เศรษฐกิจเอเชียฟื้น หนุนส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 53 อาจโตได้ถึง 10.4%

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบมากจากปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย ในไตรมาสแรกของปี 2552 การส่งออกของไทยหดตัวลงไปค่อนข้างมากเนื่องจากธุรกิจต่างก็พยายามลดสินค้าคงคลังซึ่งถือเป็นต้นทุน และชะลอการสั่งซื้อเพิ่ม อย่างไรก็ดี เมื่อธุรกิจได้ลดระดับของสินค้าคงคลังเข้าสู่ระดับที่ต่ำมาก จึงทำให้เมื่อย่างเข้าไตรมาสที่ 2 ก็เริ่มมีการสั่งซื้อเข้ามาเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้า ทำให้การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของไทย เริ่มเห็นการการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงตามลำดับ นอกจากผลของสินค้าคงคลัง การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกยังมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางด้านฤดูกาล และการปรับตัวของผู้ผลิต/ผู้ส่งออกโดยการเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดในเอเชีย จีน อินเดีย กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก รวมทั้ง กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนตลาดดั้งเดิม โดยในปี 2552 จีนได้กลายเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งแทนที่สหรัฐฯ ขณะที่ตลาดใหม่ เช่น อินเดีย สาธารณรัฐเช็ก เวียดนาม และบางประเทศในแถบตะวันออกกลาง มีการขยายตัวสูง และด้านการส่งออกไปยังตลาดดั้งเดิมบางส่วน เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ได้กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมโดยรวมเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ดีเนื่องจากการหดตัวสูงในช่วงต้นปี การส่งออกช่วง 11 เดือนแรกจึงยังหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับเดือนธันวาคม คาดว่าคำสั่งซื้อมีแนวโน้มที่อาจทรงตัวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับในเดือนพฤศจิกายน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการส่งออกรวมทั้งปี 2552 อาจหดตัวร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับปี 2551

สำหรับปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการส่งออกอาจขยายตัวได้อยู่ในช่วงร้อยละ 5.4 ถึงร้อยละ 10.4 มูลค่า 44,542-46,656 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นมูลค่าส่งออก 28,235-29,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 6 ถึงร้อยละ 11 มูลค่า 16,307-17,076 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (ส่วนใหญ่เป็นฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าส่งออกอาจขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 7-12 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (มูลค่า 15,356-16,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากที่หดตัวไปร้อยละ 13.5 ในปี 2552 ซึ่งการเติบโตของการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟจะเป็นไปตามแนวโน้มของตลาดโลก ส่วนแผงวงจรไฟฟ้า คาดว่าอาจหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 3 ถึงขยายตัวร้อยละ 5 (มูลค่า 6,240-6,754 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 11.2

ในภาพรวม สำหรับสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าแรงสนับสนุนจากผลของสินค้าคงคลังในช่วงก่อน จะค่อยๆ หมดลงไปในช่วงไตรมาสแรก ทำให้ปัจจัยที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนความต้องการสั่งซื้อสินค้าของผู้ผลิตหรือผู้ค้าจะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของตลาดอุปสงค์ขั้นสุดท้ายในตลาดโลก ที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าไอที เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยจากการคาดการณ์ของบริษัทวิจัยและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม1 ประเมินแนวโน้มของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ปี 2553 ว่าอาจเติบโตได้ถึงร้อยละ 10 โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ด้านตลาดคอมพิวเตอร์ ปี 2553 คาดว่าอาจเติบโตได้ถึงร้อยละ 10 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุปสงค์ในตลาดประเทศเกิดใหม่ และความนิยมในการใช้คอมพิวเตอร์พกพาทั้งโน้ตบุ๊คและเน็ตบุ๊ค ขณะที่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ปีหน้า คาดว่ายอดขายรถจะขยายตัวร้อยละ 4.7 จากปี 2552 ซึ่งหดตัวกว่าร้อยละ 14 เนื่องจากจีน อินเดีย และบราซิล แม้ว่าในตลาดในสหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อาจยังค่อนข้างทรงตัว

ทั้งนี้ แม้ว่าจากตัวเลขเครื่องชี้ของอุตสาหกรรมที่ผ่านมา จะเริ่มเห็นการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น สหรัฐฯ ยุโรป และความเสี่ยงของการเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ในจีนและอีกหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคสินค้าขั้นสุดท้ายที่สำคัญของสินค้ากลุ่มการสื่อสารและเทคโนโลยี และเป็นตลาดรถยนต์หลักของโลก ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่อาจกระทบต่อผู้ประกอบการ ได้แก่ เทรนด์ของการควบรวมกิจการ/หน่วยผลิตบางส่วน ของเหล่าผู้ผลิตสินค้าไอทีและเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงก่อน ซึ่งส่งผลให้อำนาจต่อรองของผู้ซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้มองได้ว่าในปี 2553 ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อาจยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านราคาอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยบวกต่อการส่งออกในอนาคตที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การเข้ามาลงทุนในไทยและ/หรือขยายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายรายทั้งจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้เข้า รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประจำภูมิภาคขึ้นในไทย ทำให้ไทยมีศักยภาพในการเป็นฮับการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจุดแข็งของไทยจะอยู่ในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ทั้งนี้ ในปี 2553 การทำข้อตกลงการเปิดเสรีอาเซียนและอาเซียน-จีน ซึ่งจะทำให้อัตราภาษีของส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทเป็น 0% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป จะเป็นผลดีต่อผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยที่จะสามารถนำเข้าชิ้นส่วนในต้นทุนที่ต่ำลงในขณะที่มีแนวโน้มขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น

ในรายสินค้า ในปี 2553 กลุ่มโทรทัศน์มีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกโดยยอดขายในประเทศแถบเอเชีย อาทิ อินเดีย เวียดนาม และอิหร่าน จะขยายตัวได้ดี ขณะที่หลายประเทศซึ่งการส่งออกหดตัวไปสูงในช่วงก่อน เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มีแนวโน้มกลับมาเติบโตเป็นบวก ด้านสินค้ากลุ่มเครื่องปรับอากาศประเภทที่ใช้ในที่อยู่อาศัยที่ส่งออกไปประเทศแถบยุโรปอาจได้รับผลดีจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทำให้ความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกไปยังประเทศแถบตะวันออกกลาง คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ น่าจะเห็นการหดตัวค่อนข้างมากในปี 2553 เพราะปัญหาภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

เช่นเดียวกัน แม้ว่ามูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2553 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นบวก แต่ก็อาจจะเป็นไปในอัตราที่จำกัด เนื่องจากแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแต่ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนอยู่มาก ประกอบกับอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ตลาดประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น บางประเทศมีแนวโน้มที่อาจหดตัวลดลงจากปีก่อนแต่จะยังไม่กลับมาขยายตัวเป็นบวก ด้านตลาดใหม่ แม้ว่าในภาพรวมน่าจะเติบโตได้ดี แต่ยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในบางประเทศ และการส่งออกของไทยได้

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมควรต้องคำนึงถึง ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกในอนาคต ได้แก่
การเปิดเสรีการค้า (FTA) –
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ไทยมีพันธะที่จะต้องลดภาษีสินค้าปกติ ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน และเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งจะมีผลให้สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายสินค้า ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ซึ่งผู้ประกอบการบางกลุ่มอาจได้รับประโยชน์จากการใช้ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบนำเข้าในต้นทุนที่ถูกลง และการขยายตลาดส่งออกในภูมิภาค ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในอีกด้าน ผู้ผลิตชิ้นส่วนกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้า ก็ต้องปรับตัวรับมือกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

กฎระเบียบทางการค้า — การใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีในประเทศคู่ค้าที่เข้มข้นขึ้น ทั้งในรูปแบบของมาตรฐานสินค้า กฎระเบียบที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้บริโภค สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม เช่น ในประเทศจีน ซึ่งแม้ว่าไทยจะมีข้อตกลงการเปิดเสรีด้วย แต่การส่งออกสินค้ายังต้องเผชิญกับมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบอื่นๆ ที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรือในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งมีการบังคับใช้มาตรฐาน REACH, WEE, RoHS เป็นต้น

เทรนด์สีเขียว — ซึ่งหลายๆ ประเทศได้บรรจุไว้ในมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ญี่ปุ่นซึ่งขยายระยะเวลาการให้เงินอุดหนุนสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มนี้ หรือสหรัฐฯ และประเทศในยุโรปซึ่งมีนโยบายส่งเสริมพลังงานทางเลือก (พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ) และล่าสุด สหภาพยุโรปได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับฉลากพลังงานเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ทำการผลิตหรืออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการใช้นโยบายส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นโอกาสสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน สินค้า Eco-design ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นส่วนประกอบสินค้ากลุ่มนี้และที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก เป็นต้น

การเติบโตของจีน – ในปี 2553 ผู้ประกอบการยังต้องจับตาการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากจีนซึ่งส่วนแบ่งตลาดในตลาดโลกขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยสินค้าจากประเทศจีนมีความได้เปรียบด้านต้นทุนและมีหลายระดับคุณภาพและราคา ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีแบรนด์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ไฮเทคไปจนถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป โดยสินค้าบางกลุ่มของจีนสามารถแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศได้ เมื่อประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา ทำให้ผู้บริโภค และผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบ อาจหันไปนำเข้าจากจีนเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจุดนี้อาจกระทบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตามในอีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการที่เป็นส่วนหนึ่งในสายการผลิตของจีนจะได้รับประโยชน์ กลยุทธ์ของธุรกิจส่งออกที่อยู่ในไทยในการรับมือจึงอาจกล่าวได้กว้างๆ เป็น 2 แนวทาง คือ การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมมือเพื่อโตไปกับจีน และ/หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้มีความแตกต่าง เป็นต้น

การแข่งขันดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ – เนื่องจากโครงสร้างของอุตสาหกรรมมีลักษณะเป็นเครือข่ายการผลิตโลก ดังนั้นการเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในอนาคต ซึ่งก็หมายความว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและการพัฒนาธุรกิจที่อยู่ในประเทศในอุตสาหกรรมนี้ เพื่อรักษาความได้เปรียบให้ไทยคงเป็นศูนย์กลางในการผลิตและกระจายสินค้าของภูมิภาค ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีบทบาทที่จะช่วยดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและอยู่ในระดับที่แข่งขันได้

สรุป
แนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยปี 2553 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นบวก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกอาจเติบโตได้ในช่วงร้อยละ 5.4 ถึงร้อยละ 10.4 คิดเป็นมูลค่า 44,542-46,656 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดีขึ้นจากปีก่อนที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 14 หลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกเริ่มคลี่คลาย และอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากผลของฐานของปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำ โดยกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 10 และคาดว่าสินค้าสำคัญ คือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (ส่วนใหญ่เป็นฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ) จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 7-12 ตามแนวโน้มตลาดโลกโดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของสินค้าไอที (คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ฯลฯ) และอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะที่แผงวงจรไฟฟ้าอาจหดตัวร้อยละ 3 ถึงขยายตัวร้อยละ 5 ด้านการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับผลดีจากการเข้ามาของทุนจากต่างประเทศ และการขยายการลงทุนของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายแห่งทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในช่วงก่อนหน้า เพื่อให้ไทยในการเป็นฐานหลักในการผลิตและกระจายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ทำให้คาดว่าในปี 2553 การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 6-11

สำหรับผู้ประกอบการ ในด้านของตลาด ในปี 2553 การขยายตัวของการส่งออกยังคงขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งยังมีความเสี่ยงจากความล่าช้าในการฟื้นตัวและอัตราการว่างงานในประเทศอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปีก่อน การส่งออกไปตลาดหลักเหล่านี้หดตัวค่อนข้างสูง จึงคาดได้ว่ามูลค่าการส่งออกในปีนี้น่าจะกลับมาขยายตัว อีกด้าน การส่งออกไป จีน อินเดีย และประเทศในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียอื่นๆ มีแนวโน้มอาจจะเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดประเทศตะวันออกกลางอาจชะลอตัวต่อเนื่อง สาเหตุจากปัญหาเศรษฐกิจซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกไปยังภูมิภาคนี้ เช่น เครื่องปรับอากาศ ได้รับผลกระทบ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรกระจายการส่งออกไปยังตลาดส่งออกอย่างเหมาะสม โดยผู้ประกอบการสามารถเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปยังกับตลาดใหม่ที่เติบโตเร็ว เช่น อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งมีกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวดี คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนระดับกลาง อาทิ โทรทัศน์ ตู้เย็น ไปจนถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากการเติบโตของชนชั้นกลาง และสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจเป็นที่ต้องการในครัวเรือนชนบทและในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น แบตเตอรี่ แผงโซลาร์ มอเตอร์ หม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทิศทางการค้าและการลงทุนในอนาคตซึ่งผู้ประกอบการควรคำนึงถึงและมีการปรับตัวเพื่อรับมือ เริ่มจากประเด็นการทำข้อตกลงเปิดเสรีของไทยกับต่างประเทศ โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน และอาเซียน-จีน ซึ่งหมายถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น แต่ในอีกด้าน ผู้ประกอบการก็สามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงโดยการขยายตลาดต่างประเทศและการนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ในส่วนของเทรนด์ผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการควรต้องตื่นตัวกับการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี เช่น มาตรฐานสินค้า ซึ่งประเทศคู่ค้าอาจมีการนำมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการควรหมั่นตรวจสอบข้อบังคับและมาตรฐานสินค้าในประเทศที่จะส่งออกอย่างถี่ถ้วน เทรนด์ของผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติประหยัดพลังงานและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้และพัฒนาพลังงานทางเลือก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศได้ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภท Eco-design มากขึ้น

เนื่องจากการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางของอุตสาหกรรม ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรช่วยส่งเสริมการลงทุนใหม่และรักษาการลงทุนที่มีอยู่ พร้อมๆ กับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไปด้วยกัน โดยควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมที่ชัดเจนและมีนโยบายที่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น เช่น ภาครัฐอาจกำหนดเป้าหมายการเป็นฮับการผลิตของอุตสาหกรรมสีเขียวในภูมิภาคเอเชีย และใช้ประโยชน์จากการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี สนับสนุนการเข้ามาลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศผ่านการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนของบีโอไอ เป็นต้น สำหรับผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ภาครัฐควรมีการให้ความช่วยเหลือทั้งในแง่ของเงินทุน และทางเทคนิค เช่น ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคธุรกิจ ในการพัฒนาอุตสาหกรรม/ผลิตภัณฑ์ใหม่ นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง และเตรียมมาตรการรองรับผลของการเปิดเสรี เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้าในประเทศเพื่อป้องกันการเข้ามาของสินค้าด้อยคุณภาพ เป็นต้น