เปิดเทอม’52 : โครงการเรียนฟรีช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้บางส่วน

ค่าใช้จ่ายเปิดเทอมในปีการศึกษา 2552 นับว่าเป็นปีแรกที่บรรดาผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเปิดเทอมลดลงบางส่วน อันเนื่องจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปี โดยมาตรการดังกล่าวน่าจะถือได้ว่าเป็นปัจจัยบวกต่อกำลังซื้อของผู้ปกครอง และเป็นผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกในระดับหนึ่ง แม้ว่าโดยรวมแล้วภาวะการค้ายังถูกกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจ และการรัดเข็มขัดของบรรดาผู้บริโภค

นโยบายเรียนฟรี 15 ปี…ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง
นโยบายเรียนฟรี 15 ปีนับเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มโอกาสให้เด็กไทยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ โดยให้การอุดหนุนทั้งค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 เป็นต้นไป โดยมีงบประมาณดำเนินการ 18,257.98 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเฉลี่ยของไทยที่อยู่ในระดับ 65,900 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27.7 ของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั้งหมด ดังนั้นนโยบายเรียนฟรี 15 ปี คาดว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้พอสมควร

แนวปฏิบัติในการรับเงินอุดหนุน รัฐบาลแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มที่ให้โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบ คือ

-ค่าเล่าเรียน รัฐบาลจัดสรรให้ตามจำนวนของนักเรียน โดยเพิ่มจำนวนเงินตามระดับการศึกษา

-ค่าหนังสือเรียน เป็นการจัดสรรในลักษณะให้ยืมเรียน เนื่องจากหนังสือเรียนที่โรงเรียนจัดซื้อนั้นถือว่าเป็นทรัพย์สินของโรงเรียน โดยต้องคืนให้สถานศึกษาเมื่อจบภาคการศึกษา รัฐบาลกำหนดให้โรงเรียนพิจารณาจัดซื้อหนังสือจากรายชื่อบัญชีหนังสือเรียนที่กระทรวงศึกษากำหนด

-ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพ เช่น ค่ายลูกเสือ/ยุวกาชาด กิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่ การสอนเทคโนโลยีสารสนเทศ(คอมพิวเตอร์นอกเหนือจากการเรียนปกติไม่ต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อคนต่อปี) เป็นต้น

2.กลุ่มที่ผู้ปกครองเป็นผู้รับผิดชอบ ในส่วนอุปกรณ์การเรียน และเครื่องแบบนักเรียน การรับเงินอุดหนุนในส่วนนี้ทางรัฐจะจัดสรรเงินสดให้ผู้ปกครองจัดซื้อเอง โดยให้เบิกจ่ายจากโรงเรียนต้นสังกัด เมื่อซื้อแล้วต้องนำใบเสร็จมาแสดงกับสถานศึกษาด้วย โดยเครื่องแบบนักเรียนนั้นรัฐบาลให้เงินอุดหนุนเฉพาะเสื้อ และกางเกงหรือกระโปรง ส่วนที่ผู้ปกครองยังต้องซื้อเองคือ ชุดพละ ชุดลูกเสือ/ยุวกาชาด และส่วนประกอบของเครื่องแบบ เช่น เข็มขัด รองเท้า ถุงเท้า เป็นต้น

เงื่อนไขสำคัญของการได้รับเงินอุดหนุนนี้ คือ โรงเรียนต้องขอเข้าร่วมโครงการ กรณีที่สถานศึกษาบางแห่งไม่ขอเข้าร่วมโครงการ ผู้ปกครองของนักเรียนในสถานศึกษาเหล่านั้นก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนทั้งหมด หรือในกรณีที่ผู้ปกครองขอสละสิทธิ์รับเงินอุดหนุนเอง โดยเงินอุดหนุนส่วนที่เหลือนั้นทางกระทรวงศึกษาจะพิจารณาจัดสรรให้กับโรงเรียนที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน มีผลการประเมินของสำนักงานมาตรฐานการศึกษารอบแรกอยู่ในระดับปรับปรุง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 600 โรงเรียน

ประเด็นสำคัญคือ เงินอุดหนุนของรัฐบาลนี้นับว่าเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเปิดเทอมให้กับบรรดาผู้ปกครอง แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินบางส่วนที่ผู้ปกครองยังต้องจ่ายเพิ่มบ้าง โดยเฉพาะชุดพละ ชุดลูกเสือ-ยุวกาชาด และส่วนประกอบเครื่องแบบ เช่น เข็มขัด รองเท้า ถุงเท้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เงินอุดหนุนของรัฐบาลจากโครงการเรียนฟรี 15 ปีนี้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับบรรดาผู้ปกครองมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับ

1.กรณีที่บุตรหลานอยู่ในสถานศึกษาของรัฐบาล ซึ่งโดยปกติค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของบรรดาผู้ปกครองในกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์สูงมากนักเมื่อเทียบกับสถานศึกษาเอกชน ดังนั้นเงินอุดหนุนนี้ลดภาระค่าใช้จ่ายได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นแต่ค่าใช้จ่ายในกลุ่มกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่ทางโรงเรียนบางแห่งขอเรียกเก็บเพิ่มเติมบ้าง ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะค่ารถโรงเรียน ค่าอาหารกลางวัน และค่าเรียนกวดวิชา หรือเรียนเสริมทักษะนั้นก็ยังเป็นภาระของผู้ปกครองที่ยังต้องจ่ายต่อไป นอกจากนี้ ยังยกเว้นในกรณีที่ผู้ปกครองต้องการให้ลูกอยู่ในห้องที่มีการสอนพิเศษ เช่น ห้องเด็กอัจฉริยะ ห้องที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งเงินอุดหนุนจากรัฐบาลก็จะลดภาระได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

2.กรณีที่บุตรหลานอยู่ในสถานศึกษาของเอกชน ค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของผู้ปกครองในกลุ่มนี้อยู่ในเกณฑ์สูง และมีความแตกต่างกันอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันสถานศึกษาของเอกชนมีการพัฒนาหลักสูตรให้มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของบรรดาผู้ปกครองที่ต้องการปูพื้นฐานการศึกษาที่แตกต่างเพื่ออนาคตของบุตรหลาน เช่น หลักสูตรสองภาษา หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรภาษาจีน เป็นต้น หรือมีการเสริมการสอนคอมพิวเตอร์ ซึ่งเงินอุดหนุนของรัฐบาลในโครงการเรียนฟรี 15 ปีนี้จะช่วยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยเฉพาะในส่วนของค่าเล่าเรียน

ทั้งนี้ การลดภาระค่าใช้จ่ายได้มากน้อยเพียงใดยังต้องคำนึงประเภทของสถานศึกษาเอกชนด้วย เนื่องจากสถานศึกษาเอกชนนั้นมี 3 ประเภท คือ

-โรงเรียนขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ100% โดยไม่ได้เรียกเก็บเงินจากผู้ปกครอง เช่น โรงเรียนที่ก่อตั้งโดยมูลนิธิหรือสมาคมที่จัดการศึกษาเพื่อการกุศล โรงเรียนเอกชนในพุทธศาสนา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์คนพิการ เป็นต้น

-โรงเรียนขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ 60% เก็บเงินจากผู้ปกครอง 40%

-โรงเรียนที่ไม่ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ หรือเก็บเงินจากผู้ปกครอง 100% เช่น โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสองภาษา เป็นต้น

เมื่อมีโครงการเรียนฟรี 15 ปี โรงเรียนเอกชนที่ขอรับการอุดหนุนจากรัฐ(ทั้งขอรับเงินอุดหนุน100% และ 60%)จะได้รับเงินอุดหนุนค่าเล่าเรียนรายหัวตั้งแต่ชั้นอนุบาล1 ซึ่งเดิมรัฐบาลให้เงินอุดหนุนค่าเล่าเรียนตั้งแต่อนุบาล2 เป็นต้นไป ส่วนโรงเรียนที่ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ 60% จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพิ่มเป็น 70% ซึ่งเท่ากับโรงเรียนได้เงินอุดหนุนเพิ่มอีก 10% โดยทางโรงเรียนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขคือ ต้องปรับลดค่าเล่าเรียนในแต่ละระดับชั้นตามที่ได้แสดงไว้ในตารางข้างต้น

ส่วนเงินอุดหนุนในส่วนอื่นๆ ได้แก่ ค่าหนังสือเรียน ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าชุดนักเรียน ทางโรงเรียนเอกชนจะได้เท่ากับโรงเรียนรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในโรงเรียนเอกชนนั้นบางแห่งมีการรณรงค์ให้ผู้ปกครองสละสิทธิ์ขอรับการอุดหนุนในส่วนของชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน เนื่องจากผู้ปกครองบางคนพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งนี้เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือบรรดาผู้ปกครองที่ยังต้องการเงินช่วยเหลือในส่วนนี้

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้วิเคราะห์ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ลดลงจากเงินอุดหนุนโครงการเรียนฟรี 15 ปี โดยแยกประเภทโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน รวมทั้งแยกระดับชั้นเรียน ซึ่งรัฐบาลให้เงินอุดหนุนที่แตกต่างกันในเรื่องค่าเล่าเรียน โดยถ้าเป็นโรงเรียนรัฐบาลจะได้รับเงินอุดหนุนค่าหนังสือ อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน นอกเหนือไปจากค่าเล่าเรียนที่รัฐอุดหนุนอยู่เดิมแล้ว ส่วนโรงเรียนเอกชนก็จะได้รับการอุดหนุนให้ลดค่าเล่าเรียนตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด ขณะที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าหนังสือ อุปกรณ์การเรียน และชุดนักเรียนเท่ากับโรงเรียนรัฐบาล

แม้ว่าผู้ปกครองจะมีภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากโครงการเรียนฟรี 15 ปี แต่ผู้ปกครองอาจจะยังมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก 5 รายการหลักที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุน เช่น ค่ากิจกรรมพิเศษ ค่าประกันอุบัติเหตุ ค่าอาหารกลางวัน ค่าบำรุงโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งโรงเรียนสามารถเรียกเก็บเพิ่มได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ปกครอง และอยู่ภายใต้การดูแลของคณะภาคี 4 ฝ่ายของแต่ละโรงเรียน คือ ผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนชุมชน และผู้แทนคณะกรรมการนักเรียน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วคาดว่ามาตรการของรัฐบาลน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองไปได้ระดับหนึ่ง

ค่าใช้จ่ายสมทบ…ภาระที่ผู้ปกครองยินดีจ่าย
แม้ว่ารัฐบาลจะมีการจ่ายเงินอุดหนุนบางส่วนแล้ว บรรดาผู้ปกครองก็ยังภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายสมทบที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันทางสถาบันการศึกษามีการแข่งขันกันในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทำให้มีการแข่งขันกันในการเพิ่มหลักสูตรอินเตอร์ หลักสูตรสองภาษา หลักสูตรภาษาจีน หลักสูตรคอมพิวเตอร์ รวมทั้งค่าใช้ในส่วนของกิจกรรมพิเศษที่เป็นการเสริมหลักสูตรต่างๆ ซึ่งบรรดาผู้ปกครองส่วนใหญ่นั้นยินดีจ่ายค่าใช้จ่ายสมทบที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากถือว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่ดีของบุตรหลาน โดยนับเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคง ที่จะนำมาซึ่งโอกาสและความได้เปรียบท่ามกลางโลกของการแข่งขันที่รุนแรงในวงการทำงานในอนาคต ส่วนสถาบันการศึกษาที่มีการสร้างหลักสูตรใหม่ๆเพิ่มเติมนั้นนับว่าเป็นการยกระดับการเรียนการสอน และเป็นสร้างมาตรฐานการศึกษาใหม่ ทำให้มีความได้เปรียบในเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและนักเรียน/นักศึกษา ขณะที่ทางสถาบันการศึกษาก็ต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาหลักสูตร บุคลากร ตลอดจนอุปกรณ์สื่อการสอนต่างๆ ทำให้งบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลนั้นไม่เพียงพอ จึงต้องขอความร่วมมือจากบรรดาผู้ปกครอง โดยถือว่าเป็นการพัฒนามาตรฐานการศึกษาของสถาบันการศึกษาร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลควบคุมได้เพียงแต่กำหนดให้เป็นการจ่ายโดยความยินยอมของผู้ปกครอง และอยู่ภายใต้การดูแลของภาคี 4 ฝ่าย

โรงรับจำนำ…ที่พึ่งยามยาก
เมื่อคิดถึงแหล่งเงินในช่วงเปิดเทอม โรงรับจำนำจะเป็นอันดับต้นๆที่บรรดาผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยยึดเป็นที่พึ่ง โดยคาดว่าในช่วงเปิดเทอมปี 2552 โรงรับจำนำยังคงเป็นที่พึ่งของบรรดาผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม เนื่องจากโครงการเรียนฟรี 15 ปีของกระทรวงศึกษาธิการ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของบรรดาผู้ปกครองไปได้บางส่วนเท่านั้น ขณะที่ผู้ปกครองยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม โดยเฉพาะท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่อยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งก็เป็นภาระอันหนักหน่วงของผู้ปกครองอยู่แล้ว ดังนั้น โรงรับจำนำจึงยังเป็นที่พึ่งพิงของผู้ปกครองเช่นเดิม

ประเด็นที่ต้องพิจารณาประกอบคือ ปัจจัยที่จะกำหนดการเข้ามาใช้บริการโรงรับจำนำในช่วงเปิดเทอมอีกปัจจัยหนึ่งคือ ราคาทอง จากการที่ราคาทองสูงขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้บรรดาผู้ปกครองส่วนหนึ่งอาจจะไถ่ถอนทองจากโรงรับจำนำไปขายกับร้านทองก่อนหน้านี้ไปแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการทำกำไรในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซา ดังนั้นในช่วงเปิดเทอมนี้บรรดาผู้ปกครองบางส่วนที่ไม่มีทองเพื่อจะนำไปจำนำแล้ว อาจจะต้องหันไปพึ่งสินทรัพย์ประเภทอื่นๆแทน หรือหันไปพึ่งเงินกู้จากแหล่งอื่นแทน ส่วนผู้ปกครองที่ยังมีทองอยู่บ้าง ถ้าเงินไม่เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม ก็ต้องตัดสินใจระหว่างการนำทองไปจำนำ หรือขายทองกับร้านทอง ซึ่งแนวทางการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ราคาทองในอนาคต กล่าวคือ ถ้าคาดการณ์ว่าราคาทองมีแนวโน้มสูงขึ้น การตัดสินใจใช้บริการโรงรับจำนำจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะสามารถไถ่ถอนทองที่มีราคาสูงขึ้นกลับมาได้ แต่ถ้าคาดการณ์ว่าราคาทองจะลดลงในอนาคต การขายทองในตอนนี้ให้กับร้านขายทองก็จะทำให้ได้ราคาดีกว่า อย่างไรก็ตาม ตลาดค้าทองคาดว่าราคาทองยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้บรรดาผู้ปกครองที่มีเงินไม่พอกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมก็น่าจะยังคงใช้บริการของโรงรับจำนำเหมือนกับในปีที่ผ่านมา

ด้านโรงรับจำนกนั้นได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามโครงการลดดอกเบี้ยเพื่อการศึกษา(โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน-31 พฤษภาคม) กล่าวคือ โรงรับจำนำของกรุงเทพฯหรือสำนักงานสถานธนานุบาลคิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.50 บาทต่อเดือน จากเดิมที่เคยคิดในอัตราร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมเงินสำรองไว้อีก 400 ล้านบาทเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บรรดาผู้ปกครองที่เข้ามาใช้บริการในช่วงเปิดเทอม

ร้านค้าปลีกปรับกลยุทธ์…รับอานิสงส์จากเงินอุดหนุน
ในช่วงเปิดเทอมปี 2552 บรรดาร้านค้าปลีกต่างๆปรับกลยุทธ์ในการจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เนื่องจากการที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนภายใต้โครงการเรียนฟรี 15 ปี อาจมองได้ว่าเป็นการเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับผู้ปกครอง โดยทำให้ผู้ปกครองน่าจะมีเงินมาใช้จ่ายสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามากขึ้น เช่น จากเดิมที่เคยประหยัดโดยการซื้อปีเว้นปี หรือให้น้องใช้ของพี่ เป็นต้น ก็จะสามารถซื้อได้ในปีนี้ เนื่องจากเมื่อซื้อแล้วสามารถนำใบเสร็จไปเบิกกับทางโรงเรียนได้ ซึ่งเม็ดเงินค่าใช้จ่ายที่สะพัดในช่วงเปิดเทอมจากมาตรการนี้น่าจะสามารถเข้ามาช่วยพยุงธุรกิจค้าปลีกที่ยอดขายถูกกระทบจากปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปิดเทอมนี้กลยุทธ์ด้านราคาน่าจะยังเป็นกลยุทธ์หลักที่ใช้ในการแข่งขันเช่นทุกปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของบรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย

ธุรกิจร้านค้าปลีกเป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์การเรียน โดยเป็นที่นิยมของบรรดาผู้ปกครอง เนื่องจากมีสินค้าให้เลือกครบทุกประเภท ทั้งชุดนักเรียน รองเท้า กระเป๋า เครื่องเขียน และอุปกรณ์การเรียนอื่นๆ มีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ รูปแบบ ขนาด และคุณภาพ รวมทั้งยังมีบริการเสริม คือ การปักชื่อแบบถูกต้องตามระเบียบของแต่ละสถานศึกษา นอกจากนี้ ราคายังถูกกว่าท้องตลาดประมาณร้อยละ 5-30 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับตรายี่ห้อเป็นสำคัญ นับเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองไปได้ระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันยังมีบริการครบวงจร คือ มีการอำนวยความสะดวกโดยมีบริการให้ผ่อนชำระ เมื่อซื้อสินค้ารับเปิดเทอมที่เข้าร่วมรายการ รวมทั้งมีแคมเปญพิเศษรองรับบรรดาผู้ปกครองที่ใช้เช็คช่วยชาติในการเลือกซื้อสินค้ารับเปิดเทอม โดยการเพิ่มส่วนลดพิเศษให้ และให้การรับรองว่าใบเสร็จจากการซื้อสินค้าและอุปกรณ์การเรียนสามารถเบิกเงินสนับสนุนตามโครงการเรียนฟรี 15 ปีคืนจากทางราชการได้อีกด้วย

โดยภาพรวมบรรดาผู้ประกอบการได้คาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายของธุรกิจค้าปลีกในช่วงเปิดเทอมปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับในช่วงเปิดเทอมปีที่ผ่านมา โดยแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะหดตัว และผู้บริโภคจะพากันรัดเข็มขัด แต่ก็ยังได้แรงหนุนบางส่วนจากเม็ดเงินอุดหนุนตามโครงการเรียนฟรีของรัฐบาล โดยค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งรัฐบาลเป็นผู้จ่ายแทน กล่าวคือ ผู้ปกครองจ่ายเงินไปก่อนแล้วไปเบิกเงินคืนจากทางโรงเรียนในส่วนของอุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียน ทำให้น่าจะช่วยหนุนกำลังซื้อของผู้ปกครองได้ส่วนหนึ่ง

บทสรุป
ในช่วงเปิดภาคการศึกษาปี 2552 ภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของบรรดาผู้ปกครองมีแนวโน้มลดลงบางส่วน อันเป็นผลมาจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองยังคงเน้นประหยัด อันเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลต่อกำลังซื้อ และความกังวลต่อรายได้ในอนาคต ในขณะที่ยังมีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยส่งบุตร/หลานเข้าศึกษาในหลักสูตรพิเศษ เช่น หลักสูตรการเรียนสองภาษา และหลักสูตรนานาชาติ เป็นต้น โดยยินดีเสียค่าใช้จ่ายส่วนเกินจากการอุดหนุนของรัฐบาล

สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับช่วงเปิดเทอมในปี 2552 ในปีนี้นับว่าน่าจะได้รับอานิสงส์จากโครงการเรียนฟรี 15 ปีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก จากการที่มาตรการดังกล่าวช่วยหนุนกำลังซื้อของผู้ปกครอง โดยรัฐบาลเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายบางส่วน ทำให้น่าจะช่วยชดเชยผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจได้บ้าง ส่วนธุรกิจโรงรับจำนำยังคงเป็นที่พึ่งยามยากของบรรดาผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย แม้ว่าเงินอุดหนุนของรัฐบาลช่วยลดค่าใช้จ่าย แต่ผู้ปกครองกลุ่มนี้ก็ยังมีรายได้ไม่เพียงพอ อันเนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่อยู่ในเกณฑ์สูง