การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง … ภาครัฐต้องประคับประคอง

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2552 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรก บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยได้หลุดพ้นจากภาวะถดถอย และกำลังเริ่มเข้าสู่ระยะของการฟื้นตัว ขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีการรายงานจนถึงเดือนสิงหาคมนี้ ก็สะท้อนนัยว่าการฟื้นตัวน่าจะมีความต่อเนื่องมาสู่ไตรมาสที่ 3/2552 และในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์ที่นอกเหนือความคาดหมายใดๆ เกิดขึ้น ก็น่าจะเห็นอัตราการขยายตัวของจีดีพีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4/2552 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอน โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ดังต่อไปนี้

? จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของไทยในไตรมาสที่ 2/2552 ที่ปรับฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter) ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายของศูนย์วิจัยกสิกรไทย และถือว่าเป็นตัวเลขบวกที่ค่อนข้างดี หลังจากที่ติดลบต่อเนื่องใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยหดตัวร้อยละ 5.9 ในไตรมาสที่ 4/2551 และร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่ 1/2552 ขณะที่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) จีดีพีหดตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.9 ดีกว่าที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.1 เล็กน้อย และเป็นอัตราที่ดีขึ้นกว่าในไตรมาสแรก ที่จีดีพีหดตัวสูงถึงร้อยละ 7.1 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี การปรับตัวดีขึ้นดังกล่าวนี้บ่งชี้ว่าภาวะถดถอยของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มหดตัวมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2551 ได้ยุติลงแล้ว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกำลังเริ่มต้นขึ้น

? ปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2552 ที่สำคัญคือ แรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐ และการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยในด้านการบริโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 5.9 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อน ขณะที่การลงทุนของภาครัฐที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.6 จากที่หดตัวร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อน ได้ผลักดันให้การลงทุนโดยรวมหดตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 10.1 จากที่หดตัวสูงร้อยละ 15.8 ในไตรมาสก่อน ในขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนยังคงหดตัวสูงร้อยละ 16.1 นอกจากนี้ เม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 ที่มีผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ยังมีส่วนสนับสนุนให้การใช้จ่ายของครัวเรือนหดตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.3 จากร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อพิจารณาจากด้านอุปทาน มีปัจจัยหนุนที่สำคัญคือการฟื้นตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 8.4 (YoY) จากที่หดตัวสูงร้อยละ 14.4 ในไตรมาสแรก โดยเป็นผลมาจากการที่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มระดับการผลิตรองรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ปรับตัวดีขึ้นยังประกอบด้วย ภาคก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากที่หดตัวร้อยละ 7.9 ในไตรมาสก่อน นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส โดยมีแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการก่อสร้างของภาครัฐ ขณะเดียวกัน การค้าส่งค้าปลีกและการซ่อมแซมก็หดตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 3.3 จากร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อน ส่วนโรงแรมและภัตตาคารหดตัวร้อยละ 5.6 ชะลอลงจากร้อยละ 6.0 ในไตรมาสก่อน เป็นต้น สำหรับสาขาที่มีทิศทางย่ำแย่ลง ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม หดตัวร้อยละ 2.7 จากที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากผลผลิตพืชผลทางการเกษตรลดลง ขณะที่การคมนาคมและขนส่งหดตัวสูงขึ้นมาที่ร้อยละ 7.6 จากร้อยละ 6.5 ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งธุรกิจสายการบินที่มีจำนวนผู้โดยสารลดลง

? ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2552 จะส่งผลดีต่อเนื่องมาสู่ไตรมาสที่ 3/2552 โดยเศรษฐกิจหลักของโลกมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่คาดในไตรมาสที่ 3/2552 โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยูโรโซนที่กำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงขยายตัว หลังจากที่เศรษฐกิจเอเชีย รวมทั้งญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2552 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะกลับมาขยายตัวมากกว่าร้อยละ 2 จากที่หดตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสแรก (Annual Rate) ขณะที่เศรษฐกิจของยูโรโซนฟื้นตัวขึ้นได้เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยเฉพาะเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2552 (ขยายตัวร้อยละ 0.3 QoQ, S.A.) และล่าสุด ดัชนีรวมภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซนในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50 (ซึ่งหมายถึงการขยายตัว) จาก 47 ในเดือนก่อน และยังเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 15 เดือน ซึ่งทำให้กลุ่มยูโรโซนน่าจะเริ่มกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสปัจจุบัน ซึ่งเป็นจังหวะเวลาที่เร็วขึ้นกว่าคาดการณ์เดิมที่เคยมองว่าอาจเห็นการฟื้นตัวของกลุ่มยูโรโซนในไตรมาสที่ 4/2552 จากสัญญาณบวกของเศรษฐกิจโลกดังกล่าวนี้ สะท้อนนัยว่าอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น และจะหนุนให้การผลิตในภาคส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในด้านปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าจะมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของรัฐบาล ตามแผนงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 ในส่วนที่ยังมีวงเงินคงค้างอยู่ บวกกับการเริ่มดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งกว่า 400 โครงการ มูลค่า 200,000 ล้านบาท ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไปแล้ว และยังมีแผนที่จะนำวงเงินส่วนที่เหลือจากการชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้อีกประมาณ 100,000 ล้านบาท มาใช้ในการลงทุนเพิ่มเติมด้วย ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยที่หนุนให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3/2552 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่ามีปัจจัยลบจากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจบริการหลายประเภทก็ตาม

? ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 3/2552 ที่ปรับฤดูกาลแล้ว อาจจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ, S.A.) ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จีดีพีอาจจะยังคงเป็นตัวเลขติดลบ แต่มีโอกาสหดตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ประมาณร้อยละ 4.5 อย่างไรก็ตาม แม้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3/2552 แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย โดยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ สถานการณ์การเมืองในประเทศและความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังต้องติดตามทิศทางราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นตามบรรยากาศการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก วิวัฒนาการของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ที่จะมีผลต่อค่าเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกของไทย เป็นต้น

? โดยภาพรวมในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในกรณีที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ตัวเลขจีดีพีที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) น่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสที่ 4/2552 ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีหลัง อัตราการขยายตัวของจีดีพีอาจมีค่าเฉลี่ยติดลบน้อยลงมาที่ประมาณร้อยละ 1.0 จากที่หดตัวร้อยละ 6.0 ในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังอาจเผชิญความเสี่ยงในกรณีเกิดเหตุการณ์ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่ส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล หรือทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการที่เป็นความหวังในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ต้องสะดุดลง นอกจากนี้ ในด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ ยังคงต้องติดตามความต่อเนื่องของการฟื้นตัวในกลุ่มประเทศชั้นนำของโลก โดยเฉพาะเมื่อยามที่ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะค่อยๆ ทยอยสิ้นสุดลง ขณะที่พื้นฐานของการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในประเทศพัฒนาแล้วนั้น ยังคงมีความเปราะบางจากปัญหาการว่างงานและการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค ทั้งนี้ จากปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ไว้ที่หดตัวร้อยละ 3.5-5.0 โดยคาดว่า การบริโภคของภาคครัวเรือนจะหดตัวร้อยละ 1.4-1.7 การลงทุนหดตัวร้อยละ 7.4-9.0 การส่งออกในรูปมูลค่าดอลลาร์ฯ หดตัวประมาณร้อยละ 14.5-17.5 ขณะที่การนำเข้าอาจหดตัวลงร้อยละ 27.0-23.5

? แม้ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 นี้จะเป็นตัวเลขติดลบ แต่ในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงที่ระดับ 16.0-16.5 พันล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2552 อยู่ที่ 123,710 ล้านดอลลาร์ฯ เทียบเท่ากับมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 13 เดือน ส่วนในด้านเสถียรภาพราคา แรงกดดันเงินเฟ้อในปีนี้มีค่อนข้างน้อย แม้เงินเฟ้ออาจจะขยับขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีตามแนวโน้มราคาน้ำมัน โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าเฉลี่ยทั้งปีติดลบระหว่างร้อยละ 0.4-0.9 แต่ภาวะดังกล่าวอาจยังไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนภาวะเงินฝืด เนื่องจากเงินเฟ้อที่ลดลงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลของมาตรการของรัฐในการช่วยเหลือลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวกประมาณร้อยละ 0.0-0.5 สำหรับปัญหาการว่างงาน นับว่าอยู่ในสถานะที่ดีกว่าที่คาด โดยล่าสุด ตัวเลขอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายนลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากที่ขึ้นไปสูงที่ร้อยละ 2.4 ในเดือนมกราคม 2552 โดยตัวเลขคนว่างงานลดลงมาที่ 547,200 คน จาก 878,900 คนในเดือนมกราคม และคาดว่าทั้งปี จำนวนผู้ว่างงานอาจมีระดับเฉลี่ยประมาณ 640,000-680,000 คน ซึ่งต่ำกว่าที่เคยมีการประเมินว่าวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้จะส่งผลมีคนว่างงานสูงขึ้นไปถึงกว่า 1 ล้านคน โดยอัตราการว่างงานที่ต่ำกว่าที่คาดนี้ส่วนหนึ่งสะท้อนความยืดหยุ่นของโครงสร้างตลาดแรงงานไทย ที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคการเกษตรและบริการ นอกจากนี้ เป็นผลมาจากมาตรการเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลนำออกมาใช้ และการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่กลับคืนมาเร็วกว่าที่คาด

โดยสรุป จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2552 ที่เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยจีดีพีที่ปรับฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 2.3 จากไตรมาสที่ 1/2552 (QoQ, S.A.) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราการหดตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.9 (YoY) จากที่ติดลบเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ร้อยละ 7.1 ในไตรมาสที่ 1/2552 ตัวเลขดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสัญญาณบวกที่ค่อนข้างดี ขณะที่คาดว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2552 จะส่งผลดีต่อเนื่องมาสู่ไตรมาสที่ 3/2552
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 3/2552 ที่ปรับฤดูกาลแล้ว อาจจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ, S.A.) ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จีดีพีจะยังคงเป็นตัวเลขติดลบ แต่น่าจะเป็นอัตราลบที่น้อยลง โดยอาจหดตัวประมาณร้อยละ 4.5 และอาจจะเริ่มขยายตัวเป็นบวกในช่วงไตรมาสที่ 4/2552 ถ้าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีในช่วงครึ่งปีหลังหดตัวชะลอลงมาที่ประมาณร้อยละ 1.0 จากที่หดตัวร้อยละ 6.0 ในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม แม้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3/2552 แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีมุมมองที่ระมัดระวัง โดยเศรษฐกิจไทยยังอาจเผชิญความเสี่ยงในกรณีเกิดเหตุการณ์ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว โดยเฉพาะประเด็นที่จะกระทบให้การเบิกจ่ายงบประมาณหรือการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องหยุดชะงักลง ขณะเดียวกัน ในด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ การฟื้นตัวของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก็ยังคงมีความเปราะบาง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ทิศทางราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้น การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ที่จะมีผลต่อค่าเงินบาทและการส่งออกของไทย เป็นต้น จากความไม่แน่นอนดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ไว้ที่หดตัวร้อยละ 3.5-5.0 โดยคาดว่า การบริโภคของภาคเอกชนจะหดตัวร้อยละ 1.4-1.7 การลงทุนหดตัวร้อยละ 7.4-9.0 การส่งออกในรูปมูลค่าดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 14.5-17.5 ขณะที่การนำเข้าอาจหดตัวลงร้อยละ 27.0-23.5

ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวแล้ว แต่เส้นทางการฟื้นตัวยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่อุปสงค์ในภาคเอกชนโดยพื้นฐานแล้วยังคงอ่อนแรงหากปราศจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ ดังนั้น ในระยะเวลาที่เหลือของปี ซึ่งถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญนี้ บทบาทของรัฐบาลจึงมีความหมายอย่างยิ่งในการประคับประคองเศรษฐกิจให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องได้ตลอดรอดฝั่งแม้ว่าเศรษฐกิจอาจจะต้องเผชิญความเสี่ยงในหลายด้านก็ตาม หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐในระยะต่อจากนี้จึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการผลักดันโครงการไทยเข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นความคาดหวังของทุกฝ่ายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีความหมายต่อการเรียกความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ให้ธุรกิจมีความมั่นใจที่จะกลับมาเดินหน้าแผนการลงทุน และผู้บริโภคมีความมั่นใจที่จะใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้สามารถดำเนินต่อเนื่องไปได้ในระยะถัดๆ ไป

สิ่งสำคัญเฉพาะหน้าสำหรับรัฐบาลจึงอยู่ที่การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และผลักดันโครงการลงทุนของรัฐให้มีความคืบหน้าได้ตามแผน โดยต้องมุ่งเน้นให้โครงการดำเนินการอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพเพื่อให้เม็ดเงินงบประมาณก่อเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ส่วนในด้านนโยบายการเงินนั้น ภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำดังที่เป็นอยู่ต่อไปจนถึงในช่วงกลางปี 2553