บัตรเครดิตไตรมาส 4 ปี 2552 แข่งระอุ … ส่งท้ายปีวัว

เริ่มต้นของครึ่งหลังปี 2552 ธุรกิจบัตรเครดิตก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงต้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบัตรเครดิตเริ่มกลับมาทำตลาดกันอย่างคึกคักมากขึ้น ทั้งการขยายฐานบัตรใหม่ และการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยมากขึ้น ภายหลังจากที่เริ่มเห็นสัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจ และตัวเลขการว่างงานที่เริ่มออกมาดีขึ้นตามลำดับ และการเมืองภายในประเทศลดความร้อนแรงลงระดับหนึ่ง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับมา รวมทั้งผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่กลับมาดีขึ้น โดยในเดือนสิงหาคม 2552 มีมูลค่าประมาณ 52,018.72 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากภาวะดังกล่าวทำให้การแข่งขันธุรกิจบัตรเครดิตในไตรมาส 4 ปี 2552 นี้ น่าจะมีการแข่งขันที่เข้มข้น ตามภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวเป็นบวกมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตน่าจะมีการเร่งทำแคมเปญการตลาดร่วมกับพันธมิตรร้านค้า เพื่อกระตุ้นปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่คาดว่าผู้ถือบัตรเครดิตบางส่วนน่าจะเริ่มหันกลับมาใช้จ่ายมากขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมาปี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงที่ผ่านมา และวิเคราะห์แนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2552 ดังต่อไปนี้

ภาพรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงครึ่งหลัง … เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น

เมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว และสถานการณ์การเมืองที่ลดความร้อนแรงลงระดับหนึ่ง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับมา และผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มหันมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตที่ต่างเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการบัตรเครดิตบางรายเริ่มกลับมาทำการตลาดทั้งการขยายฐานบัตรเครดิตใหม่ และการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบัตรเครดิตได้จับมือร่วมทำตลาดกับพันธมิตรในการขยายฐานบัตรใหม่ และการออกแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกันอย่างคึกคัก
สำหรับภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) มีอัตราการเติบโตที่เป็นบวกมากขึ้น โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตประมาณ 387,266.04 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เนื่องจากปี 2552 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับวิกฤตอย่างหนัก ทั้งจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และปัญหาการเมืองในประเทศ ทำให้ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยติดลบสูงถึงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีอัตราการหดตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งชะลอลงจากที่ติดลบเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 10 ปี ในไตรมาส 1 ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 น่าจะยังคงมีอัตราการติดลบชะลอลง ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ซึ่งการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจนั้น ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเริ่มมีการใช้จ่ายมากขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรก ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ภาพรวมทั้งระบบของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเดือนสิงหาคม 2552 มีมูลค่าประมาณ 52,018.72 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552

ทั้งนี้เมื่อแยกพิจารณามูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเดือนสิงหาคมตามกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า

 กลุ่มธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเดือนสิงหาคม ปี 2552 มีมูลค่าประมาณ 22,065.79 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงรักษาอัตราการขยายตัวของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่เป็นบวกได้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์บางรายมีการทำการตลาดขยายฐานบัตรเครดิต และการตลาดกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง และจากการที่ธนาคารพาณิชย์ไทยได้เปรียบคู่แข่งในด้านช่องทางการขยายฐานบัตร ซึ่งสามารถขยายฐานบัตรในกลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกรรมกับธนาคารเองและบริษัทในเครือ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ช่วยให้การขยายตัวของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตยังคงเติบโตอยู่ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ โดยปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเดือนสิงหาคม ปี 2552 มีมูลค่าประมาณ 8,510.12 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่เป็นบวกครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมา ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 10.1

กลุ่ม Non-Bank โดยปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเดือนสิงหาคม ปี 2552 มีมูลค่าประมาณ 21,026.21 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของกลุ่ม Non-Bank นี้ มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเริ่มกลับมาขยายตัวในระดับที่ดีขึ้น ภายหลังจากที่มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหดตัวลงโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 2.0 ในช่วงที่ผ่านมา

การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไตรมาสสุดท้ายปี 2552 : แข่งดุ … ผู้ประกอบการสรรหาช่องทางใหม่
ในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิต เนื่องจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นฤดูแห่งการใช้จ่าย และยังเป็นอีกช่วงหนึ่งที่มีวันหยุดยาว และคนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ช่วงนี้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีการเติบโตสูงกว่าช่วงอื่น และเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ผู้ประกอบการต่างเร่งทำแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามในไตรมาส 4 ของปี 2552 นี้ ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตคงจะเผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก เมื่อปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจในปีนี้ มีความแตกต่างจากปีก่อนๆ เนื่องจากปี 2552 นี้ เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยอย่างหนัก ทำให้มีการเลิกจ้างงานเกิดขึ้นในบางภาคธุรกิจ อีกทั้งปัญหาการเมืองในประเทศยังเป็นปัจจัยลบที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยในขณะนี้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวเป็นลำดับ และคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวเป็นบวกได้ แต่กระนั้นก็ดีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเปราะบางสูง โดยมีปัจจัยมาจากระยะเวลาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ที่อาจจะฉุดรั้งการเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ทำให้ผู้ประกอบการบัตรเครดิตคงจะยังต้องระมัดระวัง และปรับกลยุทธ์การตลาดของตนให้สอดคล้องกับภาวะตลาดมากขึ้น

สำหรับด้านการตลาดธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2552 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การแข่งขันธุรกิจบัตรเครดิตคงจะมีความเข้มข้นขึ้น ตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตต่างเริ่มหาโอกาสและจังหวะเข้าทำตลาดบัตรเครดิตมากขึ้น โดยเฉพาะการกลับเข้ามาทำตลาดของกลุ่ม Non-bank และกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ ภายหลังจากที่ทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้ชะลอตัวลงไปอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะต้องปรับทัพการตลาดของตน เพื่อที่จะรักษาสัดส่วนการตลาดของตน

สำหรับการตลาดบัตรเครดิตนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า เนื่องจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จะเป็นฤดูการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค เช่น การใช้จ่ายในเรื่องของขวัญสำหรับเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ การใช้จ่ายในเรื่องของงานเลี้ยง รวมถึงการใช้จ่ายในเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นช่วงที่คนไทยนิยมท่องเที่ยวกันมาก ดังนั้นการตลาดของผู้ประกอบการบัตรเครดิตคงจะเน้นไปยังกลุ่มสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิเช่น

 การทำการตลาดร่วมกับพันธมิตรห้างสรรพสินค้า ร้านค้าเฉพาะอย่าง (เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูป ร้านขายจิวเวอรี่ เป็นต้น) โดยผู้ประกอบการบัตรเครดิตยังคงเน้นการให้สิทธิประโยชน์แก่ลูกค้า เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เช่น เพิ่มส่วนลดพิเศษ การแลกรับบัตรกำนัลของขวัญเมื่อชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตตามวงเงินที่กำหนด เช่น ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตครบ 5,000 บาท นำไปแลกบัตรกำนัลมูลค่า 200 บาท หรืออาจจะเป็นการคืนเงินกลับเข้าบัญชีบัตรเครดิตหรือบัญชีเงินฝาก เป็นต้น รวมถึงแคมเปญผ่อนชำระสินค้าผ่านบัตรเครดิต ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.0 ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งอาจจะช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคที่อาจจะลังเลจากภาวะเศรษฐกิจตัดสินใจซื้อสินค้า เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในขณะนี้

 การทำการตลาดร่วมกับโรงแรม ที่พักตามสถานที่ท่องเที่ยว และสายการบิน (บัตรเครดิต Co-Brand) โดยเป็นการมอบส่วนลดพิเศษสำหรับห้องพักและในการซื้อตั๋วเครื่องบิน การให้คะแนนสะสมที่สูงเมื่อจองตั๋วเครื่องบินผ่านบัตรเครดิต สิทธิพิเศษได้น้ำหนักสัมภาระเพิ่ม สามารถเลือกที่นั่งได้ เป็นต้น

นอกจากการตลาดที่ผู้ประกอบการได้หันมาทำตามเทศกาล ในการเพิ่มปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตแล้วนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ในขณะนี้การตลาดบัตรเครดิตได้เดินทางมาถึงจุดหนึ่งที่ต้องการความแปลกใหม่ไปจากเดิม เพื่อจะสร้างความแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ทำให้ในขณะนี้ผู้ประกอบการบางรายเริ่มหาช่องทางการเพิ่มปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตใหม่เพิ่มขึ้น เช่น การร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (สามารถชำระเงินดาวน์บ้านโดยผ่านบัตรเครดิต) การร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (การตัดค่าโทรศัพท์ผ่านบัตรเครดิต การเติมเงินโทรศัพท์) ร่วมกับบริษัทในเครือ เช่น ชำระหน่วยลงทุน LTF หรือ RMF ผ่านบัตรเครดิต เป็นต้น การเพิ่มช่องการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทางออน์ไลน์ เช่น การร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านค้าที่มีหน้าร้านในรูปแบบออน์ไลน์ โดยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าสามารถชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตได้ หรือการจองห้องพักโรงแรม เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางรายได้ใช้ กลยุทธ์การร่วมทำกิจกรรมกับคนดังในแวดวงต่างๆ มากระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ทำให้เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวในระดับศักยภาพ การแข่งขันธุรกิจบัตรเครดิตคงจะกลับมามีความรุนแรงพร้อมกับรูปแบบการตลาดใหม่ๆ จากผู้ประกอบการบัตรเครดิตในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินว่ามูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาส 4 ปี 2552 (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) น่าจะอยู่ที่ประมาณ 167,000.00 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 ในไตรมาส 4 ปี 2551 ทั้งนี้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับจำนวนผู้ว่างงานอาจมีระดับเฉลี่ยประมาณ 640,000-680,000 คน ซึ่งต่ำกว่าที่เคยมีการประเมินว่าวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้จะส่งผลมีคนว่างงานสูงขึ้นไปถึงกว่า 1 ล้านคน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับเพิ่มประมาณการปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปี 2552 โดยคาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตน่าจะอยู่ที่ประมาณ 607,266.04 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.8 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 13.1 ในปี 2551 โดยแม้ว่าในช่วงไตรมาส 4 ปี 2552 การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะมีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ตาม แต่เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงต้นปี มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำมาก เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอลงอย่างหนัก ทำให้มีผลต่อภาพรวมของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งปี 2552 นี้ น่าจะมีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าปี 2551

บทสรุป

ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวเป็นบวกมากขึ้น โดยมีปัจจัยมาจากภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สองของรัฐบาล ที่น่าจะเป็นผลดีต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มการจ้างงานที่น่าจะดีขึ้นตาม ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และสถานการณ์ทางการเมืองมีความสงบเรียบร้อย ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคน่าจะกลับมาใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงของฤดูแห่งการจับจ่ายใช้สอย และเป็นฤดูของเทศกาลของขวัญ (เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่) รวมทั้งยังเป็นอีกช่วงหนึ่งที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ในช่วงนี้จะมีอัตราการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่สูง ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตจึงต่างคาดหวังให้ไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่ดีที่สุดของปีนี้ ภายหลังจากที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ธุรกิจบัตรเครดิตในไตรมาส 4 ของปี 2552 นี้ น่าจะมีการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น ทั้งจากกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ และจากกลุ่ม Non-Bank ที่ผู้ประกอบการบางรายเริ่มกลับเข้ามาทำตลาดมากขึ้น ทำให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย (ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวที่มีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่เป็นบวกในช่วงปีที่ผ่านมา) ต้องเร่งทำแคมเปญการตลาดของตน เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด ซึ่งแคมเปญส่วนใหญ่จะเน้นไปยังกลุ่มสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาล โดยทำการตลาดร่วมกับพันธมิตรห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะการเพิ่มสิทธิประโยชน์จากการชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิต เช่น การแลกรับบัตรกำนัลของขวัญเมื่อชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตตามวงเงินที่กำหนด หรืออาจจะเป็นการคืนเงินกลับเข้าบัญชีบัตรเครดิต เป็นต้น รวมถึงผู้ประกอบการทำแคมเปญร่วมกับพันธมิตรร้านค้าที่ขายสินค้าเฉพาะอย่าง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยผู้ถือบัตรเครดิตสามารถผ่อนชำระสินค้าในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งอาจจะช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคที่อาจจะลังเลจากภาวะเศรษฐกิจตัดสินใจซื้อสินค้า เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในขณะนี้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังได้ร่วมกับพันธมิตรผู้ประกอบการโรงแรม และสายการบิน เช่น นำเสนอส่วนลดที่พักเมื่อใช้บัตรเครดิตชำระค่าบริการ เป็นต้น ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวของไทยด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาส 4 ปี 2552 (ไม่รวมการใช้จ่ายของชาวต่างประเทศที่ถือบัตรเครดิตต่างประเทศ และการเบิกเงินสดล่วงหน้า) น่าจะอยู่ที่ประมาณ 167,000.00 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 ในไตรมาส 4 ปี 2551 ทั้งนี้จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับเพิ่มประมาณการปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปี 2552 โดยคาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตน่าจะอยู่ที่ประมาณ 607,266.04 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.8 ซึ่งแม้ว่าจะลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 13.1 ในปี 2551 แต่ก็ดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของปีที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.02 อันเป็นผลมาจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าว