3 กูรูดังเสวนา “อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่”

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศ โดยสามารถทำรายได้จากการส่งออกอยู่ในอันดับที่ 3 และมีมูลค่ามากกว่า 270,000 ล้านบาท ในปี 2551 อัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติในเรื่องความเป็นเอกลักษณ์ และความประณีตสวยงาม ประเทศไทยโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) แถลงข่าวยืนยันเตรียมความพร้อมจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 2 หรือ The 2nd INTERNATIONAL GEM & JEWELRY CONFERENCE – GIT 2008) คาดจะมีผู้เข้าประชุม 400-500 คนจากทั่วโลก กระตุ้นการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิต และการตลาด เพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจให้ก้าวไกล และในงานแถลงข่าวครั้งนี้ ยังมีการจัดเสวนาเรื่อง “อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่” โดย 3 กูรูดังแห่งวงการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ได้แก่ ดร. วิลาวัณย์ อติชาติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน), คุณพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล กรรมการบริหารสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ คุณวิชัย อัศรัสกร นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ มาร่วมเสนอข้อคิดเห็นในประเด็นที่น่าสนใจ

ดร. วิลาวัณย์ อติชาติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงความพร้อมในการจัดงานครั้งนี้ว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับแห่งหนึ่งของโลก โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นแกนกลาง มีความพร้อมและมีศักยภาพในการจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ GIT 2006 จนประสบความสำเร็จมาแล้วในปี พ.ศ. 2549 ดังนั้น การจัดประชุม GIT 2008 ในปีนี้ จึงเป็นการตอกย้ำสถานะของผู้นำในภูมิภาค และสถาบันมีแผนการจัดการประชุมเช่นนี้ทุก ๆ สองปี เพื่อให้เกิดเป็นวาระประจำในปฏิทินงานของแวดวงอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก

เดิมนั้น สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้เตรียมการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 2 หรือ The 2nd INTERNATIONAL GEM & JEWELRY CONFERENCE (GIT 2008) ในระหว่างวันที่ 11-14 ธันวาคม 2551 แต่ต้องเลื่อนไปเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้น และบัดนี้ ได้กำหนดวันจัดการประชุมใหม่เป็น 9–10 มีนาคม 2552 ณ ห้อง BCC2 และห้องโลตัส ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ร่วมกับคณะกรรมการจัดงานจากองค์กร หรือสถาบันวิจัยจาก 18 ประเทศ และตามด้วยการทัศนศึกษาในเส้นทาง กทม.-กาญจนบุรี ซึ่งการประชุม GIT 2008 นี้ นับเป็นงานชุมนุมผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับระดับนานาชาติครั้งใหญ่ ที่คาดหมายว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุม 400-500 จากทุกมุมโลก วัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อให้เกิดเวทีการประชุมวิชาการระดับนานาชาติขึ้นในประเทศไทย มีการเผยแพร่ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ในวิชาการสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และผู้สนใจ ได้รับทราบความก้าวหน้าจากการศึกษาวิจัย ที่มีผู้มานำเสนอโดยตรงในที่ประชุม ซึ่งผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในธุรกิจอุตสาหกรรมของตน หรือมีโอกาสในการเสริมสร้างความร่วมมือกับนักวิชาการที่มาร่วมประชุม และนำไปขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม”

ดร. วิลาวัณย์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้กล่าวถึงไฮไลต์ของการประชุม GIT 2008 ที่จะมีขึ้นในเดือน มี.ค. นี้ว่า คือ GIT 2008 ได้รับเกียรติจากวิทยากรกิตติมศักดิ์ที่มีชื่อเสียงของโลกมาบรรยายนำ เช่น คุณวิชัย อัศรัสกร นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ ที่จะบรรยายเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดโลก พร้อมเสนอแนวคิด และกลยุทธ์ในการรักษาตลาดเดิม และรุกคืบหน้าในตลาดใหม่ เพื่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น มร. แมสซิโม ซูซชี่ (Mr. Massimo Zucchi) นักออกแบบชื่อดังจากประเทศอิตาลี ที่จะเผยเคล็ดลับ เพื่อจุดประกายความคิดในการออกแบบเครื่องประดับให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดร. ยอร์ค ฟิชเชอร์ บุนเนอร์(Dr.Jorg Fischer–Buhner) จาก Research & Development, LEGOR Group Srl. แห่งประเทศเยอรมันนี จะบรรยายเรื่องการขึ้นรูปเครื่องประดับโลหะพาลาเดียม ซึ่งเป็นโลหะที่กำลังได้รับความนิยม นอกจากนี้ ทางสถาบันยังได้เชิญ มร. ซาลิม เอส. ซาลิน (Mr. Salim S. Salin) จากกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ประเทศแทนซาเนีย มาบรรยายเรื่องโอกาสการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับในแทนซาเนีย ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญแห่งหนึ่งของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของโลก สำหรับบทความที่นักวิชาการสาขาต่าง ๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จะยื่นเสนอในการประชุมนั้น มีมากกว่า 80 ชิ้น และครอบคลุมความรู้ในด้านต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เช่น เรื่องแหล่งอัญมณีและโลหะมีค่า คุณลักษณะเฉพาะของอัญมณีชนิดต่าง ๆ และการตรวจวิเคราะห์ นวัตกรรมการออกแบบ โลหะกรรม รวมทั้งกลยุทธ์ด้านการตลาด ซึ่งเป็นความรู้ที่ทรงคุณค่า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้ประกอบการและผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน”

คุณพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล กรรมการบริหารสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ได้สรุปตัวเลขของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้จากการส่งออกสูงเป็นอันดับ 3 โดยคิดเป็นรายได้มากกว่า 270,000 ล้านบาท และกล่าวถึงการสนับสนุนการจัดการประชุมว่า “คณะกรรมการบริหารสถาบันฯ เห็นความสำคัญของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการ GIT 2008 ขึ้นในประเทศไทย เพราะเป็นโอกาสในการรวบรวมความรู้ที่ได้มีพัฒนาการขึ้นอย่างต่อเนื่องมาไว้ในประเทศ ผ่านการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดที่หลากหลาย รวมทั้งเป็นโอกาสของนักวิชาการไทยที่จะได้นำเสนอผลงานของตนเองควบคู่ไปด้วย ความรู้เหล่านี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเสริมขีดความสามารถของอุตสาหกรรมให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ และผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ นำไปต่อยอด หรือปรับใช้ตามความเหมาะสม จากความสำเร็จของการจัดประชุม GIT 2006 ในปี พ.ศ. 2549 และศักยภาพของสถาบันในการเป็นผู้นำด้านวิชาการในภูมิภาคนี้ คณะกรรมการบริหารสถาบันได้กำหนดเป็นนโยบายให้จัดงานประชุมเช่นนี้ทุก 2 ปี เพื่อให้เป็นวาระประจำของวงการอัญมณีและเครื่องประดับที่โลกต้องให้ความสนใจ”

คุณวิชัย อัศรัสกร นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ กล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยว่า “ตัวเลขการส่งออกของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปี 2551 มีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 20 แต่คาดว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบถึงตลาดอัญมณีไทยในปี 2552 เนื่องจากได้รับความผันผวนของราคาวัตถุดิบทองคำ และผลพวงจากกำลังซื้อที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ทำให้ปัญหาด้านการเงินของลูกค้าอัญมณีและเครื่องประดับชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยด้านลบที่ถือเป็นวิกฤตหนักในรอบ 4 ทศวรรษ ของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ

ผลกระทบอีกส่วนหนึ่งที่เด่นชัดคือ นโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ซึ่งเน้นการลดการนำเข้าสินค้า และหันมากระตุ้นการบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลทำให้ยอดการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดอเมริกาลดลงไปอีกหลายเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ไทยควรเน้นตลาดส่งออกใหม่ๆ อาทิ ตะวันออกกกลาง จีน อินเดีย ยุโรปตะวันออก และลาตินอเมริกา เนื่องจากเป็นตลาดที่มิได้รับผลกระทบกระเทือนจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการทำให้ยอดการส่งออกของไทย ปี 2552 เป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในไตรมาสสองและสาม ภาวะเศรษบกิจจะดีขึ้นตามลำดับจากการออกนโยบายแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ยอดการส่งออกในเดือนมกราคมของปีนี้ พบว่ามูลค่าการส่งออกของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับรวมถึงทองคำ (Gold Trade) มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 1 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทย โดยภาพรวมคาดว่า ในปีนี้ยอดการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจะมีมูลค่าประมาณ 2-3 แสนล้านบาท”

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทร. 02-229–3337 หรือสมัครร่วมงานประชุมผ่านทางเว็บไซต์ http://www.git.or.th จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552