จีนฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก : เร่งกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ

เศรษฐกิจจีนชะลอตัวติดต่อกัน 4 ไตรมาสจนเหลือร้อยละ 6.8 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้ภาคส่งออกที่ซบเซา กดดันให้อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2551 เหลือร้อยละ 9 ต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยการส่งออกและนำเข้าของจีนมีอัตราขยายตัวติดลบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 สำหรับในปีนี้ การส่งออกของจีนในช่วง 2 เดือนแรกหดตัวเร่งขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 21 (yoy) และคาดว่าภาคส่งออกของจีนยังคงซบเซาต่อเนื่องในระยะข้างหน้าตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะถึงจุดต่ำสุดและยังไม่ชัดเจนของระยะเวลาการฟื้นตัว โดยทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกอาจหดตัวในปีนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ทำให้เศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มต้องเผชิญกับภาวะชะลอลงอีกอย่างน้อยในอีก 2 ไตรมาสของปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในปี 2552 มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 โดยอาจอยู่ระหว่างร้อยละ 6.5-7.5 ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันนอกจากจะเผชิญปัจจัยลบจากภาคส่งออกที่หดตัวรุนแรงตามภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาแล้ว ยังต้องประสบกับภาคการบริโภคในประเทศและการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างรวดเร็วจนมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งจะส่งผลกดดันให้ภาคการบริโภคอ่อนแรงลงไปอีก รวมถึงปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามภาคส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่เน้นรายจ่ายด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายการเงินผ่อนคลายได้ช่วยให้เศรษฐกิจภายในจีนปรับตัวดีขึ้น เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมือง ยอดขายรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์กลับมาเติบโตด้วยเลข 2 หลัก และการใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนสินเชื่อใหม่และปริมาณเงินในระบบ (M2) ในเดือนกุมภาพันธ์ก็เติบโตในระดับสูงเช่นกัน สะท้อนถึงแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจภายในน่าจะช่วยรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจจีนได้ระดับหนึ่ง แต่ความหวังที่แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจีนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจไทยคงมีความเป็นไปได้น้อยในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญๆ อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นล้วนเข้าสู่ภาวะถดถอย และยังไม่มีสัญญาณว่าจะถึงจุดต่ำสุด ซึ่งภาคส่งออกของจีนที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปีนี้ถือเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ทำให้ความต้องการของจีนต่อสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของประเทศในเอเชียและไทยเพื่อใช้ผลิตส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักต้องอ่อนแรงตามไปด้วย

ดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ของจีนสะท้อนถึงความอ่อนแรงของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

 การส่งออกของจีนในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ยังคงเผชิญภาวะชะลอตัวรุนแรง โดยการส่งออกหดตัวร้อยละ 21.1 จากช่วงเดียวกันปี 2551 (yoy) เทียบกับเดือนธันวาคมที่หดตัวร้อยละ 2.8 (yoy) โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของจีนใน 2 เดือนแรกนี้ลดลงร้อยละ 17 ขณะที่การนำเข้าช่วงเดียวกันหดตัวลงร้อยละ 34.2 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 21.3 ในเดือนธันวาคม 2551 ส่งผลให้ดุลการค้าของจีนเกินดุลเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.2 ถือเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 71.8 ในเดือนธันวาคม 2551

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ใน 2 เดือนแรกของปีชะลอลงต่ำสุดตั้งแต่ปี 2547 ตามการส่งออกที่หดตัวมากขึ้น โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.8 จากที่เติบโตร้อยละ 5.7 ในเดือนธันวาคม 2551

ยอดค้าปลีก ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 2 ล้านล้านหยวน (290,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เติบโตต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี โดยขยายตัวร้อยละ 15.2 (yoy) เทียบกับที่เติบโตร้อยละ 19 ในเดือนธันวาคม 2551

เสถียรภาพด้านราคา ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงร้อยละ 1.6 นับเป็นการติดลบรายเดือนเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2545 โดยราคาอาหารที่คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงร้อยละ 1.9 (yoy) ขณะที่ราคาสินค้าไม่รวมหมวดอาหารลดลงร้อยละ 1.2 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ลดลงร้อยละ 4.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 3.3 ถือเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตที่ลดลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความเสี่ยงของภาวะเงินฝืด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและอาจนำไปสู่การปรับลดค่าจ้างแรงงาน และกระทบต่อความต้องการบริโภคของประชาชนด้วย

 การดำเนินมาตรการใช้จ่ายตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 มูลค่ารวม 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระยะเวลา 2 ปี จนถึงปี 2553 ที่เน้นรายจ่ายด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงการใช้มาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชน เช่น การปรับลดอัตราภาษีรถยนต์ขนาดเล็ก ประกอบกับนโยบายการเงินผ่อนคลายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในจีนบางด้านที่ปรับตัวดีขึ้น ดังนี้

การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมือง ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 1.03 ล้านล้านหยวน (150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เติบโตได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยขยายตัวร้อยละ 26.5 เทียบกับที่เติบโตร้อยละ 23.1 ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 โดยเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 ทำให้คาดว่าการเติบโตของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของจีดีพีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจีนไม่ให้ชะลอตัวมากนัก อย่างไรก็ตาม การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตเพียงร้อยละ 1 เนื่องจากราคาบ้านที่ปรับลดลง ราคาบ้านในเมืองใหญ่ 70 แห่งในจีนปรับลดลงร้อยละ 1.2 ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ถือว่าเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ทางการจีนเปิดเผยข้อมูลในเดือนสิงหาคม 2548 ส่วนราคาบ้านใหม่ลดลงร้อยละ 1.8 สะท้อนถึงความต้องการที่อยู่อาศัยที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

สินเชื่อใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว เป็นมูลค่า 1.07 ล้านล้านหยวน หรือ 156,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงเดียวกันปี 2551 ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนมกราคมที่เติบโตร้อยละ 21.3 หลังจากที่ทางการจีนดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายโดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยและลดอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงการยกเลิกเพดานการปล่อยสินเชื่อด้วย ทางการจีนตั้งเป้าหมายสินเชื่อใหม่ในปีนี้มากกว่า 5 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายในปี 2551 ที่ 3.6 ล้านล้านหยวน ซึ่งสินเชื่อใหม่ที่เกิดขึ้นจริงในปี 2551 เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยอยู่ที่ 4.9 ล้านล้านหยวน ส่วนปริมาณเงินในระบบ (M2) ในเดือนกุมภาพันธ์ ขยายตัวร้อยละ 20.5 จากที่เติบโตร้อยละ 18.8 ในเดือนก่อนหน้า นับว่าเป็นอัตราขยายตัวสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2546

 นอกจากนี้ สัญญาณบวกอื่นๆ จากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ได้แก่ ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังจากบริษัทผลิตซีเมนต์และปิโตรเคมีเพิ่มการผลิต ยอดขายรถยนต์ของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หลังจากที่ทางการจีนปรับลดภาษีรถยนต์ขนาดเล็ก และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กของจีนในเดือนกุมภาพันธ์แตะ 1.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันปี 2551 ยังคงปรับลดลงร้อยละ 14.7

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน : บรรเทาภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

ทางการจีนยังคงเป้าหมายให้เศรษฐกิจจีนในปี 2552 เติบโตร้อยละ 8 โดยวางแผนใช้เงิน 9.08 แสนล้านหยวน หรือ 1.32 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2552 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.5 ของงบกระตุ้นเศรษฐกิจรวมที่มีมูลค่า 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ทางการจีนใช้จ่ายเงินไปมูลค่า 130,000 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.3 ของงบประมาณใช้จ่ายที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวรุนแรงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลประกอบการของภาคธุรกิจหดตัว จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น และภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากและเน้นการส่งออกเป็นหลักต้องประสบปัญหารุนแรง การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้คงต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนภายในในภาวะที่ภาคส่งออกต้องเผชิญกับภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่องตามเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักที่มีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวในปีนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่มีเป้าหมายเพิ่มการจ้างงาน อาจช่วยบรรเทาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงได้ระดับหนึ่ง

ประสิทธิภาพมาตรการภาครัฐช่วยชะลอภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจ – เม็ดเงินมูลค่าสูงราว 1.5 ล้านล้านหยวนที่ทางการจีนทยอยใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้แก่ ที่อยู่อาศัยราคาต่ำ การศึกษา การสร้างทางรถไฟ และการบูรณะพื้นที่เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว คาดว่าอาจจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรให้เติบโตได้ในระยะต่อไป และมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเติบโตดีขึ้นตามไปด้วย สาขาการผลิตที่คาดว่าจะได้รับผลดี ได้แก่ อุปกรณ์/วัสดุก่อสร้าง โดยมีการคาดการณ์ว่ายอดขายอุปกรณ์ก่อสร้างในจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ขณะที่มาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจในประเทศและภาคส่งออก ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจภายในและบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวรุนแรงของภาคส่งออกตามเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่รายจ่ายด้านสาธารณสุขและสวัสดิการทางสังคมจะส่งผลดีที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้ประชาชน ทำให้ความต้องการออมปรับลดลงและช่วยกระตุ้นความต้องการบริโภค โดยทางการจีนวางแผนใช้เงินด้านสวัสดิการสังคมรวม 335 พันล้านหยวน (ครอบคลุมด้านสังคม 293 พันล้านหยวน และด้านการจ้างงาน 42 พันล้านหยวน) รายจ่ายด้านสุขภาพและสาธารณสุข 118 พันล้านหยวน ซึ่งในกรณีนี้จะช่วยให้แรงขับเคลื่อนด้านการบริโภคภายในของจีนมีน้ำหนักต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมากขึ้นตามเป้าหมายที่ทางการจีนตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม ผลของมาตรการนี้อาจไม่เห็นผลที่ชัดเจนในระยะอันใกล้ เนื่องจากพฤติกรรมการออมของประชาชนจีนอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว แต่น่าจะส่งผลดีในระยะยาวมากกว่าโดยจะทำให้เศรษฐกิจจีนพึ่งพาการเติบโตจากภายในมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จีนอาจต้องเผชิญความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะเงินฝืด อัตราเงินเฟ้อของจีนที่ติดลบอย่างรวดเร็วจะยิ่งส่งผลให้ความต้องการบริโภคลดลง ประชาชนใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้นและอาจเป็นปัจจัยลบที่ทำให้ภาคค้าปลีกอ่อนแรงลง แต่คาดว่าเม็ดเงินอัดฉีดเงินของทางการจีนที่มีแผนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนน่าจะช่วยขับเคลื่อนอุปสงค์ในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้นซึ่งคาดว่าจะค่อยๆ เห็นผลตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป นอกจากนี้ จีนอาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากหนี้ด้อยคุณภาพและการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการให้กู้ยืม รวมทั้งการกระจายเงินทุนอาจต้องเผชิญข้อจำกัดและอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะกระตุ้นภาคเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

ดุลงบประมาณของจีนมีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นในปีนี้จากการใช้จ่ายของทางการจีนที่เพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่รายรับที่ลดลงในปีนี้ตามผลประกอบการของภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจที่ชะลอตัว คาดว่าจะทำให้งบประมาณของจีนในปีนี้ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 950 พันล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในปี 2551 นับว่าเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 60 ปี แต่ยังนับว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับงบประมาณของสหรัฐฯ ที่ขาดดุลถึงร้อยละ 12 ของจีดีพี ประกอบกับข้อได้เปรียบของจีนจากการมีเงินสำรองต่างประเทศมูลค่า 1.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ขณะที่หนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีที่ร้อยละ 10 ยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้จีนยังมีความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับตลาดภายในขนาดใหญ่และยังมีศักยภาพที่เติบโตได้ ทำให้คาดว่าแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มาจากภาคเศรษฐกิจภายในจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจโลก และประคับประคองเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวต่อไปได้ระดับหนึ่ง แต่จีนยังคงต้องเผชิญปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มหดตัวรุนแรงในปีนี้ ถือเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจจีน และปัญหาการว่างงานยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงตามภาคส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งอาจกดดันต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนตามมาด้วย แม้การใช้จ่ายของภาครัฐจะช่วยเพิ่มการจ้างงานในประเทศได้บ้างก็ตาม

สำหรับผลต่อประเทศไทย เศรษฐกิจจีนที่ยังเติบโตต่อไปได้ในปีนี้จากแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจภายใน อาจจะไม่ได้ช่วยให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนจากประเทศในเอเชียและไทยเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการนำเข้าของจีนจากประเทศในเอเชียและไทยโดยปกติเป็นการนำเข้าเพื่อผลิตสินค้าส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกต่อสินค้าจีนที่อ่อนแรงลงในปัจจุบัน ทำให้ความต้องการสินค้านำเข้าเพื่อใช้ผลิตชะลอตามไปด้วย ความหวังที่แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจีนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจไทยคงมีความเป็นไปได้น้อยในภาวะที่เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ของโลกล้วนเข้าสู่ภาวะถดถอยในปัจจุบัน ทำให้ความต้องการของจีนต่อสินค้าในเอเชียเพื่อใช้ผลิตส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ต้องอ่อนแรงตามไปด้วย

การส่งออกของไทยไปจีนยังคงต้องเผชิญภาวะชะลอตัวรุนแรงในปีนี้ โดยคาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนอาจจะหดตัวต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ จากที่มีอัตราการส่งออกติดลบเป็นเลข 2 หลักในอัตราร้อยละ 40 ติดต่อกันในเดือนธันวาคม 2551 และมกราคม 2552 เนื่องจากความต้องการสินค้านำเข้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนจากไทยเพื่อใช้ผลิตสินค้าส่งออกต้องเผชิญภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกที่ซบเซารุนแรง สินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่ชะลอตัวรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขณะที่ความต้องการนำเข้าสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนที่ใช้สำหรับการผลิตและการลงทุนภายในจีนจากแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอาจจะไม่ช่วยให้การส่งออกไทยไปจีนปรับตัวดีขึ้นมากนัก เนื่องจากความต้องการของจีนในขณะนี้คงเน้นช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในเป็นหลักก่อน สำหรับแนวโน้มที่ทางการจีนอาจจะดำเนินนโยบายช่วยเหลือภาคส่งออกจีนโดยการลดอัตราภาษีส่งออกทั้งหมดให้เหลือร้อยละ 0 จากก่อนหน้านี้ที่ทางการจีนได้ทยอยปรับเพิ่มอัตราภาษีคืนแก่สินค้าส่งออก (Export Tax Rebates) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รองเท้า และของเล่น เป็นต้น และมีแนวโน้มว่าทางการจีนจะขยายสินค้าที่ได้รับการปรับเพิ่มอัตราภาษีคืนการส่งออก เช่น ผลิตภัณฑ์เหล็ก ตามการร้องขอจากผู้ประกอบการเหล็กในจีน หลังจากที่การส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงถึงร้อยละ 62 ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 52 เดือน ซึ่งทำให้สินค้าส่งออกของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นกับสินค้าส่งออกของจีนที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในตลาดโลกด้วย

สรุป
ทางการจีนคงรอประเมินผลของการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้ดำเนินการไปแล้ว สถานการณ์ของภาคส่งออกและภาวะเศรษฐกิจโลก หากมีความจำเป็นคาดว่าทางการจีนคงจะเพิ่มงบรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพีของจีนแม้ว่าจะสูงขึ้นในปีนี้ แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ทำให้จีนยังสามารถเพิ่มการขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก เพื่อให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้เติบโตได้ร้อยละ 8 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ขณะที่นักวิเคราะห์ต่างคาดว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 8 ในปีนี้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตร้อยละ 6.7 ขณะที่ Consensus Forecast คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวร้อยละ 7 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ร้อยละ 8 ตามที่ทางการจีนตั้งเป้าไว้ แต่ก็ยังถือว่าชะลอตัวต่อเนื่องจากที่เติบโตได้ร้อยละ 9 ในปี 2551

หากเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว เศรษฐกิจจีนในปีนี้น่าจะยังเติบโตได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแรงส่งของภาครัฐที่สนับสนุนการใช้จ่ายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในและมาตรการการเงินที่ผ่อนคลายที่ช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงที่น่าจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ ประกอบกับข้อได้เปรียบด้านเงินสำรองต่างประเทศของจีนที่สูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ความสามารถในการใช้จ่ายด้านการคลังของจีนยังอยู่ในระดับสูง และตลาดภายในขนาดใหญ่ คาดว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนจากภาวะชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และสามารถประคับประคองเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวต่อไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียไม่ให้ถลำลึกลงไปมากจนเกินไป

การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่เน้นรายจ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคก่อสร้าง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เหล็ก และทองแดง ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกในระยะต่อไป ขณะที่ผลดีของการใช้จ่ายของทางการจีนด้านการกระตุ้นการบริโภคในภาคการผลิตสินค้าในโรงงานต่างๆ ยังค่อนข้างน้อย ความหวังที่แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจีนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจไทยจากความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนที่เพิ่มขึ้นนั้น จึงมีความเป็นไปได้ไม่มากนัก โดยเฉพาะท่ามกลางภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญๆ อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นล้วนเข้าสู่ภาวะถดถอย และยังไม่มีสัญญาณว่าจะถึงจุดต่ำสุด ซึ่งภาคส่งออกของจีนที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปีนี้ถือเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ทำให้ความต้องการของจีนต่อสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของประเทศในเอเชียและไทยเพื่อใช้ผลิตส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักต้องอ่อนแรงตามไปด้วย การส่งออกของไทยไปจีนยังคงต้องเผชิญภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ขณะเดียวกันสินค้าส่งออกของไทยต้องเผชิญกับแข่งขันกับสินค้าส่งออกจีนที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในตลาดโลกด้วย เนื่องจากทางการจีนมีแนวโน้มที่จะช่วยภาคส่งออกของจีนโดยการปรับลดอัตราภาษีส่งออกทั้งหมด จากก่อนหน้านี้ที่ทางการจีนได้ช่วยภาคส่งออกโดยทยอยปรับเพิ่มอัตราภาษีคืนแก่ภาคส่งออก (Export Tax Rebates) ไปก่อนหน้านี้แล้ว