ปรากฎการณ์ใหม่บนเวทีประกวด “เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่” ปีที่ 5

กลายเป็นปรากฎการณ์ฮือฮาในกลุ่มเยาวชน เมื่อทีมนักศึกษาในโครงการประกวดแผนธุรกิจรอบชิงชนะเลิศ “เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่” ต้องแข่งขันนำเสนอแผนธุรกิจประชันไอเดียสุดฮิบแนวเด็ก Gen Y ต่อหน้ากลุ่มซีอีโอ ยุค Gen X จากองค์กรระดับโลกและระดับประเทศที่ในปีนี้พร้อมใจกันมาตัดสิน วิจารณ์ ชี้แนะ พร้อมให้ข้อคิดเพื่อสอนวิชาให้ “หน่ออ่อน” รุ่นใหม่ทางธุรกิจได้เรียนลัดจากประสบการณ์จริง ….

งานตัดสินโครงการประกวดแผนธุรกิจรอบสุดท้าย “เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่” ประจำ
ปี 2008-09 ณ ห้อง World Ballroom โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในบรรยากาศอันน่าปลื้มปิติ ผสมความขลัง อลังการ และตื่นเต้น เมื่อผู้บริหารระดับสูงสุดจากองค์กรชั้นนำ 5 แห่ง สละเวลาอันมีค่ามารับหน้าที่เป็นคณะกรรมการถึงขอบเวที พร้อมกับให้คำแนะนำและเคล็ดลับเด็ด ๆแก่ทีมเยาวชนนักศึกษา ด้วยหวังส่ง “หน่ออ่อน” ทางธุรกิจที่มีไอเดียเจ๋ง แต่ขาดประสบการณ์เก๋า ๆ เหล่านี้ให้ได้เรียนรู้ เรียนลัดและเติบโตไปสู่การเป็น “นักธุรกิจ
มือดีรุ่นใหม่” ได้อย่างรวดเร็ว

จากผู้สมัครแข่งขัน 126 ทีมจำนวนกว่า 350 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ สู่ 6 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ โดยทีมชนะเลิศ ไม่เพียงได้รับเงินทุนการศึกษา 100,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล แต่ยังรับหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับภูมิภาคเพื่อชิงรางวัลสุดยอดแผนธุรกิจ (Best of The Best Award) ที่ประเทศฮ่องกง พร้อมทัศนศึกษาที่ฮ่องกงเป็นเวลา 1 สัปดาห์

ผลปรากฏว่าทีม Varsity ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากแผนธุรกิจผลิตภัณฑ์แนวคิดใหม่ “Port 3.0” ด้วยข้อมูลคับแน่นและลีลาการนำเสนออย่างมืออาชีพ พวกเขาทำให้กลุ่มซีอีโอเชื่อว่านวัตกรรม Port 3.0 น่าจะมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ

น.ส. พรชนก โสภณเกียรติกุล หรือ น้องโอ๋ สมาชิกของทีม Varsity เล่าว่า “ เราคิด Port 3.0 จากการสังเกตปัญหาที่เจอในชีวิตประจำวัน อย่างวัยรุ่นจะชอบดาวน์โหลดหนัง เพลง แต่ต้องใช้เวลานานมาก ก็เลยคิดแก้ปัญหานี้ ด้วยการนำคุณสมบัติของอุปกรณ์หลาย ๆ ประเภทที่คนยุคนี้ชอบพกพามารวมไว้ในอุปกรณ์ชิ้นเดียว อาทิ ทัมไดฟ์ อุปกรณ์ถ่ายโอนข้อมูล อุปกรณ์ดาวน์โหลด และอุปกรณ์อัพโหลดค่ะ”

“Port 3.0 ยังมีข้อแตกต่างตรงที่สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายกับคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ช่วยให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลด อัพโหลดข้อมูลต่าง ๆ และ Bit Torrent ได้ทุกแห่งหนที่มี WIFI และยังสามารถโอนถ่ายข้อมูลระหว่างเครื่องด้วยกันแบบอัตโนมัติ ทำให้การแชร์ไฟล์ภาพ วิดีโอ รวมทั้งเอกสารต่าง ๆ กลายเป็นเรื่องง่ายอย่างเหลือเชื่อครับ” น้องปิงปอง – สุกฤษ ตันติสุวิทย์กุล หนึ่งในสมาชิกของทีม กล่าวเสริม

ด้านน.ส. ศศิรัตน์ กิตติจูงจิต หรือน้องปุ๋ย อีกหนึ่งสมาชิกของ Varsity กล่าวปิดท้ายว่า “พวกเราตื่นเต้นมากที่รู้ว่าต้องพรีเซ้นต์งานต่อหน้าซีอีโอ ถึง 5 ท่าน …เตรียมตัวกันหนักกว่าจะถึงวันนี้ โดยเฉพาะข้อมูลต่าง ๆ และวิธีการพรีเซ้นต์ให้เป็นมืออาชีพมากที่สุด ขอขอบคุณ เอชเอสบีซี และซีอีโอทุก ๆ ท่านที่สละเวลามาฟังและชี้แนะให้เรา ทำให้โลกทัศน์เรากว้างขึ้น”

น่าปลื้มใจที่เยาวชนหลายทีม เลือกสร้างแผนธุรกิจที่ไม่ทอดทิ้งสังคมและสิ่งแวดล้อม อันเป็นประเด็นร้อนที่ธุรกิจทั่วโลกกำลังพูดถึง โดยทีม “Begin” เจ้าของรางวัลแผนธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม และยังคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากธุรกิจการเป็นผู้ให้บริการกำจัดขยะ “Green Globe” เปิดเผยที่มาของแนวคิดนี้ว่า

“เราเสนอแผนธุรกิจเป็นตัวกลางรับซื้อบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วผ่านเครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์โดยเราให้ผู้บริโภคสามารถนำกระป๋องอะลูมิเนียม หรือขวดพลาสติกที่ใช้แล้วไปหย่อนในเครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์ จากนั้นเครื่องจะคำนวณค่าตอบแทนให้ โดยผู้ใช้บริการสามารถเลือกรับเป็นเงินสดหรือแต้มสะสมในบัตร ด้วยวิธีการง่าย ๆ นี้ นอกจากผู้ใช้บริการจะได้รับค่าตอบแทนแล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปในขณะเดียวกันด้วย และสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่รับซื้อทั้งหมด เราจะนำส่งให้กับผู้กำจัดขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป” น้องพลอย ธรรมาภิรานนท์ หนึ่งในสมาชิกของ Begin เล่า

“อยากสร้างบริการที่คืนคุณค่าสู่สังคม ไม่อยากสร้างผลิตภัณฑ์ที่ขายแล้วจบ ได้กำไรอย่างเดียว คิดว่าธุรกิจต้องคิดด้วยว่าทำอย่างไรให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุด สังคมได้ประโยชน์ด้วย และเราก็ได้ด้วยเช่นกัน” น้องบูม-เจนวิทย์ และน้องโบ-พนิตา เสริมว่า “ในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ มีคณะกรรมการแนะนำให้พวกเราลองนำโครงการนี้ไปคุยกับรัฐบาล แต่เราก็ยังไม่ได้ลองทำกันค่ะ”

สำหรับทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ Creatif จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอแผนธุรกิจ GPS Social Networking และรางวัลชมเชย 3 รางวัลได้แก่ ทีม Jeune จากมหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ นำเสนอแผนธุรกิจ PEG เครื่องสำรองไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบพกพา และอีก 2 ทีมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ Fantastico นำเสนอแผนธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายคาร์บอนเครดิต และทีม Three Trees เสนอแผนธุรกิจ Verdant เครื่องกรองอากาศทางชีวภาพ ซึ่งทั้งหมดทำให้เหล่าซีอีโอ ถึงกับทึ่งและชมเชยในความสามารถของเด็กยุคใหม่ที่นำเสนอแผนธุรกิจอย่างเชื่อมั่นและมีความพร้อมด้านข้อมูลสูง

ในช่วงท้ายกลุ่มซีอีโอซึ่งรับหน้าที่เป็นคณะกรรมการตัดสิน ยังได้ขึ้นเวทีเพื่อให้ข้อคิดและคำแนะนำกับหน่ออ่อนนักธุรกิจยุค Gen Y ที่มีไอเดียเด็ด ๆ เหล่านี้อีกด้วย นำโดย มร.วิลลี แทม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “การเริ่มธุรกิจเป็นเรื่องไม่ยากเลยหากคุณมีผลิตภัณฑ์ที่ดี มีความเป็นไปได้ในเชิงการตลาด มีความยั่งยืนและสามารถพัฒนาต่อได้ มีแหล่งเงินทุนมากมายที่ยินดีให้การสนับสนุนโดยเฉพาะในภาครัฐ”

ด้าน มร.อโลค โลเฮีย ประธานเกรรมการบริหาร จากบริษัท อินโดรามา โพลีเมอร์ส จำกัด (มหาชน) แนะว่า “ผู้ที่คิดนำผลิตภัณฑ์ไปเปิดตัวในตลาดต่างประเทศ ต้องเตรียมตัวพร้อมทั้งด้านการตลาด การเงิน การติดต่อเจรจาที่เป็นสากล นอกจากนี้ต้องสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการอย่างชัดเจนจึงจะแข่งขันได้” ขณะที่นางสุนันทา ตุลยธัญ Country Chairman กลุ่มบริษัท ดับบลิวพีพี (WPP) ให้ข้อคิดว่า “การนำผลิตภัณฑ์สู่ตลาดอย่าหยุดเพียงแค่การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสินค้า (awareness) ธุรกิจควรคิดถึงการสร้างแบรนด์ให้เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคด้วย ทำอย่างไรให้ผู้บริโภครู้สึกผูกพันกับแบรนด์ นั่นจึงเรียกว่า การประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน”

นายชาญ ศรีวิกรม์ ประธานกรรมการบริหาร จากบริษัท เกษร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ได้พูดถึงคุณสมบัติที่จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจประสบความสำเร็จว่า “ต้องมีวิสัยทัศน์ เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เสมอ รู้จักประเมินความเสี่ยง มีการพัฒนาสินค้าจนมั่นใจว่าพร้อมจริง ๆ จึงนำสู่ตลาด และรู้จักสร้างแบรนด์ ..รู้จักพัฒนาตัวเองให้เป็นนักธุรกิจมืออาชีพ ด้วยการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม

อยู่เสมอ” และท่านสุดท้ายนายพนา จันทร์วิโรจน์ กรรมการอำนวยการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดียส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธุรกิจต่าง ๆ กำลังมุ่งเข้าหาแนวคิดเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วันนี้เราได้เห็นโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประสบความสำเร็จมากขึ้น เชื่อว่าโมเดลธุรกิจหลาย ๆ ด้านในอนาคตอาจเปลี่ยนจากการสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว ไปสู่การตอบแทนคืนกลับให้สังคม”

มร.วิลลี แทม ซีอีโอของธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวปิดท้ายว่า “โครงการประกวด เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่ เป็นเวทีที่เปิดให้นักศึกษาไทยได้แสดงทักษะในเชิงธุรกิจ นำความรู้ในตำราออกมาปฏิบัติจริง ซึ่งเกณฑ์ตัดสินจะเน้นความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ และความคิดสร้างสรรค์ ผู้เข้าร่วมจะไม่เพียงได้ฝึกสร้างแผนธุรกิจจริง ๆ แต่ยังมีโอกาสขึ้นเวทีในระดับนานาชาติด้วย ซึ่งในปีที่ผ่านมาทีมนักศึกษาไทยคว้ารางวัล Best of The Best Award ที่ประเทศฮ่องกง และเราหวังว่าปีนี้ทีมไทยจะนำข่าวดีกลับมาสู่ประเทศอีกครั้ง”

ว่ากันว่า คนยุค Gen Y ทั่วโลกเป็นกลุ่มที่สนใจทำธุรกิจส่วนตัวกันมากขึ้น เพราะพวกเขาต้องการออกแบบชีวิตให้กับตัวเอง มากกว่านั่งทำงานให้กับองค์กรใหญ่ ๆ … ไม่แน่ว่าในเมืองไทย เราอาจจะได้เห็น นักธุรกิจรุ่นใหม่ ไฟแรง ยุค Gen Y ออกมาสร้างปรากฎการณ์ใหม่ ๆ ทางธุรกิจให้พวกเราได้เห็นกันเร็ว ๆ นี้

อย่ารีรอ ก้าวออกมาหาประสบการณ์มีค่าในชีวิตจากเวทีประกวดแผนธุรกิจ “เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่” เตรียมตัวให้พร้อม…แล้วปีหน้ากลับมาพบกัน