้มั่นคงซึ่งยังมีกำลังซื้อ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังควรจับตามาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าสูงของรัฐบาลในแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด การเปิดรับข้อมูลโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ จะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดกลยุทธ์การส่งออกและการค้นหาโอกาสท่ามกลางภาวะวิกฤตนี้ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ก็อาจนำมาตรการที่เพิ่มอุปสรรคทางการค้าออกมาใช้เพื่อปกป้องและช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศ ดังที่เห็นกระแส Buy American ที่อาจมีการดำเนินการควบคู่กับการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานิธิบดีโอบามา ในส่วนนี้ บทบาทของทางการไทยที่สำคัญคือ การติดตามและเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทางการค้าเพื่อสนับสนุนผู้ส่งออกไทย ทั้งข้อมูลในด้านความต้องการสินค้าในประเทศต่างๆ และข้อมูลมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าที่อาจสร้างโอกาสและอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ และรัฐบาลสามารถดำเนินมาตรการตอบโต้ต่อมาตรการการค้าที่ไม่เป็นธรรมได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ภายใต้วิกฤตที่ลุกลามไปทั่วทั้งโลกดังเช่นขณะนี้ อาจมีช่องทางสำหรับผู้ประกอบการในการพลิกวิกฤตสร้างโอกาส โดยสินค้าที่ปรับผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคในยุควิกฤตที่คนทั่วไปต้องรัดเข็มขัดได้ ก็อาจมีโอกาสขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นทดแทนการบริโภคหรือการใช้สินค้าที่มีราคาสูง ขณะที่ผู้ส่งออกที่มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการที่ดี และมีสภาพคล่องทางการเงินแข็งแรง อาจแสวงหาโอกาสในยามวิกฤตที่คู่แข่งที่อ่อนแอกว่าประสบปัญหาไม่สามารถต้านทานวิกฤตเศรษฐกิจและต้องปิดกิจการลง ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการบางรายยังสามารถขยายยอดขายได้ทดแทนคู่แข่งที่ล้มหายไป นอกจากนี้แล้ว ในขณะนี้กระแสความกังวลต่อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้นำเข้าสินค้าในต่างประเทศหันมาสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย