การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์: ฟื้นตัวแล้ว?

จากสถิติการค้าของกระทรวงพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทย ตัวเลขการส่งออกของสินค้อิเล็กทรอนิกส์ของไทยล่าสุดในเดือนมี.ค.และเดือนเม.ย. มีการปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดือนก่อนๆ อย่างต่อเนื่องโดยอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการติดลบในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งก็ส่งผลให้การผลิตในประเทศดีขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดี สิ่งที่หลายๆ ฝ่ายมีคำถามก็คือการส่งออกที่ดีขึ้นเป็นปรากฎการณ์ในระยะสั้นหรือเป็นแนวโน้มในระยะยาว หรืออีกนัยหนึ่งการฟื้นตัวของการส่งออกมีความยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ดังต่อไปนี้

ภาวะการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น – การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกระทบต่ออุปสงค์ต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอทีและส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยซึ่งเป็นสินค้าขั้นกลางหดตัวค่อนข้างมากตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 4/2551 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2552 โดยในเดือนม.ค. มูลค่าการส่งออกได้หดตัวมากที่สุดถึงร้อยละ 40.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี การหดตัวของการส่งออกในช่วง 2-3 เดือนต่อมาได้เริ่มชะลอตัวลงเนื่องจากการกระเตื้องขึ้นของคำสั่งซื้อในหมวดสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ) และแผงวงจรไฟฟ้าซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จากรูปกราฟจะเห็นได้ว่าล่าสุด อัตราการหดตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยในเดือนเม.ย. อยู่ที่ร้อยละ 22.8 ลดลงจากในเดือนก่อนๆ

การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกในช่วงที่ผ่านมามีสาเหตุจากผลของสินค้าคงคลังและการปรับตัวของผู้ประกอบการเป็นหลัก การสั่งซื้อสินค้าหรือออเดอร์ที่เพิ่มขึ้นเป็นออเดอร์ระยะสั้นเพื่อนำมาทดแทนสินค้าคงคลังที่มีระดับต่ำเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้ซื้อได้ชะลอการสั่งซื้อสินค้าออกไปและพยายามระบายสินค้าคงคลังที่มีอยู่เพื่อถือเงินสดและรอดูสถานการณ์ ทั้งนี้ สินค้าคงคลังในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้ปรับลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ปลายปี 2551 โดยสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์โลก ระดับของสินค้าคงคลังได้ลดลงร้อยละ 6 ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2551 และอีกร้อยละ 4 ในไตรมาสแรกของปี 2552 ขณะที่ระดับสินค้าคงคลังของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือมีแนวโน้มที่จะหดตัวลงในสัดส่วนที่มากกว่า และเมื่อดูตัวเลข Book-to-Bill Ratio ซึ่งเป็นเครื่องชี้แนวโน้มของอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ จะเห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวโดยตัวเลขล่าสุดในเดือนเม.ย. อยู่ที่ 0.65 เท่าเมื่อเทียบกับ 0.56 เท่าในเดือนก่อนหน้า และเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าปริมาณคำสั่งซื้อเฉลี่ย 3 เดือนสิ้นสุดเดือนเม.ย. จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 77 ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าคำสั่งซื้อยังคงมีอยู่อย่างจำกัด

ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในต่างประเทศซึ่งทำให้ตลาดส่งออกบางตลาด เช่น จีน ฟื้นตัวขึ้นมา ประกอบกับการปรับตัวของผู้ประกอบการในการกระจายการส่งออกโดยการลดสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดดั้งเดิม อาทิ สหรัฐฯ กลุ่มประเทศยุโรป และหันไปส่งออกไปจีนและตลาดอื่นๆ ที่มียังมีศักยภาพ เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การส่งออกมีการกระเตื้องขึ้นจากช่วงก่อน ในกรณีของประเทศ จีน ช่วงปลายปี 2551 รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวนเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยแผนดังกล่าวได้รวมการเพิ่มการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐในโครงการต่างๆ และโครงการอุดหนุนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคในชนบท โดยรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 13 แก่เกษตรกรเพื่อซื้อโทรทัศน์สี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และเครื่องใช้อื่นๆ และภายหลังยังได้ขยายมาตรการในรูปของเงินอุดหนุนเพื่อซื้อของใหม่ทดแทนของเก่าไปยังประชาชนในเขตเมืองบางส่วนด้วย ประกอบกับการใช้มาตรการการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นยอดขายสินค้ากลุ่มที่ได้รับการอุดหนุนแล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างอุปสงค์ต่อเนื่องไปยังสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าขั้นกลางอีกด้วย และเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน โดยการที่เศรษฐกิจและการบริโภคของประเทศจีนกระเตื้องขึ้น นอกจากจะส่งผลให้การส่งออกโดยตรงไปยังจีนมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้การส่งออกทางอ้อมของไทยที่ไปยังบริษัทโอดีเอ็ม (ODM) ในฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย เนื่องจากบริษัทในประเทศเหล่านี้มีการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไทยเพื่อนำไปประกอบเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายและส่งออก

นอกจากประเทศจีนแล้ว ประเทศญี่ปุ่นก็มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยประมาณต้นเดือนพ.ค.รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาตรการให้เงินอุดหนุนมูลค่ารวม 290 พันล้านเยนแก่ผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศประหยัดพลังงาน โดยผู้บริโภคจะได้รับแต้มที่เรียกว่า eco-points ซึ่งหนึ่งแต้มมีมูลค่าหนึ่งเยน ตามสินค้าที่กำหนด เช่น ร้อยละ 5 ของราคาเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น หรือ ประมาณร้อยละ 10 ของราคาโทรทัศน์ เป็นต้น โดยมาตรการนี้จะมีผลไปจนถึงเดือนมี.ค. 2553 ซึ่งผลของมาตรการในช่วงที่ผ่านมาก็ไปทำให้ยอดขายสินค้ากลุ่มที่ได้รับการอุดหนุนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการสำรวจ ของบริษัทวิจัยจีเอฟเค (ญี่ปุ่น) พบว่ายอดขายโทรทัศน์จอแบนเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ส่วนตู้เย็นขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 1.2 เท่าในเดือนพ.ค. ซึ่งมาตรการ eco-points ของญี่ปุ่นก็น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยน่าจะที่จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. และจากนี้ต่อไปการส่งออกน่าที่จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกอาจจะติดลบน้อยลงและน่าจะกลับมาเป็นบวกในช่วงไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ คาดว่าตัวเลขการส่งออกโดยรวมทั้งปี 2552 อาจจะขยายตัวติดลบร้อยละ 10 ถึงติดลบร้อยละ 15 (มูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ประมาณ 27,992-26,437 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกสินค้าหมวดที่สำคัญ คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบอาจหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 15 ขณะที่สินค้าหมวดวงจรไฟฟ้าจะหดตัวประมาณร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 12

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโดยรวมภาวะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในด้านอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงและเป็นเหตุผลที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าจะทำให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกอาจยังคงชะลอตัวอยู่ ประการแรก คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ประเทศต่างๆ ได้มีการนำมาใช้นั้น เป็นนโยบายชั่วคราวที่ใช้ในระยะสั้นและอาจมีผลจำกัดโดยอาจไม่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากนักในภาวะที่รายได้มีแนวโน้มลดลงและอัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจไม่ช่วยชดเชยการตกต่ำของยอดขายรวมของบริษัทผู้ผลิตมากนัก เนื่องจากสำหรับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่นั้นการขายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนน้อย ดังนั้นแม้ว่ามาตรการของรัฐจะช่วยให้ยอดขายในประเทศกระเตื้องขึ้นแต่ก็อาจไม่สามารถชดเชยการลดลงของยอดขายในต่างประเทศได้ ซึ่งการที่บริษัทข้ามชาติขายสินค้าได้น้อยก็จะส่งผลกับผู้ประกอบการไทยโดยการลดการผลิตและการสั่งซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลง

ความเสี่ยงประการที่สองมาจากการปรับโครงสร้าง (Restructuring) ของบริษัทผู้ผลิตข้ามชาติ ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอทีข้ามชาติระดับโลกหลายบริษัท ประสบกับผลประกอบการขาดทุนและต้องปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อลดต้นทุน โดยการปิดโรงงานบางแห่งทั้งในและต่างประเทศ การปลดคนงาน การลดจำนวนซัพพลายเออร์ลงเพื่อที่ว่าจะได้มีอำนาจต่อรองมากขึ้นและซื้อชิ้นส่วนได้ในราคาที่ถูกลงในการสั่งซื้อสินค้าล็อตใหญ่ๆ และการชะลอแผนการลงทุน/ร่วมทุนออกไป ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่เป็นเอสเอ็มอี (SME) โดยนอกจากที่คำสั่งซื้อที่อาจหายไปแล้วยังต้องเผชิญกับการแข่งขันและแรงกดดันด้านราคาที่มากขึ้นอีกด้วย

การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อันเนื่องมาจากผลของสินค้าคงคลังนั้นเป็นการฟื้นตัวเพียงแค่ชั่วคราว โดยการฟื้นตัวของการส่งออกในระยะยาวขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของอุปสงค์สินค้าขั้นสุดท้าย ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอที ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีเพียงตลาดจีนและตลาดใหม่บางประเทศที่ยังพอจะขยายตัวได้ ดังนั้น ในด้านการตลาด ผู้ส่งออกควรที่จะมีการกระจายการส่งออกไปยังตลาดอย่างเหมาะสมเพื่อกระจายความเสี่ยง และมองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งก็รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ มีออกมา การทำตลาดชิ้นส่วนเพื่อการซ่อมแซมหรือทดแทน (Repair & Maintenance) ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งน่าจะยังสามารถเติบโตได้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การกระจายการขายมาเน้นตลาดในประเทศมากขึ้นเพื่อทดแทนการส่งออกที่หดตัว เช่น ในตลาดการใช้ชิ้นส่วนเพื่อทดแทนการนำเข้าในอุตสาหกรรมอื่น เช่น การต่อเรือ ฯลฯ ในด้านการผลิต นอกจากการพัฒนาและรักษาคุณภาพของสินค้าซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตควรทำอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตก็ควรที่จะปรับสายการผลิตให้มีความยืดหยุ่นและปรับปรุงระบบสินค้าคงคลังและโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถรับคำสั่งซื้อที่เข้ามาได้ทุกเมื่อและเพื่อเป็นการลดต้นทุน ซึ่งการปรับปรุงระบบการผลิต การบริหารและการขนส่งมีความสำคัญมากในภาวะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (วัตถุดิบและน้ำมัน) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกประการสำหรับผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวที่อุปสงค์มีน้อยกว่าอุปทานซึ่งทำให้ผู้ผลิตอาจไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อไปยังผู้ซื้อได้

สรุป
ภาวะการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการปรับตัวของสินค้าคงคลัง (Restocking) การปรับตัวของผู้ส่งออกในการกระจายสินค้าไปในตลาดอื่นๆ นอกเหนือไปจากตลาดดั้งเดิม อาทิ สหรัฐฯ และยุโรป ที่หดตัวค่อนข้างมาก และการฟื้นตัวของตลาดต่างประเทศบางประเทศ เช่น จีน อันเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยกระเตื้องขึ้น และทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าจุดต่ำสุดของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยน่าที่จะผ่านพ้นไปแล้ว โดยในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มที่จะติดลบลดลง และกลับมาขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากผลของฐาน (มูลค่าการส่งออกช่วงปลายปี 2551 ที่อยู่ในระดับต่ำ) และโดยรวมทั้งปี 2552 คาดว่าตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยจะอยู่ที่ 27,992-26,437 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 15

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงต่อไปยังมีความเสี่ยง เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เกิดจากการสต็อกสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นเป็นเพียงปรากฏการณ์ในระยะสั้น ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอุดหนุนการซื้อสินค้าที่หลายประเทศนำมาใช้ก็เป็นมาตรการชั่วคราวและแม้ว่าจะมีผลดีต่อบริษัทผู้ผลิตและผู้ส่งออก แต่ผลของมาตรการอาจมีจำกัดโดยอาจไม่สามารถชดเชยการหดตัวของตลาดโลกโดยรวมได้หากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้แนวโน้มการปรับโครงสร้างของบริษัทข้ามชาติยังหมายความว่าจำนวนซัพพลายเออร์ในต่างประเทศจะถูกลดจำนวนลงและมีแรงกดดันด้านราคาเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้ผู้ผลิต/ส่งออกชิ้นส่วนในไทยที่เป็นเอสเอ็มอีลำบากโดยเฉพาะในระยะข้างหน้าที่ต้นทุน (ราคาสินค้าโภคภัณฑ์) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น สำหรับผู้ส่งออกจึงควรที่จะเพิ่มความระมัดระวังในการวางแผนการตลาดเริ่มตั้งแต่การจัดซื้อ การปรับปรุงการผลิตและการจัดการระบบโลจิสติกส์และการส่งมอบ (Delivery) ให้มีความยืดหยุ่นและรวดเร็ว ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป และติดตามความเคลื่อนไหวสถานการณ์เศรษฐกิจต่างประเทศเพื่อดูประเมินทิศทางและแนวโน้มของตลาดได้ดียิ่งขึ้น หาโอกาสในตลาดใหม่ๆ อาทิ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในต่างประเทศ ตลาดต่างประเทศอื่นๆ ที่ยังขยายตัวได้ และตลาดในประเทศ เพื่อรักษายอดขาย สำหรับในระยะกลาง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโดยเฉพาะในอนาคตที่มาตรฐานสินค้าจะมีความสำคัญมากขึ้น เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมควรให้ความสนใจ โดยเทรนด์ของสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคตจะเป็นสินค้ากลุ่มที่มีเทคโนโลยี สินค้าที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสินค้ากลุ่มที่ช่วยในการประหยัดพลังงาน เช่น กลุ่ม RFID (การผลิตระบบการชี้เฉพาะด้วยคลื่นวิทยุ) กลุ่มไฟฟ้าพลังงาน ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ ฯลฯ