การแข็งค่าของเงินบาทในปัจจุบัน : ไม่แรงเท่าปี 2549

ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดการเงินโลกที่ได้ฟื้นคืนกลับมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2552 ได้จุดชนวนให้กับกระแสการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ซึ่งตลาดเงิน-ตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทย ก็เป็นตัวเลือกที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียได้ก่อให้เกิดปัญหาการแข็งค่าของสกุลเงินในเอเชียตามมาอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ทั้งนี้ แม้ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศในเอเชีย รวมทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้ความพยายามอย่างหนักในการเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศเพื่อปกป้องภาคการส่งออกซึ่งถือเป็นตัวจักรที่สำคัญของเศรษฐกิจเอเชีย แต่ท้ายที่สุดแล้ว “สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียและเงินบาทก็ยังคงรักษาทิศทางการแข็งค่า” ได้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เงินบาทสามารถแข็งค่าผ่านระดับ 33.60 มายืนใกล้ระดับประมาณ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ช่วงบ่ายตลาดเอเชีย) ซึ่งนับเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 13 เดือน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการรวบรวมสถานการณ์ล่าสุดและวิเคราะห์ถึงประเด็นแวดล้อมของเงินบาทไว้ดังนี้ :-

– ความตื่นตระหนกที่เบาบางลง แนวโน้มที่อ่อนแอของดอลลาร์ฯ และความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเอเชีย…เบื้องหลังการแข็งค่าของสกุลเงินเอเชีย และเงินบาท
ความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นแรงขายเงินดอลลาร์ฯ (ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย) และผลักดันให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือนมีนาคม 2552 ทั้งนี้ ตลาดเงิน-ตลาดทุนในเอเชีย รวมทั้งไทย ก็ได้รับอานิสงส์จากการหมุนเวียนของเงินลงทุนดังกล่าวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาและยากที่จะหลีกเลี่ยงท่ามกลางกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย ก็คือ สถานการณ์การแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียโดยพร้อมเพรียงกัน หากแต่การแข็งค่าของแต่ละสกุลเงินเป็นไปในอัตราที่แตกต่างกัน โดยหากเทียบกับระดับปิดตลาดสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 7.8% ซึ่งเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชีย รองจาก เงินดอลลาร์ไต้หวัน (+8.3%) เงินดอลลาร์สิงคโปร์ (+9.8%) เงินรูเปียห์อินโดนีเซีย (+23.7%) และเงินวอนเกาหลีใต้ (+28.3%) ตามลำดับ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปปัจจัยแวดล้อมที่หนุนให้สกุลเงินเอเชีย และเงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวพอสังเขปดังนี้ :

 เงินบาทระยะถัดไป…แม้จะมีแนวโน้มแข็งค่าตามทิศทางสกุลเงินในภูมิภาค แต่คาดว่าความผันผวนของเงินบาทจะมากขึ้นตามปัจจัยเสี่ยงที่รออยู่เบื้องหน้า
 แนวโน้มเงินบาทในระยะถัดไป…เกาะกระแสการแข็งค่าของสกุลเงินภูมิภาค
ในช่วงเดือนกันยายน 2552 เงินบาทเดินหน้าแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ใกล้ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเดือนมิถุนายน-ต้นกันยายน 2552 โดยล่าสุด (ช่วงบ่ายตลาดเอเชียวันที่ 23 ก.ย.52) เงินบาทได้ทะยานผ่านระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 34.00 มายืนที่ใกล้ระดับประมาณ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าสุดในรอบกว่า 13 เดือน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะถัดไป อาจยังคงเกาะไปกับกระแสความแข็งแกร่งของสกุลเงินในภูมิภาค โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญจากความแข็งแกร่งโดยเปรียบเทียบของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และศักยภาพของการฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตของภูมิภาคเอเชีย ในขณะที่ ปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ และแนวโน้มการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นั้น อาจเป็นสภาวะแวดล้อมที่เน้นย้ำบทบาทของเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินระดมทุน (Funding Currency) อย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ เงินบาทอาจถูกผลักดันให้แข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 33.50 และ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามลำดับ หากหลักฐานการฟื้นตัวและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกมีความชัดเจนมากขึ้น และกระตุ้นให้กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ตลาดเงิน-ตลาดทุนของเอเชียเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ การเข้าดูแลค่าเงินบาทของธปท. อาจสามารถช่วยชะลอการแข็งค่า พร้อมๆ กับสร้างเสถียรภาพให้กับการเคลื่อนไหวของเงินบาทเท่านั้น แต่ยากที่จะเปลี่ยนแปลงทิศทางของค่าเงินบาทที่เป็นไปตามภูมิภาค หรือกำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทปรับตัวอยู่ในกรอบการเคลื่อนไหวเป้าหมายเป็นระยะเวลานานๆ ได้

 การดูแลเสถียรภาพเงินบาทยังคงมีความจำเป็นเพื่อช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ราบรื่น
กระแสความแข็งแกร่งของสกุลเงินในภูมิภาคซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ยากจะหลีกเลี่ยง เมื่อประกอบเข้ากับปัจจัยอื่นๆ ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน (อาทิ ปัจจัยการเมืองและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ตลอดจนความยั่งยืนของแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแบกความเปราะบางของตลาดแรงงาน และปัญหาในภาคการเงินอยู่) นั้น อาจสร้างความผันผวนให้กับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การดูแลเสถียรภาพให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ยังคงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงต้องพึ่งพาแรงกระตุ้นจากหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ การดูแลเสถียรภาพเงินบาทนับเป็นภารกิจที่สำคัญด้านหนึ่งของธปท. และเป็นสิ่งที่ธปท.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนได้อย่างชัดเจนจากค่าความผันผวนของเงินบาทที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค (ค่าความผันผวนของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้อยู่ที่ 3.9% เท่านั้น ซึ่งน้อยเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค รองจาก เงินหยวนของจีน)

อย่างไรก็ดี การเข้าดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในยามที่เงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นนั้น ก็อาจส่งผลทำให้ธปท.มีอีกภารกิจหนึ่งที่ต้องดูแล ก็คือ การดูแลสมดุลสภาพคล่องของเงินบาทในระบบที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากผลของการแทรกแซงดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท (การรับซื้อเงินดอลลาร์ฯ ของธปท. ทำให้ธปท.ต้องปล่อยเงินบาทเข้าสู่ระบบ ซึ่งต่อมาธปท.ต้องดูดซับสภาพคล่องเงินบาทส่วนนี้กลับออกไป ) ทั้งนี้ ด้วยเครื่องมือที่ค่อนข้างยืดหยุ่น/หลากหลาย ตลอดจนกลไกการดำเนินการที่สมบูรณ์ของธปท.ได้เอื้อให้ธปท.สามารถดูแลภารกิจทั้ง 2 ด้าน (การรักษาเสถียรภาพเงินบาทในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และการรักษาสมดุลสภาพคล่องเงินบาทในระบบ) ในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดีภายใต้ต้นทุนที่สามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งผลในท้ายที่สุดของการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท. ก็ไม่ได้นำไปสู่ปัญหาด้านเงินเฟ้อ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

โดยสรุป กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2552 แนวโน้มเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนแอ และความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเอเชีย ได้ส่งผลทำให้สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียและเงินบาท ปรับตัวไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศในเอเชีย รวมทั้งธปท. จะใช้ความพยายามอย่างหนักในการเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ก็ตาม ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เงินบาทอาจยังคงเกาะไปกับกระแสความแข็งแกร่งของสกุลเงินในภูมิภาค โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญจากความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และศักยภาพของการฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตของภูมิภาคเอเชีย ในขณะที่ ปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ และแนวโน้มการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นั้น อาจเป็นสภาวะแวดล้อมที่เน้นย้ำบทบาทของเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่ใช้ในการระดมทุนอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ เงินบาทอาจถูกผลักดันให้แข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 33.50 และ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามลำดับ หากหลักฐานการฟื้นตัวและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกมีความชัดเจนมากขึ้น และกระตุ้นให้กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ตลาดเงิน-ตลาดทุนของเอเชียเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การดูแลเสถียรภาพให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ยังคงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงต้องพึ่งพาแรงกระตุ้นจากหลายๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า การเข้าดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในยามที่เงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นนั้น ก็อาจส่งผลทำให้ธปท.มีอีกภารกิจหนึ่งที่ต้องดูแล ก็คือ การดูแลสมดุลสภาพคล่องของเงินบาทในระบบที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงแรกจากผลของการแทรกแซงดูแลเสถียรภาพเงินบาท แต่เนื่องจากเครื่องมือที่ค่อนข้างยืดหยุ่น/หลากหลาย ตลอดจนกลไกการดำเนินการที่สมบูรณ์ของธปท.ได้เอื้อให้ธปท.ยังสามารถดูแลภารกิจทั้ง 2 ด้านได้เป็นอย่างดี ซึ่งผลในท้ายที่สุดของการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท. ก็ไม่ได้นำไปสู่ปัญหาด้านเงินเฟ้อ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การเข้าดูแลค่าเงินบาทโดยธปท.อาจสามารถช่วยชะลอการแข็งค่า พร้อมๆ กับสร้างเสถียรภาพให้กับการเคลื่อนไหวของเงินบาทเท่านั้น แต่อาจจะยากที่จะเปลี่ยนแปลงทิศทางของค่าเงินบาทที่เป็นไปตามภูมิภาค ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการไทยอาจต้องแยกโจทย์ที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือออกเป็น 2 ด้าน โดยโจทย์เฉพาะหน้าที่ต้องเร่งดำเนินการก็คือ “ประคับประคอง” ให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยในส่วนนี้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ผ่านการเลือกเครื่องมือมาช่วยบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน หรือทำการจัดระเบียบกระแสรายได้-รายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้มีความสอดคล้องกัน (Natural Hedge) รวมถึงการจัดระบบการบริหารต้นทุน/ระดับสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพ และเตรียมแผนการจัดหาสภาพคล่องไว้ใช้ยามฉุกเฉินหากความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลบั่นทอนรายได้จากการส่งออก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการก็อาจต้องเตรียมตัวรอรับโจทย์ระยะปานกลาง-ยาวที่เกี่ยวข้องกับการ “เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ” ไปพร้อมๆ กัน โดยผู้ประกอบการอาจทำการกระจายรายได้จากการส่งออกให้อยู่ในรูปสกุลเงินอื่นนอกจากเงินดอลลาร์ฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ การกระจายตลาดส่งออกเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการกระจุกตัวก็อาจช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถลดทอนความเสี่ยงของกระแสรายรับในกรณีที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าประสบปัญหา และท้ายที่สุด ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมแผนกลยุทธ์ที่เน้นสร้างความแตกต่างและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก

ทั้งนี้ สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้ (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไหลเข้าของเงินทุนสู่ตลาดการเงินไทย) ได้ก่อให้เกิดประเด็นคำถามกลับไปที่ธปท.ซึ่งเป็นผู้ดูแลการเคลื่อนไหวของเงินบาทว่าจะดำเนินการในขั้นต่อไปอย่างไรหากเงินบาทยังคงเดินหน้าแข็งค่าตามกระแสความแข็งแกร่งของสกุลเงินภูมิภาค เนื่องจากการแข็งค่าที่มากเกินไปของเงินบาทในช่วงเวลานี้ อาจส่งผลกระทบต่อแนวทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการแข็งค่าของเงินบาทในรอบนี้ คงจะไม่รุนแรง/รวดเร็วเทียบเท่ากับการทะยานแข็งค่าอย่างต่อเนื่องในปี 2549 ดังนั้น คาดว่า มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าอย่างเด็ดขาดรุนแรงแบบช่วงปลายปี 2549 คงจะไม่ถูกนำกลับมาใช้อีก ในขณะที่ สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินในช่วงปี 2549 กับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ก็มีความแตกต่างกันในหลายประเด็น ซึ่งสะท้อนว่า โอกาสในการทำกำไรจากตลาดการเงินไทยในปีนี้น่าจะต่างไปจากในปี 2549 ค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปความแตกต่างของสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินในช่วงปี 2549 และปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 1. สภาวะตลาดหุ้น แม้ว่าตลาดหุ้นไทยทั้ง 2 ช่วงเวลาจะอยู่ในช่วงขาขึ้นเหมือนกัน แต่ดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นมามากแล้วในรอบนี้จากจุดต่ำสุดของภาวะ Bear Market ดังนั้นสภาวะตลาดในขณะนี้จึงมีความอ่อนไหวต่อการขายทำกำไรและมีความเสี่ยงต่อการปรับฐานค่อนข้างมาก 2. แนวโน้มเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ใน 2 ช่วงเวลามีทิศทางที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงปลายปี 2549 ทยอยปรับตัวลง ซึ่งเป็นจังหวะเวลาที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ยืนที่ระดับสูงสุดของวัฏจักรที่ 5.0% มาระยะหนึ่งแล้ว และการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มขาลงของอัตราดอกเบี้ยเริ่มก่อตัวขึ้น แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อกำลังไต่ขึ้นมาจากตัวเลขที่ติดลบค่อนข้างมากและมีแนวโน้มจะพลิกเป็นค่าบวกในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่ วัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจเริ่มขึ้นใหม่ในปีหน้า ซึ่งน่าที่จะเป็นปัจจัยกดดันตลาดพันธบัตรในระยะถัดไป ทำให้โอกาสในการจะเข้ามาทำกำไรในตลาดพันธบัตรน่าจะมีจำกัดต่างไปจากในปี 2549

3. สภาพเศรษฐกิจ ใน 2 ช่วงเวลามีความแตกต่างเช่นกัน โดยในปี 2549 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขยายตัว แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยเท่านั้น และ4. สถานการณ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนภาคเอกชน ในปี 2549 มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิในส่วนของธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารค่อนข้างสูง ซึ่งแตกต่างกับสถานการณ์ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ที่มีเงินทุนไหลออก แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทางธปท.ก็ยังคงจับตากระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนในส่วนอื่นๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบแรงเก็งกำไรที่อาจทำให้การเคลื่อนไหวของตลาดการเงินไทยบิดเบือนออกจากปัจจัยพื้นฐาน และเพื่อให้มาตรการดูแลค่าเงินบาทที่อาจประกาศออกมาในขั้นถัดไปมีประสิทธิภาพมากที่สุด