TMB IT-ONE จองซื้อเต็ม 4,000 ล้านบาท ตามเป้าหมาย

TMB ธนาคารไทยชั้นนำที่ให้บริการทางการเงินระดับโลก ประกาศความสำเร็จยอดจองหุ้นกู้ด้อยสิทธิ TMB IT-ONE เต็ม 4,000 ล้านบาท ตามเป้าหมาย โดยมียอดจองแน่นนับตั้งแต่วันแรกที่เสนอขาย ตอกย้ำความน่าสนใจของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ที่นับเป็นเงินกองทุนของธนาคาร ซึ่งมีอัตราผลตอบแทน 7%

จากผลการทดสอบความต้องการของนักลงทุนก่อนการเปิดจองซื้อที่มีมาก ธนาคารจึงได้เพิ่มจำนวนหุ้นกู้
ที่จะเสนอขายในเบื้องต้นจาก 2,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท โดยความสำเร็จของ TMB IT-ONE มาจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินคุณภาพที่เหมาะสม สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการเป็นทางเลือกสำหรับการออมในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และให้อัตราผลตอบแทนสูง ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการออกจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการจัดหาเงินทุนระยะยาวไว้รองรับการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า ขานรับแผนขยายธุรกิจของธนาคาร นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างฐานเงินทุนของธนาคารให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

“เรารู้สึกยินดีที่นักลงทุนขานรับหุ้นกู้นี้ด้วยความมั่นใจใน TMB โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบัน” นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB กล่าว พร้อมเสริมว่า “นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในกลยุทธ์ของ TMB ที่มุ่งสร้างความเติบโตโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เปี่ยมคุณภาพและมีความหลากหลาย ภายใต้มาตรฐานการให้บริการที่สะดวกและรวดเร็ว”

ปัจจุบัน TMB ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรตามแผนงานที่วางไว้ โดยยึดลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งในระยะที่ 1 ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ การยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานทุกด้านของสาขาต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางด้านบริการ การพัฒนากระบวนการทำงาน การบริหารทรัพยากรบุคคล และการบริหารความเสี่ยง ผนวกกับกลยุทธ์มุ่งขยายการเติบโตทางด้านเงินฝากและการสร้างความเป็นเลิศทางด้านบริการ เพื่อขับเคลื่อนให้ TMB ก้าวขึ้นเป็นธนาคารไทยชั้นนำที่ให้บริการทางการเงินระดับเลิศของโลกได้ตรงตามวิสัยทัศน์

สำหรับไตรมาส 1/2552 TMB มีผลประกอบการที่ดีขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยสามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 436 ล้านบาท จากที่ประสบผลขาดทุน 4,000 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2551 และเพื่อเสริมสร้างงบดุลให้แข็งแกร่ง ธนาคารจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการตั้งสำรองตามมาตรฐานการรายงานสากล (International Financial Reporting Standards: IFRS) เพื่อรับรู้ผลกระทบที่เกิดจากการขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และ สินทรัพย์รอการขาย (NPA) จำนวน 2,900 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2552 โดยคาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้

นอกจากนี้ ธนาคารได้รับรู้มูลค่าการลงทุนจากเงินลงทุนในหุ้นที่ลดลงจำนวน 900 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการลงทุนด้วยความระมัดระวัง รวมถึงได้มีการตั้งสำรองระดับสภาพคล่องทางการเงินในไตรมาสนี้ไว้ค่อนข้างสูง โดยการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก ไปลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและมีความเสี่ยงต่ำ ควบคู่กับการปรับปรุงสัดส่วนเงินฝาก ซึ่งจะเห็นได้จากสัดส่วนเงินฝากในบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น 47% ส่งผลให้ธนาคารสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และจะเป็นการเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมในอนาคตได้อีกด้วย