อัตราเงินเฟ้อติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 … แนวโน้มคาดว่าจะยังติดลบรุนแรงขึ้นตลอดช่วงไตรมาสที่ 2/2552

ในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนมีนาคม 2552 โดยมีประเด็นสำคัญ ต่อไปนี้
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เท่ากับที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ไว้ โดยเป็นการติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จากที่ลดลงร้อยละ 0.1 (YoY) ในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากเดือนกุมภาพันธ์ (Month-on-Month) ที่สำคัญเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศในขณะนี้เพิ่มขึ้นมาถึงเกือบ 3 บาท/ลิตร จากราคา ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ ยังมีผลของราคาผักผลไม้ และราคาอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น

 ในด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.5 (YoY) ต่ำลงจากร้อยละ 1.8 ในเดือนก่อนหน้า สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 1/2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.3 และร้อยละ 1.7 ตามลำดับ ลดลงจากร้อยละ 2.2 และร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่ 4/2551 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 ไว้ที่ร้อยละ 0.0-0.5

อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่สะท้อนกำลังซื้อที่อ่อนแอลง แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่ติดลบนี้ ในด้านหนึ่งจะเป็นผลมาจากปัจจัยด้านอุปทานที่ได้รับอิทธิพลจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจสะท้อนความอ่อนแอของอุปสงค์ ที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยรวมหดตัวลง ตามภาวะการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและผู้บริโภคบางกลุ่มมีรายได้ลดลง ดังที่เห็นได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงถึงร้อยละ 7.1 จากที่หดตัวร้อยละ 4.0 ในเดือนมกราคม และขยายตัวร้อยละ 3.5 ในปี 2551

 ขณะเดียวกัน ในด้านราคาสินค้านั้น ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าสังเกตจากระดับราคาสินค้าในขณะนี้ไม่ได้ปรับลดลงเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) มีทิศทางที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าอาหาร แต่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบอยู่ในขณะนี้เป็นการคำนวณโดยการเปรียบเทียบราคา ณ ปัจจุบัน กับราคาในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า จึงต้องเปรียบเทียบกับฐานดัชนีราคาที่สูงอย่างมากในปีก่อน จากการที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งหากพิจารณาถึงภาวะเงินเฟ้อทั่วไปในกรณีหากไม่รวมผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาลภายใต้ 6 มาตรการ 6 เดือน พบว่าอัตราเงินเฟ้อยังเป็นตัวเลขบวก โดยปัจจัยหนึ่งที่มีผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อติดลบในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาคือผลของ 6 มาตรการ 6 เดือน ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า น้ำประปา ค่ารถโดยสารประจำทางและรถไฟปรับลดลง ซึ่งหากขจัดผลของปัจจัยดังกล่าวนี้ออกไป พบว่า โดยแท้จริงแล้วอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังไม่ลงไปเป็นตัวเลขติดลบ

สำหรับแนวโน้มราคาสินค้าในเดือนถัดๆ ไป คาดว่าจะยังคงมีแรงผลักดันจากราคาสินค้าอาหารสดและพลังงานที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยอาจจะมีทิศทางที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยในด้านราคาอาหารสด สภาพอากาศที่ร้อนจัดอาจสร้างความเสียหายให้แก่พืชผลทางการเกษตร ผักและผลไม้ ส่วนราคาพลังงานอาจมีทิศทางที่ผันแปรตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งคาดว่าจะมีความผันผวนขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะมีการประกาศออกมา ที่จะเป็นการสะท้อนว่าตลาดการเงินและเศรษฐกิจของโลกอยู่ในภาวะที่มีเสถียรภาพขึ้นแล้ว หรือยังคงอยู่ในภาวะที่ถดถอยต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) อาจจะยังคงมีตัวเลขติดลบที่รุนแรงขึ้นในช่วงเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนกรกฏาคม เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงอย่างมากในปีก่อน สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะมีทิศทางชะลอลงต่อเนื่องในเดือนต่อๆ ไป โดยมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะติดลบบางเดือนในช่วงกลางปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 1.0 ถึง 1.8 และจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำไปจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปี 2552 อาจจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วงลดลงร้อยละ 1.0 ถึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 5.5 ในปี 2551 สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ค่าเฉลี่ยทั้งปีน่าจะยังคงเป็นตัวเลขบวก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2552 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.0-1.0 ลดลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2551

 ปัจจัยสำคัญที่ควรต้องติดตามนับจากนี้คือทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลักๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวกให้เห็นบ้างจากเครื่องชี้เศรษฐกิจบางรายการที่ปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าเครื่องชี้ส่วนใหญ่ที่ดีขึ้นนั้นเป็นสัญญาณที่ชี้ว่าภาคการเงินของสหรัฐฯ เริ่มเคลื่อนตัวไปสู่ความมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายยังไม่ปักใจเชื่อว่าสัญญาณเหล่านี้จะเชื่อมโยงไปสู่การฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจจริงในเวลาอันใกล้นี้ แต่อย่างไรก็ตาม ราคาและธุรกรรมในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกในขณะนี้มีความสัมพันธ์สูงอย่างมากกับทิศทางตลาดการเงิน ดังนั้น การฟื้นตัวของภาคการเงินจึงอาจเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน ค่อยๆ ขยับขึ้นได้แม้ว่าอุปสงค์ต่อสินค้าเหล่านั้นจะยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม ทั้งนี้ จากแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อาจจะสูงขึ้นในระยะข้างหน้า ทำให้คาดว่าราคาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวอาจจะค่อยๆ ส่งผ่านมาสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าผู้บริโภคได้ อย่างไรก็ตาม สภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีแนวโน้มหดตัวลงน่าจะเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาสินค้าผู้บริโภคยังไม่สามารถขยับขึ้นได้มากนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ในสภาวะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจบ่งชี้การทรุดตัวลงรุนแรงมากขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุน ซึ่งเมื่อผนวกกับปัจจัยลบจากการหดตัวลงรุนแรงต่อเนื่องในภาคการส่งออกแล้ว จะยิ่งกดดันอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยให้ถดถอยลงรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงขึ้นจะยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจให้จมดิ่งลงลึกมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น สภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องนี้ น่าจะเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้ทางการยังสามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงได้อีก เพื่อเสริมกับมาตรการทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 