บริษัทเอกชนทั่วโลกยังคงวางแผนควบรวมกิจการ จากการสำรวจของแกรนท์ ธอร์นตัน

ข้อมูลจากรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติที่จัดทำโดยแกรนท์ ธอร์นตัน (Grant Thornton International Business Report: IBR) เปิดเผยว่า บริษัทเอกชน (Privately held businesses: PHBs) ยังคงมีทัศนคติที่มั่นคงต่อการดำเนินแผนการควบรวมกิจการท่ามกลางสภาวะทางเศรษฐกิจชะลอตัว โดย 37% ยังคงวางแผนการควบรวมภายในสามปีข้างหน้านี้ ซึ่งลดลงเพียง 7% จากการสำรวจเมื่อปี 2008 และใน 37% นั้น ก็มีสัดส่วนของบริษัทที่วางแผนควบรวมข้ามชาติ (cross-border) เพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการควบรวมในระดับนานาชาติยังคงเป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าแปลกใจว่าเพียงแค่ 5% ของบริษัทเอกชนไทยวางแผนจะควบรวมภายในสามปีนี้ เปรียบเทียบกับ 15% ในเวียดนาม 31% ในมาเลเซีย และ 32% ในสิงคโปร์ ซึ่งหมายความว่าธุรกิจเอกชนไทยมีความต้องการให้ธุรกิจเติบโตผ่านการควบรวมน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน หรือแท้จริงแล้วน้อยกว่าทั่วโลกเลยทีเดียว

มร. เอียน แพสโค กรรมการบริหาร แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่าสภาวะตลาดสินเชื่อที่ตึงตัวในขณะนี้ ส่งผลต่อปริมาณการโยกย้ายเงินทุนในปัจจุบัน แต่เราเชื่อมั่นว่ายังคงมีโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ถือเงินสดเป็นจำนวนมากหรือธุรกิจที่มีเงินทุนมากเพียงพอที่จะขยายการเติบโตผ่านการเข้าถือหุ้นในบริษัทคู่แข่งที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีแต่กำลังเผชิญกับความยากลำบาก โดยภายใน 12 เดือนข้างหน้านี้ จะมีโอกาสในการควบรวมกิจการในราคาที่ดีเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาการควบรวมจะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการวิเคราะห์สถานะทางการเงินของบริษัทที่จะเข้าถือหุ้นเพื่อให้การปรับโครงสร้างทางการเงินมีความถูกต้องและเหมาะสมกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบทางการเงินในระยะสั้นเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว”

มร. ไมค์ ฮิวจส์ หัวหน้าฝ่ายควบรวมกิจการ แกรนท์ ธอร์นตัน อินเตอร์เนชั่นแนล ในกรุงลอนดอน กล่าว “สำหรับเจ้าของบริษัทที่ต้องการเสนอขายกิจการในตลาดดังกล่าว การได้รับราคาประเมินที่สมเหตุสมผลนั้นยังคงเป็นไปได้หากธุรกิจนั้นมีผลการดำเนินงานที่ดีเยี่ยมและมีกระแสรายรับที่มั่นคง ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีการบริหารจัดการอย่างดีและดำเนินการได้อย่างราบรื่นในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวจะเป็นเป้าหมายสำหรับการคัดเลือกและยังคงดึงดูดความสนใจจากบริษัทต่างๆ รวมถึงเงินทุนจากภาคเอกชน”

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังระบุว่า กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) ได้ลดระดับความคาดหวังต่อจำนวนการควบรวมกิจการที่จะเกิดขึ้น สำหรับบริษัทในประเทศจีนซึ่งรายงานถึงความตั้งใจในการควบรวมเมื่อปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนงานในอัตราที่สูงที่สุด กล่าวคือเพียงแค่ 41% ในปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับ 67% เมื่อปี 2008 และสำหรับบริษัทเอกชนในกลุ่มเศรษฐกิจ BRIC ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาการควบรวมกิจการนั้น สัดส่วนของบริษัทที่มุ่งหวังต่อการขยายตัวข้ามชาติได้เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง โดยเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 22%

ในทวีปยุโรป บริษัทเอกชนโดยรวมมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อการควบรวมกิจการภายในสามปีข้างหน้านี้ (เพิ่มขึ้น 37% จาก 30% เมื่อปีที่ผ่านมา) และมีการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ที่ระบุว่าเป็นพลังที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนแผนงานของบริษัท โดย แคริน เคอร์ทิส กรรมการ ฝ่ายควบรวมกิจการ แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศฝรั่งเศส อธิบายเพิ่มเติมว่า “ความแข็งแกร่งของค่าเงินสกุลยูโรต่อเงินปอนด์และดอลลาร์ได้สนับสนุนให้บริษัทต่างๆ พิจารณาการควบรวมข้ามชาติ”

ทั้งนี้ ไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าการสำรวจดังกล่าวยังได้ระบุว่าความปั่นป่วนในตลาดเงินได้ส่งผลให้จำนวนบริษัทเอกชนที่สนใจในการระดมเงินทุนผ่านการเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) ลดลง โดยสัดส่วนบริษัททั่วโลกที่วางแผนจะระดมทุนผ่าน IPO ลดลงจาก 22% เหลือเพียง 10 % เท่านั้น และเพียงแค่ 9% ในประเทศไทยที่วางแผนระดมทุนผ่าน IPO เมื่อเปรียบเทียบกับ 19% ในเวียดนาม, 30% ในมาเลเซีย และ 20% ในสิงคโปร์

รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของ แกรนท์ ธอร์นตัน (IBR) ทำการสำรวจทัศนคติของผู้บริหารในบริษัทเอกชนทั่วโลกทุกปี การสำรวจริเริ่มขึ้นเมื่อปี 1992 ใน 9 ประเทศในทวีปยุโรป และในปัจจุบันครอบคลุม 7,200 ธุรกิจในเศรษฐกิจ 36 กลุ่ม โดยเป็นการรายงานข้อมูลเชิงแนวโน้มในระดับพื้นที่ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ในประเด็นเศรษฐกิจและการพาณิชย์ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ‘เครื่องจักร’ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ซึ่งข้อมูลสำหรับภาคอุตสาหกรรมหลัก 8 ภาคนั้นมีการจัดทำเป็นครั้งแรกในปี 2009 นี้ การสำรวจดำเนินการโดย Experian Business Strategies Limited ทั้งนี้ แกรนท์ ธอร์นตัน อินเตอร์เนชั่นแนล จะมอบเงิน 5 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ องค์กร UNICEF ต่อผลสำรวจหนึ่งฉบับที่มีผู้ร่วมให้ข้อมูล รวมเป็นเงิน 39,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2008

หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ IBR กรุณาเข้าชมเว็บไซต์ www.internationalbusinessreport.com และท่านสามารถดาวน์โหลดข่าวประชาสัมพันธ์นี้ได้ที่เว็บไซต์ www.grantthornton.co.th/press