แผนพัฒนาตลาดทุนไทย…ผลกระทบต่อธุรกิจหลักทรัพย์

ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่มีผลบังคับใช้ในปี 2553-2557 ตามที่คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยได้นำเสนอ บนความมุ่งหวังที่ต้องการเร่งพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอดจนลดความผันผวนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจในภาวะที่การเคลื่อนย้ายเงินทุนดำเนินไปอย่างรวดเร็วดังเช่นในปัจจุบัน
ทั้งนี้ แผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับดังกล่าว เป็นแผนที่ดำเนินการต่อเนื่องจากแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่ออกมาในปี 2543 (มีกรอบการดำเนินงานในปี 2543-2545) ซึ่งผลจากการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยดังกล่าว ได้ทำให้โครงสร้างและลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นในมิติของโครงสร้างการทำธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจ บล.กับธุรกิจอื่นๆ มากขึ้น มีการเพิ่มขนาดและควบรวมกิจการระหว่าง บล. มีการแข่งขันด้านราคา หรืออัตราค่านายหน้าฯที่ทวีความรุนแรงขึ้น และมีการขยายการให้บริการไปยังช่องทาง Internet มากขึ้น เป็นต้น ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่สอง น่าจะกระตุ้นให้ธุรกิจหลักทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้นอีก ตลอดจนมีความพร้อมและขีดความสามารถในการแข่งขันกับผู้เล่นหน้าใหม่ หรือผู้เล่นจากต่างชาติที่ดีขึ้น ภายหลังจากการเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบในปี 2555 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทยและผลกระทบที่สำคัญต่อธุรกิจหลักทรัพย์ไว้ดังนี้

แผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับใหม่…สานต่อแนวทางการเปิดเสรีใบอนุญาติและค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์

แผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ออกในปี 2552 ซึ่งจะบังคับใช้ในปี 2553-2557 ดังกล่าว ได้ระบุถึงวิสัยทัศน์1ที่ต้องการให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกหลักในการรวบรวม จัดสรร และติดตามดูแลการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการกำหนดเป้าหมาย หรือพันธกิจ (Mission) 5 ด้าน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ หรือวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็น (1) การให้ผู้ลงทุนและผู้ระดมทุนสามารถเข้าถึงตลาดได้ง่ายและทั่วถึง (2) การพัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของสินค้าและบริการ (3) การลดต้นทุนทางการเงิน และต้นทุนการทำธุรกรรมให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ (4) การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพทั้งทางด้านกฎหมาย ระเบียบ บัญชี ภาษี ข้อมูล เทคโนโลยี และการกำกับดูแล (5) การให้ผู้ลงทุนมีความรู้และได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม และ (6) การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดทุนไทยและเชื่อมโยงกับตลาดทุนโลก
ในขั้นตอนการดำเนินการ แผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับปี 2552 ได้กำหนดมาตรการเพื่อการปฏิรูปตลาดทุนไทย 8 มาตรการสำคัญ ซึ่งหนึ่งในมาตรการดังกล่าว คือ “การเปิดเสรีและการเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันตัวกลาง” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันตัวกลางและลดต้นทุนการทำธุรกรรมด้วยการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันด้านราคาค่าบริการและจำนวนผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกัน จะต้องอำนวยความสะดวกให้สถาบันตัวกลางเพื่อให้สามารถแข่งขันได้และมีช่องทางในการหารายได้ที่หลากหลายขึ้น ผ่านการดำเนินการใน 3 มาตรการดังนี้

1.ยืนยันการเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์และระบบการให้ใบอนุญาตแบบครบวงจร (Single License) ตามกำหนดเวลาเดิม โดยจะยึดตามกฎกระทรวงเพื่อเปิดเสรีใบอนุญาตเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 ซึ่งได้กำหนดเวลาการเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์เป็นการทั่วไปแบบไม่จำกัดจำนวนตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 (จากปัจจุบันที่ยังมีการจำกัดจำนวนใบอนุญาตของธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อยู่) นอกจากนี้ ยังจะมีการปรับปรุงระบบใบอนุญาตจากระบบที่ให้ใบอนุญาตแยกเป็นรายธุรกิจในปัจจุบัน ไปสู่ระบบการให้ใบอนุญาติแบบครอบคลุมหลายธุรกิจ (ให้ผลแบบเดียวกับ Single License) ขณะเดียวกันทางการก็จะสนับสนุนการยกระดับผู้ประกอบการเดิมให้สามารถทำธุรกิจภายใต้โครงสร้างใหม่ได้ทันทีที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ และสามารถขอใบอนุญาตส่วนที่ยังขาดได้โดยเสียค่าธรรมเนียมที่ไม่สูงจนเกินไป

2.เปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (Commission) ตามที่ประกาศไปแล้ว โดยสำหรับมูลค่าการซื้อขายขนาดใหญ่ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 และเปิดเสรีทั้งหมดในปี 2555 ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บล.และฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีข้อเรียกร้องให้เพิ่มความยืดหยุ่นของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขาย และค่าธรรมเนียมจากประกาศของ ก.ล.ต.และ ตลท.ที่เคยเริ่มกำหนดไว้ตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2549 ซึ่งจากผลการประชุมของคณะกรรมการ ก.ล.ต.ครั้งที่ 13/2552 ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการ ตลท. ที่ยังยืนยันวิธีการคิดค่าธรรมเนียมแบบขั้นบันได (Sliding Scale) และเปิดให้ต่อรองเสรีได้เมื่อมีปริมาณการซื้อขายมากกว่า 20 ล้านบาท แต่ก็ได้มีการปรับปรุงในรายละเอียดบางประการ โดยขยายขั้นบันไดขั้นแรกจากยอดซื้อขายต่อวันไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท อีกทั้ง จะเปิดให้ผู้ลงทุนสถาบันต่อรองค่าธรรมเนียมเสรีได้ก่อนกำหนดเดิมในปี 2555 และกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมไว้ที่ 1% เพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุน

นั่นหมายความว่า เกณฑ์การคิดค่านายหน้าฯ ในลักษณะขั้นบันไดดังกล่าว จะมีผลต่อการทำธุรกรรมของนักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาเท่านั้น ขณะที่ การคิดค่านายหน้าฯ จากปริมาณธุรกรรมของนักลงทุนสถาบัน คงจะขึ้นอยู่กับบทสรุประหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยและต่างประเทศ รวมทั้งสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (ซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบันกลุ่มใหญ่) ตลอดจนมติของ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งล่าสุด สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ได้ข้อสรุปว่าจะใช้เกณฑ์ขั้นต่ำที่ 0.20% สำหรับกรณีส่งคำสั่งผ่านช่องทางปกติ ซึ่งต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำปัจจุบันที่ 0.25% รวมถึง 0.12% สำหรับกรณีส่งคำสั่งผ่านช่องทาง Internet2 ซึ่งต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำปัจจุบันที่ 0.15-0.20%

3.อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมข้ามประเทศ โดยการกำหนดกรอบในการนำสินค้าต่างประเทศมาขายให้ผู้ลงทุนไทย อาทิ ประเภทสินค้าและบริการที่จะมาขายให้กับผู้ลงทุนไทย การจำหน่ายผ่านผู้ประกอบการไทย หรือความเป็นไปได้ในการให้บริการซื้อขายสินค้าข้ามประเทศ (Cross Border) ได้โดยตรง เป็นต้น

ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อธุรกิจหลักทรัพย์ในอนาคต

ในระหว่างที่ทางการไทยกำลังเดินหน้าการเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์ และค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ตามแผนการเดิมนั้น คาดว่า บล.ในปัจจุบัน คงจะทยอยปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความอยู่รอดในระยะยาว อันอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของธุรกิจหลักทรัพย์หลักๆ ดังนี

อาจมีการควบรวมกิจการเพิ่มเติม โดยภายในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ จนนำมาสู่การหยุดการทำธุรกรรมการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หลายราย ขณะที่คาดว่าการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย โดยเฉพาะในส่วนของการเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ อาจกระตุ้นให้มีการควบรวมกิจการเพิ่มเติม ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ผ่านการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) แล้ว ก็น่าจะทำให้ขนาดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของ บล.เพิ่มขึ้นมาอยู่เหนือเกณฑ์ขั้นต่ำของทางการที่ 500 ล้านบาทภายในช่วงต้นปี 2555 จากในปัจจุบันที่ยังมีจำนวน บล.ที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 500 ล้านบาทกว่า 10 บริษัท

การปรับวิธีการคำนวณค่านายหน้าฯ เป็นแบบขั้นบันได (Sliding Scale) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ถึงธันวาคม 2554 อาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของ บล.ในระยะแรกที่บังคับใช้ การที่ บล.จะต้องเริ่มใช้วิธีการคำนวณค่านายหน้าฯ ในรูปแบบ Sliding Scale ในปี 2553 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของ บล. (โดยขนาดผลกระทบจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างฐานลูกค้าของ บล.นั้นๆ) เนื่องจาก บล.ยังพึ่งพิงรายได้จากค่านายหน้าในสัดส่วนสูงกว่า 75% ของรายได้รวม อีกทั้งบาง บล.อาจเลือกใช้กลยุทธ์การแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะกับกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีปริมาณซื้อขายต่อรายสูงกว่า 20 ล้านบาท3 ซึ่งอาจทำให้ บล.ที่มีสัดส่วนลูกค้ากลุ่มดังกล่าวอยู่ในพอร์ตค่อนข้างสูง อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมากตามไปด้วย เทียบกับปัจจุบันที่มีอัตราค่านายหน้าขั้นต่ำที่ 0.25% สำหรับในกรณีของนักลงทุนสถาบัน แม้ว่า ณ ขณะนี้ สมาคม บล.จะตกลงคิดค่านายหน้าฯในอัตราคงที่ 0.2% สำหรับนักลงทุนสถาบัน แต่อัตราใหม่ดังกล่าวก็ต่ำกว่าอัตราปัจจุบันที่ 0.25%

ปัจจัยที่กำหนดความอยู่รอดทางธุรกิจ หลังการเริ่มเปิดเสรีใบอนุญาตและค่านายหน้า

ในทางปฏิบัติ การประกอบธุรกิจของ บล.ในปัจจุบัน มีหลากหลายมิติ โดยผู้เล่นหลักในตลาดมีความชำนาญทางธุรกิจหลักทรัพย์ในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน อีกทั้งเน้นกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงทำให้การดำเนินธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ยังคงทำกำไรได้ แม้ว่าหลายฝ่ายอาจมองว่าจำนวนผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้มีมากเกินไป (Overclouded) ก็ตาม ทั้งนี้ ภายใต้กรอบเวลาและเงื่อนไขการเปิดเสรีค่านายหน้าฯ และใบอนุญาตหลักทรัพย์ที่จะเดินหน้าเข้าสู่การเปิดกว้างอย่างเต็มรูปแบบในปี 2555 นี้ คาดว่า บล.ที่น่าจะแข่งขัน และยืนหยัดทางธุรกิจได้ อาจต้องมีปัจจัยสนับสนุน หรือจุดแข็งทางธุรกิจ ดังนี้

มีขนาดธุรกิจ หรือส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างใหญ่ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลความเคลื่อนไหวของส่วนแบ่งตลาดรายปีของแต่ละบล.ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2547-2551) เพื่อหาจำนวน บล.ที่มีการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งตลาดในทิศทางที่ถดถอยลงไม่เกิน 2 ครั้งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนั้น พบว่า บล.ที่มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างใหญ่ มีความสามารถในการแข่งขันที่น่าจะได้เปรียบกว่า โดยเฉพาะในด้านการรักษาส่วนแบ่งการตลาด โดยในกลุ่ม บล.ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 3.5% นั้น มีบล.เพียงประมาณ 33% ที่มีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่าเงื่อนไขที่กำหนดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ กลุ่ม บล.ที่มีส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่า 3.5% ต่อรายนั้น จะมีการถดถอยของส่วนแบ่งตลาดตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัดส่วนที่สูงกว่า 33% นั่นคือ 50% สำหรับกลุ่ม บล.ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 2.0% แต่ไม่เกิน 3.5% และ 56% ของ บล.ที่มีส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่า 2.0% นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตเพิ่มเติมว่าในกลุ่ม บล.ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 3.5% ดังกล่าว มักเป็น บล.ที่มีประวัติการก่อตั้งยาวนาน และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตน ขณะที่ ความแตกต่างด้านประเภทผู้ถือหุ้นของ บล.ดูเสมือนว่าจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่ชัดเจนในเวทีการแข่งขัน เนื่องจาก บล.ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 3.5% ต่างก็ประกอบด้วย บล.ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติ ธนาคารพาณิชย์ไทย หรือนิติบุคคล/บุคคลทั่วไป ซึ่งมีการสลับอันดับส่วนแบ่งตลาดระหว่างกันไปมา ตามความแตกต่างด้านกลยุทธ์และปัจจัยเฉพาะด้านในแต่ละปี

มีตลาดลูกค้าเป้าหมายชัดเจนและมุ่งสร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มปริมาณการซื้อขาย (Volume) ชดเชยกับรายได้ค่านายหน้าที่จะลดลง อาทิ ในกรณีของ บล.ที่เน้นตลาดของนักลงทุนรายย่อย แม้ว่าสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านราคาจากการเปิดเสรีค่านายหน้าฯ ได้บางส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีปริมาณการซื้อขายต่ำกว่า 5 ล้านบาทต่อวันที่ยังมีอัตราค่านายหน้าขั้นต่ำเท่าเกณฑ์เดิมที่ 0.25% แต่ความท้าทายจะอยู่ที่การบริหารต้นทุนที่เกิดจากการหาลูกค้าใหม่และการรักษาฐานลูกค้าเดิมที่จะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง (เพราะลูกค้าใหม่และลูกค้าเดิมส่วนหนึ่งอาจกลายเป็นนักลงทุนที่ไม่ Active เมื่อเวลาผ่านไป ขึ้นกับสภาวะตลาดหุ้นและปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อื่นๆ) ซึ่งในกรณีดังกล่าว บล.ที่มีธนาคารพาณิชย์เป็นบริษัทแม่อาจได้ประโยชน์จากการอาศัยฐานลูกค้าและโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทแม่ที่มีอยู่แล้ว หรือ บล.บางแห่งอาจเน้นการส่งเสริมการซื้อขายทางระบบ Internet ซึ่งแม้จะมีต้นทุนการลงทุนตั้งต้นที่สูง แต่ต้นทุนการทำธุรกรรมต่อหน่วยน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าช่องทางอื่นๆ เป็นต้น

ขณะที่ในการจับตลาดนักลงทุนรายย่อยที่อยู่ระดับบนของปิรามิดมากขึ้น อาจต้องสร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งแผนพัฒนาตลาดทุนฯ เอง ก็มีแนวทางที่ส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในอนาคต ควบคู่กับการผลักดันบทวิเคราะห์วิจัยที่น่าเชื่อถือ การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าในลักษณะเฉพาะเจาะจง รวมถึงการเตรียมพร้อมกับการแข่งขันด้านราคาสำหรับกลุ่มลูกค้านี้ที่คงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับนักลงทุนสถาบันนั้น นอกจากจุดแข็งหลักจะอยู่ที่ความน่าเชื่อถือ ความลึก และความรวดเร็วของบทวิเคราะห์แล้ว ก็ยังรวมถึงความสะดวกของระบบเทคโนโลยีและกระบวนการด้าน Back Office ความสัมพันธ์กับมาร์เก็ตติ้ง ตลอดจนความน่าเชื่อถือขององค์กรด้วย ซึ่งในประเด็นสุดท้ายนี้ อาจทำให้บล.ที่มีต่างชาติถือหุ้นใหญ่อาจอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่า บล.อื่น ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกและความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนต่างชาติฟื้นตัวขึ้นอย่างเต็มที่ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนสถาบันต่างชาติหันมาให้น้ำหนักกับตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ผ่านการตัดสินใจทำธุรกรรมกับ บล.ที่ตนมีความคุ้นเคยด้านชื่อเสียงอยู่แล้วก่อน บล.กลุ่มอื่นๆ

การให้บริการกับลูกค้าในลักษณะที่ครบวงจร ทั้งนี้ เนื่องจากลูกค้ารายย่อยที่อยู่ในระดับกลางถึงบนของปิรามิด มีความต้องการด้านการเงินและการลงทุนที่ซับซ้อนขึ้น ดังนั้น การให้บริการในลักษณะที่ครบวงจรด้วยส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม อนุพันธ์ ผ่านบริการที่ปรึกษาทางการเงิน/การลงทุน น่าจะช่วยสร้างจุดแข็งให้กับ บล.ได้อนาคต ผ่านการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อใบอนุญาตประเภท ก.เอื้อให้สามารถประกอบธุรกิจด้านตลาดทุนได้ทุกประเภท (เทียบกับปัจจุบันที่ บล.ส่วนใหญ่ ที่ไม่ได้อยู่ในเครือธนาคารพาณิชย์ยังมีใบอนุญาตจำกัดอยู่เฉพาะประเภทที่เกี่ยวกับหุ้น โดยที่ยังไม่ก้าวไปถึงด้านตราสารหนี้ กองทุนส่วนบุคคล หรือขยายธุรกิจไปถึงกองทุนรวม)

มีโครงสร้างรายได้ที่มีความหลากหลายมากขึ้น และลดการพึ่งพิงรายได้ค่านายหน้า โดย บล.ที่สามารถลดการพึ่งพิงรายได้จากค่านายหน้าได้อย่างมีนัยสำคัญ น่าจะมีฐานะทางการเงินที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีค่านายหน้าน้อยกว่า บล.ที่ยังพึ่งพิงรายได้ค่านายหน้าในสัดส่วนสูง โดยธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้แก่ ธุรกิจเพื่อรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ (อาทิ การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์) การบริหารพอร์ตการลงทุนของตนเอง/การลงทุนเพื่อบัญชีของบริษัท (Propriety Trading) การให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Loans) การจัดการกองทุนส่วนบุคคล ตลอดจนการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจกองทุนรวมและธุรกิจด้านตราสารหนี้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การกระจายโครงสร้างรายได้ดังกล่าวที่เป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติอาจต้องอาศัยเวลา เนื่องจากรายได้ทางเลือกบางส่วน ยังแปรผันตามสภาพเศรษฐกิจและสภาวะในตลาดเงินตลาดทุนด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของ บล.

การบริหารต้นทุนเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความอยู่รอดทางธุรกิจ โดยท่ามกลางภาวะที่รายได้ในอนาคตเผชิญความท้าทายจากแนวทางการเปิดเสรีค่านายหน้าฯ ของทางการ และการปรับโครงสร้างรายได้ไปยังธุรกิจประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ น่าจะยังทำได้ในขอบเขตที่จำกัดในจังหวะที่ภาพรวมเศรษฐกิจและภาวะตลาดทุนยังไม่เปิดกว้างอย่างเต็มที่ บล.อาจต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อประคับประคองฐานะทางการเงินในภาพรวม

โดยที่ผ่านมา บล.ต่างก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารต้นทุนดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อค่าใช้จ่ายรวมที่ลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจาก 91.6% ในปี 2547 มาที่ 76.9% ในปี 2551 (แม้ว่าจะปรับขึ้นมาที่ 89.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552) อันมีสาเหตุหลักการปรับลดรายการค่าใช้จ่ายที่สามารถประหยัดได้และเป็นรายการค่าใช้จ่ายที่สำคัญอย่างค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน (มีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึง 82% ของค่าใช้จ่ายรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา) โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นไทยซบเซาจากปัญหาเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศในระหว่างปี 2551-2552 ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านพนักงานต่อรายได้ค่านายหน้า (ซึ่งเป็นรายได้หลัก) ทยอยปรับตัวลดลงจาก 84.5% ในปี 2547 มาที่ 52.9% ในปี 2551 (ก่อนที่จะขยับขึ้นมาที่ 63.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552)

อย่างไรก็ตาม การปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ อาจดำเนินการได้ในขอบเขตที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาคาร สถานที่ และอุปกรณ์ ค่าตอบแทนกรรมการ ค่าธรรมเนียมและบริการจ่าย รวมถึงหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งมีส่วนทำให้การปรับลดค่าใช้จ่ายในภาพรวม ก้าวตามไม่ทันรายได้ที่ลดลงรวดเร็วกว่า อันสะท้อนออกมาผ่านสัดส่วนค่าใช้จ่ายรวมต่อรายได้รวมที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

โดยสรุป ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่มีกรอบการดำเนินงานในช่วงปี 2553-2557 ซึ่งเป็นแผนที่ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับแรกที่มีกรอบการดำเนินงานในปี 2543-2545 เพื่อมุ่งหวังให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกหลักในการรวบรวม จัดสรร และติดตามดูแลการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว แผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับใหม่ได้กำหนดมาตรการเพื่อปฏิรูปตลาดทุนไทย 8 มาตรการสำคัญ ซึ่งหนึ่งในในมาตรการดังกล่าว คือ “การเปิดเสรีและการเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันตัวกลาง” ที่ยืนยันแนวทางการเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์และระบบการให้ใบอนุญาตแบบครบวงจร การเปิดเสรีค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ หรือค่านายหน้าฯ และการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมข้ามประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดำเนินการตามแนวทางที่ระบุไว้ต่างๆ ดังกล่าว โดยเฉพาะการเปิดเสรีใบอนุญาตฯ และค่านายหน้าฯ คงจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มธุรกิจหลักทรัพย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม จนอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของธุรกิจหลักทรัพย์ผ่านความเป็นไปได้ที่อาจมีการควบรวมกิจการเพิ่มเติมเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ การปรับวิธีการคำนวณค่านายหน้าในลักษณะขั้นบันไดที่จะเริ่มต้นขึ้นในปี 2553 นั้น น่าจะทำให้ฐานะการเงินของ บล.ในระยะแรก ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะค่านายหน้าในอัตราใหม่ทั้งของนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันจะต่ำกว่าอัตราที่คิดอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้ง บล.ยังคงพึ่งพิงรายได้จากค่านายหน้าสูงกว่า 75% ของรายได้รวม

ด้านปัจจัยที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ อีกทั้งกำหนดความอยู่รอดทางธุรกิจ บล.หลังจากการเริ่มทยอยเปิดเสรีฯ ดังกล่าวนั้น นอกจากจะได้แก่ขนาดธุรกิจ หรือส่วนแบ่งตลาดแล้ว ก็ยังจะรวมถึงการกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจและกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน อันจะช่วยให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังอาจต้องคำนึงถึงการให้บริการกับลูกค้าในลักษณะที่ครบวงจร ควบคู่กับการกระจายโครงสร้างรายได้ด้วยการลดการพึ่งพิงรายได้จากค่านายหน้า รวมถึงการบริหารต้นทุนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (ถึงแม้ว่าประสบการณ์ในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา จะบ่งชี้ถึงการปรับตัวในลักษณะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การกระจายโครงสร้างรายได้และการบริหารต้นทุน อาจต้องใช้เวลา รวมทั้งยังอาจถูกกระทบจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจและตลาดทุนทั้งในและนอกประเทศ)

กระนั้นก็ดี แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะผ่านความท้าทายจากการเปิดเสรีฯ ที่จะเริ่มต้นในปี 2553 ไปได้ แต่ก็ยังจะมีโจทย์ที่สำคัญหลายด้านรออยู่อีกข้างหน้า โดยเฉพาะโอกาสที่อาจมีผู้เล่นใหม่เข้าสู่ตลาดในปี 2555 ภายหลังจากการเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบ และความคืบหน้าของข้อตกลงการเปิดเสรีภาคการเงิน (FTA ในภาคการเงิน) ซึ่งแม้ในขณะนี้ ข้อตกลงที่สำคัญกับหลายประเทศ โดยเฉพาะ FTA ไทย-สหรัฐฯ ถูกเลื่อนออกไป แต่หากประเด็นดังกล่าวมีความคืบหน้าอีกครั้ง สหรัฐฯอาจหยิบยกแนวคิดการทำ Cross-Border Services กลับมาหารือ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติรายใหม่ลดความสนใจในการขอใบอนุญาตธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ แต่หันมารุกนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนข้ามพรมแดนจากนักลงทุนไทยแทน อันอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจหลักทรัพย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าบทสรุป หรือรูปแบบการปรับตัวของธุรกิจ บล.จะออกมาเป็นเช่นใด ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคงจะได้แก่ ผู้บริโภค ที่น่าจะได้ขยายโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนใหม่ๆ ด้วยค่าบริการที่ถูกลง และบริการที่น่าจะดีขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ หากตลาดทุนขยายใหญ่ขึ้นด้วยกลไกการทำงานในด้านต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามความคาดหวังของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ก็น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในลักษณะที่มีเสถียรภาพมากขึ้นตามไปด้วย