เชื่ออนาคตอุตฯ อ้อย – น้ำตาล สดใสยาว

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเชื่อปีทองอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายยังอยู่อีกหลายปี หลังความต้องการน้ำตาลทรายยังสูง พร้อมให้ความมั่นใจหากรัฐชัดเจนในการหนุนใช้เอทานอลอย่างจริงจัง วัตถุดิบมีพอแน่ นอกจากลดการสูญเสียเงินออกนอกประเทศแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

วันนี้ (23 กันยายน 2552) ที่ห้องประชุม บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด ได้มีการจัดเสวนาสื่อมวลชนในหัวข้อ “เจาะลึกความต้องการน้ำตาลและเอทานอล: โอกาสของชาวไร่อ้อย”

นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ทิศทางของราคาน้ำตาลทรายที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 28 ปี นั้น คาดว่า จะยังยืนอยู่ในระดับสูงไปอีกระยะยาวจากความต้องการน้ำตาลทรายเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเข้ามาเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ของกองทุนเก็งกำไร (เฮดฟันด์) ต่างๆ

“หากพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะป็นผู้ซื้ออย่างอินเดีย และจีนที่มีความต้องการน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นมาก ขณะที่ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอเนื่องจากหลายประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยประสบกับภาวะภัยแล้ง ซึ่งเฮดฟันด์ต่างๆ ก็รู้ถึงปัจจัยเหล่านี้ จึงเข้ามาเก็งกำไรราคาน้ำตาลในตลาดล่วงหน้าสินค้าคอมมอดิตี้มากขึ้น ทำให้คาดว่าการปรับขึ้นของราคาน้ำตาลในตลาดโลก
จะลากยาวไปอย่างน้อยจนถึงปีหน้า หรืออยู่ต่อเนื่องอีกหลายปี” นายประกิตกล่าว

ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสทองของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยเฉพาะโอกาสของเกษตรกรจะหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น เพราะจะได้รับผลตอบแทนที่ดี ซึ่งคาดการณ์ว่าผลผลิตที่จะเกิดขึ้นในฤดูการผลิต
ปี 2552/2553 จะอยู่ที่ระดับ 72 ล้านตันอ้อย มีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 6.4 ล้านไร่ และมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 190,000 ราย และจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวด้วยว่า ในส่วนของราคาอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลนั้น มีตัวแปรหนึ่งที่ใช้ในการกำหนดราคา ก็คือ เรื่องของคุณภาพ โดยอ้อยที่สะอาดและมีค่าความหวานสูงกว่า จะได้ราคาดีกว่า ดังนั้น เกษตรกรชาวไร่อ้อยควรที่จะให้ความสำคัญ
ในการพัฒนาคุณภาพอ้อย โดยลดการเผาอ้อยเพื่อเป็นการลดสิ่งปนเปื้อนด้วย

“นอกจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะเป็นตัวกำหนดราคาอ้อยแล้ว คุณภาพและความบริสุทธิ์ของอ้อยก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้น นอกจากชาวไร่จะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำตาลทรายสูงแล้ว ถ้าชาวไร่ตัดอ้อยสดที่มีคุณภาพ ไม่เผาอ้อย ก็จะมีสิ่งปนเปื้อนน้อย ชาวไร่ก็จะได้เงินเพิ่มขึ้น” นายประกิต กล่าว

ด้าน นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า จากโรงงานผลิตเอทานอลที่ได้รับอนุญาต 45 โรงงาน กำลังการผลิต 12.5 ล้านลิตรต่อวัน ปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้ว 18 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวม 2.775 ล้านลิตรต่อวัน และที่จะเดินเครื่องผลิตได้เพิ่มเติมจนถึงปี 2553 จะทำให้มีกำลังการผลิตรวม 5.695 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเกินพอสำหรับความต้องการใช้เอทานอลในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องของผู้ผลิตเอทานอลไม่สามารถวางแผนการจัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิตเอทานอลสำรองไว้ได้มาก เนื่องมาจากราคาขายเอทานอลผันผวนไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เอทานอลอาจจะเกิดการตึงตัวจากวัตถุดิบกากน้ำตาลเกิดการขาดแคลนอย่างมากและมีราคาสูง ขณะที่ผู้ผลิตจากมันสำปะหลังก็ยังไม่สามารถผลิตได้อย่างเต็มที่

รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวด้วยว่า เมื่อมองไปในอนาคต ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ซึ่งคาดว่า จะมีการใช้เอทานอล 9 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2565 นั้น เพียงนำวัตถุดิบจากอ้อยและมันสำปะหลัง ที่เหลือจากการบริโภคในประเทศครึ่งหนึ่งมาใช้ผลิตเอทานอลก็มีเพียงพอตามความต้องการแล้ว ซึ่งหากต้องการลดการใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งต้องนำเข้า แล้วหันมาใช้ผลผลิตภายในประเทศให้มากขึ้น

“การสนับสนุนให้ใช้เอทานอลอย่างจริงจังจะช่วยลดการสูญเสียเงินออกนอกประเทศ เพื่อนำเข้าน้ำมัน และยังเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและไร่มันสำปะหลังอีกด้วย” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อความเพียงพอของเอทานอลก็คือ การบูรณาการของทุกภาคส่วนที่จะนำเอานโยบายของรัฐบาลไปสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดผลตามเป้าหมายที่กำหนด การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนสามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ รวมถึงการประกาศยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 และการจัดให้มีเอทานอลสำรองไว้เพื่อป้องกันการขาดแคลน ในช่วงปลายฤดูการผลิตอ้อยและมันสำปะหลัง

อนึ่ง บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เป็นองค์กรช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย ด้วยข้อมูลข่าวสาร การวิเคราะห์อย่างถูกต้อง และการสื่อสารความจริงให้สังคมและภาครัฐได้ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมฯ อย่างยั่งยืน